ชุมชนเข้มแข็ง รากฐานของการเมืองสมานฉันท์


 

 

 

ชุมชนเข้มแข็ง รากฐานของการเมืองสมานฉันท์

ในเวทีสังคมสนทนาเรื่อง “การเมืองสมานฉันท์” ที่วิทยาลัยการจัดการทางสังคมจัดร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และหน่วยงานภาคีอีกหลายองค์กร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์การเมืองระดับท้องถิ่นขององค์กรชุมชน โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสและนักคิดคนสำคัญของสังคมไทย ได้ปาฐกถาในประเด็นสำคัญ ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ คือ

1. ความสมานฉันท์ต้องเกิดจากความถูกต้อง จึงจะทำให้สังคมดำเนินไปอย่างสันติสุข หากความสมานฉันท์มาจากความไม่ถูกต้องจะเป็นการส่งเสริมให้ความไม่ถูกต้องดำรงอยู่ต่อไป และทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม

2. ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่มีพื้นฐานมาจากความถูกต้อง ความมีศีลธรรม และการเคารพศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยพบว่าในชุมชนท้องถิ่นที่มีลักษณะพื้นฐานดังกล่าว จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง สามารถเลือกผู้นำโดยผ่านกลไกต่างๆ ทางวัฒนธรรมของชุมชน ดังนั้นในมิติของการเมืองสมานฉันท์ประชาชนจึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองได้ทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น

3. ข้อค้นพบสำคัญคือ ประเทศไทยขาดงานวิชาการที่จะสนับสนุนให้ “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” ซึ่งเป็นหัวใจและรากฐานของประชาธิปไตย ทั้งนี้ สถาบันวิชาการในท้องถิ่นควรทำบทบาทนี้ให้มากขึ้น เพราะหากภาควิชาการอ่อนแอจะทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งที่รุนแรง

นอกจากสาระสำคัญจากการปาฐกถาแล้ว ยังมีการนำเสนอกรณีตัวอย่างชุมชนท้องถิ่นที่สามารถสร้างการเมืองสมานฉันท์ใน 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 การเลือกตั้งนายก อบต. โดยผู้สมัครจะผ่านกระบวนการคัดสรรของชุมชน ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสันติ ไม่เกิดความแตกแยกรุนในชุมชนดังเช่นการเลือกตั้งกำนันที่ผ่านมาในอดีต ผู้ที่เป็นแกนประสานให้เกิดความสมานฉันท์คือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ชุมชนให้ความเคารพนับถือ และพระสงฆ์ ซึ่งมีบทบาทในการเจรจาประนีประนอมกับผู้สมัคร ให้เข้าใจกติกาและยอมรับในจุดดีและข้อด้อยของตนเอง ชุมชนที่มีการเมืองสมานฉันท์แบบนี้คือ ต.ควรรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

รูปแบบที่ 2 การเลือกตั้งนายก อบต. แบบสมานฉันท์ โดยผู้สมัครมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติและเป็นเพื่อนกัน ทำให้บรรยากาศการหาเสียงและกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปแบบสมานฉันท์ ไม่มีการโจมตีกัน ผลการเลือกตั้งพบว่าผู้สมัครมีคะแนนไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ผู้สมัครพอใจและยอมรับกติกา ตัวอย่างของชุมชนนี้ คือ ตำบลเสียว กิ่ง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ และ ต.น้ำเกี๋ยน กิ่ง อ.ภูเวียง จ.น่าน

รูปแบบที่ 3 ประสบการณ์ของผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย กิ่ง อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยังไม่เคยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่มีการสร้างความสมานฉันท์ในชุมชนโดยใช้เวทีประชุมหมู่บ้านทุกเดือนเป็นเวทีระดมสมองแก้ปัญหาของชุมชน จนพัฒนาไปสู่ “สภาผู้นำ” ของชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้คนเกิดสำนึกรักท้องถิ่น และมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ข้อสรุปสำคัญที่สะท้อนจากเวทีนี้คือ

1. เป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่า “การเมืองสมานฉันท์” สามารถเกิดขึ้นได้ มีอยู่จริง และมีมานานแล้ว

2. ธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนา และธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการมีอยู่และการคงอยู่ของหลักการประชาธิปไตย ซึ่งคนในสังคมยังเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องที่นำเข้าจากประเทศตะวันตก

3. จากกรณีตัวอย่างของการเมืองสมานฉันท์ในชุมชนท้องถิ่นในเวทีนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำตามธรรมชาติเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวเองอย่างละเอียดอ่อน มาจากการปฏิบัติจริง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

4. การสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็ง ต้องมาจากฐานรากที่แข็งแรงก่อน โดยสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นบทบาทของสถาบันการศึกษาท้องถิ่น วิทยาลัยการจัดการทางสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สถาบันทางวิชาการต่างๆ ฯลฯ

5. ควรช่วยกันเผยแพร่และขยายประสบการณ์ดีๆ ของชุมชนเข้มแข็งให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคม เพื่อให้เป็นพลังในการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เต็มแผ่นดิน ซึ่งสื่อมวลชนจะมีบทบาทด้านนี้มาก รวมทั้งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ต้องลงไปสัมผัสสิ่งๆ ดีในชุมชน ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องแบบนี้ด้วย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21082เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท