ปราชญ์ชาวบ้านกับการจัดการความรู้


อาจมีหลายคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า....... การจัดการความรู้  คืออะไร ?
ลุงประยงค์ รณรงค์   บุคคลผู้ซึ่งได้มีการจัดการความรู้  ได้ทุ่มเททั้งกายและใจศึกษาปัญหาของยางพารา โดยเริ่มจากการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของชุมชน แล้วถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนจนสร้างเป็นศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชุมชนไม้เรียง  ซึ่งไม่เฉพาะแต่การถ่ายทอดความรู้ไปให้เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการร่าง  พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน และ พ.ร.บ.ยางแห่งชาติ  ลุงประยงค์ ยังพูดถึง การจัดการความรู้ของคนในชุมชนไม้เรียง ซึ่งในขั้นแรกได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาอาชีพหลัก สร้างอาชีพรอง มีอาชีพเสริม ขึ้นมา เป็นการอิงหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เช่นหลักสูตรการผลิตอาหารสัตว์ หลักสูตรการแปรรูปข้าว หลักสูตรการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งการเรียนรู้ของคนในชุมชนจะเน้นไปที่การปฏิบัติจริงภายใต้กรอบที่ว่า "จะทำอะไรต้องเรียนรู้ก่อนจึงจะทำ" และ "ทำในสิ่งที่รู้แล้ว"  ผลจากการลงมือกระทำในแต่ละครั้งจะต้องสรุปวิเคราะห์จึงจะได้เป็นความรู้จริง สามารถนำมาพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้เจริญก้าวหน้าได้ การเน้นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบ  ทำให้ชุมชนไม้เรียงมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง
จากกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนออกไปเชื่อมโยงกับกลุ่มนอกชุมชน เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรขึ้นหลายกิจกรรม เช่น  การนำข้าวคุณภาพต่ำราคาถูกจากชาวนาในลุ่มน้ำปากพนังมาแปรรูปเป็นแป้งขนมจีน จำหน่ายให้กับผู้ผลิตเส้นขนมจีนทั่วไป ปัจจุบันสามารถผลิตแป้งขนมจีนได้วันละ 10 ตัน และขยายตลาดไปอีกถึง 7 จังหวัด จัดตั้งโรงงานผลิตแป้งขนมจีนโดยเครือข่ายยางพารา เครือข่ายไม้ผล และเครือข่ายนาข้าว ภายใต้ชื่อ  *บริษัทเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด* และได้กลายเป็นสถานที่ศึกษา เรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร และเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย
ถ้าการจัดการความรู้   เป็นการเพิ่มคุณค่าของบุคคลหรือองค์กร  โดยผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยนความรู้ความคิด ตลอดจนประสบการณ์ของบุคคลหรือองค์กร แล้วนำมาจัดระบบระเบียบและสามารถถ่ายทอดความรู้สู่บุคคลและสังคมได้ .......ลุงประยงค์  รณรงค์ ผู้ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นผู้คว้ารางวัล "แม็กไซไซ" แห่งประเทศฟิลิปปินส์  สาขาพัฒนาชุมชน ในปี 2547 คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีของคำตอบนี้
ข้อมูล :: http://www.carefor.org/php/modules
มติชน วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9648
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 210เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2005 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท