การนิเทศการศึกษาแนวใหม่


การนิเทศการศึกษารูปแบบใหม่

............การนิเทศการศึกษาในยุคปัจจุบัน ที่พวกเรา (ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้อง) ต่างก็ตกอยู่ในท่ามกลาง การแวดล้อมของ ICT อาจจะต้องหา แนวทาง วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวจความสะดวกต่างๆ ที่ส่งเสริม ให้การนิเทศ มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุ้มประโยชน์ บทความนี้และบทความอื่นๆ นับจากนี้ จะนำเสนอ แนวทางการนิเทศ ผ่านระบบไอซีที อย่างหลากหลาย ที่สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพ ของการนิเทศการศึกษาได้เป็นอย่างดี เชิญติดตาม...นะครับ...

...เกริ่นนำ...

1. ความหมาย
............1.1 การนิเทศ (Supervision) หมายถึง การให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เพื่อการปรับปรุงพัฒนา ให้งาน ต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้
............1.2 การนิเทศการสอน (Supervision of Teaching) หมายถึง กระบวนการที่มุ่งให้คำแนะนำ และความ ช่วยเหลือแก่ครูผู้สอน ในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ ให้เกิดผลดีต่อการเรียนรู้ และ
พัฒนาการ ในด้านต่างๆ ของผู้เรียน

2. ความสำคัญของการนิเทศ

............การนิเทศ เป็นกระบวนการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ  ทันต่อสถานการณ์  นโยบาย การศึกษา  หลักสูตรและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งความสำคัญของการนิเทศการสอนมีดังนี้
............2.1 เพื่อพัฒนาทางด้านวิชาการ ความรู้ นวัตกรรมทางการศึกษา หลักสูตร นโยบายการจัดการศึกษา มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
............2.2 เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนเปลงสภาวะทางการเมือง  เศรษฐกิจ และสังคม มีการปรับเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา
............2.3 เพื่อแก้ไขปัญหาในการจัดการศึกษา  เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดการศึกษา  เพื่อก่อให้เกิด ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการศึกษา
............2.4 เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา

3. จุดประสงค์ของการนิเทศการสอน

............การนิเทศการสอน  เป็นกระบวนการที่คนกระทำกับคน คือผู้นิเทศกระทำกับผู้สอน  เป็นกระบวนการที่มุ่ง พัฒนากระบวนการเรียนการสอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
............3.1  เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้สอน
...................3.1.1 ให้ข้อมูลแก่ผู้สอนในการปรับปรุงการเรียนการสอน
...................3.1.2  ให้ผู้สอนได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในด้านการสอน
............3.2  เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
...................3.2.1  ส่งเสริมประสิทธิภาพด้านวิชาการของสถานศึกษา
...................3.2.2  ปรับปรุงคุณภาพด้านการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
............3.3  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้สอน
...................3.3.1  มีความมั่นใจในการปฏิบัติการสอน
............3.4  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างบุคคลในการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการนิเทศการสอน

4. ประโยชน์ของการนิเทศการสอน
............ประโยชน์ของการนิเทศการสอนที่สำคัญได้แก่
............4.1  ช่วยพัฒนาคุณภาพครู
............4.2  ช่วยพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
............4.3  ช่วยพัฒนางานด้านวิชาการภายในสถานศึกษาให้มีคุณภาพ
............4.4  ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจและความมั่นใจให้กับครู
............4.5  ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับบุคคลากร

5. หลักการของการนิเทศการสอน
............นักการศึกษาได้ให้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการนิเทศการสอนไว้ดังนี้
............5.1  การนิเทศการสอน เป็นการส่งเสริมความเจริญงอกงาม  เพื่อให้ครูมีความเข้าใจในหลักวิธีการสอน ต่างๆ ใช้เทคนิควิธีการสอนอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ  สร้างสื่อและใช้สื่ออย่างถูกต้อง  มีความเชื่อมั่น  มีทัศนคติและอุดมการณ์ในการสอน
............5.2  การนิเทศการสอน ยึดความถูกต้องตามหลักวิชาการ  หมายถึง  การนิเทศจะต้องดำเนินการอย่างมี ระบบแบบแผน  เป็นขั้นเป็นตอน  สามารถตรวจสอบเปรียบเทียบ กับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
............5.3  การนิเทศการสอน  มีความเป็นวิทยาศาสตร์  หมายถึง สามารถพิสูจน์ได้ถึงเหตุและผลรวมทั้ง ข้อเท็จจริงต่างๆ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล  มีการสรุปผล  สามารถอ้างอิงได้และมีความน่าเชื่อถือได้
............5.4  การนิเทศการสอน  ต้องมีความยืดหยุ่น  หมายถึง ความสามารถที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการ  วิธีนิเทศการสอนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้มากที่สุด
............5.5  การนิเทศการสอน  เป็นการประสานสัมพันธ์ระหว่างงานนิเทศกับงานอื่นๆ  หมายถึง  กระบวนการ พัฒนาการสอนของครูให้ดีขึ้น และสำเร็จตามเป้าหมาย  ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภายใน สถานศึกษาและหน่วยงานอื่น

6.  คุณลักษณะที่ดีของผู้ทำหน้าที่นิเทศ
............การนิเทศเป็นกระบวนการที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  ดังนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่ผู้นิเทศ จะต้องมีคุณลักษณะที่ดี  ดังนี้
............6.1  ด้านความรู้  ต้องมีความรู้  ความเข้าใจในหลักทฤษฎี การจัดการเรียนการสอน  ตลอดจนองค์ประกอบ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะผลโดยตรง ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน  นอกจากนี้ต้องรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล  รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง
............6.2  ด้านทักษะ  ต้องมีทักษะการสอนในเกณฑ์ดี  มีทักษะในการสื่อสาร  การแก้ไขปัญหา  การมองโลกในแง่ดี  และมีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ดีด้วย
............6.3  ด้านเจตคติ  ต้องเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยที่ดี  มีความสนใจ  ตั้งใจทำงาน  มีความรับผิดชอบ  ขยันขันแข็ง  มีความสุภาพ  เป็นกันเอง  เสียสละและอุทิศตนเพื่องาน

7.  รูปแบบการนิเทศการสอน
............นักการศึกษาได้แบ่งรูปแบบการนิเทศการสอน ตามลักษณะของปรัชญา และลักษณะของผู้นิเทศ ออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
............7.1  การนิเทศแบบตรวจตรา (Inspection Supervision)  เป็นการนิเทศแบบดั้งเดิม ผู้นิเทศทำหน้าที่ตรวจสอบ  เช่น  การเป็นไปตามหลักสูตรหรือไม่  วิธีสอนเหมาะสมหรือไม่  เมื่อตรวจแล้วชี้แจงให้ครูแก้ไขข้อบกพร่อง
............7.2  การนิเทศแบบให้ผลผลิต (Supervision as Production)  บางครั้งเรียกว่าการนิเทศแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองที่ผลผลิต  โดยเปรียบสถานศึกษาเป็นแหล่งผลิต  ครูเป็นพนักงาน และนักเรียนเป็นผลผลิต  และผู้นิเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ วิจัยและพัฒนา  เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ
............7.3  การนิเทศเพื่อพัฒนา (Developmental Supervision)  เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ตามความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล  เช่น ผู้นิเทศจะชี้นำเมื่อครูมีความรู้ ความสามารถต่ำ  ครูขาดประสบการณ์  แต่เมื่อครูมีความสามารถสูงเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
............7.4  การนิเทศแบบคลีนิค (Clinical Supervision)  การนิเทศแบบนี้  จะได้ข้อมูลโดยตรงจากการสังเกต การสอนในห้องเรียนจริง  เป็นการร่วมมือกันระหว่างครูกับผู้นิเทศ  สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการสอน เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอน

8. การนิเทศการศึกษาเชิงระบบ

............การนิเทศการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ควรมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง มีการเคลื่อไหวที่เป็นพลวัตร (Dynamic) นั่นก็คือการนำวงจรคุณภาพ (Quality Loop) หรือวิธีระบบ (System Approach) มาใช้ในการดำเนินงาน

............1. การวิเคราะห์
................ขั้นการวิเคราะห์ เป็นขั้นตอนการทำงานขั้นแรกที่ผู้นิเทศควรให้ความสำคัญ เพราะการนิเทศ จะประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ควรต้องมีผลการวิเคราะห์ในหัวข้อที่สำคัญๆ ดังนี้
............1.1 การวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น
..................การวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น ควรใช้เทคนิคและวิธีการหลายอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ครอบคลุม เช่น การนิเทศและตรวจเยี่ยม การสัมภาษณ์ผู้บริหาร และครูผู้สอน การส่งแบบสำรวจความต้องการ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ผล จะทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ในการพัฒนา การเรียนการสอน ที่หลากหลายและครอบคลุม เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบ กิจกรรมการนิเทศ ที่ตรงกับความ ต้องการ ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย
............1.2 การวิเคราะห์เนื้อหาและภารกิจ
..................เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ความจำเป็นแล้ว ผู้นิเทศ จะดำเนินการกำหนดหลักสูตร กิจกรรม ตามลำดับความต้องการ แล้วกำหนดเนื้อหาในการนิเทศการศึกษา การจัดโครงสร้างและลำดับการนำเสนอ ให้ง่ายต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจ ผู้รับการนิเทศได้รับความสะดวก มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการ ปฏิบัติงาน มีความพึงพอใจในการนิเทศ สามารถชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้
............1.3 การวิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ
..................ผู้นิเทศควรทำความรู้จัก กับผู้ีรับการนิเทศในทุกมิติ เช่น เพศ วัย วุฒิการศึกษา ประวัติการรับราชการ นิสัยใจคอ ความสนใจ ความถนัด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางแผนการนิเทศ การเลือกวิธีการ สื่อ รวมทั้ง เทคนิคการนิเทศที่เหมาะสมได้ ซึ่งก็คือ หลักการนิเทศ ที่ยึดผู้รับการนิเทศเป็นศูนย์กลางในการนิเทศ นั่นเอง
............1.4 การวิเคราะห์สภาพการณ์และนโยบาย
..................การนิเทศการศึกษา ไม่เพียงสนองความต้องการจำเป็นของโรงเรียน ผู้บริหาร และครู เท่านั้น แต่ในบางกรณี ก็เป็นการนิเทศตามนโยบาย เช่น การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการที่สนองกลยุทธ์ของฝ่ายนโยบาย เป็นต้น ดังนั้นการวิเคราะห์สภาพการณ์และนโยบาย จึงเป็นภาระงานที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
............2. การออกแบบและพัฒนา
................เมื่อมีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น วิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ เนื้อหา ภารกิจ และสภาพการณ์ต่างๆ อย่างครอบคลุมแล้ว จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ในการออกแบบและพัฒนา ในหัวข้อ ต่าง ๆ ดังนี้
..................2.1 การออกแบบวัตถุประสงค์ของการนิเทศ
........................การกำหนดวัตถุประสงค์ เป็นเสมือนเข็มทิศในการนิเทศการศึกษา ผู้นิเทศควรให้ความสำคัญ อยู่เสมอ โดยกำหนดจุดวัตถุประสงค์ ทั้งในลักษณะกว้างๆ (Goals) และวัตถุประสงค์ ที่มีลักษณะเฉพาะ หรือเชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives) มีความครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย ทำให้การนิเทศการศึกษามีความชัดเจนและครอบคลุม
..................2.2 การออกแบบวิธีการและกิจกรรมการนิเทศ
........................เมื่อผู้นิเทศ ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการดำเนินการ กำหนดวิธีการนิเทศ ได้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ ในเบื้องต้น เช่น กรณีของการนิเทศออนไลน์ ของศึกษานิเทศก์ กลุ่มนิเทศฯ สพท. นครราชสีมา เขต 1 อาจจะเลือกแนวการนิเทศ ดังนี้
........................2.2.1 การนิเทศทางไกลผ่านเว็บไซต์ http://www.edkorat1.info/sup โดยการใช้ช่องทางกระดานถาม-ตอบ (Web Board) และห้องสนทนา (Chat Room)
........................2.2.2 การนิเทศและให้คำแนะนำปรึกษา ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
........................2.2.3 การนิเทศทางไกลด้วยโปรแกรม MSN
........................2.2.4 การนิเทศทางไกลด้วยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ( e-mail)
........................2.2.5 การนิเทศทางไกลด้วยเทคโนโลยีเว็บบล็อก (Web Blog)
........................2.2.6 การจัดส่งแผ่นซีดีรอมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)
............3. ขั้นการนิเทศ
..................3.1 การเตรียมการและประสานงานการนิเทศ
........................เมื่อผู้นิเทศได้มีการวิเคราะห์ความต้องการ ความจำเป็น วิเคราะห์ผู้รับการนิเทศ เนื้อหา ภารกิจ สภาพการณ์ต่างๆ มีการสร้างและพัฒนาสื่อและกิจกรรมการนิเทศแล้ว ควรมีการเตรียมการ ประสานงาน และนิเทศการศึกษา ดังนี้
........................3.1.1 การจัดทำตารางและกำหนดการนิเทศ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
........................3.1.2 ประสานงานกับคณะนิเทศ เพื่อให้มีการบูรณาการการนิเทศ ให้ครอบคลุมภารกิจ และกลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการการนิเทศ ตามความจำเป็น
........................3.1.3 ประสานงานไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนัดหมายเกี่ยวกับวัน เวลา ตารางการนิเทศ รวมทั้งการเตรียมข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่างๆ
..................3.2 การปฏิบัติการนิเทศ
........................เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศ ลงมือดำเนินการนิเทศ ซึ่งควรใช้หลักการนิเทศที่สำคัญๆ เช่น การมีมนุษย์สัมพันธ์อันดีต่อกัน การทำงานเป็นทีม มีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมผลสำเร็จ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ผู้รับการนิเทศทุกคน สามารถพัฒนาให้บรรลุผลตามศักยภาพได้ ให้ความสำคัญในการพัฒนา การจัดการเรียนการสอน ตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ ในการป้องกันและการแก้ไข ปัญหาให้ผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น รักการแสวงหาความรู้ ด้วยตนเอง เกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างสมดุล ผู้สอน สามารถจัดบรรยากาศ สภาพ แวดล้อม สื่อการเรียนการสอน การอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน มีการใช้ กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เป็นต้น
............4. ขั้นการประเมินผลและรายงาน
................การดำเนินกิจกรรมการนิเทศต่างๆ ควรได้มีการประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรม ทั้งก่อนการดำเนินกิจกรรม ระหว่างดำเนินกิจกรรม และหลังการดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ การประเมินก่อนการดำเนินกิจกรรม จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้รับการนิเทศ เกี่ยวกับความสนใจ ความรู้พื้นฐาน การประเมินระหว่างดำเนินกิจกรรมจะทำให้ทราบข้อมูล เกี่ยวกับพัฒนาการของผู้รับการนิเทศ ส่วนการประเมินหลังการดำเนินกิจกรรม จะทำให้ทราบถึง ผลสัมฤทธิ์ ของการดำเนินงาน มีการเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือในการประเมินผล ที่ครอบคลุมวัตถุประสงค์ เมื่อการประเมินผลสิ้นสุดลง ควรได้มีการสรุปและรายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ โดยอาจจัดทำเป็นรายงาน อย่างง่าย แล้วรวบรวมไว้ใน เอกสารการนิเทศที่.... เพื่อให้เห็นเส้นพัฒนาของการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
............5. ขั้นปรับปรุงและพัฒนา
................เป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้นิเทศควรดำเนินการอยู่เสมอ ในทุกขั้นตอนการนิเทศ เพราะในปรับปรุงและพัฒนา การปฏิบัติงานนั้น ต้องมีการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการประเมินผลการดำเนินการทุกครั้ง จะได้ข้อมูลสำคัญที่ผู้รับการนิเทศ ผู้นิเทศ บุคลากร หน่วยงาน องค์กรผู้รับผิดชอบ จะนำไปประกอบการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้การทำงานเป็นไปอย่างสอดคล้อง เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ และมีการผลดำเนินงานที่เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด การปรับปรุงและพัฒนาได้ดำเนินการในทุกขั้นตอนของการนิเทศ เช่น การปรับปรุงวิธีการและ เครื่องมือ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ มีประโยชน์ในการดำเนินการนิเทศการศึกษา อย่างสูงสุด การปรับปรุงในขั้นตอนการออกแบบและพัฒนา เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการนิเทศมีความครอบคลุม สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของครูและโรงเรียน รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาชุดฝึกอบรม ให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เลือกวิธีการนิเทศที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้รับการนิเทศ บริบท เนื้อหาสาระ งบประมาณ รวมทั้งการปรับปรุงแผนการนิเทศให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนาวิธีการประเมิน ผลการนิเทศ ให้ได้เครื่องมือที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการ ซึ่งจะส่งผลถึงข้อมูลที่ได้จากการประเมิน มีความถูกต้องตามความเป็นจริง

ที่มา : นายไพรวัลย์ วันทนา ศน. กลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อฯ
[email protected]


 

หมายเลขบันทึก: 213347เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
การนิเทศแบบประเมินตนเอง

การนิเทศแบบประเมินตนเอง มีผู้ที่ทำวิจัยมากน้อยแค่ไหนหรือยังอยากได้เอกสารหรือบทความ วิธีการ รูปแบบ จะกรุณาได้ไหม ที่มีอยู่เพียงเล่มเดียวคือของอาจารย์ชาญชัย อาจินสมาจาร ถ้าจะกรุณาจักขอบพระคุณยิ่ง

เยี่ยมเลยครับกำลังจะสอบ ศน.

เยี่ยมเลยค่ะ คุณครูไพฑูรย์ / ขอบคุณค่ะ

แนวคิดการนิเทศแบบประเมินตนเอง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้สอดคล้องกับพื้นฐาน selfdirected learning หลายคนพัฒนาตนเองโดยวิธีนี้ เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ แต่เราอาจขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ้าใช้วิธีนี้ สร้างนิสัยที่ดีในการเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ หากทำได้จะคุ้มค่ามากๆ

แนวคิดการนิเทศแบบประเมินตนเอง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้สอดคล้องกับพื้นฐาน selfdirected learning หลายคนพัฒนาตนเองโดยวิธีนี้ เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ แต่เราอาจขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ้าใช้วิธีนี้ สร้างนิสัยที่ดีในการเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ หากทำได้จะคุ้มค่ามากๆ

แนวคิดการนิเทศแบบประเมินตนเอง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้สอดคล้องกับพื้นฐาน selfdirected learning หลายคนพัฒนาตนเองโดยวิธีนี้ เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ แต่เราอาจขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ้าใช้วิธีนี้ สร้างนิสัยที่ดีในการเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ หากทำได้จะคุ้มค่ามากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท