หลักการออกแบบและพัฒนาระบบการเรียนการสอน


การเรียนการสอน

บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญหา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทยและความเป็นสากล รวมทั้งมีความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อตามความถนัด และความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งการดำเนินการตามหลักสูตรนั้น การจัดการเรียนรู้ตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เป็นการจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม ในการจัดการเรียนรู้นั้นจะต้องจัดเนื้อหาสาระ และกิจกรรมการสอน การเลือกสื่อการสอนและแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและความแตกต่างของผู้เรียน โดยผู้เรียนได้มีการเรียนรู้เรื่องการจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ การเผชิญสถานการณ์ การประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์จริง มีการฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น มีทักษะในการทำงาน สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ มีนิสัยรักการทำงาน เห็นคุณค่า และมีเจตคติที่ดีต่องาน ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัดและอดทน มีความอุตสาหะในการทำงาน อันจะนำไปสู่การทำให้ผู้เรียนอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้ตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง นำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพของงานและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

                  ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 นั้น การนำเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้โดยการใช้ทักษะกระบวนการย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ ตามที่วัลลภ  ตันทรัพย์ (อ้างใน สุพัตร  ใจฟู  2534 : 17)  ได้กล่าวว่า ทักษะกระบวนการเป็นกระบวนการปฏิบัติ หรือกระบวนการทำงานที่คบขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเสร็จ ในการทำงานนั้นนอกเหนือจากการทำงานได้อย่างเป็นขั้นตอน ยังมีเรื่องของการจัดระบบคน และระบบงานเพื่อให้การทำงานนั้นสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การทำงานอย่างมีทักษะการจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544 : 162)  ได้กล่าวถึงการจัดการว่าเป็นความพยายามของบุคคลที่จัดระบบงานและระบบคนเพื่อทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งการที่ผู้สอนได้ได้นำการจัดการเรียนรู้โดยเน้นทักษะการจัดการมาใช้นั้น ย่อมเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สร้างคุณลักษณะในการทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน มีการจัดระบบของคน และทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  ในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ของโรงเรียนเทศบาลวัดชุมพลคีรี ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ได้มีการประชุมเพื่อชี้แจงถึงผลการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548 ได้สรุปปัญหาพบว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดไว้ ตลอดจนผู้เรียนมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมในการทำงานคือ ผู้เรียนขาดการวางแผนในการทำงาน การปรับปรุง และแก้ไขผลงาน นักเรียนมีความอดทนในการทำงานน้อย รวมทั้งขาดทักษะในการทำงานกลุ่ม ส่วนการตรวจผลงานของนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีการปรับปรุง และแก้ไขผลงาน ซึ่งในการปรับพฤติกรรมด้านการทำงานของผู้เรียน การจัดการเรียนรู้โดยเน้นทักษะการจัดการ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในการทำงานของตนเอง และทำงานร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผน การลงมือปฏิบัติ การปรับปรุงงาน และการประเมินผลงาน ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้นำเอาการจัดการเรียนรู้โดยเน้นทักษะการจัดการมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว ซึ่งเป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในชีวิตประจำวันในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม โดยจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้ งานเกษตร เรื่องการปลูกผักสวนครัว มาใช้กับผู้เรียน ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยผู้ศึกษาได้จัดทำหลักสูตรและแผนการสอน แล้วนำไปใช้ทดลองจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ภาคเรียนที่ ………..  ซึ่งผลที่ได้รับจากการศึกษาจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับแผนการสอน รวมทั้งปรับกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                  เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้โดยเน้นทักษะการจัดการกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี งานเกษตร ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลวัดชุมพลคีรี

                 


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
และวัตถุประสงค์ของการวิจัย
โดย

นายทองหล่อ  ห่อทอง

ส่ง
ผศ.สุณี  บุญพิทักษ์
5/3/49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20805เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2006 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
มีรูปแบบที่ต้องมีการเพิ่มเติมและปรับปรุงอีก เพื่อความที่ดีกว่าเดิมสมบูรณ์
ควรเพิ่มรายละเอียดงานวิจัยอีกนิด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท