ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้จิตวิทยาและทฤษฎีการเรียนรู้ในการทำCAI


แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ก่อนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนตามที่ศึกษามาดังนี้  ทฤษฎีหลัก ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์และส่งผลต่อแนวคิดในการออกแบบโครงสร้างของCAI  ได้แก่  ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  ทฤษฎีปัญญานิยม  ทฤษฎีโครงสร้างความรู้และทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญา  (ถนอมพร  เลาหจรัสแสง, 2541: 51-56)  โดยมีแนวคิดดังนี้
 1.1 ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behavioral Theories)
        ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behavioral Theories)  เป็นทฤษฎีซึ่งเชื่อว่า จิตวิทยาเป็นเสมือนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรมมนุษย์  (Scientific Study of Human Behavior)  และการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก  นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (Stimulus and Response)  ซึ่งเชื่อว่าการตอบสนองของสิ่งเร้าของมนุษย์จะเกิดขึ้นควบคู่กันในช่วงเวลาที่เหมาะสม  นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นพฤติกรรมแบแสดงอาการกระทำ (Operant Conditioning)  ซึ่งมีการเสริมแรง (Reinforcement)    ดังนั้นโครงสร้างของบทเรียนจะมีลักษณะเชิงเส้นตรง  โดยผู้เรียนทุกคนจะได้รับการเสนอเนื้อหาตามลำดับ  จากง่ายไปหายาก  ซึ่งเป็นลำดับที่ผู้สอนพิจารณาแล้วว่า  เป็นลำดับการสอนที่ดีและผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 1.2  ทฤษฎีปัญญานิยม (Cognitive Theories)  เกิดขึ้นจากแนวคิดของชอมสกี้ (Chomsky)  ที่ไม่เห็นด้วยกับสกินเนอร์ (Skinner)  บิดาของทฤษฎีพฤติกรรมนิยมในการมองพฤติกรรมมนุษย์ไว้ว่าเสมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์  ชอมสกี้เชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของภายในจิตใจมนุษย์ไม่ใช่ผ้าขาวที่เมื่อใส่สีอะไรลงไปก็จะกลายเป็นสีนั้น  มนุษย์มีความนึกคิด  และความรู้สึกภายในที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้น  การออกแบบการเรียนการสอน  ก็ควรที่จะคำนึงถึงความแตกต่างของมนุษย์ด้วย  ในช่วงนี้มีความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการจำได้แก่ความจำระยะสั้น  ความจำระยะยาวและความคงทนของความจำ  แนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งความรู้ออกเป็น  3  ลักษณะ  คือ  ความรู้ในลักษณะที่เป็นขั้นตอน (Procedural Knowledge)  ซึ่งได้แก่ความรู้ในลักษณะเป็นการอธิบาย (Declarative Knowledge)  ซึ่งได้แก่ความรู้ที่อธิบายว่า คืออะไรและความรู้ในลักษณะที่เป็นเงื่อนไข (Conditional Knowledge)  ซึ่งได้แก่ความรู้ที่อธิบายว่าเมื่อไร  ทำไม  ซึ่งความรู้ทั้ง  2  ประเภทหลังนี้ไม่ต้องการลำดับการเรียนรู้ที่ตายตัว
                                ทฤษฎีปัญญานิยมทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบในลักษณะสาขา ของคราวเดอร์  ซึ่งการออกแบบบทเรียนในลักษณะสาขา  จะทำให้ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้น  ในการควบคุมการเรียนของตนเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอิสระมากขึ้นในการเลือกลำดับเนื้อหาของบทเรียนที่เหมาะสมกับตน  โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ
 1.3  ทฤษฎีโครงสร้างความรู้  (Schema Theory)และทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญา (Cognitive Flexibility Theory) 
          ทฤษฎีโครงสร้างความรู้เชื่อว่าโครงสร้างภายในของความรู้ที่มนุษย์มีอยู่นั้นจะมีลักษณะเป็นโหนด  หรือกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่  ในการที่มนุษย์เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ นั้น มนุษย์จะนำความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับนั้นไปเชื่อมโยงกับกลุ่มความรู้ที่มีอยู่เดิม (Preexisting Knowledge)  รูเมลอาร์ทและออโทนี่ (Rumelhart & Ortony, 1997)  ได้ให้นิยามของ คำว่า โครงสร้างความรู้ไว้ว่าเป็นโครงสร้างข้อมูลภายในสมองของมนุษย์ซึ่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับวัตถุ  ลำดับเหตุการณ์  รายการกิจกรรมต่าง ๆ เอาไว้  หน้าที่ของโครงสร้างความรู้นี้ก็คือ  การนำไปสู่การรับรู้ของข้อมูล ( Perception)  การรับรู้ข้อมูลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดโครงสร้างความรู้ (Schema)  ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้ข้อมูลนั้นเป็นการสร้างความหมายโดยการถ่ายโอนความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมภายในกรอบความรู้เดิมที่มีอยู่และจากการกระตุ้นโดยเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้นั้น ๆ   เข้ากันด้วย  การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้  เนื่องจากไม่มีการเรียนรู้ใดเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับรู้  นอกจากโครงสร้างความรู้จะช่วยในการรับรู้และการเรียนรู้แล้วนั้น  โครงสร้างความรู้ยังช่วยในการระลึก (Recall)  ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยเรียนรู้มา  (Anderson .  1984)
  ทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญาเชื่อว่าความรู้แต่ละองค์ความรู้นั้นมีโครงสร้างที่แน่นอน  และสลับซับซ้อนแตกต่างกันไป  โดยองค์ความรู้ประเภทสาขาวิชา  เช่น  คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์กายภาพนั้น  ถือว่าเป็นองค์ความรู้ประเภทที่มีโครงสร้างตายตัว  ไม่สลับซับซ้อน  ในขณะเดียวกันองค์ความรู้บางประเภทสาขาวิชา  เช่น  จิตวิทยาถือว่าเป็นองค์ความรู้ประเภทที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวและสลับซับซ้อน  เพราะความไม่เป็นเหตุผลของธรรมชาติขององค์ความรู้  แนวคิดในเรื่องความยืดหยุ่นทางปัญญานั้นส่งผลให้เกิดความคิดในการออกแบบบทเรียนเพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างขององค์ความรู้ที่แตกต่างกัน 
  

 

 

 

 2.  จิตวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบ  CAI
        แนวความคิดทางด้านจิตวิทยาพุทธพิสัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์  ที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบ CAI  ได้แก่  ความสนใจและการรับรู้อย่างถูกต้อง  การจดจำ  ความเข้าใจ  ความกระตือรือร้นในการเรียน  แรงจูงใจ  การควบคุมการเรียน  การถ่ายโอนการเรียนรู้  และการตอบสนองความแตกต่างรายบุคคล
        2.1  ความสนใจและการรับรู้อย่างถูกต้อง  ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่ายดายและเที่ยงตรงที่สุด  การที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจกับสิ่งเร้าและรับรู้สิ่งเร้าต่าง ๆ อย่างถูกต้องนั้น  ผู้สร้างบทเรียนต้องออกแบบบทเรียนโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ตัวอย่างได้แก่  รายละเอียดและความเหมือนจริงของบทเรียน  การใช้สื่อประสมและการใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ เข้ามาเสริมบทเรียน  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น  การใช้เสียง  การใช้ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  นอกจากนี้ผู้สร้างยังต้องพิจารณาถึงการออกแบบหน้าจอ  การวางตำแหน่งของสื่อต่าง ๆ บนหน้าจอ  รวมทั้งการเลือกชนิดและขนาดของตัวอักษรหรือการเลือกสีที่ใช้ในบทเรียนอีกด้วย
        2.2  การจดจำ  ผู้สร้างบทเรียนต้องออกแบบบทเรียนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญที่จะช่วยในการจดจำได้ดี  2  ประการคือ  หลักในการจัดระเบียบหรือโครงสร้างเนื้อหา  และหลักในการทำซ้ำ  ซึ่งสามารถแบ่งการวางระเบียบหรือการจัดระบบเนื้อหาออกเป็น  3  ลักษณะด้วยกันคือ  ลักษณะเชิงเส้นตรง  ลักษณะสาขา  และลักษณะสื่อหลายมิติ
       2.3  ความเข้าใจ  ผู้สร้างบทเรียนต้องออกแบบบทเรียนโดยคำนึงถึง  หลักการเกี่ยวกับการได้มาซึ่งแนวคิด  และการประยุกต์ใช้กฎต่าง ๆ ซึ่งหลักการทั้งสองนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดในการออกแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  ในการทบทวนความรู้  การให้คำนิยามต่าง ๆ การแทรกตัวอย่างการประยุกต์กฎ  และการให้ผู้เรียนเขียนอธิบายโดยใช้ข้อความของตน  โดยมีวัตถุประสงค์ของการเรียนเป็นตัวกำหนดรูปแบบ การนำเสนอหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และกิจกรรมต่าง ๆ ในบทเรียน  เช่น  การเลือกออกแบบแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบในลักษณะปรนัย หรือคำถามสั้น ๆ เป็นต้น
       2.4 ความกระตือรือร้นในการเรียน  การที่จะออกแบบบทเรียนที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนได้นั้น  จะต้องออกแบบให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ  และปฏิสัมพันธ์นั้น ๆ จะต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหาและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
  2.5  แรงจูงใจ  ได้แก่  ทฤษฎีแรงจูงใจภายในและแรงจูงใจภายนอกของเลปเปอร์  ซึ่งเชื่อว่าแรงจูงใจที่ใช้ในบทเรียน  ควรจะเป็นแรงจูงใจภายในหรือแรงจูงในที่เกี่ยวเนื่องกับบทเรียนมากกว่าแรงจูงใจภายนอกซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับบทเรียน  การสอนที่ทำให้เกิดแรงจูงใจภายในก็คือ  การสอนที่ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนาน  เลปเปอร์ได้เสนอแนะเทคนิคในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจภายในไว้ดังนี้
   2.5.1  การใช้เทคนิคของเกมในบทเรียน
   2.5.2  ใช้เทคนิคพิเศษในการนำเสนอภาพ
   2.5.3  จัดหาบรรยากาศการเรียนรู้  ที่ผู้เรียนสามารถมีอิสระในการเลือกเรียนและหรือสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
   2.5.4  ให้โอกาสผู้เรียนในการควบคุมการเรียนของตน
   2.5.5  มีกิจกรรมที่ท้าทายผู้เรียน
   2.5.6  ทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น
 2.6  การออกแบบการควบคุมบทเรียน  ซึ่งได้แก่  การควบคุมลำดับการเรียน  เนื้อหา  ประเภทของบทเรียน ฯลฯ   การควบคุมบทเรียนมีอยู่  3  ลักษณะ  คือ  การให้โปรแกรมเป็นผู้ควบคุม  การให้ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุม  และการผสมผสานระหว่างโปรแกรมและผู้เรียน  ในการออกแบบนั้นควรพิจารณาการผสมผสานระหว่างการให้ผู้เรียนและโปรแกรมเป็นผู้ควบคุมบทเรียน  และบทเรียนจะมีประสิทธิภาพอย่างไรนั้น  ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการออกแบบการควบคุมของทั้ง  2  ฝ่าย
  2.7  การถ่ายโอนความรู้  โดยปกติแล้วการเรียนรู้จาก CAI นั้น  จะเป็นการเรียนรู้ในขั้นแรกก่อนที่จะมีการนำไปประยุกต์ใช้จริง  การนำความรู้ที่ได้จากการเรียนในบทเรียนและขัดเกลาแล้วนั้นไปประยุกต์ใช้ในโลกจริงก็คือ  การถ่ายโอนการเรียนรู้นั่นเอง  สิ่งที่มีอิทธิพลต่อความสามารถของมนุษย์ในการถ่ายโอนการเรียนรู้  ได้แก่  ความเหมือนจริงของบทเรียน  ประเภท  ปริมาณ  และความหลากหลายของปฏิสัมพันธ์  การถ่ายโอนการเรียนรู้จึงถือเป็นผลการเรียนรู้ที่พึงปรารถนาที่สุด
  2.8  ความแตกต่างรายบุคคล  ผู้เรียนแต่ละคนมีความเร็วช้าในการเรียนรู้แตกต่างกันไป  การออกแบบให้บทเรียนมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะตอบสนองความสามารถทางการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนได้เป็นสิ่งสำคัญ
  สรุปแล้วข้าพเจ้าคิดว่าก่อนที่จะสร้าง  CAI สักเรื่องหนึ่งเพื่อจะให้ไม่เสียเวลาเปล่าควรจะให้เวลากับการศึกษาทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้เสียก่อนเพื่อจะได้บทเรียนCAI ที่เหมาะสมกับผู้เรียนอย่างแท้จริง  ข้อควรคำนึงต้องเน้นการนำเสนอสื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความสนใจและการรับรู้อย่างถูกต้องเป็นหลักในการสร้าง  อันดับรองลงมาเป็นเรื่องของแรงจูงใจ  รวมทั้งทฤษฎีจิตวิทยาอื่น ๆ  ให้มีคุณภาพ

หมายเลขบันทึก: 21166เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2006 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท