MPA ระหว่าง ๔ โรงพยาบาล


กิจกรรมของแต่ละ รพ.แตกต่างในรายละเอียด แต่เป้าหมายเดียวกัน

MPA คือ Modified Peer Assist เป็นกิจกรรมที่ดิฉันจัดขึ้นแทนการดูงานที่เราคุ้นเคยกัน เนื่องจากเราได้รับการติดต่อจากทีม รพ.ต่างๆ ขอมาดูงานอยู่บ่อยๆ และเกือบทุกแห่งมัก scope สิ่งที่ต้องการมาดูหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เจาะลึกไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดิฉันจึงทดลองนำกระบวนการ PA มาประยุกต์

ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙  รพ.เทพธารินทร์ได้ต้อนรับทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานจาก รพ.๓ แห่ง คือ (๑) รพ. บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ๙ คน นำโดยผู้อำนวยการ รพ.นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ (๒) รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ ๖ คน นำโดย นพ.วีรวรรธ คลายนา อายุรแพทย์ และ (๓) พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากแผนกส่งเสริมสุขภาพ รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล ๒ คน ดิฉันได้วางกำหนดการซึ่งปรับปรุงมาจากกิจกรรมที่เคยต้อนรับคณะใหญ่ที่มาขอดูงานครั้งก่อน (อ่านที่นี่) โดยอาศัยข้อมูลจากการทำ AAR และบรรยากาศของกิจกรรมครั้งนั้น

๒๗ มีนาคม ๒๕๔๙

ทีม รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์และ รพ.กรุงเทพหาดใหญ่ มาถึงห้องประชุมแต่เช้าก่อนกำหนดนัด เราเริ่มกิจกรรมด้วยการแนะนำตนเอง โดยทีมจาก รพ.เทพธารินทร์ที่มาร่วมต้อนรับประกอบด้วยดิฉัน คุณณัฎฐิยา ปะบุญเรือง คุณกิ่งเพชร ประกอบกิจเจริญ คุณยอดขวัญ เศวตรักต ส่วนคุณหมอสิริเนตร กฤติยาวงศ์ ตามมาสมทบทีหลัง


  ประมาณ ๙ โมงกว่า ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ มากล่าวต้อนรับ เราขอให้อาจารย์เทพเล่าความเป็นมาและพัฒนาการของงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพ.เทพธารินทร์ ซึ่งอาจารย์ก็ยินดีและแถมพูดต่อถึงงานในภาพกว้างระดับประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยบอกว่าชุมชนต้องเน้นการป้องกันโรค ปัจจุบันไม่คุยกันแล้วว่าเป็นหรือไม่เป็นเบาหวาน ต้องคุยกันเรื่องความเสี่ยง เมื่อนึกถึงเบาหวานก็ให้นึกถึงโรคหลอดเลือดและหัวใจ.....แพทย์ต้องมองกว้าง ทำงานเหมือนนกไม่ใช่หนอน...มีอีกหลายๆ อย่างที่อาจารย์ฝากให้คิด เมื่ออาจารย์เทพพูดจบคุณหมอทั้ง ๒ ท่านมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรักษา การใช้ยา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การซักถามแลกเปลี่ยนระหว่างคุณหมอ ๓ คนนี้ทำให้ดิฉันได้คิดว่าจริงๆ เวทีเฉพาะหมอๆ ก็น่าจะมีความสำคัญเช่นกัน หัวข้อนี้ใช้เวลามากกว่าที่กำหนดไว้มากทีเดียว  


ต่อจากนั้นแต่ละ รพ.ได้นำเสนอการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของตนเอง ทุกทีมเล่าอย่างถ่อมตนว่างานของตนเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่คนฟังต่างมองเห็นจุดเด่นของแต่ละทีม เช่น รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ให้พยาบาลตรวจผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลใช้ได้และไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยหลายรูปแบบ คุณหมอกิตติเคยฟังอาจารย์เทพบรรยาย ได้นำความรู้ไปใช้ในการดูแลเท้า มีการประเมินเท้าผู้ป่วย การ trim callus การใช้เทคนิค off-loading เป็นต้น แต่ยังหารองเท้าไม่ได้

ก่อนเล่าเรื่องงานของตนเอง คุณหมอวีรวรรธ ชมว่างานของ รพ.บ้านใหม่ “ผมคิดว่าวิ่งแล้ว” ของตนเอง "เพิ่งเดิน" เพราะเพิ่งเปิดคลินิกเบาหวานมายังไม่ถึง ๒ ปี กำลังสร้างทีม แต่ก็ยังมีกิจกรรมหลายอย่างและตั้ง “ชมรมมดงอน” ขึ้นแล้ว (คุมน้ำตาลได้ มดจึงงอน)


น้องจาก รพ.เกษมราษฎร์ ฟังของที่อื่นๆ แล้วบอกว่างานของตน “เพิ่งคลอด” ข้อมูลที่เล่าแสดงถึงความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงของทีม ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน และต้องทำงานหลายด้าน ที่น่าสนใจคือมีเจ้าหน้าที่ที่จบด้านสาธารณสุขศาสตร์มาทำงานร่วมทีมอยู่ด้วย

ก่อนเล่าการทำงานของทีม รพ.เทพธารินทร์ คุณหมอสิริเนตรกล่าวได้อย่างน่าชื่นชมมากว่า “ประทับใจงานของทุก รพ. รพ.บ้านใหม่วิ่งไปเยอะแล้ว หาดใหญ่ก็ทำไปมาก ส่วนของเกษมราษฎร์ ทีมน้อยกว่าแต่ก็มีใจ” คุณหมอสิริเนตรบอกว่าที่ รพ.เทพธารินทร์ Medical service และ education ไม่สามารถแยกจากกันได้ หมอจะทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีทีม educator การให้ความรู้ทำได้ง่าย แต่การเปลี่ยน attitude ทำได้ยาก แพทย์ต้องเป็น center ในการส่งต่อผู้ป่วยให้แก่ทีม convince ผู้ป่วย และให้อำนาจแก่ทีมในการนัดหมายผู้ป่วยเพื่อติดตามประเมินผลได้อย่างอิสระ คุณหมอสิริเนตรยังเล่าถึงการ audit เพื่อดูว่าแพทย์ได้ให้การดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในแต่ละปี ส่วนการคัดกรองและ monitor ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ยังไม่ถึงเป้า เพราะมีเรื่องค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง และยังเล่าถึงกิจกรรมการรวมกลุ่มกันที่ทำให้มีโอกาสทำความเข้าใจเรื่องงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และเรียนรู้เรื่องวิชาการที่ทันสมัย เช่น Endocrine Meeting, Interesting Case, Journal Club ฯลฯ ให้กำลังใจแก่ทุก รพ.ว่าทุก รพ.ก็มีปัญหาทั้งนั้น ฟังข้อมูลจาก รพ.บ้านใหม่แล้ว “ปิ๊ง” เรื่องให้ทีมคนอื่นเข้ามาช่วย ช่วงท้ายได้ discuss กันเรื่อง ทำอย่างไรกับปัญหาผู้ป่วยคุมดีได้ไม่นาน คุณหมอกิตติจึงเล่าเรื่อง “ทัวร์นรก” คือพาผู้ป่วยและญาติไปให้เห็นคนที่มีโรคแทรกซ้อนที่แย่ๆ เกิดขึ้นแล้ว


ตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน เราขอให้ทุกคนรับประทานอาหารกันอย่างรวดเร็ว ชดเชยเวลาที่เกินไปตอนช่วงเช้า เพื่อใช้เวลาประมาณ ๑๒.๓๐-๑๓.๐๐ น. ไปทัวร์ รพ. ให้เห็นภาพคลินิกเบาหวาน คลินิกสุขภาพเท้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานจะได้นึกภาพออก


ช่วงบ่ายมีการแลกเปลี่ยนใน ๒ หัวข้อ เริ่มประมาณ ๑๓.๑๕ น.คุณณัฎฐิยาเล่าเรื่องการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย เริ่มต้นว่ากิจกรรมของแต่ละ รพ. “แตกต่างในรายละเอียด แต่เป้าหมายเดียวกัน” และผู้ป่วยคือ “หนึ่งในทีม” ของเรา พร้อมแจกแจงกิจกรรมต่างๆ ที่มี ปัญหาที่พบ มีคำถามน่านสนใจเช่น ผู้ป่วย loss follow up ไปเลยทำอย่างไร เทคนิคในการเริ่มต้นคุยกับผู้ป่วย เป็นต้น ตอนท้ายที่แลกเปลี่ยนกันคุณหมอวีรวรรธสารภาพว่า “ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักรักษาตัวเลข” เพราะคนไข้เยอะ คุณหมอกิตติเล่าถึงการใช้โปรแกรม M Record ที่พวกเราคิดว่าทันสมัยมาก


คุณกิ่งเพชรมาเล่าเรื่องการดูแลสุขภาพเท้า มีรูปเท้ารูปแผลแบบต่างๆ มาให้ดู ทำเอาน้องๆ บางคนที่ไม่ชินกับภาพเหล่านี้รับประทานอาหารว่างกันไม่ลงทีเดียว เล่าถึงการบริการด้านของการป้องกันการเกิดแผล การดูแลรักษาแผล การฟื้นคืนความสามารถในการเดิน รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย คุณกิ่งเพชรนำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ มาแสดงด้วย บอกถึงหัตถการที่ทำกันเป็นประจำ เช่น การ trim callus, felted foam dressing เป็นต้น คุณยอดขวัญ นักกายภาพบำบัด ได้เล่าถึงบทบาทของนักกายภาพบำบัดและการเรียนรู้ของตนเอง  “ไม่ได้เรียนมา แต่ได้ตอนทำงาน” เน้นความสำคัญของการส่งต่อ คำถามเรื่องเกี่ยวกับเท้ามีไม่มากเท่าเรื่องของการให้ความรู้ สงสัยจะอ่อนเพลียกันทั้งสองฝ่ายแล้ว เราจบกิจกรรมวันแรกที่ ๑๖.๐๐ น.

๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙

ตอนเช้าเราได้รับแจ้งจากทีม รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ว่าช่วงบ่ายขอกลับก่อน เพราะต้องออกเดินทางกลับจากกรุงเทพ ประมาณ ๑๓.๐๐ น.ดิฉันจึงต้องปรับกิจกรรมให้กระชับขึ้นอีก โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงทบทวนประเด็นต่างๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกันไปแล้วและเล่าเรื่องของเครือข่าย ต่อจากนั้นคุณจุรีย์พร จันทรภักดี เล่าถึงบทบาทของนักกำหนดอาหารในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก การให้คำปรึกษา การจัดมุมให้ความรู้ มีคำถามมากมายกว่า ๑๐ คำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของการทำงาน เช่น วิธีการบอกผู้ป่วยว่าควรกินเท่าไหร่ การซักประวัติอาหาร อาหารเสริม การให้สารให้ความหวาน เวลาในการรับประทานอาหารก่อนนอน ฯลฯ หลายคำถามเป็นการขอคำปรึกษาว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ บางช่วง รพ.ต่างๆ ก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเอง


คุณธัญญา หิมะทองคำ นำทีมซึ่งมีคุณปฏิมา พรพจมานและคุณอาฬสา หุตะเจริญ มาเล่าเรื่องค่ายเบาหวานซึ่งมีรายละเอียดมากมายทั้งกิจกรรมและกระบวนการทำงานเบื้องหลัง คุณหมอกิตติร่วม share ประสบการณ์ว่าเคยทำค่ายแล้วล่ม เพราะมีทีมมาประเมินแล้วรู้สึกว่ายังไม่เกิดประโยชน์ชัดเจน ซึ่งคุณหมอวีรวรรธให้ความเห็นว่าผลทางด้านจิตใจของผู้ป่วย เช่น ความสุขใจ น่าจะมีคุณค่ามากกว่าการประเมินเชิงปริมาณอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้ข้อเสนอแนะจากคุณหมอกิตติในฐานะที่กำลังเรียนกฎหมายอยู่ว่าควรมีการ informed consent แล้วให้ผู้ป่วยแสดงความยินยอมไว้ด้วย เหมือนเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมขอเข้าเป็น observer ในค่ายครั้งต่อไปด้วย

๑๒.๐๐ น.ดิฉันเริ่ม AAR โดยเริ่มจากทีม รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ ขณะที่คนอื่นๆ รับประทานอาหารกลางวัน เรียกว่าใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่า คุณหมอกิตติก็จะไปซื้อของสำหรับ รพ.ก่อนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง จึงขอ AAR ต่อทีม รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ วันนี้เราไม่ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องของชมรมผู้เป็นเบาหวาน ต้องขอบโทษคุณสุนทรี นาคะเสถียรที่ปลีกตัวจากที่ประชุมมาเพื่อการแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ แต่ได้เพียงร่วมแจมในช่วงที่ต่อเนื่องมาจากค่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปิดกิจกรรมเวลา ๑๓.๒๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘

   

 นพ.กิตติ  โล่สุวรรณรักษ์ รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์

 นพ.วีรวรรธ  คลายนา รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่


 ทีมจาก รพ.เกษมราฏร์ สุขาภิบาล

 

บรรยากาศในห้องประชุม

หมายเลขบันทึก: 21376เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท