ประสิทธิผล (Effectiveness)


มารู้จักความหมายของประสิทธิผลกันเถอะ

                                           ประสิทธิผล   (Effectiveness)

 

ความหมายของประสิทธิผล

                รุ่ง  แก้วแดง  และชัยณรงค์  สุวรรณสาร  (2536,หน้า  159)  ให้ความหมายเกี่ยวกับประสิทธิผลว่า  ประสิทธิผลมีความสัมพันธ์กับผลงานที่องค์การพึงประสงค์  หรือหมายถึงความสำเร็จของผลการปฏิบัติงานที่เป็นไปหรือบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ  ดังนั้น  ประสิทธิผลจึงหมายถึงผลสำเร็จหรือผลที่เป้าหมาย

                กมลวรรณ  ชัยวานิชศิริ  (2536,หน้า  32-33)  ได้ให้แนวคิดและความหมายของประสิทธิผลว่า  ประสิทธิผลของโรงเรียน  หมายถึง  การที่โรงเรียนสามารถผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติทางบวก  ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งภายในภายนอก  รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาภายในโรงเรียนซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงาน

                เปรมสุรีย์  เชื่อมทอง  (2536,หน้า  9)  กล่าวว่า  ประสิทธิผล  คือ  ผลงานของกลุ่มซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้  ทั้งนี้เกิดจากประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียน  ที่สามารถให้ความรู้  ความสามารถ  และประสบการณ์การบริหารงาน  เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

                จากลักษณะการให้ความหมายข้างต้นเป็นความหมายของประสิทธิผลในแง่ของการบรรลุเป้าหมาย  โดยทั่ว ๆ  ไปขององค์การในด้านประสิทธิผลของโรงเรียน  มีนักวิชาการให้ความหมายของประสิทธิผลที่แตกต่างดังนี้

                ฮอย  และมิสเกล  (Hoy  &  Miskel. 1991 .p. 373)  ให้ความหมายประสิทธิผลของโรงเรียนว่า  หมายถึง  ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการหรือความพึงพอใจในการทำงานหรือขวัญของสมาชิกโรงเรียนดี

                และได้สรุปว่าประสิทธิผลของโรงเรียน  พิจารณาได้จาก  ตัวบ่งชี้  4  ประการ  คือ  ความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การมีทัศนคติทางบวกของนักเรียน  ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน

                เรด  (Reid . 1988 . p.5)  ได้สอบถามความเห็นของครูที่มีประสบการณ์และครูใหญ่ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโททางการศึกษา  พบว่าครูบางคนให้ความหมายประสิทธิผลของโรงเรียนว่า  หมายถึง  ความสามารถของนักเรียนที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ในขณะที่บางคนเห็นว่า  ประสิทธิผลของโรงเรียน  หมายถึง  ความสามารถในการจัดทรัพยากรให้แก่สมาชิก

                มอทท์  (Mott. 1972  cited  in  Hoy  &  Miskel . 1991 .p.  389)  กล่าวถึง  ประสิทธิผลของโรงเรียนในแง่ความสามารถในการผลิต  (Productivity)  หมายถึง  ปริมาณงานคุณภาพของงานและประสิทธิผลของงานที่ทำให้องค์การซึ่งความสามารถในการผลิตไม่ได้คิดจากค่าใช้จ่ายต่อหน่วย  และผลผลิตต่อชั่วโมงการทำงาน  เพราะโรงเรียนไม่ใช่หน่วยงานทางธุรกิจ  จึงไม่มีผลผลิตที่เห็นได้ชัด  วัดได้จากความสามารถในการปรับตัว  (Adaptability)  ซึ่งหมายถึง  กระบวนการมีส่วนร่วมและแก้ปัญหาของคนในองค์การ  ความรวดเร็วในการที่คนในองค์การยอมรับวิธีการและระเบียบใหม่ ๆ  รวมถึง  การยอมรับการเปลี่ยนแปลงในองค์การและความสามารถในการยืดหยุ่น  (Flexibility)  หมายถึง  ความสามารถของคนในองค์การที่ขณะปรับตัวให้เข้ากับภาวะฉุกเฉินได้ดีเพียงใด  เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดมาก่อนคนในองค์การสามารถปรับพฤติกรรมในการงานได้  เช่น  มีการเร่งกำหนดการทำงานให้เร็วมากอย่างเร่งด่วน

                จากแนวคิดต่าง ๆ ดังกล่าว  พอสรุปได้ว่า  ประสิทธิผลของโรงเรียน  หมายถึง  การบรรลุเป้าหมาย  หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา  โดยพิจารณาจากความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติทางบวก  ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งภายใน  ภายนอก  และสามารถแก้ปัญหาภายในโรงเรียน  จนทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานซึ่งเป็นการมองประสิทธิผลในภาพรวม

                วิธีการประเมินประสิทธิผลของโรงเรียน

                นักวิชาการได้พยายามหาวิธีประเมินประสิทธิผลองค์การซึ่งแยกเป็นแนวทางใหญ่   ได้  3  แนวทาง  ภรณี  (กีรติบุตร)  มหานนท์  (2529 ,  หน้า  185 187  ;  Dessler , 1986 , pp.  65-71 ;  Hoy  &  Miskel ,  1991  ,  pp.  375-387  ;  Edgar  &  Bonsditeh  ,  1977  ,  p.  521)  คือ

1.    การประเมินประสิทธิผลในแง่เป้าหมาย  (Goal  Model  of  Organizational  Effectiveness)  เป็นการพิจารณาว่า  องค์การจะมีประสิทธิผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับว่า  บรรลุเป้าหมายองค์การหรือไม่  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  ใช้เป้าหมายองค์การเป็นเกณฑ์

แนวคิดนี้ได้รับการพิจารณาว่ายังมีข้อบกพร่องบางประการ  เช่น  ถ้าองค์การมีหลายเป้าหมายก็จะทำให้วัดยาก  ว่าเป้าหมายใดได้รับความสำคัญมากกว่าเป้าหมายอื่นมากน้อยเพียงใด  เป้าหมายบางประการวัดยาก  (ภรณี  (กีรติบุตร)  มหานนท์  ,  2529 ,  หน้า  187  อ้างอิงจาก  Etzioni  .  1964)

                2.  การประเมินประสิทธิผลองค์การในแง่ระบบทรัพยากร  (The  System  Resource  Model  of  Organizational  Effectiveness)  เป็นการประเมินโดยพิจารณาความสามารถขององค์การ  ในการแสวงหาประโยชน์จากสภาพแวดล้อม  เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ต้องการอันจะทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์การซึ่งเน้นที่ตัวป้อนเข้า  (Input)  มากกว่าผลผลิต  แนวความคิดนี้  ประเมินประสิทธิผลขององค์การ  โดยเปรียบเทียบระหว่างองค์การในรูปของการแข่งขัน  องค์การใดได้รับทรัพยากรจากสภาพแวดล้อมมากกว่าองค์การนั้นก็มี  ประสิทธิภาพมากกว่า

                3.  การประเมินประสิทธิผลโดยใช้หลายเกณฑ์มาวัดประสิทธิผลองค์การ  ซึ่งผู้ให้แนวคิดการประเมินผลโดยวิธีนี้  ได้แก่

                สเตียร์  (Steers , 1997 , p.  44  citing  Mahoney  &  Weitzel .1969)  ให้ทรรศนะว่า  เกณฑ์ประสิทธิผลขององค์การธุรกิจและหน่วยงานวิจัยพัฒนา  ได้แก่  ความสามารถในการผลิต  การสนับสนุนการใช้  การวางแผน  ความเชื่อถือได้  ความร่วมมือและการพัฒนา

                เดสสเลอร์  (Dessley , 1986 , p.  68  citing  Bennis  ,  1971)  กล่าวว่า  ประสิทธิผลขององค์การ  คือ  ความสามารถในการปรับตัวเพื่อการแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาที่องค์การกำลังเผชิญอยู่  คือ  การอยู่รอด  ดังนั้น  ตัวแปรที่ใช้ในการประเมิน  ได้แก่  ความสามารถในการปรับตัวและความสามารถในการแก้ปัญหา

                ฮอย  และมิสเกล  (Hoy  &  Miskel , 1991 ,  pp.  384-397)  ได้เสนอแนวคิดในการประเมินประสิทธิผลขององค์การ  โดยพิจารณาจากความสามารถในการปรับเปลี่ยน  (Adaptability)  การบรรลุเป้าหมาย  (Achievement)  ความพึงพอใจในการทำงาน  (Job  Satisfaction)  ความสนใจในชีวิต  (Central  Life  Interests)

                ฮอย  และเฟอร์กูสัน  (Hoy &  Ferguson , 1985 , pp.  121-122  citing  Person . 1960)  ได้เสนอแนวคิดในการวัดประสิทธิผลขององค์การ  โดยพิจารณาการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม  (Adaptation)  การบรรลุเป้าหมาย  (Goal  Attainment)  การบูรณาการ  (Integration)   และการคงไว้ซึ่งระบบค่านิยม  (Latency)

                ในการค้นคว้าครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้แนวคิดในการประเมินประสิทธิผลขององค์การ  โดยใช้เกณฑ์หลายเกณฑ์  เนื่องจากสามารถเลือกใช้เกณฑ์ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะและสภาพแวดล้อมองค์การได้

                การประเมินประสิทธิผลของโรงเรียนสามารถทำได้หลายแนวทาง  ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้ยึดแนวคิดของ  มอทท์  (Mott , 1972  cited  in  Hoy  &  Miskel  , 1991  .p. 373)  ได้กล่าวถึงประสิทธิผลของโรงเรียน  ซึ่งประกอบด้วยความสามารถ  4  ประการ  คือ  ความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  ความสามารถในการพัฒนาทัศนคติทางบวก  ความสามารถในการแก้ปัญหาในโรงเรียน  และความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียน  ดังมีรายละเอียด  ต่อไปนี้

                1.  ความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการโรงเรียนสูง  หมายถึง  ปริมาณและคุณภาพของนักเรียน  ประสิทธิผลของโรงเรียนที่สร้างความเชื่อมั่นสูง  โดยวัดความนิยมจากชุมชนและผู้ปกครองนักเรียน  ประการหนึ่งได้แก่  โรงเรียนนั้นมีนักเรียนเข้าเรียนมีปริมาณมาก   และคุณภาพการเรียนการสอนอยู่ในเกณฑ์สูง  โดยดูจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ความสามารถในการศึกษาต่อในสถาบันศึกษาชั้นสูงได้เป็นจำนวนมาก  โรงเรียนที่ปริมาณและคุณภาพสูงจะเป็นโรงเรียนในเมือง  โรงเรียนระดับจังหวัดที่มีชื่อเสียงมีความพร้อมด้านปัจจัยต่าง ๆ  ได้แก่  วัสดุอุปกรณ์  สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ  อาคารสถานที่  บรรยากาศสิ่งแวดล้อมเหมาะสม  มีปัจจัยด้านการเงิน  สามารถจัดซื้อจัดจ้างเบิกจ่ายเงินได้สะดวก  มีบุคลากรที่มีคุณภาพ  นักเรียนมีผลการเรียนดี  มีการพัฒนาทัศนคติแรงจูงใจของนักเรียน  มีความคิด  ริเริ่มสร้างสรรค์  นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง  ความปรารถนา  และความคาดหวังต่าง   รวมทั้งมีความประพฤติที่เหมาะสม  มีจริยธรรม  คุณธรรมมีค่านิยมที่ดีงาม  ซึ่งลักษณะต่าง   ดังกล่าว  นั้นเป็นลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่สังคมมีความคาดหวัง  และมีความต้องการอย่างมาก  (Mott , 1972  cited  in  Hoy  &  Miskel  , 1991 , p. 382)   จึงอาจกล่าวได้ว่า  นอกจากนักเรียนจะเป็นผู้ที่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน  มีความรู้  ความสามารถ  ทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ  สูงแล้วยังมีการพัฒนาความรู้ความสามารถ  ทักษะเจตคติค่านิยม  และคุณธรรมต่าง ๆ  ที่พึงปรารถนาให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต  และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

                2.  ความสามารถในการพัฒนาทัศนคติทางบวกของนักเรียน  หมายถึง  มีความเห็นท่าที  ความรู้สึกหรือพฤติกรรมของนักเรียน  แสดงออกในทางที่ดีงาม  สมเหตุสมผล  และสอดคล้องกับ ความต้องการของสังคม  การศึกษาสร้างความเจริญให้บุคคลใน  4  ด้าน  คือ  ด้านร่างกาย  มีความสมบูรณ์แข็งแรง  พัฒนาส่วนต่าง ๆ  อย่างเหมาะสมกับวัย  ด้านสติปัญญา  มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน  รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและมีความคิดสร้างสรรค์ด้านสังคมสามารถนำความรู้ความสามารถและทักษะอันจำเป็นไปใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข  และด้านจิตใจรู้จักเหตุผลมีวินัย  คุณธรรม  จริยธรรมอย่างเหมาะสมและดีงาม

                ทัศนคติทางบวกจะเป็นผลจากผู้ที่ได้ศึกษาครบถ้วนทั้ง  4  ด้าน  ดังที่กล่าวมาแล้ว  ผู้ที่มีทัศนคติทางบวกเป็นผู้มีความรู้สึกและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคม  มีจิตใจกว้างขวาง  ไม่ต่อต้านหรือถดถอยหนีสังคม  มีความมั่นคงทางจิตใจ  ปฏิบัติด้วยความจริงใจและเป็นประชาธิปไตย  ยอมรับและเคารพความเห็นของส่วนรวม  เผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ  ได้อย่างเหมาะสม  ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม  ตลอดจนสามารถดำเนินการอบรมสั่งสอนให้นักเรียนเป็นคนดี  มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่ในระเบียบวินัย  รู้จักพัฒนาตนเองมีเจตคติที่ดีต่อการศึกษา  และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

                3.  ความสามารถในการแก้ไขปัญหาในโรงเรียน  การที่โรงเรียนจะมีประสิทธิผลนั้น  ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง  ก็คือ  ความสามารถในการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน  เพราะในโรงเรียนประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม  หลายฝ่ายมาทำงานร่วมกัน  ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้  (Gliekman , 1990 . p. 308)  เพราะบุคคลแต่ละคนมีความคิดค่านิยมความต้องการ  และเป้าหมายต่างกัน  ซึ่งที่จริงความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดี  ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  (Northeraft  &  Neale , 1990 , p.  212)  แต่ผู้บริหารโรงเรียนต้องบริหารความขัดแย้งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะมีผลต่อการพัฒนางาน  เพราะถ้ามีความขัดแย้งมากเกินไป  จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ  ขาดความร่วมมือในการทำงาน  ทำลายความสมานฉันท์  สร้างความเป็นศัตรูและนำไปสู่การลดประสิทธิภาพในการทำงานและการออกจากงานได้  ซึ่งย่อมมีผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน

                4.  ความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียนในยุคปฏิรูปการศึกษาการบริหารโรงเรียนต้องคำนึงวิสัยทัศน์  เป้าหมาย  ผู้บริหารและครูจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง  ต้องพยายามปรับปรุงองค์การ  รูปแบบการบริหารงานและการดำเนินงานต่าง   ให้มีความคล่องตัวต่อการปฏิบัติงาน   ผู้บริหารและครูต้องเป็นนักพัฒนา   ริเริ่มสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่  ๆ อยู่เสมอ  การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้เพื่อให้สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้น  ต้องมีเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสม   ครูต้องสร้างกระบวนการและวิธีการเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ทั้งเนื้อหาวิชาการ  และคุณธรรมจริยธรรม  เพราะวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนจะเป็นวิธีการที่ติดตัว  สามารถนำไปปรับปรุงใช้ในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม

                วิธีการประเมินประสิทธิผลของงานมีหลายประการ  อาจสรุปได้  3  กลุ่ม  ดังนี้

(ธงชัย  สันติวงษ์ , 2537 . หน้า 202-13)

                กลุ่มที่หนึ่ง  เป็นวิธีที่ใช้ประเมินผลเฉพาะบุคคลแต่ละบุคคล  ใช้ประเมินผู้ที่ต้องการประเมินทีละคน  โดยแยกกันในแต่ละครั้ง  และไม่นำไปเปรียบเทียบโดยตรงทันทีกับผู้ที่ต้องการประเมิน  ซึ่งวิธีประเมินนี้แบ่งเป็น  7  วิธี  ดังนี้

                1.  วิธีประเมินตามขีดขนาดหรือมาตรา  (Graphic  Rating  Scale)  เป็นวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน  และเป็นเทคนิคที่เก่าแก่มาก  โดยให้ผู้ประเมินให้ความเห็นที่ถูกต้องตามหัวข้อในแต่ละลักษณะว่าอยู่ในขีดขนาด  (Scale)  ใดของมาตราตามจำนวนหัวข้อจากมากไปหาน้อย

                2.  วิธีประเมินแบบบังคับเลือก  (Forced  Choice)  ผู้ประเมินจะต้องพิจารณาเลือกเฉพาะชุดข้อความที่ระบุไว้ให้เลือกเกี่ยวกับตัวผู้ถูกประเมิน  โดยข้อความจะถูกจัดให้เป็นกลุ่มและผู้ประเมินจะต้องใช้ดุลพินิจในการเลือกข้อความที่กำหนด  โดยดูง่าอันใดเหมาะสมที่สุดที่จะใช้วัดความมีประสิทธิผลของงาน

                3.  วิธีประเมินโดยเขียนคำบรรยาย  (Essay  Evaluation)  ผู้ประเมินจะต้องบรรยายถึงจุดแข็งและจุดอ่อนเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ถูกประเมิน  ส่วนใหญ่มักจะใช้เพื่อประกอบการประเมินควบคู่กับ  Ratting  Scale

                4.  วิธีการประเมินการบริหารตามเป้าหมาย  (Management  by  Objectives)  เป็นวิธีที่ใช้ประเมินตัวบุคคลโดยผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายของงานไว้ล่วงหน้า  และผู้ถูกประเมินจะพยายามทำให้สำเร็จภายในช่วงเวลาที่กำหนด  เมื่อถึงขั้นประเมินผล  ทั้งนี้  ผู้ประเมินผู้ถูกประเมินจะมาร่วมกันพิจารณาถึงระดับความสำเร็จของงานตามเป้าหมายที่กำหนด   วิธีนี้ผู้ถูกประเมินจะมีโอกาสประเมินผลงานของตนเองด้วยการรายงานและชี้แจงเหตุผลในผลสำเร็จและไม่สำเร็จของงาน

                5.   วิธีประเมินเหตุการณ์สำคัญ  (Gritical  Incident  Technique)  ผู้ชำนาญการด้านบริหารงานบุคคล  และหัวหน้าจะเตรียมข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมของผู้ถูกประเมินทั้งในแง่ที่ดีที่ดีสุดและเลวที่สุด  ข้อความเหล่านี้จะจัดเป็นกลุ่มแตกต่างกันไปแต่ละงาน  เมื่อมีการพัฒนาและการจัดประเภทข้

หมายเลขบันทึก: 213948เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2008 03:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนการจัดการหรือครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท