แกะรอย HA Forum 5-7


การจัดการความรู้ การคิดเชิงระบบและนวัตกรรม ตามรอย วัดผล

              นับถึงครั้งล่าสุดการจัดมหกรรมคุณภาพระดับชาติโดย สภถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล(พรพ.) ได้ก้าวย่างเข้ามาสู่ครั้งที่ 7 แล้ว พร้อมกับความสำเร็จในการเชิญชวนให้บรรดาผู้มีหัวใจคุณภาพทั้งหลายเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ถึง 4-5พันคน ที่ลงทะเบียนและที่ไม่ลงทะเบียนอีกส่วนหนึ่ง

                จุดเด่นของการจัดงานแต่ละครั้งอยู่ที่การกำหนดประเด็นหลักหรือThemeของงานออกมาอย่างเด่นชัดและสะท้อนถึงทิศทางหรืออาจจะถือได้ว่าเป็นเข็มมุ่งของการพัมนาคุณภาพโรงพยาบาลที่สนับสนุนโดย พรพ.ได้

                 ผมเองได้มีโอกาสเข้าร่วมในครั้งที่ 3 แล้วก็เกิดพลังเกิดไฟในใจอย่างมากที่จะพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่บ้านตาก พร้อมตั้งใจว่าจะมาร่วมงานอีกครั้งก็ต่อเมื่อมารับประกาศHA และในครั้งที่ 5-6-7 ผมก็ได้มาร่วมงานจริงๆ

                 หากแกะรอยย้อนหลังตามความจำที่มีอยู่ ในครั้งที่ 5-7 นี้ Themeของงาน จะมีการรับส่งช่วงกันเป็นทอดๆและสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาองค์กรคุณภาพได้อย่างดี

                 ในครั้งที่ 5 เน้นที่การจัดการความรู้(Knowledge Management)โดยมีอาจารย์วิจารณ์ มาบรรยาย แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจและรับรู้ว่า นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า การจัดการความรู้จะเข้ามาสู่สังคมไทยแล้วนะ รวมทั้งตัวผมเองก็มองไม่ออก เรียกว่าตาม พรพ.(อ.อนุใฒน์ไม่ทัน) นั่นคือเป็นสิ่งที่บอกว่า การจัดการยุคใหม่ต้องการให้เราเปลี่ยนแปลงตามโลก ตามสังคมไปสู่สังคมฐานความรู้ ที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีคนทำงานเป็นคนมีความรู้(Knowledge Worker) ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพจะต้องเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของคนในหน่วยงาน จึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพให้ตอบสนองทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้ การพัมนาคุณภาพจะไม่ได้เป็นแค่เพียงกระบวนการทำตามเกณฑ์เพื่อล่าใบรับรองคุณภาพเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ที่เหมาะสมมีคุณค่ามากกว่านัก

                   พอมาครั้งที่ 6 เน้นที่การคิดหรือมุมมองเชิงระบบ(System Approach) โดยการเปิดงานที่สื่อได้ดีกว่าการใช้ตัวอักษรมากนักจากการแสดงหุ่นกระบอกของโจหลุยส์ ที่สื่อว่าแม้หุ่นจะไร้ชีวิต แต่คนก็ทำให้หุ่นดูมีชีวิต ชีวาขึ้นมาได้ ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ผู้คนได้ โดยที่คนทำหน้าที่นั้นต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีภายใต้เป้าหมายใหญ่อันเดียวกันคือเชิดหุ่นให้มีชีวิต สะท้อนกลับไปยังองค์กรที่เป่นตึกอาคารที่ไร้ชีวิตนั้น จะต้องให้คนในองค์กรมาทำหน้าที่ชักใยองค์กรให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ต่อลูกค้าได้ เมื่อองค์กรเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต องค์กรนั้นก็จะเรียนรู้(Learning)ได้เพราะจะคิดเป็น ทำเป็นและรักเป็น นั่นคือมีทั้ง Head, Hand ,Heart ในForum 6 นี้ จึงช่วยเสริมย้ำว่าเมื่อจะมีการเรียนรู้ การจัดการความรู้เพื่อคุณภาพนั้น อย่าทำแบบแยกส่วน อย่าทำแบบตัวใครตัวมัน อย่าแยกออกจากชีวิตประจำวันปกติ เพราะทุกส่วนขององค์กรเชื่อมโยงส่งผลถึงกันและกันทั้งหมด และจากแนวคิดนี้ส่งผลให้เกิดการปรับมาตรฐานHAมาสู่มาตรฐานเชิงระบบที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆตามมาตรฐานฉบับฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

                    พอมาครั้งที่ 7 เน้นที่นวัตกรรม ตามรอยและวัดผลคุณภาพ โดยเป็นการเจาะเอากระบวนการเรียนรู้เชิงระบบเข้ามาเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นการนำเอาการจัดการความรู้และมุมมองเชิงระบบมาทำให้เห็นเป็นรูปธรรมสู่การปฏิบัติ เพราะทั้ง 3 ประเด็นไม่ว่านวัตกรรม ตามรอยและการวัดผล ล้วนจะเกิดได้จากผู้ปฏิบัติที่ปฏิบัติงานอยุ่ในชีวิตประจำวันปกติ ส่งผลให้คุณภาพกับงานเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้กิจกรรมที่ทำอยู่เกาะติดอยู่กับงานประจำ เกิดCQIที่ใช้ประโยชน์ได้จริงกับงานที่ทำอยู่ ทั้งนี้ การวัดผลทำให้เรารู้ว่าใครทำได้ดี พอรู้แล้วก็ตามไปดูไปชื่นชมเขาโดยการแกะรอยหรือตามรอยเพื่อหาวิธีที่ดีนั้นออกมาปรับใช้และในสิ่งดีๆเหล่านั้นมักจะซ่อนเจ้าตัวนวัตกรรมเอาไว้ กระบวนการอย่างนี้ก็คือการจัดการความรู้ นั่นเอง

                     ทั้ง 3 Forum HA ที่ผมแกะรอยมานี้ เป็นสิ่งที่บอกเราว่า สังคมยุคนี้ต้องการวัฒนธรรมการเรียนรู้ เพื่อเอื้อให้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้(สังคมนั้นอาจเป็นระดับองค์กร หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศหรือโลก ก็ได้) โดยการเรียนรู้นั้นต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปสุ่สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น สิ่งที่ดีนั้นก็อาจเป็นคุณภาพ คุณภาพชีวิต ความสุข ก็ได้ เมื่อคนหมั่นเรียนรู้ ก็จะมีความรู้ คนที่มีความรู้ก็จะเป็น Knowledge worker ส่งผลให้สังคมกลายเป็นสังคมฐานความรู้ได้

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 20843เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2006 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบคุณคุณหมอพิเชฐที่สรุปเรื่องราวให้คนที่เข้าวงการทีหลังได้รู้นะคะ
เป็นการตามรอยหรือการย้อนกลับไปดูสิ่งที่ผ่านมาหรือมองย้อนอดีตครับ ถ้ามีคำที่เหมาะสมกว่าก็ยินดีรับข้อเสนอแนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท