ตีความไม่ใช่แปลกฎหมาย


บทสัมภาษณ์ อ.อักขราทร จุฬารัตน จากแท็บลอยด์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2549
สนทนากันตั้งแต่วันพุธ ก่อนจะมีคำวินิจฉัยของศาลอื่น ฉะนั้นต้องชี้แจงก่อนว่านี่เป็นความเห็นทางกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับใคร เราตั้งปุจฉาว่า ทำไมนักกฎหมายไทยถึงเถียงกันไม่จบ ตีความกันไม่เลิก อาจารย์อักขราทรย้อนวิสัชนาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายให้ฟังว่า เมื่อหลายพันปีก่อน ก่อนจะมีประมวลกฎหมายแพ่งกฎหมายอาญา ศาลก็ตัดสินด้วยข้อเท็จจริง ว่าถ้าคดีนี้มีข้อเท็จจริงอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างนี้ ก็ต้องตัดสินอย่างนี้ ทำกันมาหลายร้อยปีจนถึงสมัยโรมัน จึงมีการประมวลเป็นหลักกฎหมาย เขียนไว้ให้ยึดโยงกันหมด จึงเกิดประมวลกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายอาญา ใช้ในทุกประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน ยกเว้นอังกฤษ ซึ่งโรมันเข้าไปปกครองไม่นานนัก อังกฤษจึงยังใช้ระบบศาลตัดสิน หลักกฎหมายอยู่ในคำสั่งศาล ซึ่งเรียกว่า case laws "คนโรมันเมื่อทำประมวลแล้วก็มีหลักการในการที่จะใช้กฎหมาย ว่าการตีความต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็ follow กันมา ในยุโรปที่ใช้ระบบ civil laws แบบโรมันจะตีความโดยมีกฎเกณฑ์การตีความ แต่อังกฤษไม่ใช่ คนอังกฤษไม่มีปัญหาเรื่องการตีความเพราะศาลตัดสินยันเต มีคดีมาศาลก็ตัดสิน follow ตาม case laws ว่าไป แต่เขาไม่มีปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายตีความกฎหมาย เพราะศาลสูงสุดเป็นคนตีความ" "ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษต้องมาเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมีสภา สภาออกกฎหมายมาเป็นพระราชบัญญัติ มันก็ต้องบังคับใช้กับประชาชน เมื่อบังคับแล้วก็เกิดปัญหาใช่ไหม มีคดีความเกิดขึ้นจากการใช้พระราชบัญญัติเหล่านั้น มันก็ย้อนกลับไปเป็นคดีความในศาล เอาละสิทีนี้ เดิมนั้นศาลอังกฤษมี free hand ที่จะพิจารณาให้เหตุให้ผล สร้างหลักกฎหมายในคดีต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันดันมีไอ้หน้าแหลมคือสภาออกกฎหมายมาบังคับว่าถ้าอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ แต่มันก็ไม่หลุดพ้นจากสิ่งที่ต้องไปสู่ศาลให้ตัดสิน เมื่อไปสู่ศาลศาลว่ายังไง นี่เป็น behaviour ของมนุษย์ อั๊วมีอำนาจในการตัดสินอยู่ดีๆ ลื้อมาบังคับให้อั๊วต้องแปลกฎหมายที่ลื้อเขียนมา ศาลอังกฤษจึงค่อนข้างตีความโดยเคร่งครัดกับตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นถ้าท่านอ่านกฎหมายอังกฤษท่านจะไม่รู้เรื่องเลย คนอังกฤษยังอ่านกฎหมายอังกฤษไม่รู้เรื่อง ยกเว้นคนที่มีอาชีพทนายความ เพราะสนิมพริมพราย ไอ้โน่นยึดโยง ถ้าไม่เขียนละเอียด เรียบร้อยเลย ศาลก็ตีความเฉพาะที่เห็นในตัวหนังสือ คือเคร่งครัดในตัวหนังสือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาด ปรัสเซียซึ่งเกิดก่อนเยอรมัน King ของปรัสเซียเคยมีความประสงค์ว่ากฎหมายต้องเขียนให้ชัดเจนไม่ให้มีปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อปี 1700 กว่า King บอกว่าประมวลกฎหมายที่ดินให้เขียนใหม่ มี 30,000 กว่ามาตรา เพื่อที่จะขจัดไม่ให้ต้องตีความกฎหมาย แต่ก็ต้องโยนทิ้งเพราะมันเป็นไปไม่ได้ อันนี้เป็นตัวอย่าง" "เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือศาลอังกฤษจะตีความเคร่งครัดตามตัวหนังสือ ในขณะที่ยุโรปซึ่งมีประมวลกฎหมายแล้วเขามีกฎในการตีความว่าต้องตีความตามเจตนารมณ์ อะไรต่างๆ flexibility มากในการตีความ แต่คนอังกฤษไม่ นักเรียนผม-วันหนึ่งผมสอนที่ธรรมศาสตร์มันมาถึงมา act เลย ถือตำรามาโชว์ หลักการตีความกฎหมาย เขียนโดยคนอังกฤษ ซึ่งน้อยนะ-มีไม่เกิน 10 กว่าเล่ม professor ที่เขียนเรื่องนี้ มันก็บอกผม อาจารย์ต่อไปนี้ผมไม่มีปัญหา เพราะหลักการตีความกฎหมายทั้งหมดอยู่ในนี้หมดแล้ว อันนี้คือ ignorant ในทางวิชาการ เพราะมันคือหลักเกณฑ์การตีความกฎหมายที่เป็นรูปพระราชบัญญัติ แต่เวลาแปลเป็นไทยบอกการตีความกฎหมาย ใช้ตีความได้หมด-ไม่ใช่ นั่นเฉพาะกฎเกณฑ์ในเรื่องการตีความกฎหมายในศาลที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติเท่านั้น อีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์มันไม่มีความจำเป็น เพราะศาลก็มี authority ของเขา ที่จะทำยังไงก็ได้อยู่แล้วภายในกรอบของความยุติธรรมที่เขาวางไว้ นี่คือความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ คนไทยไปเรียนอังกฤษก็นำสิ่งเหล่านี้มานึกว่านี่คือหัวใจของการตีความ ซึ่งไม่ใช่ มันถึงเกิดสภาพที่เรียกว่าทุกอย่างต้องตีความตามตัวหนังสือ นี่คือปัญหา และคนไม่รู้จริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับคนไทยนะ คนที่ไปเรียนในระบบ civil laws จริงๆ ที่จะเข้า access ลึกๆ ของเขาน้อย" แล้วของเราก็ไปตีความกันให้มันยุ่ง "ถ้ายึดตรงนี้เสียก่อนมันก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนที่ไปใช้อย่างนั้นก็เพราะเหตุว่าหมู่มากพาไป มีโอกาสที่จะพาไป คือถ้าคุณจะอย่างนั้นก็ไม่มีปัญหาเพราะคนส่วนใหญ่เห็นอย่างนั้น ถ้าไม่ยึดตามหลักการที่มันควรจะเป็น" เช่นตีความกฎหมายมหาชนก็เอาหลักกฎหมายแพ่งหรืออาญาไปตี "มันมีคำพูดเยอะ มันมีได้เยอะ หลักมันใกล้เคียงกัน แต่ต้องดูเจตนารมณ์ว่าเป็นยังไงเสียก่อน พอได้ตรงนี้แล้ว พอไปถึงกฎหมายมหาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" "อย่างกฎหมายอาญาผมถามหน่อยมันอยู่ที่ไหนที่บอกว่าการตีความอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดตามตัวหนังสือ อยู่ที่ไหน มีที่ไหนบอก อาจารย์สอนใช่ไหม ถามว่าอาจารย์สอนจากไหน ถามอาจารย์หรือเปล่า ผมเชื่อว่าอาจารย์ 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตอบไม่ได้ ความจริงมันง่ายนิดเดียว เวลาฝรั่งเขาอธิบาย ก็คือในตัวกฎหมายอาญานั้นเอง เขาบอกว่าคนที่จะถูกลงโทษต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ต้องชัด จากตรงนี้ต่างหากที่ professor หรืออาจารย์มาบอกว่าการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความเคร่งครัดตามตัวหนังสือ แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอามาจากไหนวะ ฐานที่มาคือต้องมีการกำหนดว่าการกระทำนั้นๆ เป็นความผิด เท่านั้นเอง "กฎหมายแพ่งที่เราเรียนมาเป็นเรื่องของบุคคล 2 ฝ่ายที่มีสถานภาพเท่ากัน เพราะฉะนั้นความเป็นธรรม การตีความตามเจตนาของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ว่าไปตามสภาพปกติ แต่กฎหมายมหาชนคืออะไร คนหนึ่งดูแลสิทธิผลประโยชน์เสรีภาพของตัวเอง แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็คือรัฐ ดูแลผลประโยชน์ของคนส่วนรวมหรือคนส่วนใหญ่ ความจริงไม่พอ มนุษย์หน้าไหนมันจะมาดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม ก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมาดูแลผลประโยชน์ส่วนกลาง มันเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นมันก็มีผลประโยชน์ของตัวเองเข้ามาเกี่ยวด้วย ความจริงในทางกฎหมายมหาชนจึงมี 3 ฝ่าย เอกชนที่เป็นตัวบุคคล รัฐซึ่งจะต้องมีคนดูแลรักษาคือราชการ แต่ความจริงไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ซึ่งทำแทนตรงนี้ยังมีประโยชน์ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย" "เพราะฉะนั้นหลักการตีความกฎหมายมหาชน เป้าหมายสำคัญคือวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นคือประโยชน์สาธารณะ โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่บุคคลเอกชนจะพึงมีตามกฎหมายที่ให้ ไม่ใช่ว่าเวลาตีความบอกไม่เป็นไรหรอก ให้ยายแกไปเพราะสงสารแก ให้ๆ แกไปเถอะ เพราะแก suffer มาก ดูในแง่มนุษยธรรมโอเค แต่ในแง่ความเป็นจริงเราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแลผลประโยชน์ว่า หนึ่ง ต้องดูว่ายายคนนั้นแกมีสิทธิอันชอบธรรมที่ควรจะได้ ถ้าควรจะได้ต้องให้แก แต่ไม่ใช่เพราะเหตุว่าเฮ้ยไม่เท่าไหร่หรอก เอ้าแล้วเงินไม่เท่าไหร่มันเงินของคนส่วนกลาง แล้วคุณไม่ดูแลเหรอ มันต้อง balance สิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลกับสิทธิประโยชน์ส่วนรวม อันนี้คือภารกิจของศาลปกครอง คือจะต้อง balance ตรงนี้ให้ได้ ให้มันเกิดความสมดุลให้ได้" 5 ปีที่ผ่านมามีการตีความที่เกิดปัญหาหลายครั้ง จนเกิดความปั่นป่วนสับสน ประชาชนคนธรรมดางุนงงสับสนกับการตีความกฎหมายกันมาก "ถ้านักกฎหมายสับสนแล้วสังคมต้องสับสน คือถ้าไม่อยู่ใน trend เดียวกัน ไม่คิดอย่างเดียวกันโดยพื้นฐานวิชาการ ไม่ใช่อยากจะตีอะไรก็ตี มันมีทางของมันที่ต้องตี" "ผมพูดอย่างนี้แล้วกันว่า หลักกฎหมาย องค์กรอย่างศาลปกครองเป็นองค์กรที่สร้างหลักกฎหมายปกครอง คนทั่วไปเข้ามาใหม่ๆ บอกศาลปกครองมีหน้าที่ตีความกฎหมาย คือแปลกฎหมาย กางกฎหมายสิวะ มาตรานี้ว่าอย่างนี้ถูกหรือผิด-มันไม่ใช่ กฎหมายไม่มีทางที่เขียนทุกอย่างได้ครบถ้วนบริบูรณ์ แก้ปัญหาได้ทุกจุด เรียกว่าเป็นช่องว่างกฎหมาย เพราะฉะนั้นโดยหลักวิชาการต้องมีการอุดช่องว่างกฎหมายโดยองค์กรที่มีหน้าที่ในการใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นศาลปกครองเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการอุดช่องว่าง ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายทั้งหลายทั้งปวง อุดช่องว่างให้มันเต็มในเรื่องที่ขาดไป เพราะกฎหมายไม่มีทางสมบูรณ์ อันนี้เป็นหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งผมเรียนตามตรงว่าทีแรกๆ ไม่มีใครเข้าใจหรือมองในจุดนี้ มองแต่เพียงมีหน้าที่แปลกฎหมาย ถ้าคดีแพ่งคดีอาญาไม่มีปัญหาสิ เพราะมีหลักกฎหมายที่ชัดเจนวางอยู่แล้ว แต่ว่าคดีปกครองมันเป็น case laws ใหม่ที่จะต้องพิจารณา case ที่เกิดขึ้น" "องค์กรอีกอันหนึ่งที่สำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ถ้าแปลกฎหมายอย่างเดียวก็เรียบร้อย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวที่วางกรอบ ว่าด้วย principle ใหญ่ของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองเป็นตัวที่จะ implement บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นรูปธรรม" ขอให้อาจารย์ลองยกตัวอย่างคดีที่ตัดสินให้เข้าตามเจตนารมณ์กฎหมาย "ความจริงทุกคดีต้องเป็นอย่างนั้น อย่างกรณีแม่อาย (กระทรวงมหาดไทยเพิกถอนสัญชาติชาวไทยภูเขา) ถ้าไม่สังเกตก็จะบอกว่า เออ ศาลปกครองไปแปลอะไรจนให้เกิดความเสียหาย ความจริงเขาไม่เข้าใจ สิ่งที่เราชี้ก็คือคนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่ใช่ไม่ให้สัญชาตินะ-แต่ไปเพิกถอนเขา ในแง่ความมั่นคงก็จะบอกเออถูกแล้วนี่ คนที่ไม่ควรมีสัญชาติไทยถ้าให้คงสถานะอยู่ มันก็ไม่ถูก แต่ความจริงต้องพูดว่าดูกฎหมายเป็นหรือไม่ คือศาลไม่ได้บอกว่าให้สัญชาตินะ แต่ศาลบอกว่าการที่คุณใช้วิธีเหมา ถอนไปก่อน แล้วค่อยว่ากันทีหลัง-เฮ้ยมันไม่ถูก หน้าที่ของคุณในการเป็นฝ่ายปกครองหรือบริหารประเทศ ถ้าจะถอนสัญชาติเขา คุณต้อง case by case ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาความสะดวก เหมาไปหมด นี่คือการมองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ นี่คือตัวอย่าง" "ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด คุณต้องดูข้างบนก่อน ดูรัฐธรรมนูญแล้วไล่ลงมา แล้วมันมีช่องว่างตรงไหนที่กฎหมายเขียนไม่ถึง และหมายความว่าอย่างไร จะแปลยังไงเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่ากฎหมายไม่มีเขียนไว้ ก. ข. เลยยกไป ไม่ใช่ มันเป็นศาสตร์" มันอยู่ที่ความเที่ยงธรรมของคนตีความด้วย "แน่นอน ต่อให้คุณเก่งทางกฎหมายแต่คุณไม่มีจิตใจที่เป็นธรรม นักกฎหมายนี่นะครับยิ่งเก่งเท่าไหร่ ถ้าไม่มีคุณธรรมยิ่งกว่าโจร คือสามารถทำให้อะไรเป็นอะไรได้หมด ทำขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว นักกฎหมายที่ไม่สุจริต-ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ-ถ้าไม่มีคุณธรรมโจรยังดีกว่า เพราะการใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำจนในที่สุดผิดเป็นถูก อันนี้อันตรายที่สุด ประโยคแรกที่ผมสอนนักศึกษามา 30 กว่าปี เรียนกฎหมายไปต้องเรียนไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่เรียนไปเพื่อใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าอันตรายที่สุดเลยนักกฎหมายถ้าไม่มีความเป็นธรรม ยิ่งกว่ามหาโจร" เรายกตัวอย่างการตีความไปเขียนระเบียบว่าองค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งที่สามัญสำนึกคนทั่วไปองค์ประชุมต้องกึ่งหนึ่ง แต่อาจารย์เลี่ยงไปไม่วิจารณ์ "โรงเรียนบ้านเราตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่วิชากฎหมายเอง สิ่งที่เราหายากคือ ไม่ได้เรียนวิชาตรรกะ ผมไม่ค่อยเห็นเขาสอน ผมอยากหาคนที่สอนวิชานี้ที่ดีๆ ที่ไม่ต้องเป็นดอกเตอร์หรือ professor นะ แม้กระทั่งครูธรรมดาที่เข้าใจและสามารถจะถ่ายทอดให้เกิดความเข้าใจได้ เพราะวิชาตรรกะเป็นเรื่องที่สำคัญอันหนึ่งทีเดียว ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย อีกอันที่ไม่ค่อยได้เรียนในมหาวิทยาลัยของเราก็คือวิชาสังคมวิทยา" "ตรรกะเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง มันเป็นเหตุและผล คือจะพูดจะทำจะคิดหรืออะไรก็แล้วแต่ต้องสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นคนมันจะตะแบง ถ้ามีวิชาตรรกตะแบงคนจะจับได้ เฮ้ยอันนี้ไม่สมเหตุสมผล โดยทฤษฎีมันต้องอย่างนี้ๆ แต่ถ้าไม่รู้ ดูอะไรก็ดีก็ถูก จับไม่ทัน มันเป็นฐานเป็นคำอธิบายกฎหมาย กฎหมายต้องมีตรรกะ กฎหมายต้องเป็นเรื่องของความสมเหตุสมผล แน่นอนที่สุด มัน link กัน ซึ่งเสียดายบ้านเราไม่ให้ความสำคัญ สังคมวิทยาก็สำคัญ คุณจะออกกฎหมาย จะใช้กฎหมาย เรื่องมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จำเป็นที่สุดเลย เพราะฉะนั้นว่าจริงๆ วิชากฎหมายควรจะเป็นดีกรีที่ 2 หลังจากจบวิชาพื้นฐานอย่างต่างประเทศ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชีวิตมากมาย คุณไปทำหน้าที่สำคัญๆ ถ้าคุณขาดสิ่งเหล่านี้ ความยุติธรรมเสียหาย" อาจารย์ปรารภด้วยว่า ดูเหมือนจะไม่มีประเทศไหนมีปัญหาเรื่องการตีความเท่าเมืองไทย "คนที่เคยไปเมืองนอกไม่ว่าเรียนหรือเที่ยวเตร่ ทุกคนต้องอ่านหนังสือพิมพ์ต้องดูทีวี ผมไม่เชื่อว่ามีใครเห็นว่าในต่างประเทศปัญหากฎหมายขึ้นหน้าหนึ่งหรือเป็นข่าวทีวีมากเท่ารา แต่ถามว่าทำไมบ้านเรามันเป็นอะไร มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ผมก็วิเคราะห์ได้อย่าง นัยคือระบบกฎหมายที่ต่างกัน มีวิธีการจัดองค์กรที่ต่างกัน มีวิธีคิดมีวิธีการใช้กฎหมายที่ต่างกัน แต่ไม่พยายามเข้าใจ" "ผมยกตัวอย่างของจริงคือเมื่อสัก 20 ปีมานี้ ฝรั่งเศสมีกองเซเดต้า อังกฤษมีสภาเป็นคนร่างกฎหมาย มันมีการประชุมกันที่ช่องแคบอังกฤษ เถียงกันไม่จบ เชื่อไหมเพราะคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสซึ่งมันอยู่ติดกันแค่นั้นมันไม่เคยเรียนรู้อะไรกันเลยนะ อังกฤษก็ไม่รู้ว่าเฮ้ยฝรั่งเศสใช้วิธีการตีความอย่างนี้เหรอ ดูเจตนารมณ์แบบกว้าง ทำอย่างนี้ได้ยังไงวะ คนฝรั่งเศสก็บอกเฮ้ยคนอังกฤษทำอะไรกันวะนี่ มันเถียงกัน 2 วัน สิ่งที่ผมได้ก็คือว่ามันไม่รู้จักกันเลย 2 ประเทศนี้ เพราะเหตุว่าแต่ละประเทศก็ถือว่าตัวเองเป็นใหญ่ อังกฤษก็ถือว่าตัวเองเป็นแม่แบบของระบบ common laws ฝรั่งเศสก็เป็นใหญ่ในระบบ civil laws รายละเอียดไม่สนใจกันเลย กรณีนี้ถ้ามาเทียบกับเรานะ ที่ไปเรียนมาอะไรมา ไม่รู้ ก็เรียนมาอย่างนี้ แต่ลืมคิดไป มีคนถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาประเทศไทยยังไง ผมบอกมันแก้ง่ายนิดเดียว ถ้าเราไม่มีอคติ ถ้าเราเห็นว่ามัน follow ตามสิ่งนี้มันต้องเป็นตามระบบนี้มันก็จบ คือถ้ารู้ว่าเราอยู่ในระบบ civil laws เราเดินอยู่ในทางที่ผิดก็มาเดินให้ถูกทาง บางคนก็ไปอ้างว่าประเทศไทยดีกว่าไอ้พวกนั้น ประเทศไทยเล่นสายกลางเลย เป็น hi bridge ผมว่าไม่ใช่ เพราะประเทศอื่นอย่างแคนาดาเขามีทั้งระบบ common laws, civil laws เขาเป็น hi bridge เขาเป็นอย่างนี้ เขารู้ว่าสถานภาพของเขาเป็นอย่างไรก่อน และเขาเอาแนวความคิดหรือการพัฒนาของอีกสายหนึ่งมาปรับใช้ นั่นก็หมายความกลไกองค์กรของเขาแน่นปึ๊กแล้ว เห็นว่าขาดนั่นขาดนี่แล้วเอามาเสริม เขารู้ตัวเขาเองว่าเป็นอะไร แต่เราไม่รู้เลย เรามั่วหมด องค์กรไหนอยากมีอำนาจก็ไปคว้าไอ้นั่นมา โดยไม่รู้ว่ามันเข้าได้หรือไม่ได้ นี่คือ hi bridge ของเรา มันถึงเกิดปัญหา คือรู้ไม่จริง รู้ไม่ลึก" แต่มันเกิดศรีธนญชัยขึ้นเยอะ "ศรีธนญชัยเป็นผล เหตุมาจากกรณีที่ยึดตัวหนังสือกันมา แล้วก็ทำให้เกิดศรีธนญชัย เพราะอ่านรู้ดูเป็น อะไรก็ใช้ได้ ซึ่งไม่ใช่ มันมีปรัชญามีวิธีคิด" วกมาถามอีกประเด็น ว่าศาลปกครองไม่ส่งคนไปศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีใครอยากไปหรือ "ไม่ใช่ ผมอธิบายไปชัดเจน และก็เขียนหนังสือถึงท่านประธานวุฒิฯ เขาไม่เข้าใจกันเขาก็นึกว่าเอ๊ะทำไมเราไม่ส่ง เรามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ต้องทำ แต่อ่านรัฐธรรมนูญกันไม่จบ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าการที่จะส่งตุลาการไปมีเงื่อนไข 2 ประการ หนึ่งที่ประชุมใหญ่ของเราเลือก นั่นหมายความว่าต้องเลือกคนที่จะไปทำให้เกิดประโยชน์ สองต้องได้รับความยินยอมจากเขา ทีนี้เราก็ประชุมและเราก็สอบถามความประสงค์ที่จะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เมื่อทั้ง 13 คนยังไม่มีใครประสงค์จะไป มันก็ไม่มีคนไป แต่นั่นไม่ได้เป็นเหตุผลว่าเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเขายังไม่ประสงค์จะไปมันก็ยุติในจุดนั้น แต่ผมก็บอกเขาไปนะ เพราะในขณะที่เขาขอมาก็เป็นช่วงที่เราได้ดำเนินการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดรุ่น 3 แล้ว ก็ส่งจดหมายไปบอกว่า คาดว่าเร็วๆ เมื่อได้แล้วเราก็จะพิจารณาส่งคนไป ขณะนี้ได้แล้วแต่ก็ต้องรอโปรดเกล้าฯ พาเข้าถวายสัตย์ถึงจะบริบูรณ์ ในขณะนั้นเขาก็เร่งรัด ผมบอกจะมาเร่งรัดอะไรผม เพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน ตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ใช่เด็กๆ นะ คือถ้าเขาบอกว่าเขายังไม่ไป จะบอกเฮ้ยประชุมอีกทีเถอะ เราไม่ทำ เราก็คุยกันทุกวัน ถ้าเขาอยากจะไปเขาคงมากระซิบเอง ผมจะไปแล้ว ก็ต้องรอจนกว่าได้รุ่นใหม่ 4 คนมา และเราก็ต้องประชุม คัดเลือกไป ก็เข้าอีหรอบที่ว่าเงื่อนไข 2 ประการ ขณะนี้ก็รอ" แล้วถ้าไม่มีใครไปอีก "คงมีมั้ง เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญความจริงเขาก็มีอะไรต่ออะไรที่สถานภาพดีกว่าเรา ซึ่งอันนี้ผมไม่ได้พูดเองนะ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญท่านพูดมาก่อน" บางคนว่าตุลาการศาลปกครองไม่อยากไปเพราะไปเป็น 6 ปีก็จบ กลับมาไม่ได้ "คนที่ไปถึงตำแหน่งนั้นแล้ว ผมไม่คิดว่าใครอยากจะไปเป็นอย่างอื่น สูงเด่นเป็นสง่าขนาดนั้น ออกไปเป็นอะไร มันก็น่าจะไปเลี้ยงหลานได้ ไม่ใช่ว่าอายุเขามากนะ คือคนที่ไปถึงติดขื่อแล้วจะให้ทำอะไรอีก"
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21204เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2006 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท