การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพวิถีชุมชน


การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพวิถีชุมชน


          นี่คือโครงการที่ครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์   มาชวน สคส. ดำเนินการ   เราจัดประชุมวิพากษ์โครงการนี้ในบ่ายวันที่ 4 ส.ค.48


          ประเด็นสำคัญของโครงการคือ   ครูบาจะขับเคลื่อนพันธมิตรวิชาการ   ไปร่วมกันดำเนินการ KM เพื่อพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่น   ให้ชาวบ้านค้นพบทางเลือกจากการค้นพบโดยตนเอง   หัวใจคือให้ชาวบ้านเป็นผู้เรียน   พันธมิตรไปร่วมเรียนรู้   และช่วยนำความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ – เทคโนโลยีไปให้ชาวบ้านพิจารณาปรับใช้ตามบริบทของชาวบ้าน


          เป้าหมายของโครงการคือ   การสร้าง “บุคลากรสายพันธุ์ KM” ได้แก่
·       นักจัดการความรู้ระดับชุมชน 50 คน
·       เครือข่ายแวดล้อมในชุมชน 1,000 ครัวเรือน
·       ประชาคมสัญจร   ศึกษาดูงาน  15,000 ราย
·       ประชากรรับรู้ผ่านสื่อ  เช่น  นสพ.,  สิ่งพิมพ์,  ทีวี,  เวทีสัมมนา,  ICT 150,000 ราย


         เป้าหมายเชิงพื้นที่ดำเนินการคือ   พื้นที่ชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ 1,000 ไร่,   พื้นที่ชายขอบทุ่งสัมฤทธิ์ 500 ไร่,   พื้นที่ชายขอบลุ่มแม่น้ำมูล 1,000 ไร่   รวม 2,500 ไร่


          การดำเนินการจะมีหลากหลายกิจกรรม   ตัวกิจกรรมหลักคือ   “สถานีการเรียนรู้ชุมชน”   และจะมีพันธกิจสมทบผ่านมาทางพันธมิตรทางวิชาการ  เช่น  หลักสูตรพัฒนาบูรณาการศาสตร์          ม.อุบลราชธานี,   วิทยานิพนธ์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  มรภ.พระนคร,   วิทยานิพนธ์บัณฑิตศึกษา  สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ,   วิทยานิพนธ์หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาพัฒนาชุมชน  มรภ.สุรินทร์,   วิทยานิพนธ์การจัดการความรู้หลักสูตรมหาบัณฑิต  ม.นเรศวร,   วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการเรียนรู้ชุมชน  มสช.,   วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาภูมิสังคม  ม.แม่โจ้


          ทีมผู้เสนอโครงการเขียนโครงการมาเสียเป็นระบบอย่างดี   แต่โดนวิจารณ์ว่าใช้รูปแบบข้อเสนอโครงการวิจัย   แต่โครงการนี้ไม่ใช่โครงการวิจัยคือเป็นโครงการจัดการความรู้   ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเห็นในข้อเสนอโครงการคือตัวกิจกรรมหรือการปฏิบัติ   และจะดำเนินการ KM ในกิจกรรมอะไร,   ใครเป็น “คุณกิจ”,   ใครเป็น “คุณอำนวย”,   ใครเป็น “คุณลิขิต”,   จะมีการบันทึก “ขุมความรู้” และ “แก่นความรู้” นำมาหมุนเกลียวความรู้อย่างไร   จะมีการซึมซับ (capture) ความรู้จากภายนอกอย่างไร   สร้างขึ้นภายในกลุ่มอย่างไร   เป็นต้น


          ข้อเสนอแนะสำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำให้มีการพุ่งเป้า (focus) กิจกรรมหลัก ๆ ที่จะดำเนินการจัดการความรู้


          จุดแข็งของโครงการนี้คือตัวครูบาสุทธินันท์   และการมีพันธมิตรทางวิชาการที่เข้มแข็งและหลากหลาย


          ผมคิดแผนไว้ว่า   กิจกรรมแรกของโครงการนี้คือการจัดตลาดนัดความรู้ด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นเป้าหมายให้แก่ทีมแกนนำ “คุณกิจ”,   “คุณอำนวย”,   และ “คุณลิขิต”   โดยเชิญคุณทรงพล  เจตนาวณิชย์   มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย   เพื่อปูพื้นเทคนิค KM ให้แก่ทีมงาน   และเราจะใส่เงื่อนไขให้มี blogger คอยรายงานกิจกรรมอย่างน้อยทุกสัปดาห์   โครงการนี้มีคุณเพชร (สุภาภรณ์  ธาตรีโรจน์) เป็นผู้ประสานงานของ สคส.

 

         

    ครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์                                  บรรยากาศการประชุม


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         4 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 2116เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท