ระบบพยาบาลพี่เลี้ยง


การใช้ระบบพยาบาลพี่เลี้ยงไม่ใช่เป็นการผลักภาระงานไปที่บุคลากรของสถาบันที่เป็นแหล่งฝึก

แนวคิดพยาบาลพี่เลี้ยงในการจัดการศึกษาพยาบาล

ระบบพยาบาลพี่เลี้ยง (Mentorship) ในการศึกษาการพยาบาล เป็นการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติรูปแบบหนึ่ง โดยการจัดให้พยาบาลประจำการที่มีคุณสมบัติ เข้ารับการอบรมโครงการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติบทบาทพยาบาลพี่เลี้ยง เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (mentor) ให้กับนักศึกษาพยาบาล (mentee) โดยทำหน้าที่สอน ให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุน ช่วยเหลือและเป็นแบบอย่างในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติต่อวิชาชีพของนักศึกษาพยาบาล ทั้งนี้โดยมีการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบพยาบาลพี่เลี้ยงไม่ใช่เป็นการผลักภาระงานไปที่บุคลากรของสถาบันที่เป็นแหล่งฝึก แต่ระบบพยาบาลพี่เลี้ยงที่มีแนวทางชัดเจน จะมีการเตรียมพี่เลี้ยงที่เป็นระบบ ทำให้รู้บทบาทหน้าที่ ภาระงานที่งานต้องรับผิดชอบร่วมกับสถาบันการศึกษา ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันที่เป็นแหล่งฝึกและสถาบันการศึกษาในการสร้างเสริมประสบการณ์ให้ผู้เรียน จากการศึกษาของ สุรีย์ ธรรมิกบวรและคณะ (2542) พบว่า การใช้ระบบพยาบาลพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ เกิดผลดีต่อนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลพี่เลี้ยง เช่น ความวิตกกังวลของนักศึกษาต่อการฝึกปฏิบัติงานลดลง เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้นักศึกษากล้าซักถาม และเกิดเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานและต่อวิชาชีพ มีความมั่นใจในความรู้และความสามารถของตน และมีความผูกพันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนมากขึ้น และพยาบาลพี่เลี้ยงมีบทบาทในการเรียนการสอนเหมาะสมกับสภาพความพร้อมของผู้เรียนมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพพยาบาลพี่เลี้ยง จึงมีความจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงของพยาบาลในแหล่งฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พยาบาลพี่เลี้ยง ตามความหมายของ สภาการพยาบาล หมายถึง พยาบาลวิชาชีพที่ประจำการในสถาบันบริการสุขภาพที่เป็นแหล่งฝึกการศึกษาภาคปฏิบัติ ของนิสิต/นักศึกษาพยาบาลในหลักสูตรสาขาพยาบาลศาสตร์ ของสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองจากสภาการพยาบาลและได้รับแต่งตั้งจากสถาบันการศึกษาให้เป็นพยาบาลพี่เลี้ยงแก่นิสิต/นักศึกษาพยาบาล

การศึกษาพยาบาลรับผิดชอบผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถในการให้บริการพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพและความคาดหวังของสังคม การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จึงประกอบด้วยการศึกษาภาคทฤษฎีและการศึกษาภาคปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้บัณฑิตพยาบาลมีความรู้ความสามารถ (knowledge) มีทักษะ (skill) หรือความชำนาญในการปฏิบัติ และมีเจตนคติ (attitude) ที่ดีต่อวิชาชีพ  เนื่องจาก วิชาชีพพยาบาลเป็นงานที่ต้องกระทำต่อชีวิตมนุษย์ การเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาพยาบาลที่ช่วยให้นักศึกษามีโอกาสประยุกต์ใช้ความรู้ทางทฤษฎีกับสภาพการณ์จริง การศึกษาภาคปฏิบัติจะทำให้นักศึกษามีการพัฒนาในด้านพุทธนิสัย จิตนิสัย และทักษะพิสัย รวมทั้งจะต้องมีเจตนคติที่ดีที่จะใช้ในการพิจารณาทางคลินิกได้อย่างเหมาะสม

การฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพของนักศึกษาพยาบาลจะต้องอยู่ภายใต้การนิเทศ ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์นิเทศ หรือพยาบาลพี่เลี้ยง (preceptor or mentor) ที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัติ พยาบาลที่ปฏิบัติงานในแหล่งฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ จึงเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ พยาบาลที่อยู่ในแหล่งฝึกปฏิบัติมีส่วนสำคัญในการเอื้ออำนวย ส่งเสริม สนับสนุน จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ตามลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตร  รวมทั้งเป็นทั้งต้นแบบของบุคลิกภาพและต้นตอของเจตนคติทางการพยาบาล พยาบาลพี่เลี้ยงจึงมีส่วนในการหล่อหลอมคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้การปฏิบัติพยาบาล  และมีส่วนสำคัญในการเตรียมบุคลากรพยาบาลเข้าสู่วิชาชีพ

สุรีย์ ธรรมิกบวร, นวลใย พิศชาติ, ปรียา ตะรุวรรณ, กุลธิดา กุลประฑีปัญญา, สาดี สายทอง, และ โปรยทิพย์ กสิพันธ์. (2542). ผลการจัดการศึกษาภาคปฏิบัติวิชาบริหารการพยาบาลโดยใช้ระบบพี่เลี้ยง (Effect of Using Preceptorship in Administration Learning Experience) จาก http://www.bcnsp.ac.th/ research/ adminport.htm เข้าถึงเมื่อ 20 กันยายน 2551

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 214257เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2008 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถ้าตัวหนังสือใหญ่กว่านี้ น่าจะอ่านง่ายกว่านะคะ

เราสามารถเข้าไปแก้ไขได้นะคะ ถ้าต้องการ

แนวคิดพยาบาลพี่เลี้ยงดีคะ่ เป็นทำงานร่วมกันระหว่างพยาบาลสายวิชาการและพยาบาลสายปฏิบัติ สำหรับส่วนตัวคิดเชิงเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ก่อนหน้าที่ไม่ได้ทำความเข้าใจกัน สายปฏิบัติจะมองเพิ่มภาระ

ตอนนี้แก้ไขด้วยการสื่อสาร ดีขึ้นคะ่ ให้นำ้หนักงาน คือ เอามาเป็นหน้าที่หนึ่งของสายปฏิบัติก็เข้าใจง่าย


ดีสำหรับนักศึกษาแต่สำหรับพยาบาลพี่เลี้ยงที่ขึ้นเวรปฏิัติงานไปด้วย จำทำให้งานล่าช้าลงเป็น 2 เท่า ถามว่าเค็มใจสอนมั๊ย เต็มใจสอน แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าจะจัดระบบนี้พยาบาลพี่เลี้ยงจะต้องจัดขึ้นเวรแยกจากพยาบาลปฏิบัติงานโดยไม่ถือเป็นอัตรากำลังจึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท