ภาพพม่า (2)


...อาจารย์วิเชียร ท่านสวมโสร่งแบบพม่า วิธีสวมแบบพม่าคือ ห้ามใส่เข็มขัด ของมีค่าให้ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายหรือเป้ คนพม่าบางคนก็เหน็บของไว้กับขอบโสร่งทางด้านหลัง ถ้าสวมเข็มขัด...พม่าจะรู้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่หม่อง(ไม่ใช่พม่า)

การสืบค้นข้อมูลก่อนเดินทางไปพม่ามีส่วนทำให้เราเตรียมการได้ดีขึ้น สิ่งแรกที่ผู้เขียนเตรียมไว้เป็นพิเศษก่อนไปพม่าคือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับพม่า เช่น อ่านหนังสือเกี่ยวกับพม่า สืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

แหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพม่าดีที่สุดแห่งหนึ่งคือ ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร น่าดีใจที่เมืองไทยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยและทีมงานที่สนใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง และนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้อ่านได้ตลอด 24 ชั่วโมง(ทางอินเตอร์เน็ต)

คนพม่าส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาค่อนไปทางเคร่งครัด เวลาเข้าวัดจะถอดรองเท้าไว้ที่ทางเข้าวัด เดินเท้าเปล่าเข้าไปในวัดด้วยความเคารพ

ผู้เขียนมีโอกาสเตรียมตัวก่อนไปพม่าประมาณ 2 สัปดาห์เศษ ฝึกเดินเท้าเปล่าบ่อยๆ เพื่อให้หนังเท้าหนาขึ้น เวลาเหยียบของมีคม เช่น หิน หนาม ฯลฯ จะได้บาดเจ็บน้อยลง

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก่อนไปพม่าคือ ควรนำรองเท้าแตะไป 2-3 คู่ เผื่อรองเท้าหาย เพราะคนพม่าชอบสวมรองเท้าแตะคีบ ร้านค้าในพม่าก็จำหน่ายรองเท้าแตะคีบเป็นหลัก หาซื้อรองเท้าแตะสานแบบที่เราใช้ได้ยาก คนที่สวมรองเท้าแตะสานมานานๆ ถ้าใส่รองเท้าคีบอาจจะเจ็บซอกนิ้วเท้าได้

ก่อนจะเดินเท้าเปล่ามีข้อพึงระวังอยู่ 2 อย่างได้แก่ เรื่องแรกคือเป็นเบาหวานหรือไม่ เรื่องที่สองคือฉีดวัคซีนบาดทะยักซ้ำแล้วหรือยัง

คนที่เป็นเบาหวานไม่ควรเดินเท้าเปล่า เพราะอาจจะเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรัง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกตัดนิ้วเท้า ข้อนี้ผู้เขียนโชคดี เช็คแล้วน้ำตาลในเลือดยังต่ำอยู่

ถ้าเป็นเบาหวานจริงๆ ควบคุมน้ำตาลให้ดีหน่อย เดินระวังหน่อยก็คงจะไปทำบุญที่พม่าได้ แต่ถ้าเป็นเบาหวานแล้วไม่รู้ตัว อันนี้จะเสี่ยงอันตรายมาก

ผู้เขียนฉีดวัคซีนบาดทะยักครบแล้ว เท่าที่จำได้... ฉีดกระตุ้นครั้งสุดท้ายยังไม่เกิน 10 ปี ทำให้ไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำ ผู้ใหญ่ควรฉีดกระตุ้นบาดทะยักทุก 10 ปี เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน

การเดินเท้าเปล่าสำหรับ “เท้าสมัครเล่น” เช่นผู้เขียนคงจะหนีเรื่องบาดแผลได้ยาก จึงควรฉีดวัคซีนบาดทะยักก่อนไปพม่าถ้าฉีดกระตุ้นครั้งสุดท้ายนานเกิน 10 ปี

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เมียนม่าไทม์ทางอินเตอร์เน็ตเดือนมิถุนายน 2548 กล่าวว่า โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นสาเหตุของการตายที่พบบ่อยที่สุดของพม่า 3 โรคแรกได้แก่ มาลาเรีย เอดส์ และวัณโรค ช่วงนั้นมีโรคระบาดในย่างกุ้งอีกอย่างหนึ่งคือ ไข้เลือดออก

เรื่องมาลาเรียไม่ค่อยน่าห่วง เพราะเราจะไปทางเครื่องบิน ไม่ผ่านป่า ไม่ผ่านชายแดน เรื่องเอดส์ไม่น่าห่วง อายุของบรรดาผู้เฒ่าในคณะของเราคือ 75 (ผู้การฐนัส), 63 (อาจารย์วิเชียร), 44 (ผู้เขียน) ปีตามลำดับ นับว่า ใกล้ฝั่งเข้าไปทุกที เรื่องนี้จึงไม่มีปัญหา มุ่งหน้าทำบุญลูกเดียว

เรื่องวัณโรคนี่ต้องระวังไว้บ้าง พยายามอย่าเข้าไปในที่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ เช่น ร้านอาหาร รถโดยสาร ฯลฯ รักษาสุขภาพให้ดี เท่านี้คงจะปลอดภัย

ต่อไปเป็นเรื่องไข้เลือดออกที่ย่างกุ้ง ผู้เขียนเตรียมซื้อยากันยุงชนิดพ่นไว้หลายหลอด สอบถามจากอาจารย์วิเชียร ท่านว่า วัดแฌมเย่ที่เราจะไปพักติดมุ้งลวดอย่างดี แถมยังมีมุ้งเตรียมไว้พร้อม ไม่น่าห่วงอะไร

การเดินทางไปพม่าจะต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุให้ดี การมีอุบัติเหตุอาจทำให้ต้องรับเลือดจากคนอื่น และเสี่ยงต่อการติดโรคโดยไม่จำเป็น

อาจารย์นายแพทย์ติน วิน มาวกล่าวว่า โรงพยาบาลในพม่ามี 805 แห่ง มีคลังเลือด 38 แห่ง ปี 2548 มีการบริจาคเลือด 181,920 ถุง (ของไทยในช่วงเวลาเดียวกันมีการบริจาคเลือดมากกว่า 700,000 ถุง)

เลือดในพม่า 75 % มาจากผู้บริจาคเลือด อีก 25 % มาจากการบริจาคแบบฉุกเฉิน โดยญาติหรือเพื่อนๆ ของคนไข้บริจาค

เลือดเหล่านี้ผ่านการตรวจเอดส์ 100 % ตรวจไวรัสตับอักเสบบี 85 % ตรวจไวรัสตับอักเสบซี 25 % ซิฟิลิส 85 % ผู้เขียนเข้าใจว่า เลือดที่จำเป็นต้องให้คนไข้ก่อนตรวจครบทุกอย่างน่าจะเป็นเลือดที่บริจาคกันแบบฉุกเฉิน

หนังสือพิมพ์เมียนม่าไทม์ เดือนมิถุนายน 2548 ลงข่าวเชิญชวนให้คนพม่าช่วยกันบริจาคเลือดกันให้มากขึ้น

ตอนนั้นมีฝรั่งจากสถานทูตสหราชอาณาจักร(อังกฤษ)ไปบริจาคเลือด อาจารย์แพทย์ชาวพม่ากล่าวชมลงหนังสือพิมพ์กันยกใหญ่ นี่ก็เป็นอานุภาพของการทำดีที่ทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างมากมาย

คนพม่าบริจาคเลือดได้ประมาณ 1 ใน 4 ของความต้องการ เทียบกับคนไทยปีเดียวกันบริจาคเลือดได้ประมาณ 1 ใน 2 ของความต้องการ

นั่นหมายความว่า ถ้าจะให้ระบบคลังเลือดของพม่าอยู่ในสภาพที่มีเลือดที่ผ่านการตรวจอย่างละเอียด และเก็บสำรองไว้อย่างดีเยี่ยม คนพม่าน่าจะบริจาคเลือดให้มากกว่านี้ประมาณ 4 เท่า ระบบคลังเลือดของไทยเองก็ต้องการให้คนไทยช่วยกันบริจาคเลือดให้มากกว่านี้ประมาณ 2 เท่า

ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดมีส่วนในการบริจาคเลือดหรืออวัยวะมาแล้ว ผู้เขียนก็ขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านมา ณ ที่นี้

ท่านใดที่ยังไม่เคยบริจาคเลือด ขอเชิญบริจาคเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ถ้ามีโอกาสไปพม่า เชิญแวะคลังเลือดโรงพยาบาล จะบริจาคเป็นเงิน หรือจะให้เป็นสิ่งของ เช่น ผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ยา ฯลฯ ก็ได้

คนพม่าดูจะชอบนักท่องเที่ยวไทย เพราะนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ไปกราบไปไหว้พระเจดีย์ แถมยังมีสตางค์ไปบริจาคคราวละมากๆ ทำอย่างนี้ถูกใจชาวหม่อง คนพม่าชอบชื่อ “หม่อง (Maung)” ชื่อนี้เป็นชื่อผู้ชาย ออกเสียงคล้ายๆ “หม่าว” ดีกับเพื่อนบ้านไว้ดีกว่าทะเลาะกันครับ...

ระบบคลังเลือดของพม่าได้รับความอนุเคราะห์จากญี่ปุ่น (JICA) อย่างดี อาสาสมัครญี่ปุ่นช่วยงานคลังเลือดไปทั่วพม่า นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังบริจาครถให้คลังเลือด เข้าใจว่าเป็นรถใช้แล้ว เพราะดูไม่ถึงกับใหม่นัก

การที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือคลังเลือดพม่านับว่าได้ทั้งบุญ และได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ญี่ปุ่นในด้านดีไปในตัว น่าเสียดายที่คนไทยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านมากเท่าที่ควร

การทำการค้าในต่างแดนนั้น... ถ้าไม่มีกิจกรรม "คืนกำไร" หรือให้อะไรตอบแทนสังคมบ้าง เจ้าบ้านอาจจะติเตียนได้ว่า เป็นนายทุนหน้าเลือดอะไรทำนองนี้

ถ้าอะไรกับสังคมบ้าง สังคมก็จะแสดงความชื่นชมกลับมา คนพม่าเองเห็นญี่ปุ่นเข้าไปช่วยคลังเลือดเช่นนี้ดูจะชื่นชอบญี่ปุ่นไม่น้อยอยู่เหมือนกัน...

ภาพที่ 2: หน่วยอาสาสมัครเชิญชวนบริจาคเลือดที่ตลาดเมืองพุกาม (Noble heart yoluntary blood donator’s association) ภาพนี้จะเห็นอาสาสมัครญี่ปุ่นทำงานร่วมกับคนพม่า ด้านหลังมีรถบริจาคของญี่ปุ่น ถ้าใครยินดีบริจาคเลือด เขาจะติดเข็มเชิดชูเกียรติให้ และพาไปบริจาคที่โรงพยาบาลพุกาม
- คนสวมแว่นจดข้อมูลอยู่คือ อาจารย์วิเชียร ท่านสวมโสร่งแบบพม่า วิธีสวมแบบพม่าคือ ห้ามใส่เข็มขัด ของมีค่าให้ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายหรือเป้ คนพม่าบางคนก็เหน็บของไว้กับขอบโสร่งทางด้านหลัง ถ้าสวมเข็มขัด...พม่าจะรู้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่หม่อง(ไม่ใช่พม่า)
- ผู้เขียนร่วมทำบุญไป 1,000 จัต เมื่อพิจารณาภายหลังว่า ทำเป็นเงินพม่า(ตอนนั้น 1 บาทไทยเท่ากับ 25 จัต) รู้สึกว่า ทำบุญน้อยเกินไป รู้สึกไม่อิ่มใจ ทำให้ต้องไปทำบุญเพิ่มที่คลังเลือดโรงพยาบาลมัณฑเลย์จนอิ่มใจ

แนะนำให้ชมภาพเต็มจอ (โปรดคลิกลิงค์ข้างล่าง) จะเห็นภาพผู้การฐนัสทางขวา
ท่านบริจาคเลือดมาแล้วถึง 37 ครั้ง >
http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/BloodBankMarketBranch.jpg

  • ขอขอบคุณอาจารย์ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร > www.myanmar.nu.ac.th
  • ขอขอบคุณอาจารย์พงศกร เบญจขันธ์. บล็อกศูนย์พม่าศึกษา NUQAKM > http://www.gotoknow.org/mscb
  • ขอขอบคุณ Sandar Linn. Blood donor screening improved. The Myanmar Times. Vol.16, No.30, March 6-12, 2006. > http://www.myanmar.com/myanmartimes/MyanmarTimes16-307/n011.htm (เวลาเปิดอ่านจะมีหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาพม่าโผล่มาบังภาษาอังกฤษ ให้ปิดหน้าจอภาษาพม่า หลังจากนั้นจะอ่านภาคภาษาอังกฤษได้)
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๙ > สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙.
หมายเลขบันทึก: 21356เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ขอบคุณคุณหมอมากครับ
  • ได้เข้ามาอ่านผ้าขาวม้าไทยไปพม่า 2 ตอนสนุกมากครับ
  • ทราบว่าคุณหมออายุแค่ 44 ปีจากบันทึกนี้นะครับ
  • คนบริจาคเลือดนี้ผมว่าได้บุญมากกว่าบริจาคเงินมากนะครับ ยิ่งบริจาคเลือดให้คนต่างชาตินี้ยิ่งน่านับถือครับ
  • ถ้ามีโอกาสคุณหมอช่วยเล่าเรื่องพม่าเปลี่ยนเมืองหลวงให้อ่านบ้างนะครับ

อ่านแล้วสนุกมากเลยครับแถมได้ความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว

เราคงต้องยกย่อง คนที่บริจาคเลือด เขาทำเพื่อมนุษยธรรมจริงๆ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทน แต่ได้ความสุขทางใจกลับมา

ปล. อยากทราบเรื่องพม่าเปลี่ยนเมืองหลวงเช่นกัน ครับ

ลืมลงชื่อ ครับ

ผมขอลงชื่อเป็นลิงค์นะครับ

เนื่องจากสามารถตามหาตัว คนโพสได้ง่ายกว่า

การลงชื่อจริง ครับ :-)

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์สมลักษณ์ และอาจารย์ ทพ.Tom_NU (~/dentistnu)
  • ขอขอบคุณที่ชมว่า อายุผมแค่ 44 ปี คนที่ดูแก่เกินวัยเช่นผมนี่ ท่านว่า เป็นคนมักโกรธ มากด้วยโทสะครับ ทราบแล้วเปลี่ยน... ผมจึงน้อมไปที่จะไม่มักโกรธแล้ว
  • การบริจาควัตถุสิ่งของภายนอกสงเคราะห์เป็น "ทาน"
    การบริจาคอวัยวะ เช่น เลือด ฯลฯ สงเคราะห์เป็น "องคทาน"
  • โดยทั่วไป, องคทานมีผลมีอานิสงส์(บาลี=กำไร)มากกว่าทานอย่างที่อาจารย์สมลักษณ์ว่า ยกเว้นในท่านผู้ที่เจริญทานเป็นบาท(พื้นฐาน)ของศีลหรือภาวนา
  • คนที่บริจาคเลือดให้คนต่างชาตินับว่า มีจิตใจสูงขึ้น เป็นผู้เคารพทานของตนเอง และน่าจะมีเมตตาหรือกรุณาเป็นบาท(พื้นฐาน)
  • กรณีฝรั่งจากสถานฑูตอังกฤษบริจาคให้คนพม่า ฯลฯ ที่อาจารย์แพทย์พม่าพากันสรรเสริญ นับว่า น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง...
  • เราอยู่เมืองไทย บริจาคเลือดให้คนไทยก็ได้บุญมาก ได้อานิสงส์(กำไร)มากครับ
  • ทราบจากอาจาย์ และนิสิตนักศึกษา มน.ว่า ที่มน.มีชมรมบริจาคเลือดที่เข้มแข็งมาก ขอเรียนเชิญอาจารย์บริจาคเลือดที่ มน.
  • จะตั้งเป็นชมรมผู้บริจาคเลือด NUQAKM ก็ได้นะครับ ที่วัดท่ามะโอ ลำปางก็มีกลุ่มผู้บริจาคเลือดของวัด
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอตอบปัญหาที่ถามมา...
  • การย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ "ปยินมะนา (Pyinmana)"... ผมมีความรู้อย่างจำกัด
  • สำนักข่าวต่างๆ สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นจากหมอดูแนะนำ หรือต้องการ "หนี" ให้ไกลทะเล เพราะกลัวอเมริกาจะนำเรือและฝูงบินไปแทรกแซงกิจการภายใน ถ้าอเมริกาแทรกแซงจะได้ทำสงครามกองโจรได้ง่าย
  • เรื่องนี้มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอยู่ใน มน.
    (หวังว่า คงจะรู้จัก "มน." พิษณุโลก
    ซึ่งอยู่ระนาบแนวนอนเดียวกับย่างกุ้งพอดี)
    เรื่องหลายๆ เรื่องนี่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
    (specialisit consultant) ดีมากครับ...

    ที่นี่ครับ...
    1). www.myanmar.nu.ac.th
         ศูนย์พม่าศึกษามีบริการตอบปัญหาผ่านทาง...
         [email protected] 
         หรือจะโทรศัพท์ไปเรียนถามอาจารย์ได้ที่นี่...
         โทร. 05.526.1000 (ถึง 4) ต่อ 1150, 1222
    2). www.gotoknow.org/mscb
  • การศึกษาเรื่องเพื่อนบ้านน่าจะ "ทำอย่างเป็นมิตร" แบบที่ศูนย์พม่าศึกษา มน.ทำดีที่สุดครับ ทะเลาะกับเพื่อนบ้านไม่ดีเลย
        

อ่านแล้ว รู้สึกอิ่มบุญไปด้วยค่ะ (อ่านตรงกับวันพระซะด้วย)

เพิ่งทราบว่าอาจารย์วัลลภอายุ 44 ปี อาจารย์สมลักษณ์ช่างสังเกตมากเลยค่ะ เพราะตอนแรกอ่านก็ผ่านตาเฉยๆ พอมาอ่านความเห็นต่อ ย้อนไปดูบทความใหม่ ถึงได้สังเกต ขอศึกษาวิธีช่างสังเกตแบบนี้ด้วยค่ะ

ทำไมคนพม่าถึงต้องการเลือดมากคะอาจารย์ (ถือว่ามากไหมคะถ้าเทียบกับประเทศอื่น)

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ JC...
  • ขออนุโมทนาที่อ่านแล้วอิ่มบุญครับ
  • ปี 2548 พม่ามีเลือดบริจาค 181,920 ถุง
  • ถ้าจำไม่ผิด...
    ปี 2547 คนไทยบริจาคเลือด 7 แสนกว่าถุง
  • ผมเข้าใจว่า พม่าน่าจะต้องการเลือดน้อยกว่าไทย เพราะไทยมีจำนวนประชาการมากกว่า อุบัติเหตุมากกว่า การผ่าตัดใหญ่มากกว่า การรักษาโรค เช่น ให้ยาเคมีหรือฉายแสงมะเร็ง การปลูกถ่ายไขกระดูก-อวัยวะ ฯลฯ มากกว่า
  • ทว่า... พม่าน่าจะมีข้อห้ามในการบริจาคมากกว่า เช่น คนที่อยู่ในเขตระบาดมาลาเรีย คนที่เป็นมาลาเรียมาใน 2 ปี ไวรัสตับอักเสบบีและซี (ผู้ชายพม่าชอบสัก ซึ่งมีโอกาสติดโรคทางเข็มสัก) ฯลฯ
  • เลือดเกือบทุกที่ในโลกมีไม่พอใช้
    นี่เป็นธรรมดาของโลกที่ว่า
    ผู้ขอย่อมมีมากกว่าผู้ให้...

    คนที่ให้เลือดได้จึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก
    เพราะชื่อว่า ได้ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก(อวัยวะ)
  • ถ้าอาจารย์อยู่เมืองไทย...
    ขอเชิญชวนบริจาคเลือด และอวัยะวะ เช่น ดวงตา ฯลฯ
  • ถ้าอาจารย์ไปพม่า...
    เชิญแวะไปบริจาคผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ยา หรือเงินให้คลังเลือดโรงพยาบาลครับ
  • อ่านแล้วสนุกมากครับ ชอบที่ได้ความรู้ ได้รู้จักพม่า
  • ผมอยากไปพม่ามากครับ เคยคิดไว้แต่ไม่มีโอกาสได้ไปสักที ได้ยินข่าวว่าพม่าสามารถรักษาขนอบธรรมเนียมประเพณีไว้ได้ดีมาก บางคนบอกว่าเป็นผลจากการปิดประเทศ
  • แต่ผมแปลกใจว่าไปพม่าทำไมต้องฝึกถอดรองเท้าด้วยครับ เค้าถอดรองเท้าเดินกันหรือครับ หรือว่าถอดเฉพาะตอนไปวัด
  • ผมเคยมีประสบการณ์ไปญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรการถอดรองเท้า จำได้ว่าไปประชุมวิชาการที่โรงเรียน แห่งหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นจะแต่งตัวใส่สูทกันอย่างโก้ แต่ทุกคนจะถอดรองเท้าคัทชู และสวมรองเท้าแตะ แต่เป็นหนัง ที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ให้ และใส่รองเท้าที่ถอดลงในถุงพลาสติกแบบถุงกรอบแกร๊บ มือซ้าถือเอกสารประชุม มือขวาถือถุงรองเท้าพลาวติก ใส่สูทโก้หรูแต่ใส่รองเท้าแตะ ดูแปลกๆ ดีจัง อ้อลืมไปเวลาเข้าห้องญี่ปุ่นจะไม่ถอดรองเท้าวางหันหน้าเข้านะครับ แต่จะวางหันหน้าออก เหตุผลเพราะอะไร ก็เพราะว่าตอนออกมาจะได้สวมใส่ได้ทันทีเลยครับ
  • ผมทราบจากท่านอาจารย์มาลิณีว่า คุณหมอยังอายุไม่มาก รุ่นๆ คราวเดียวกับ อ.สมลักษณ์ แต่ คุณหมอสนใจธรรมะ ปฏิบัติธรรม ทำตัวสมถะ ทำให้ดูเป็นผู้ใหญ่ แต่พอทราบอายุคุณหมอ เลยรู้ว่าคุณหมออายุมากกว่าผม 3 ปีเองครับ ผมตอนนี้ 41 แล้วครับ เกิด 2508 ครับผม แต่ประสบการณ์และความเข้าถึงธรรมผมนั้นยังอ่อนเยาว์อยู่ครับ
  • ผอ.ห้องสมุดรับปากว่าจะพาพวกเราไปปฏิบัติธรรมที่พม่าครับ จากเรื่องเล่าที่คุณหมอเล่าทำให้ผมต้องเตรียมตัวอีกมากเลยครับ ทำงานสวมแต่รองเท้าตลอดไม่เคยเดินเท้าเปล่าเลยครับ
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์หนึ่ง...
  • คนพม่าถอดรองเท้าในเขตวัด ที่อื่นจะสวมรองเท้าแตะคีบ
  • คนที่สวมรองเท้ามานานจะมีหนังเท้าบาง ถ้าเดินถอดรองเท้าทันทีอาจจะเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ผมจึงฝึกเดินถอดรองเท้า เพื่อให้หนังเท้าหนาขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เวลาย่ำไปโดนหินคมๆ หนาม ฯลฯ
  • มีพระเจดีย์หนึ่งที่พุกามชื่อ "มิงกาล่าเซดีย์ (มงคล/สวัสดีเจดีย์)" มีพุ่มไม้อะไรไม่ทราบ เดินไปแล้วหนามหลุดออกมาตำเท้าคล้ายกับเข็มที่ใช้ติดกระดาษบนกระดาน(บอร์ด)
  • อาจารย์วิเชียรโชคดีเดินไปได้หน่อยแล้วกลับทัน ผมนี่เดินย่ำไปรอบเจดีย์ เจอไปหลายแผลเหมือนกัน
  • นึกถึงเวรกรรมแล้ว... สงสัยชาติก่อนผมคงจะโหดไม่เบาเลย อาจจะโรยขวากหนามแกล้งคนหรือสัตว์ไว้มั้ง
  • ขอขอบคุณที่เล่าเรื่องญี่ปุ่น น่าสนใจมากครับ
  • คนขับแท็กซี่ท่านหนึ่งก็ถามผมว่า เคยไปญี่ปุ่นไหม ผมตอบไปว่า ไม่เคยครับ...ท่านจึงเล่าว่า
  • ท่าน(คนขับรถ)ไปรับจ้างก่อสร้างในญี่ปุ่น หัวหน้าญี่ปุ่น(ไซโจะ)ไม่เหมือนไทย หัวหน้าญี่ปุ่นลงมือทำเป็นแบบ
    อย่าง ถ้าก่อสร้างนี่เขาจะลงมาทำเลย ทำให้ลูกน้องอาย ต้องขยัน ปีหนึ่งจะมีเลี้ยงขอบคุณทีหนึ่ง คุณไซโจะจะขอโทษที่เข้มงวด ดุด่าว่ากล่าวลูกน้อง ลูกน้องจะหายโกรธทันที เพราะท่านไซโจะขอโทษอย่างสุภาพ แถมยังแจกซองใส่เงินให้ด้วย น่าทึ่งจริงๆ
  • ยินดีที่อาจารย์ ผอ.ห้องสมุดจะนำทีมไปพม่า น่าจะเชิญอาจารย์ศูนย์พม่าศึกษามาบรรยายประสบการณ์ที่ห้องสมุด... ทำเป็น "event marketing" จูงใจให้คนเข้าห้องสมุด
  • ห้องสมุดยุคใหม่เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ การเชิญคนเก่งๆ คนดังๆ มาร่วมกิจกรรมจะทำให้ห้องสมุดดูมีชีวิตชีวาขึ้น นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "Lively theme" นอกเหนือจากห้องสมุด Sanook (เช่น TKpark), Sabai เช่น ห้องสมุดที่มีแต่นิตยสาร-นสพ.อย่างที่เคยนำเสนอ, Serious อย่างห้องสมุด 4 เหลี่ยมที่ มน.
  • ถ้าจะไปพม่า ขอความกรุณาส่งรายการไปให้ก่อนสัก 1-2 เดือน เผื่อจะขอไปกับห้องสมุด โดยออกค่าใช้จ่ายเอง
  • คำตอบข้างบนนี้ตอบโดย Khin Maung Myint (ชื่อพม่าผมคือ ขิ่น หม่าว(ไทยออกเสียงว่า หม่อง) มยิต์...ขอบคุณครับ
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • เหมือนได้ไปพม่าอีกครั้งครับ
  • บ้านผมอยู่ใกล้กับพม่าแต่ไปแค่ ไม่กี่ครั้ง
  • อยากทราบว่าเข็มชูเกียรติของพม่าเหมือนของไทยไหมครับ
  • ภาษาพม่าน่าศึกษานะครับ
  • ขอบคุณมากครับที่นำเรื่องน่าสนใจมาให้อ่าน
นพ.วัลลภ (ขิ่น หม่าว มยิต์)
  • ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้อ่าน และท่านผู้ให้ข้อคิดเห็นทุกท่าน...
  • ภาษาพม่าเทียบกับไทยแล้วยากกว่าครับ ท่านพระจะนะชาวพม่าที่วัดท่ามะโอและอาจารย์วิเชียรกล่าวตรงกัน
    (1). ภาษาพม่าเป็นภาษากลุ่มธิเบต-พม่า ประโยคจะเรียงจาก "ประธาน-กรรม-กิริยา" คล้ายญี่ปุ่น ไม่เหมือนไทยที่เรียงจาก "ประธาน-กรรม-กิริยา"
    (2). การออกเสียงไม่ค่อยตรงกับภาษาเขียน โดยเฉพาะตัวสะกดจะออกเสียงเบามาก เวลาฟังต้องตั้งใจ + เดาว่า คำอะไรกันแน่... คล้ายภาษาผู้คงแก่เรียน (scholar language)
  • เข็มเชิดชูเกียรติสมาคมบริจาคเลือดนี่... ถ้ามีโอกาสอาจจะถ่ายภาพมาลงไว้(ยังไม่รับปากนะครับ...) ตอนไปพุกามทีแรกว่าจะบริจาค ไม่ทราบเป็นอะไร เกิด "ปอดแหก" ขึ้นมาดื้อๆ เลยบริจาคเป็นเงินแทน ได้เข็มมา 2 แบบครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท