Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๓)_๒


เพื่ออนาคต...ต้องรู้อดีต  เรียนรู้จากงานวิจัย
          ในเส้นทางการเดินสู่เป้าหมาย นอกจากกลุ่มองค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่ชุมชนอาคารสงเคราะห์ได้เกาะเกี่ยวเป็นพันธมิตรด้วยแล้วนั้น หน่วยงานหนึ่งที่ชุมชนยังเข้าร่วมในกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานภาค ในนามสถาบันกรุงเก่าเพื่อการพัฒนา
         บ่อยครั้งที่”เจริญ”มีโอกาสเข้าไปร่วมฟัง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนในเครือข่ายวิจัยอื่น ๆ พร้อมกับได้ฟังแนวคิด “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” และเขาคิดว่านี่อาจเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชาวบ้านในชุมชนอาคารสงเคราะห์จะได้ร่วมกัน “บันทึก”ประวัติศาสตร์ที่ได้ร่วมต่อสู้ ร่วมสร้าง และพัฒนาชุมชนมาด้วยกัน
         “เจริญ” กลับมาพูดคุยกับชาวบ้าน หารือและอธิบาย แนวคิด วัตถุประสงค์ และเป้าหมายสำคัญของการต้องทำวิจัย ว่าจะเริ่มต้นโครงการกันอย่างไร คำตอบที่จะร่วมกันค้นหาคืออะไร เพื่อให้ได้ประเด็นที่คนในชุมชนต้องการ
          เมื่อได้ประเด็นที่ครอบคลุมและครบถ้วน ทีมวิจัยซึ่งมีเจริญเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ประชุมเพื่อกำหนดประเด็นร่วมกัน พร้อมทั้งแบ่งกลุ่ม จัดทีมเก็บข้อมูลออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีแนวคำถามคร่าว ๆ ที่ทีมวิจัยและชาวบ้านช่วยกันกำหนด ทั้งนี้อยู่ภายใต้เนื้อหาที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ยุค  คือ ยุคก่อตั้ง  ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต ยุคกิจกรรม และยุคสร้างสวัสดิการ 

ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ข้ามรุ่น หาความรู้จากข้างในของชุมชน 4 ยุค 
         กุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทีมวิจัยใช้เพื่อให้เด็ก ๆ รับรู้เรื่องราว กระบวนการการต่อสู้ รวมไปถึงทิศทางในอนาคตของชุมชนคือ การให้เด็ก ๆ แบ่งกลุ่มและออกไปสัมภาษณ์ พูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชน  ด้วยคำถามที่ตัวเด็ก ๆ อยากรู้ โดยมีกรอบ หรือแนวคำถามที่ทีมวิจัยร่วมกันกำหนดขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนในแต่ละยุค คือ
         ยุคก่อตั้ง (พ.ศ.2502- 2509) เป็นข้อมูลการเข้ามาอาศัยของคนในรุ่นแรก ๆ ข้อมูลด้านทำมาหาเลี้ยงชีพ สภาพแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนปัจจัยจากภายนอกที่มีผลกระทบต่อการเปลี่นแปลงของชุมชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเยาวชนที่ร่วมกันเก็บข้อมูลซึ่งเป็นเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เรียนรู้ถึงสภาพของชุมชน สภาพชีวิตและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของกลุ่มคนในยุคแรก ๆ และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นสมาชิกของชุมชนอาคารสงเคราะห์
         ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต (พ.ศ.2510- 2525) มีการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้หลายอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั้งชุมชน กล่าวคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพขายอาหารตรงบริเวณสถานีขนส่ง กระทั่งเมื่อทางการย้ายสถานีออกไปนอกเมือง และมีการสร้างด่านเก็บเงินที่ อ.บางปะอิน ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น  มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ชาวบ้านใช้คำว่า “ความฟุ่มเฟือยเดินหน้าเข้ามาในชุมชน” บางรายกินยาบ้าเพื่อให้ทำงานได้มาก ๆ และต่อมา “กรมทางหลวง” มีมาตรการห้ามขายของที่ด่าน ลุงยงค์จึงพากลุ่มชาวบ้านเพื่อเรียกร้องต่อ ส.ส.มนตรี  พงษ์พานิช ในสมัยนั้น ข้อมูลในยุคนี้ ทำให้กลุ่มเด็กเรียนรู้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ
         ยุคกิจกรรม  (พ.ศ.2526-2538)เปลี่ยนจากผู้นำรุ่นแรกมาเป็นรุ่นลูก (เจริญ ขันธรูจี) มีกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชุมชนที่สำคัญคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การไปปฎิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น เช่น การทำผ้าบาติก
         ยุคสร้างสวัสดิการชุมชน  (พ.ศ.2539 – ปัจจุบัน) หลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 ชุมชนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ชาวบ้านเริ่มกลับมาทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคิดจะยกระดับคุณภาพชีวิตจึงเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัยจนกระทั่งกลายเป็นชุมชนต้นแบบในที่สุด

คลังความรู้จากการทำงานวิจัย
         การให้เด็ก ๆ  ออกไปเก็บข้อมูล เป็นเสมือนการให้กลุ่มเด็กได้รับรู้พัฒนาการของชุมชน ปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต เพราะกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จะต้องเป็นผู้ที่มารับช่วงการดูแลชุมชนต่อจากกลุ่มผู้ใหญ่    การวาดภาพประทับใจของกลุ่มเด็กที่ออกไปเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นภาพสะท้อนชีวิตในอดีต เช่น ภาพในยุคก่อตั้ง ที่มีก็อกน้ำกลางหมู่บ้านเพียงอันเดียว แต่ใช้ทั้งหมู่บ้าน มีการถามทุกข์สุขกัน ทำให้รู้ว่าใครทำอะไร   ภาพวิ่งไล่รถบัสเพื่อขายของ  ภาพการช่วยเหลือกันพัฒนาหมู่บ้าน  รวมถึงภาพการทำบาติก    มีการทำแผนที่ชุมชน มีทั้งการทำแผนที่ภายในและภายนอกชุมชน วิธีการคือ ให้เด็ก ๆ แบ่งออกเป็น 2 ทีม คือทีมทำแผนที่ภายใน และภายนอก เด็ก ๆ  จะคิดวิธีการของเขาขึ้นมาเอง เช่น วัดระยะจากชุมชนไปที่วัด หรือไปยังสถานสำคัญ ๆ  ด้วยการนับก้าวจากนั้นก็นำแผนที่ซึ่งเป็น “แบบร่าง”  มาสรุปกันอีกครั้งโดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นคนให้คำปรึกษา และเติมข้อมูลในส่วนที่ยังไม่ครบ  นอกจากนี้ยังมีการทำผังเครือญาติของคนในชุมชน โดยเฉพาะในตระกูลหลัก ๆ และตระกูลที่ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังมีการจัดเสียงตามสายในชุมชนอีกด้วย  ข้อมูลที่ได้จึงถูกเก็บไว้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งบันทึก ภาพวาด แผนที่ ผังเครือญาติ ฯลฯ
         ครูมานัส  ปิยะวงศ์  หัวหน้ากลุ่มเด็กและเยาวชน  กล่าวว่า  การทำงานในโครงการนี้ จะส่งผลให้เด็กและคนในชุมชนเข้าใจซึ่งกันและกัน เด็กที่ร่วมโครงการจะเข้าใจระบบการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักเขียน รู้จักอ่านมากขึ้น  เป็นการเรียนรู้นอกโรงเรียน    จากเด็กก้าวร้าว ติดยา เปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้น เหมือนขัดเกลา  การเรียนรู้วิธีการจัดการ  การออกไปเก็บข้อมูลแต่ละกลุ่ม(ประมาณ 5 คน) ก็แบ่งหน้าที่กันว่าใครถาม ใครจด ใครอัดเทป  และใครที่ไปเป็นเพื่อนคอยให้กำลังใจ เป็นต้น โดยมีผู้ใหญ่เป็นพี่เลี้ยง
         ปัญหาที่พบเมื่อเด็ก ๆ ออกไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่คือ บางครั้งผู้สูงอายุเสียชีวิตไปก่อน ทำให้ต้องเร่งเก็บข้อมูลกัน การเข้าไปโดยไม่เตรียมตัว เข้าไปไม่ถูกกาละเทศะ เช่น ผู้ใหญ่กำลังทะเลาะกัน หรือใช้คำถามไม่เป็น จึงกลับมาทบทวนและเชิญ พี่หนูกับพี่ต้อง จาก สสจ. มาเป็นพี่เลี้ยงสอนเรื่องเตรียมตัว เทคนิคการไปเก็บข้อมูล เช่น ไปสัมภาษณ์ยายที่กำลังตากผ้า ก็ต้องเข้าไปช่วยตากผ้าก่อน ชวนคุยเรื่องตากผ้า แล้วค่อยโยงไปเรื่องที่กลุ่มต้องการ   เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ทีมวิจัยหลักจะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ว่า สำนวนตรงนี้อ่านเข้าใจไหม  แล้วส่งให้เด็กที่มีหน้าที่จัดพิมพ์เข้ารูปเล่ม ทำอย่างนี้ในการศึกษาแต่ละยุค เสร็จแล้ว เด็กมานำเสนอในเวทีรายงานผลให้ชุมชนทราบถึงข้อมูลที่ได้มา เป็นการตรวจสอบ ร่วมทั้งเชิญนักวิชาการมาช่วยชี้แนะ การทำตรงนี้ให้เด็กเป็นตัวหลัก ผู้ใหญ่เป็นตัวหนุนและดันตามศักยภาพและความถนัดของเด็ก

กระบวนการเรียนรู้ที่ยังเคลื่อนต่อ
         จะเห็นได้ว่า ... ชุมชนอาคารสงเคราะห็ได้กำหนดเป้าหมายไว้ร่วมกันอย่างชัดเจน ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนอาคารสงเคราะห์เข้มแข็ง ก็คือการมีผู้นำที่ดี เป็นคนในพื้นเพในชุมชน เข้าใจและมุ่งมั่นพัฒนาชุมชน  เรียนรู้การต่อสู้ในอดีต มีการรวมตัวของชุมชน  ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา มีกติการร่วมกัน  ใช้วิกฤติเป็นแรงให้เกิดความร่วมมือ  คนในชุมชนมีความร่วมมือกันอย่างอัตโนมัติ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นปกติวิสัย  รู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน   พยายามดึงและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนตามความถนัด   
         กระบวนการจัดการความรู้ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  คือ เป็นชุมชนที่ สร้างความรู้ใช้เอง ขยาย ถ่ายทอด ลองทำอยู่ตลอดเวลา   มีการหาความรู้จากภายนอกมาปรับใช้ในชุมชนอยู่ตลอดเวลา สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลางชุมชน  เชื่อมโยงความรู้ของแต่ละกลุ่มในชุมชนเพื่อสร้างเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลาจากหน่วยงานหรือภาคีต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น สสจ. มหิดล  ราชการ  ชุมชนอื่น   มีการถ่ายทอดความรู้   มีการจดบันทึกหลายรูปแบบ    มีการตรวจสอบความถูกต้องของ “ขุมความรู้” และนำมาปรับแก้ตลอดเวลา   ใช้ความรู้ชุดเล็กๆเป็นตัว  ใช้ระบบพี่เลี้ยง (peer assist) และมีการให้รางวัล (พาไปดูงาน)  ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ทำให้เกิดพลังชุมชนที่จะร่วมกันนำพาชุมชนอาคารสงเคราะห์ให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง.

นายเจริญ  ขันธรูจี
ประธานเคหะสถาน อาคารสงเคราะห์ทรัพย์เจริญ อยุธยา
ชุมชนอาคารสงเคราะห์ อยุธยา ต.หอรัตนชัย อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา
โทร. 0-9007-8452

คำสำคัญ (Tags): #km#ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 21028เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท