ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์ ๒๐ – ๒๖ มีค. ๔๙


มี 'นวัตกรรมจิ๋ว' เกิดขึ้น

ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์  ๒๐ – ๒๖ มีค. ๔๙

เป็นสัปดาห์ที่มีชีวิตชีวา และทรงคุณค่าเช่นเคย    แม้หวัดจะยังไม่หาย    ยังไออยู่เป็นช่วงๆ 

  • ได้เรียนรู้ว่า    การประกาศรับ KM Intern ทำให้มีคนที่เอาจริงเอาจังกับการทำ KM จำนวนหนึ่งติดต่อเข้ามา     และเมื่อเราเชิญคนที่เหมาะสมมาคุย (สัมภาษณ์) ก็จะได้ทั้งคนที่เหมาะจะเป็น intern และที่เหมาะจะเป็นภาคีโดยมีกิจกรรมที่จะใช้ KM เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว     เราจึงประกาศค้างไว้ในเว็บไซต์ตลอดไปเลย ว่าถ้าใครสนใจก็สมัครเข้ามาได้เสมอ 
  • ได้ตระหนักชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า KM ของประเทศไทยเรา ไม่เหมือนใคร    เรามีลักษณะการดำเนินการที่มีลักษณะจำเพาะ    คือมีการขับเคลื่อน KM ทั้งประเทศ อย่างเชิงรุก (proactive) ซึ่งของประเทศอื่นเขาไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบเช่นนี้    ของเรามุ่งขับเคลื่อน KBSE (Knowledge-based Dociety & Economy) โดย KM ของทั้งประเทศ ไม่ใช้แค่ใน sector ใด sector หนึ่ง
  • ได้ทำงานแนะนำ KM และเทคนิค KM แก่ สคส. และเครือข่าย ในการประชุมบูรณาการแผนเพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งปี ของ สสส. คือเรื่องเด็กและเยาวชน    ดังเล่าแล้วในสัปดาห์ก่อน    และในสัปดาห์นี้ก็มีงานต่อเนื่อง
  • KM Workshop แก่ สพท. นนทบุรีเขต ๑ ที่หญิง ธวัช ครูใหม่ และจ๋าไปเป็นวิทยากร ประสบผลสำเร็จดีมาก    เราจะเลี้ยงฉลองความสำเร็จในส่วนของ สคส.    ทาง ผอ. สพท. นนทบุรีเขต ๑   อ. ประไพ  อย่าลืมเลี้ยงฉลองให้แก่ทีมแกนนำนะครับ    ที่จริง ๘๐% ของปัจจัยสู่ความสำเร็จมาจากการเตรียมตัวที่ดีของทีมแกนนำของ สพท.    ผมได้แสดงความยินดีกับ สพท. ไปแล้วครั้งหนึ่ง ขอแสดงความยินดีมาอีกครั้งหนึ่ง
  • คุณ Waltraut Ritter, President of Hong Kong KM Society และเป็น Director, Knowledge Enterprises ที่ฮ่องกง  มาเยี่ยมเรา    และทึ่งใน บล็อก Gotoknow.org ของเรามาก ว่าเราก้าวหน้าในการใช้ บล็อก เป็นเครื่องมือ KM อย่างไม่น่าเชื่อ    เขาเองไม่เคยคิดใช้ บล็อก แบบนี้ และอยากเอาไปใช้บ้าง     เขาจะติดต่อ ดร. จันทวรรณ และเชิญไปนำเสนอในการประชุมประจำปีของเขา   นัก KM ไทยจะได้ go inter คราวนี้แหละ
  • ได้เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ของสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี    ได้มีโอกาสนำเสนอวิธีคิดแบบ KM และเทคนิค ลปรร. แบบ KM    มีคนเห็นด้วยมาก    รศ. ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ กพร.   ก็อยู่ในที่ประชุมด้วย
  • ได้มีโอกาสเสนอแนวคิด และเทคนิค KM สำหรับนำไปใช้ในโครงการ ชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ สสส. ให้ทุนสนับสนุน และมีผลสำเร็จสูงมากในบางจังหวัด    สคส. จะร่วมกับโครงการ จัดเวทีนวัตกรรมท้องถิ่นน่าอยู่ต่อไป
  • ได้มีโอกาสร่วมประชุมหารือโครงการประชุมวิชาการนานาชาติ ฉลองครบรอบ ๑๕ ปี ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล    และสรุปว่าจะจัดประชุมแบบเข้มข้น คนน้อย แต่สูงด้วยคุณภาพในการส่งสัญญาณแก่โลกว่าควรส่งเสริมการสร้างวิชาการ/นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของมนุษยชาติ อย่างไร
  • บอร์ดนโยบาย สกว. อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย สคส. ชุดเดิม ไปจนจบโครงการในปี ๒๕๕๑   และแต่งตั้งผมเป็นผอ. โครงการไปจนจบโครงการเช่นกัน   รวมทั้งได้แนะนำให้หาทางสร้างความต่อเนื่องของโครงการ คือไม่อยากให้จบในเวลา ๕ ปี    อยากให้ทำต่อ และมีกลไกให้มีความต่อเนื่อง
  • ตกลงความร่วมมือกับ สมศ. ในการขับเคลื่อน KM เพื่อการประกันคุณภาพภายใน ของสถานศึกษา    โดยใช้เวทีนวัตกรรมการประกันคุณภาพภายใน    คุณธวัชจะเป็นผู้ประสานงานของ สคส. และคุณทวีรัก จะเป็นผู้ประสานงานของ สมศ.
  • ได้ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙   หรือจริงๆ แล้วเป็นการประชุมครั้งแรกของกรรมการชุดนี้    เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๖ มีค. ๔๙    กรรมการชุดนี้มีอธิการบดีเป็นที่ปรึกษา    กรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมี ๓ คน คือ ศ. ดร. อัมมาร์ สยามวาลา,  นพ. ปัญญา สอนคม,  และผม    กรรมการภายใน มน. คือคณบดีคณะต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  และมี ผอ. รพ. เป็นกรรมการและเลขานุการ     กรรมการนโยบายชุดนี้ไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง หรือเป้าหมาย (ไม่ได้กำหนด what) เพราะส่วนนั้นกำหนดมาโดยสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีมาแล้ว     แต่ช่วยกำหนด หรือแนะนำ ยุทธศาสตร์และแนวทางบรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่น (กำหนด how)     ประชุมเสร็จ อ. หมอปัญญา สอนคม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ มาถามผมว่ามีทางทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายในกรม หรือในโรงพยาลาลสนุกอย่างนี้ได้ไหม    ผมตอบตามสูตรว่า “Yes and no”  คือจะทำได้ต้องมีองค์ประกอบครบ    ตัวสำคัญที่สุดคือบรรยากาศแนวราบ แนว empowerment ไม่ใช่ควบคุมสั่งการ (command & Control)    เรื่องสำคัญที่สุดของการประชุมนี้คือการให้คำแนะนำเรื่องแนวทางจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่อาจารย์     ผมตั้งใจว่าจะพูดประโยคหนึ่งแต่ลืมพูด จึงขอนำมาแจ้งผ่าน บล็อก นี้ว่า    การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่อาจารย์นี้ไม่มุ่งหวังให้ได้เงินสูงเท่ากับการไปทำงานใน รพ. เอกชน    การตอบแทนอาจารย์ หรือแรงดึงดูดอาจารย์ ต้องไม่เน้นที่เงินเป็นหลัก แต่เน้นที่การจัดบรรยากาศการทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน ให้อาจารย์ได้ทำงานบรรลุความฝันและอุดมคติของตน    คือเอาโอกาสมีผลงานเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาเงินเป็นตัวตั้ง     เงินเป็นเพียงตัวช่วยให้อยู่ได้อย่างไม่ต้องจำกัดจำเขี่ยเกินไป     กรรมการชุดนี้ประชุม ๖ เดือนครั้ง    ครั้งต่อไปจะเน้นการพิจารณาประเด็นเชิงระบบ    และจะมีการเตรียมข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบาย (information for policy decision) และประเด็นเชิงอนาคต มาเสนอ    รวมทั้งนำเสนอภาพเชิง projection / แผนการดำเนินการสู่ รพ. ๔๐๐ เตียง   ซึ่งจะตั้ง งปม. ปี ๒๕๕๒   ดังนั้นเป้าหมายการเป็น รพ. ๔๐๐ เตียงคือ ปี ๒๕๕๕    ที่จริงเราหารือเรื่องต่างๆ มากมาย แต่นี่ไม่ใช่บันทึกรายงานการประชุม  
  • ตอนเดินทางไป มน. ในวันนี้โชคดีที่ได้พบบุคคลที่จะช่วยขยายการใช้ KM ในบริบทที่ต่างออกไป คือ ศ. ดร. สุนทร บุญญาธิการ กับคุณเดชา ดีผดุง ผอ. สำนักประเมินผล สำนักงบประมาณ   และได้รับทราบความก้าวหน้าในการขยายตัวของ HKM จาก อ. ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ ทำให้ผมมีความสุขมาก   จะแยกบันทึกต่างหาก
    วิจารณ์ พานิช
    ๒๖ มีค. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 20964เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2006 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ด้วยความยินดีคะอาจารย์ ยิ่งพอเราได้ใช้ระบบเวอร์ชันสอง ก็จะยิ่งเห็นชัดถึงการเป็นเครื่องมือ KM ใน GotoKnow.org คะ ซึ่งตอนนี้ทีมงานกำลังพัฒนาอยู่โดยความตั้งใจเต็มที่คะ

ส่วน PlanetMatter และ FeedSpring ก็กำลังจะใช้งานอย่างจริงจังในม.อ. โดยเริ่มที่ระบบรวบรวมสารสนเทศด้านงานประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอันดับแรกคะ

ปล. ขอให้อาจารย์หายป่วยไวๆ นะคะ :)

ขอเพิ่มส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร    ว่าผมได้แจ้งต่อที่ประชุมตอนเปิดการประชุมว่า    คณะกรรมการชุดนี้น่าจะเป็นนวัตกรรม    คือเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายโรงพยาบาลในลักษณะที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนนอก    ซึ่งคำว่านวัตกรรมนั้นผมให้ความหมายว่า ยังไม่มีใครมีประสบการณ์   พูดง่ายๆ ว่าทำไม่เป็น    ดังนั้นการประชุมครั้งนี้เราจะพูดกันแบบคนไม่รู้จริง

และตอนจบผมได้ขอให้ท่านคณบดีคณะแพทย์ ศ. นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย  เตรียมการประชุมคราวหน้าโดยเมื่อเริ่มต้นประชุม ให้มีการนำเสนอเรื่องราวของความสำเร็จของโรงพยาบาลตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด   โดยนำเสนอแบบเล่าเรื่อง    ให้เจ้าของผลสำเร็จมาเล่าเอง   ใช้เวลาเล่าเรื่องละไม่เกิน ๒ นาที   และเตรียมเอกสารแจกล่วงหน้าเรื่องละไม่เกิน ๑ หน้า

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มีค. ๔๙ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท