1. เตรียมรับการประเมิน “ครู วิทยฐานะชำนาญ” มือใหม่


ครู วิทยฐานะชำนาญการ

ต้องยอมรับว่าขณะนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่ในความคิดของผู้เขียนแทบตลอดเวลา ถ้าจะพูดว่านับเป็นเข้าขั้นภาวะวิตกกังวลจนถึงภาวะเครียดก็ว่าได้ สังเกตจากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองที่มักจะคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอแทบจะตลอดเวลาที่ได้นั่งคิดเรื่องอะไรก็ตาม และที่สำคัญถึงกับฝันถึงในหลายๆ คืนที่ผ่านมา (เข้าข่ายจิตประสาทอ่อนๆ บางประเภท) จะว่าไปแล้วผู้เขียนค่อนข้างจะเป็นคนที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ แต่ก็เป็นคนมีความคิดของตนเองค่อนข้างสูงอีกเหมือนกัน ทำให้บางเรื่องเหมือนไม่คิดอะไรก็ได้ แต่บางเรื่องก็คิดได้ตลอดเวลาอีกเหมือนกัน...

วิธีการรับมือกับภาวะเครียดของตนเอง ก็เลยต้องเริ่มจากการเตรียมการรับการประเมิน ซึ่งเข้าใจว่าใกล้จะมาถึงก็คือการศึกษาข้อมูลว่าเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะมีอะไรบ้าง ตามแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้มากมาย นั่นคือ INTERNET และก็ได้ข้อมูลพอสรุปได้ว่าสิ่งที่ ครูมือใหม่ต้องเตรียมรับการประเมิน ครู วิทยฐานะชำนาญการ (สรุปจากหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551) มีดังนี้ คือ

คุณสมบัติ ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี 4 ปี สำหรับปริญญาโท และ 2 ปีสำหรับปริญญาเอก มีภาระงานสอนไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ และมีผลงานปฏิบัติหน้าที่การสอนและการพัฒนาผู้เรียน อย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันนับถึงวันที่ยื่นคำขอ

เกณฑ์การประเมิน ผ่านเกณฑ์การประเมิน  3 ด้าน คือ ด้านความประพฤติ วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู  พิจารณาจากการมีวินัย การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม  ความรักศรัทธาในวิชาชีพ  และความรับผิดชอบในวิชาชีพ  (อยู่ในเกณฑ์ผ่าน) ด้านคุณภาพการสอนและการพัฒนาผู้เรียน  ( ไม่น้อยกว่าร้อยละ  65) ซึ่งต้องมี ประจักษ์พยานการสอน อย่างน้อย 1 รายวิชา และรายงานการประเมินตนเองด้านการสอนและการพัฒนาผู้เรียน (Self  Assessment  Report) รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย  อย่างน้อย  1  ปีการศึกษา  และด้านผลการสอนและการพัฒนาผู้เรียน  ( ไม่น้อยกว่าร้อยละ  65) มีผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา  ผลการประเมินภายนอกสถานศึกษา  คะแนนผลการทดสอบระดับชาติ (O-net, A-net, NT, ผลการทดสอบของแต่ละหน่วยงาน ) ของผู้เรียนในชั้นเรียนหรือชั้นปี หรือช่วงชั้นที่สอน  และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคลในชั้นที่สอน  อย่างน้อย  2  ปีการศึกษา และผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อรู้หลักเกณฑ์ต่างๆ แล้ว  ต่อไปก็คงต้องลงมือรวมรวบผลงานเพื่อเตรียมรับการประเมินต่อไป (เครียดไปอีกช่วงระยะหนึ่ง...) เอา...สู้ๆ เพื่อความเป็นครูมืออาชีพต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 212831เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

* เข้ามาร่วมเป็นแรงใจสู้ ๆ ๆ เพื่อรับการประเมินค่ะ

เลื่อนแล้วค่ะ...

เกณฑ์ใหม่เลื่อนไปก่อน...

เฮ้ย! นี่แหละน๊า...ประเทศไทย

เกิดเร็วก็ไม่ดี...เกิดช้าก็ไม่ดี...

โอกาสเป็นของใครกันนะ...

"ขอบคุณสำหรับกำลังใจคะ"

พยายามต่อไป...

ครูไทย...จนกว่าจะเป็นไท...

...

ชะลอเกณฑ์ วิทยฐานะใหม่

นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ หรือ ว 2 ของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาออกไปก่อน และให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีตัวแทนจาก 5 องค์กรหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนจาก ก.ค.ศ.เข้ามาร่วมพิจารณาในภาพรวม เพื่อปรับหลักเกณฑ์การประเมินใหม่และหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะเกณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือ ว 25 ก่อนว่ามีจุดไหนที่จะต้องปรับบ้าง และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและมีความสมบูรณ์ ก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและชัดเจนกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ ในระหว่างการชะลอการใช้เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถยื่นขอรับประเมินเลื่อนวิทยฐานะเกณฑ์เดิมได้ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.-15 พ.ย. 2551 รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ในสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่หากยังไม่แล้วเสร็จก็จำเป็นต้องชะลอไว้ก่อน ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ประเมินใหม่นี้ยังบอกชัดไม่ได้ว่าจะปรับปรุงส่วนไหนบ้าง เพราะยังไม่ได้ใช้เกณฑ์นี้ ส่วนหลักเกณฑ์เดิมจะต้องมาดูว่ามีอะไรที่ต้องปรับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประเมินทุกระดับ

ส่วนกรณีที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ และเรียกร้องให้ช่วยเยียวยาเพื่อให้ผ่านการประเมินนั้น ในระยะยาวจะต้องดูกัน โดยหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการต้องส่งเสริมข้าราชการครูให้มีความก้าวหน้าและให้มีขวัญและกำลังใจดี ดังนั้น ตนคิดว่าการปรับหลักเกณฑ์ การประเมินวิทยฐานะใหม่และวิทยฐานะ เดิมเชื่อว่าน่าจะทำให้ครูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนได้เน้นย้ำที่ประชุมว่า ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายการใช้หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่และเกณฑ์เดิม จะต้องให้ราบเรียบที่สุดเพื่อไม่ให้ข้าราชการครูเสียสิทธิ.

ที่มา ไทยรัฐ

...

ว่าแล้ว...ก็โอล่ะพ่อ...ประเทศไทย...

ถ้าครบกำหนดส่งผลงานคศ.2 วันที่ 1 ต.ค ต้องรอใบกพ .7 ปรับเงินเดือนให้เป็นปัจจุบันก่อนถึงค่อยส่งผลงานได้หรอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท