Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๔)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๑๐)

สถาบันการเงินตำบล
พลังจัดการความรู้เครือข่ายราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

         ไม่บ่อยที่จะเห็นการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่มาปฎิบัติภารกิจร่วมกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวกับกลุ่มประชาชนเป้าหมาย โดยไม่ต้องกังวลว่าผลงานจะไปตกอยู่กับหน่วยงานใดเป็นพิเศษ  ซึ่งภาพการทำงานร่วมกันลักษณะนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยเป็นโครงการนำร่องภายใต้งบผู้ว่าฯซีอีโอ ที่ชื่อว่า โครงการการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน   โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ  9  หน่วยงานราชการในจังหวัด ที่มีระยะเวลาเพียง 6 เดือน ดำเนินการกับพื้นที่ 3  ตำบลในเขตอำเภอเมือง คือ ต.ท่าไร่  ต.บางจาก และ ต.มะม่วงสองต้น ที่มีความเด่น 3 อย่างนั้นคือ ผู้นำเข้มแข็ง กลุ่มเข้มแข็ง และมีองค์กรการเงิน (กลุ่มออมทรัพย์)อยู่แล้ว   และหวังผลที่จะไปขยายต่อกับอำเภออื่น ๆ ในจังหวัด

จัดการความรู้ บูรณาการทำงาน
         การดำเนินงานของโครงการนี้มีความตั้งใจที่จะนำการจัดการความรู้เข้าไปเป็นกลไกหลักในการสร้างกระบวนการให้เกิดการทำงานร่วมกันของทั้ง 9 หน่วยงานและคาดหวังผลอันเป็นเป้าหมายหลักหรือหัวปลาอยู่ที่การสร้างความเข็งแข็งให้กับองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจะโยงไปถึงเป้าหมาย่ใหญ่กว่านั่นคือการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้เมื่อฐานชุมชนเข้มแข็ง
         โดยมีการจัดการความรู้เป็นกลไกเข้าไปเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง    ซึ่งเป้าหมายตรงนี้ได้รับการตอบรับและเปิดไฟเขียวในทางนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชคนปัจจุบัน คือ นายวิชม  ทองสงค์  ที่เข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ และมีวิสัยทัศน์อย่างมากในการทำงานเชิงพื้นที่ที่มีชุมชนและประชาชนในจังหวัดเป็นเป้าหมาย   ผ่าทางตันการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ที่มักต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเข้าไปหาชาวบ้าน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและน่าเบื่อสำหรับชาวบ้านเปลี่ยนเป็นการให้แต่ละหน่วยงานมีภารกิจร่วมกันซึ่งในการนำร่องนี้เลือกทำเรื่ององค์กรการเงินชุมชน เข้าไปพร้อม ๆ กันและทำงานร่วมกันอย่างมีแบบแผน มีการตั้งคณะทำงาน(คุณเอื้อ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน ที่จะรับรู้และพูดคุยกันในเรื่องนโยบาย มีคณะทำงานสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้องค์กรการเงินชุมชน (คุณอำนวย)ที่มาจากการสมัครของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานกับพื้นที่  และมีคุณกิจซึ่งก็คือตัวแทนชุมชนหรือกลุ่มกิจกรรมในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มออมทรัพย์   ผลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้คือเกิดจากการปฎิบัติของชุมชนโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาแนะนำ

จัดการความรู้ในกระบวนการเรียนรู้
         จากการจัดเวทีมากกว่า 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการทำความเข้าใจร่วมกัน สรุปประเด็นการเรียนรู้    ความต้องการ และแนวทางที่จะเป็นไปได้   ในที่สุดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านบางสะพาน ต.บางจาก ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า คำว่าองค์กรการเงินชุมชน อาจจะกว้างเกินไปความหมายจริง ๆ ในตอนนี้น่าจะอยู่ที่การสร้างสถาบันการเงินตำบลมากกว่า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรวมกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนซึ่งถือเป็นแหล่งทุนสำหรับการทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ ของคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีการจัดการที่โปร่งใสเป็นระบบ และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร   ในขั้นตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้เข้ามาเสริม  เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำ   
         ในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบรรดากลุ่มออมทรัพย์ ต.บางจาก  11 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ซึ่งถือเป็นเวทีใหญ่ที่มีประเด็นของการคุยกันใน 4 เรื่องหลักของการสร้างสถาบันการเงินตำบลที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ จะต้องมีความรู้เรื่องการทำบัญชี   เรื่องบทบาทคณะกรรมการ  เรื่องกรรมบริหารจัดการสินเชื่อ  และเรื่องการติดตาม   ทั้งคุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ ต่างแสดงบทบาทของตนเองเต็มที่  โดยคุณเอื้อซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานทั้ง 9 หน่วยงานที่มาร่วมกันทำงานโครงการนี้ภายใต้แกนกลางที่ทำหน้าที่ประสานทุกกลุ่มคือ ม.วลัยลักษณ์   ก็มากันเกือบครบโดยเฉพาะหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้ง พช. ธ.ก.ส.  ธ.ออมสิน  กศน.  เป็นต้น ซึ่งผู้นำแต่ละคนก็พยายามสอดแทรกไปให้คำอธิบายแนะนำแก่กลุ่มออมทรัพย์จากทั้ง 11 หมู่ ที่ใช้กระบวนการจัดการความรู้เพื่อร่วมกันหาวิธีบริหารจัดการไปสู่เป้าหมายของการเป็นสถาบันการเงินชุมชน 
         ในเวทีวันนี้ทีมคุณอำนวยซึ่งก็เป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันตระเตรียมและดำเนินตามกระบวนการ โดยเน้นการค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งหัวใจหลักนั่นคือเรื่องการทำบัญชี การรวมกลุ่ม วิธีการบริหารจัดการ และการติดตาม แล้วแบ่งกลุ่มตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ ออกเป็นกลุ่มย่อยร่วมกันระดมความคิดความเห็นสรุปความต้องการและร่วมกันหาทางออก โดยมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำดูแลอย่างใกล้ชิด  กระบวนการกลุ่มจึงออกมาค่อนข้างดีมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกันอย่างเห็นได้ชัด และเป็นบรรยากาศที่คึกคัก
         ในแต่ละกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างมีอรรถรส บางหมู่บ้านได้นำเสนอประสบการณ์ที่กลุ่มตนเองได้ทำ แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน  บ้างก็เอาตัวอย่างมาให้ดูและลองทำกันจริง ๆ เช่น เรื่องบัญชี ก็มีการเชิญคนทำบัญชีของกลุ่มที่มีวิธีการที่ดีมาสอน เป็นการทำบัญชีในแบบของชุมชน  เป็นต้น  เมื่อกลุ่มได้ข้อสรุป ทีมคุณอำนวยซึ่งได้สังเกตการณ์ไปในกลุ่มต่าง ๆ ก็ได้เวียนกันให้ความเห็นต่อการดำเนินการที่ถูกหลักการและเสนอวิธีการที่ชัดเจนและถูกต้องสำหรับการทำสถาบันการเงินตำบลที่ถูกระเบียบและสามารถต่อยอดได้ ซึ่งแต่ละหน่วยก็ได้มารับรู้และให้คำแนะนำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตนเอง ซึ่งแนวทางต่อไปคือจะบูรณาการทุกเรื่องให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องได้อย่างไร   ซึ่งก็เป็นโจทย์กลับไปที่ทีมคุณเอื้อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไขให้ชุมชนได้อย่างไร
         สำหรับคุณอำนวย ซึ่งหลัก ๆ คือ จากสำนักงานพัฒนาชุมชน และการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งทำหน้าจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ  โดยก่อนจัดเวทีแต่ละครั้งทีมคุณอำนวยก็จะมีการประชุมและแบ่งหน้าที่  มีการวางแผนเตรียมความพร้อมแบ่งงานกันทำ ภารกิจ ใครมีความสามารถอะไรก็ไปเสริมซึ่งกันและกัน
         ประโยชน์ที่เกิดกับตัวผู้ทำหน้าที่คุณอำนวยคือ  เกิดการเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน รู้จักและเข้าใจการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานและเกิดแนวทางการประสานการทำงานร่วมกันต่อไปได้ในส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เกิดแนวทางการทำงานกับชุมชนแนวใหม่ เกิดความคิดที่จะเอื้อประโยชน์กับชุมชนมากขึ้น  เกิดบทเรียนและประสบการณ์ทำงานร่วมกันทั้งชุมชนและหน่วยงานภาค   
         คุณจุรี บันเทิงจิตร์  (นักพัฒนาชุมชน 6)  คุณอำนวย จาก สนง.พัฒนาชุมชน เล่าให้ฟังถึงบทบาทการเป็นคุณอำนวยในทีมที่ทำงานร่วมกันทั้ง 9 หน่วยงานว่า มีการแบ่งหน้าที่และเสริมบทบาทซึ่งกันและกัน ก่อนลงชุมชนก็จะมีการวางแผนเตรียมความพร้อมแบ่งงานกันทำ ภารกิจ ใครมีความสามารถอะไรก็ไปเสริมซึ่งกันและกัน  สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการได้เป็นผู้ช่วยแนะนำและจัดให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของกลุ่มองค์กรการเงินชุมชนและสมาชิก  และที่สำคัญยิ่งคือการทบทวนที่ทำให้ทราบว่าเขาจุดแข็งอะไรและยังขาดอะไร ต้องการให้หน่วยราชการเข้าไปช่วยตรงไหน คุณอำนวยก็ช่วยกันจัดหาความรู้นั้นมาเพิ่มเติม
         นอกจากนี้การทำงานร่วมกับคุณอำนวยจากหน่วยงานอื่น ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน เพราะจากเดิมแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำภารกิจของตัวเอง แต่มีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนเดียวกัน บางครั้งชาวบ้านก็อาจเบื่อหน่าย   แต่เมื่อรวมกันลงไปทีเดียวนอกจากชาวบ้านจะมาร่วมงานมาร่วมเวทีกันมากขึ้นและกระตือรือร้นกับการมาร่วมงานและแสดงความคิดเห็น ในการประชุมแต่ละครั้งชาวบ้านจะเตรียมคำถามเตรียมข้อมูลในสิ่งที่เป็นปัญหาหรือต้องการให้หน่วยราชการใด  ๆ ช่วยเหลือก็จะมาพูดมาเสนอกันในเวที ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนในบทบาทหน้าที่ต่างกันจากทั้ง 9 หน่วยงาน ซึ่งเวลาชาวบ้านพูดออกมาก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านชอบมากและยินดีร่วมมือกับเรามากขึ้น  และมีแนวโน้มที่จะทำให้งานพัฒนาชุมชนประสบความสำเร็จ และแม้โครงการนี้จบลงก็เชื่อว่าชุมชนยังทำต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งพวกเขาร่วมกันดำเนินการขึ้นมา เป็นแกนหลักของชุมชนในการขยายไปสู่การทำกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ก็มีกลุ่มออมทรัพย์เป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งที่เขาดำเนินการเขาทำกันอยู่แล้ว

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 21253เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท