ดอกรัก
นาง อมรรัตน์ เปิ้ล เถื่อนทอง

รักษ์ระบบนิเวศทะเล


ฟื้นชีวิต " ปะการัง "

ฟื้นชีวิต " ปะการัง " รักษ์ระบบนิเวศทะเล เพาะขยายพันธุ์ก่อนคืนสู่ท้องทะเลไทย :     ทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยไม่ว่าจะเป็นในฝั่งทะเลอ่าวไทย และ ในฝั่งทะเล อันดามัน ได้ถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์ และภัยพิบัติทาง ธรรมชาติ  จนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในทะเลมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

   ปะการัง  เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่น้อยไปกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ในโลกใต้ทะเล   ซึ่งที่ผ่านมา ปะการังในท้องทะเลของ ไทย  โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยและหลากหลายชนิด ก็ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  ทั้งจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง ที่ผิดวิธี เช่น การระเบิดปลา  การท่องเที่ยวที่ขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และ การก่อสร้างใช้พื้นที่ชายฝั่ง ทำให้เกิด ตะกอนลงสู่แนวปะการัง การทอดสมอเรือ ฯลฯ    

   รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งในส่วนของการเกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล และการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว  ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหาย ให้กับปะการังใต้ท้องทะเลของไทย ในช่วงอดีตที่ผ่านมา  จนทำให้ระบบนิเวศทะเลในหลายๆพื้นที่    เสียสมดุลและเปลี่ยนแปลงไป 

   ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อปะการังเหล่านี้ ได้มีหน่วยงานต่างๆพยายามจะอนุรักษ์ ฟื้นฟู  และขยายพันธุ์ปะการังไม่ให้สูญหายไปจากท้องทะเลไทย เพื่อเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเล และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สมบูรณ์อยู่ตลอด ไป  ทั้งนี้ " มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมา เพื่อดำเนินการด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ซึ่งมูลนิธิได้ดำเนินการก็คือ " โครงการขยายพันธุ์ ปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซี คืนสู่ท้องทะเลไทย " 

   นายประสาน แสงไพบูลย์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี และประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า เกิดจากการที่ตนเองประกอบ อาชีพ เป็นอาจารย์และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเด็กๆ โดยการเปิดค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลตั้งแต่ปี 2531 เพื่อให้ความรู้กับเด็ก ที่เข้าค่ายฯ ด้วยการลงไปศึกษาระบบนิเวศทางทะเล ในพื้นที่บริเวณชายหาดแสมสาร อำเภอสัตหีบ จ. ชลบุรี รวมทั้งได้มีการ พาเด็กไปรณรงค์ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการ ปกป้อง รักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อไม่ให้ถูกทำลาย  จากการลงพื้นที่กับเด็กๆ ครั้งหนึ่งหลังจากได้มีพายุพัดเข้ามา ทำให้ได้พบซากปะการังแตกหักจำนวนมาก ที่ถูกพัด ขึ้นมา บนหาด และได้ทำการสำรวจแนวปะการังที่เหลืออยู่ ก็พบว่าทรุดโทรมลงมาก จึงเกิดแนวคิดว่า  ทำอย่างไรจึงจะสามารถช่วยอนุรักษ์ปะการังเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปรากฏภาวกาณ์ ฟอกขาวขึ้น  ทำให้ปะการังได้รับความเสียหายมาก จึงได้เริ่มทำการศึกษาอย่างจริงจัง

   จากนั้นในปี 2537  ได้มีการทดลองและวิจัยเพื่อทำการขยายพันธุ์และฟื้นฟูปะการัง โดยการใช้ท่อพีวีซีเป็นครั้งแรกของโลก  ด้วยการนำปะการังที่อยู่ในสภาพแตกหักมาเพะปลูก โดยใช้เหล็ก ข้ออ้อย มาทำเป็นแปลงแล้วใช้ท่อพีวีซีเป็นฐานยึดกิ่ง  แต่ก็ประสบปัญหา  มีสนิมขึ้นและต้นทุนสูง หลังจากนั้นจึงได้ทำการทดลองและวิจัยต่อด้วยการดัดแปลง ให้เป็นแปลงเพาะปลูกบน แปลงท่อ ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี

   ต่อมาก็ได้ดำเนินโครงการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางจำนวน 10,000  ต้น ขึ้น และได้ทาง บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งเป็น " มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทาง ทะเล และการอนุรักษ์ "  เมื่อปี 2546 พร้อมทั้งช่วยสนับสนุน งบประมาณในการศึกษาวิจัยและดำเนินโครงการในเวลาต่อมา  ซึ่งนอกจากการดำเนินโครงการขยายพันธุ์ปะการังแล้ว ยังได้มีการจัด กิจกรรม ต่างๆ ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ได้มีจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ อาทิ  การจัดกิจกรรมค่ายเยาชนวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งถือเป็น ห้องเรียนธรรมชาติ ที่เยาวชน จะได้เรียนรู้ระบบนิเวศในท้องทะเล และการเพาะขยายพันธุ์ปะการัง ซึ่งตั้งแต่จัดค่ายฯมาตั้งแต่ปี 2531  มีเยาวชนผ่านการ อบรม ไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 แสนคน

   ทั้งนี้สำหรับโครงการขยายพันธุ์ปะการัง 10,000 ต้น ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ม.ค. 2547  ขณะนี้ ทางโครงการฯ สามารถเพาะขยายพันธุ์ปะการังบนแปลงท่อพีวีซีได้ครบตามจำนวนแล้ว และได้มีการนำปะการังที่เพาะได้ไปกลับคืนสู่ท้องทะเล ภาคตะวันออกในหลายๆพื้นที่  เช่น เกาะเสม็ด จ. ระยอง จำนวน 2,000 ต้น เกาะหวาย เกาะรัง  และ เกาะช้าง จ.ตราด จำนวนประมาณ  2,000 ต้น    " ในช่วงแรก ต้องใช้เวลากว่า 3  ปี  ถึงจะสามารถขยายพันธุ์ได้ 500 ต้น  ซึงตอนนี้งานวิจัย เพื่อการ เพาะปะการังเขากวางได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ปะการัง มีโอกาสอยู่รอดถึง 80  %  ต่อจากนี้ไปคงต้องดูแลฟื้นฟูปะการังที่เพาะขยายพันธุ์ไม่ให้ตาย และ สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ " อาจารย์ประสาน ระบุ

   อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่ในบริเวณหาดแสมสาร เคยมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ถึง 80  %  แต่จากการสำรวจในปัจจุบัน พบว่ามีปะการังเหลือไม่ถึง 20 % การดำเนินโครงการ นี้อย่าง จริงจังและต่อเนื่องคาดหมายว่า  จะมีส่วนช่วยทำให้ จำนวนปะการังในพื้นที่ฟื้นกลับมามีจำนวนใกล้เคียง  และสมบูรณ์เหมือนเดิมในอนาคตอันใกล้ และ สามารถที่จะขยายโครงการ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้อีกด้วย  เพื่อไม่ให้ธรรมชาติของท้องทะเลไทยเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้    

     โดยปกติ ปะการังที่อยู่ในทะเลแล้วได้รับความเสียหาย  ทั้งจากการกระทำของมนุษย์ หรือผลกระทบจากภัยธรรมชาติ  จะต้องใช้เวลายาวนานมากๆ ในการฟื้นฟูเพื่อให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ ใกล้เคียงเหมือนเดิม เนื่องจากปะการังแต่ละชนิด จะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตแตกต่างกันไป  แนวปะการังถือเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศทะเลอย่างมาก เนื่องจากแนวปะการังจะเป็น ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล อาทิ ปลา และ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยที่เจือจุนชีวิตของสัตว์น้ำเป็นพันๆชนิด

   แต่ในสภาพปัจจุบัน  สภาพของแนวปะการังในท้องทะเลของไทยเสื่อมโทรม  และลดจำนวนลงไปมาก ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช และ กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง  พบปะการังในพื้นที่ประเทศไทย มากกว่า  280   สปีซี่ส์ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ น้อยกว่า 0.001 % ของพื้นที่ทางทะเล ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

   นอกจากนี้สภาพปะการังที่มีอยู่ ก็เสื่อมโทรมและตายลงจำนวนมาก  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำทะเล การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งจนเกิดตะกอนลงสู่แนวปะการัง การทำประมง ผิดกฎหมาย รวมถึงการท่องเที่ยวที่ไม่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  ด้วยสภาพปะการังที่เป็นอยู่ขณะนี้ จึงถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องหันมาอนุรักษ์ปะการังอย่างจริงจัง  ก่อนที่ระบบนิเวศ ทาง ทะเล ของไทยจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้

   นายประสาร แสงไพบูลย์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  จังหวัดจันทบุรี  และประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ กล่าวว่า  จากสภาพปะการังที่เสื่อมโทรมลง หากพวกเรายังไม่ ตระหนัก คิดจะอนุรักษ์ปะการังตั้งแต่ตอนนี้ แต่ปล่อยเลยผ่านไป เมื่อถึงเวลานั้นที่ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญ มันก็จะสายเกินไปแล้ว  อาจารย์ประสาน ระบุว่า มูลนิธิฯ ได้เริ่มทำการวิจัยและเพาะขยายพันธุ์ปะการังเขากวางมาตั้งแต่ ปี 2537 ซึ่งช่วงแรกๆ ก็ต้องทดลองผิดลองถูกเพื่อหาวิธีให้ปะการังอยู่รอดให้ได้ จนสุดท้ายก็ ค้นพบ วิธีการเพาะบนแปลงที่ทำจากท่อพีวีซี  สำหรับการเลือกเพาะปะการังเขากวางนั้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เติบโตได้เร็ว ปีหนึ่งๆอาจโตได้ถึง 10 เซ็นติเมตร ในขณะที่หากเป็นปะการัง ชนิดอื่น หนึ่งปีโตได้เต็มที่ไม่เกิน  1  เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม  นอกจากการเพาะขยายพันธุ์ปะการังเขากวางแล้ว  ก็มีการเพาะปะการังชนิดอื่นๆด้วย เช่น ปะการังโต๊ะ แต่จำนวนยังไม่มากเท่าไร  นอกจากนี้ทางมูลนิธิก็อยู่ในขั้นทำการศึกษาวิจัย เพื่อขยายพันธุ์ปะการังชนิดอื่นๆเพิ่ม  เติมด้วย 

   พื้นที่ที่ทางมูลนิธิใช้เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปะการัง มีพื้นที่ประมาณ ตารางกิโลเมตร  เป็นชายฝั่งทะเลบริเวณหลังเขาหลวงพ่อดำ ต. แสมสาร   อ.สัตหีบ  โดยวิธีปลูกบนแปลงเพาะที่ทำจาก ท่อพีวีซี ขนาดกว้าง  60 ซม.  ยาว 120 ซม.    หนึ่งแปลงจะปลูกได้ประมาณ 14 ต้น โดยวิธีเพาะขยายพันธุ์นั้น  จะนำปะการังเขากวางที่มีอายุประมาณ  2 - 3  ปี มาตัดเป็นกิ่งพันธุ์ จากนั้นนำกิ่ง ที่ได้ ไปปักเสียบไว้บนท่อพีวีซี  ที่ทำเป็นฐานแล้วใช้นอตไขยึดให้ปะการังติดกับแปลงเพาะ พีวีซีโดยให้ ปะการังโผล่จากท่อขึ้นมาประมาณ เซนติเมตร จากนั้นก็นำไปวางไว้ในทะเล  เพื่อให้ปะการัง เจริญ เติบโตต่อไป  การเพาะด้วยวิธีนี้ มีต้นทุนไม่สูง  และแปลงท่อพีวีซียังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก และ ปะการังมีสถิติการมีชีวิตรอดสูงถึง 90 %  เพราะในการปักกิ่งพันธุ์ จะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ที่ปะการังจะอยู่บนบก ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะมีต้นทุนต่ำแล้ว ก็เป็นวิธีเพาะที่ทำได้ง่าย  ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ลึกซึ้ง ประชาชนทั่วไป  เด็กๆ ก็สามารถทำ ได้

   อย่างไรก็ตาม การเพาะปะกรังด้วยวิธีนี้นั้น มีนักวิชาการและนักอนุรักษ์บางส่วน  มองว่าการนำท่อพีวีซีลงไปวางไว้ในทะเลจะทำให้ทัศนียภาพใต้ท้องทะเลไม่สวยงามนั้น อาจารย์ประสาน ระบุ ว่า  ในการเพาะปะการังทางมูลนิธิฯ จะพยายามให้เกิด มลพิษ ทางสายตาน้อยที่สุด ซึ่งจากาการทดลอง  ปะการังที่เพาะก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  จนเคลือบท่อพีวีซีที่เป็นฐานทั้งหมด ซึ่งแทบจะมอง ไม่เห็น เลย โดยอาศัยเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้เพาะขยายพันธุ์ปะการังเขากวางได้ครบ  10,000  ต้นแล้ว  ต่อไปมูลนิธิฯ  ก็มีเป้าหมายจะเพาะปะการังเพิ่มขึ้นอีก 80,000 ต้น เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีนี้ โดยขณะนี้กำลังหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมทำงานในโครงการนี้อยู่ 

   นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็เตรียมที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาใช้ ในการฟื้นฟูปะการัง โดยขณะนี้กำลังจดสิทธิบัตรอยู่ ซึ่งจากการทดลองในช่วงที่ผ่านมา ก็สามารถฟื้นฟูปะการังได้ผล ดีมาก  อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางมูลนิธิฯ ได้เพาะขยาย พันธุ์ปะการังเขากวาง  ก็พบว่าในพื้นที่ที่ใช้เพาะมีระบบนิเวศที่ดีขึ้น ปลา ปละ สัตว์ทะเลต่างๆ เข้ามาอาศัยในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น เพราะมีอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ที่สมบูรณ์มากกว่าแต่ก่อน  ทั้งนี้ ประโยชน์ของการอนุรักษ์ และเพาะขยายพันธุ์ ปะการัง  มิใช่มีแต่ช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเลให้มีสมดุลเท่านั้น ผลพลอยได้ อีกอย่างก็คือ ในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งปีๆหนึ่งสามารถทำเงินเข้าประเทศได้มูลค่าหลายแสนล้านบาท  ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย

   สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การให้ความรู้กับประชาชนในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   ส่วนชาวบ้านในท้องถิ่น  ก็ต้องมีความรู้ในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรที่ธรรมชาติให้มา ให้สมบูรณ์อยู่ ตลอดไป เพราะความรู้ความเข้าใจ จะนำไปสู่การปกป้อง และรักษาไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงเหมือนอย่างเช่นที่ผ่านมา

บทความ โดย จิราวัฒน์  จารุพันธ์

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 32550
หมายเลขบันทึก: 212192เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยคะ ชอบมากเลยค่ะ

มัสาระมากชอมมากเวลาที่มีงานอนุรักษ์ธรรมชาติคะชอบมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท