การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล


การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล

การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program :IEP)

ความเป็นมา
      แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program :IEP) เกิดจากการออกกฎหมายโดยรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อ Education for All Handicapped Children Act of 1975 หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า Public Law 94-142 (PL94-142) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1977 โดยกำหนดให้เด็กพิการทุกคนที่มีอายุระหว่าง 3-21 ปี ได้รับการศึกษาและมีการกำหนดให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ เพื่อการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้นจากในอดีตเป็นอันมาก ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1990 PL 94-142 ได้ปรับเปลี่ยนเป็น Individuals with Disabilities Education Act : IDEA (PL 101 - 486 ) และนอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลให้กับเด็กพิเศษ โดยมีการกำหนดจุดประสงค์ การวางแผนและการติดตามความก้าวหน้า

      ความหมาย
     แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หมายถึง แผนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลพิการแต่ละบุคคล ตลอดจนกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้เป็นเฉพาะบุคคล

     วัตถุประสงค์ในการใช้ IEP
      มีอยู่ 2 ประการ คือ
      1. IEP เป็นแผนที่เขียนขึ้นเป็ฯลายลักษณ์อักษรสำหรับเด็กคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ IEP หรือที่ประชุมเด็กเฉพาะกรณีใน IEP จะมีข้อมูลในการจัดเด็กเข้ารับบริการการศึกษาและบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
      2. IEP เป็นเครื่องมือในการจัดการกับกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการสอนทั้งหมด ฉะนั้น IEP ในแง่ที่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการสอนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลและวิธีการสอน

      การจัดทำ IEP
      เพื่อประกันว่า
            1. การศึกษาที่จัดให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่มีความบกพร่องแต่ละคนนั้นเหมาะสมกับความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ของเด็กคนนั้น
            2. เมื่อมีการกำหนดการให้บริการทางการศึกษาพิเศษใน IEP แล้วนั้น ได้มีการให้บริการดังกล่าวจริง
            3. มีการดำเนินการควบคุมติดตามผลการให้บริการ (Lerner,Dawson, & Horvart, :1980m หน้า 6; Lerner,J.W : 1993, หน้า 67 ; Podemskim, R.S. & Others : 1995, หน้า 50-53)

การเปรียบเทียบลักษณะการสอนแบบเก่ากับการสอนที่จัดให้มีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล

การสอนแบบเก่า

การาสอนโดยใช้ IEP

1. จุดประสงค์การสอนที่กำหนดให้ใช้สำหรับนักเรียนทุกคนเหมือนกัน
2. จุดเริ่มต้นในการใช้หลักสูตรเท่ากันทุกคน
3. อัตราความเร็วและระยะที่ใช้สอนกำหนดไว้ตายตัว
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจำกัด
5. สอนเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งชั้น


6. ประเมินผู้เรียนโดยใช้แบบอิงกลุ่ม

1. จุดประสงค์ในการสอนมีหลากหลายและใช้ในการตรวจสอบทักษะโดยตรง
2. จุดเริ่มต้นในการใช้หลักสูตรไม่เท่ากัน
3. อัตราความเร็ว และระยะเวลาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับนักเรียนแต่ละคน
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างมาก
5. มีการจัดกลุ่มเพื่อการสอนต่าง ๆ แตกต่างกันหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อหา งานหรือลักษณะทักษะ
6. ประเมินผู้เรียนโดยใช้แบบอิงเกณฑ์

ที่มา : แปลและเรียบเรียงจาก Mercer, D, & Mercer, A.R. (1989), Teaching children with Learning Problems, 3 ed.,p.5, (Columbus : Merrill Publishing Company).

 

      ขั้นตอนของกระบวนการตรวจสอบและการสอนตาม IEP
      แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) กระบวนการตรวจสอบและกระบวนการสอนตาม IEP แบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนใหญ
      1. ขั้นส่งต่อ
            แบ่งเป็น 2 ขั้นย่อยดังนี้
            ขั้นที่ 1 กิจกรรมก่อนการส่งต่อ (Prereferral Activities)
กิจกรรมก่อนการส่งต่อคือ มาตรการการให้ความช่วยเหลือในระยะเริ่มต้นของปัญหาที่ครูปกติใช้ เมื่อพบว่ามีนักเรียนที่มีปัญหาหรือความบกพร่องอยู่ในชั้นเรียนของตน โดยครูใช้วิธีการง่ายๆ ที่ใช้อยู่ในชั้นเรียนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของนักเรียน และด้วยความช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้ ได้แก่ ครูการศึกษาพิเศษ ศึกษานิเทศก์ หรือผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ ครูจะทำการวิเคราะห์ปัญหาวิชาการและพฤติกรรมของนักเรียน และจะร่วมปรึกษาหารือในการช่วยเหลือนักเรียนด้วยวิธีต่าง ๆ ในขณะที่นักเรียนยังเรียนในชั้นเรียนปกติ เพื่อแก้ไขหรือขจัดปัญหาหรือความบกพร่องเหล่านี้ ในขั้นตอนนี้อาจใช้รูปแบบการให้ความช่วยเหลือในระยะเริ่มต้นของปัญหา 2 รูป คือการให้คำแนะนำและการใช้คณะครูช่วย
ขั้นที่ 2 การส่งต่อและการวางแผนในระยะเริ่มต้น (Referral and Initial Planning) การส่งต่อนักเรียนในระยะเริ่มต้นเพื่อไปรับการประเมิน อาจผ่านมาได้จากหลายทาง ได้แก่ จากพ่อแม่ ครู นักอาชีพอื่น ๆ ผู้ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับนักเรียน หรือนักเรียนอาจส่งต่อคนเองก็ได้ บุคลากรของโรงเรียนจะต้องทำหน้าที่ติดตามการส่งต่อนั้น ต้องมีการแจ้งให้พ่อแม่ทราบว่าทางโรงเรียนค้นพบอะไรเกี่ยวกับนักเรียน และทางโรงเรียนจะต้องวางแผนให้มีการประเมินนักเรียน และนอกจากนี้ จะต้องมีการตัดสินใจว่าจะต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีก และใครจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้
      2. ขั้นตรวจสอบ
     ขั้นตรวจสอบนี้เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ของกระบวนการสอนตาม IEP ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดทำและการเรียน IEP โดยมี 2 ขั้นตอนย่อย ดังนี้
          ขั้นที่ 3 การประเมินโดยคณะสหวิทยาการ (Multidisciplinary Assessment)
ในขั้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักจิตวิทยาโรงเรียน พยาบาลโรงเรียน นักแก้ไขการพูดและภาษา ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการอ่าน รวมรวมข้อมูลที่จำเป็นจากการตรวจสอบทางวิชาการและพฤติกรรมที่สงสัยว่าจะเป็นความบกพร่องของเด็กในขั้นนี้เป็นการร่วมมือและการทำงานเป็นคณะ
          ขั้นที่ 4 การประชุมเด็กเฉพาะกรณี หรือการประชุมเพื่อเขียน IEP ( Case conference or IEP Meeting for the IEP)
     หลังจากที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลโดยคณะสหวิทยากรแล้ว จะมีการติดต่อพ่อแม่เพื่อประชุมร่วมกัน และที่ประชุมจะร่วมกันเขียน IEP โดยที่ประชุมจะต้องประกอบไปด้วยบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
          1. ผู้แทนจากโรงเรียนปกติ
          2. ครูของนักเรียน
          3. ตัวนักเรียนเอง
          4. พ่อ แม ผู้ปกครอง่ต้องมีส่วนร่วม

     เนื้อหาสาระของ IEP ควรประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระ ดังนี้
          1. ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับนักเรียน
          2. ผู้ร่วมประชุมเขียน IEP
          3. ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานในปัจจุบันในด้านต่าง ๆ
          4. เป้าหมายระยะยาวหนึ่งปี
          5. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหรือจุดประสงค์ระยะสั้น
          6. กระบวนการประเมิน
          7. บริการเกี่ยวข้องอื่น ๆ
          8. ความเห็นชอบจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

     3. ขั้นการเรียนการสอน
     จะเกิดขึ้นหลังจากได้เขียน IEP เสร็จสมบูรณ์แล้ว ในขั้นนี้จะประกอบด้วยการสอนและการติดตามความก้าวหน้าของเด็ก ดังนี้
          ขั้นที่ 5 การปฏิบัติตามแผนการสอน (Implementation of the Teaching Plan)
ในขั้นนี้ นักเรียนจะได้รับการจัดให้เข้าเรียนตามที่ตกลงกันไว้ใน IEP และจะได้รับการสอนตามแผนการสอนเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นแผนการสอนที่จัดขึ้นเฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนคนนั้น แผนการสอนเฉพาะบุคคลนี้จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน IEP
          ขั้นที่ 6 การติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน (Monitoring the Students Progress)
ในหลักการได้มีการกำหนดให้มีการบททวน IEP อย่างน้อยปีละครั้ง (และส่งต่อให้หน่วยงาน คือศูนย์การศึกษาเขต หรือศูนย์การศึกษาจังหวัดเพื่อขอรับคูปองมูค่า 2000 บาท : สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ และบริการทางการศึกษา ตามรายการบัญชี แนบท้ายกฎกระทรวงฯ ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2) ในปัจจุบันได้มีการเสนอแนะให้ทบทวนอย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง และมีการประเมินแผนในลักษณะติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนใน IEP เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะต้องระบุว่าจะดำเนินการประเมินโดยวิธีใด ใครจะเป็นผู้ประเมินและจะใช้เครื่องมือและเกณฑ์อะไรในการประเมิน ควรมีการเสนอรายงานผลการประเมินให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น อาจเสนอในรูปของกราฟแท่ง เป็นต้น

ประโยชน์ของแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล
     IEP เกิดขึ้นจากพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาที่บุคคลที่มีความบกพร่องพึงได้รับ โดยมุ่งที่จะให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น ฉะนั้นประโยชน์ที่ได้จาก IEP สำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องนั้น จะเป็นประโยชน์โดยตรง นอกจากนี้ IEP ยังบอกให้รู้ว่า ทักษะที่นักเรียนยังไม่มีหรือยังไม่เรียนรู้คืออะไร ความสนใจและเจตคติของนักเรียนเป็นอย่างไร เป็นต้น สำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์การสอนนั้น ครูจะต้องมีความเข้าใจอย่างกว้างขวางในเรื่อง วิธีสอน สื่อ (เทคโนโลยี) เนื้อหา หลักสูตร และระดับพัฒนาการของนักเรียน (Hancock,R:1990, หน้า 378-379; Lermer,J.W : 1993 หน้า 67-77 ศูนย์พัฒนาการศึกษาแห่งชาติของประเทศไทย : 2529 หน้า 298-302 ; Mercer, C.D. & Mercer, A.R : 1989 , หน้า 5-8) นอกจากนี้นักการศึกษาพิเศษของประเทศต่าง ๆ ก็ยอมรับว่า IEP มีคุณประโยชน์ต่อการจัดการเรียน การสอนให้นักเรียนที่มีความบกพร่อง และได้รับหลักการ IEP เข้าไปในการจัดการเรียนการสอนของประเทศตน ในปัจจุบันประเทศไทยนำ IEP บรรจุไว้ในกฎกระทรวงมาตรา 10 วรรค 3 ในพระราชบัญญัติการศึกษาปี 2542 โดยกำหนดการให้บริการและสิทธิในการรับบริการสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการและความช่วยเหลืออื่น ๆ ตามความต้องการจำเป็น

     ประโยชน์ของ IEP พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
     1. ครู ผู้บริหาร และผู้ทีเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้บุคคลที่มีความบกพร่อง ตระหนักและมีความรับผิดชอบ (Accountable) ต่อผลของการจัดการศึกษาที่มีต่อบุคคลเหล่านี้
     2. ครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักและทราบว่า บุคคลที่มีความบกพร่องต้องการการศึกษาเฉพาะบุคคลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการพิเศษของตนเอง ครูจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมพร้อมที่จะสอน
     3. พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการวางแผน IEP สำหรับลูกของเรา และได้รับทราบโดยตลอดตั้งแต่ต้นว่าทางโรงเรียนจะจัดการศึกษาและบริการที่เกี่ยวข้องให้กับลูกของตนอย่างไรและแค่ไหน และทางพ่อแม่จะรับรู้ถึงสิทธิที่จะขอรับทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกของตนทุกระยะ นอกจากนี้ทางวพ่อแม่ยังสามารถให้การนับสนุนกับทางโรงเรียนในการช่วยให้ทางโรงเรียนบรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้
     4. IEP รับประกันการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพให้กับนักเรียน ไม่ใช่จัดให้นักเรียนเข้าเรียน โดยทางครูและโรงเรียนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามความก้าวหน้า และนอกจากนี้จะต้องนำเสนอผลการประเมินต่อพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กอีกด้วย
     5. IEP ช่วยให้ทางโรงเรียนจัดหาหรือจัดบริการเสริมที่นักเรียนจำเป็นต้องได้รับ เพื่อช่วยให้การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องหรือมีความต้องการพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพมีผลต่อการพัฒนาการทุกด้านของนักเรียน (ศูนย์พัฒนาศึกษาแห่งชาติของประเทศไทย : 2529 หน้า 298-302 ; Lerner, J.W. Dawson,D., & Horvath, L : 1980, หน้า 5-10

 

     สรุป
     ในการจัดแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลนั้นโดยทั่วไปจะจัดให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปี ขึ้นไป ซึ่งโดยทั่วไปเด็กเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม นักการศึกษายังมีความเห็นว่าสำหรับการจัดแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลให้กับเด็กอายุ 0 -2 ปี นั้น ควรจะจัดทำเป็นแผนบริการเฉพาะครอบครัว (Individualized Family Services Plan: IFSP) โดยให้ความสำคัญต่อสิทธิของครอบครัวที่จะต้องได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือตามกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process) กล่าวคือ

1). มีสิทธิขอข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กทั้งหมดที่หน่วยงานจัดหา และเก็บรวบรวม ได้ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการประเมินเพื่อบ่งชี้ความบกพร่องหรือความต้องการพิเศษของเด็ก การประเมินผลและการติดตามความก้าวหน้าของพัฒนาการของเด็ก และการจัดให้เด็กเข้ารับบริการเพิ่มเติมและบริการทางการศึกษา
     2). ได้รับการแจ้งล่วงหน้า หากจะมีการริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เกี่ยวกับการประเมินเพื่อบ่งชี้ความบกพร่องหรือความต้องการพิเศษของเด็กขึ้นใหม่ การประเมินความก้าวหน้า การจัดให้เด็กเข้ารับบริการ หรือเข้าเรียน ในการแจ้งล่วงหน้านี้ ต้องมีคำอธิบายถึงทางเลือกอื่น ๆ ที่ทางโรงเรียนไม่ได้เลือกใช้กับเด็ก และจะต้องอธิบายถึงการใช้ข้อมูลจากการประเมิน สิ่งที่สำคัญยิ่งคือคำอธิบายต่าง ๆ เหล่านี้ต้องจัดทำให้พ่อแม่เกิดความเข้าใจ เช่น อาจจำเป็นต้องมีการอธิบายเป็นภาษาถิ่นในการสื่อความเข้าใจกับพ่อแม่
     3). ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ก่อนที่จะประเมินเด็ก เพื่อจัดเข้ารับบริการ หรือเข้ารับการศึกษาพิเศษ
     4).จัดให้มีกระบวนการการรับฟังความเห็น (Hearing Process) หมายถึง การประชุมาเพื่อทำความตกลงในข้อที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องของการประเมินเพื่อการบ่งชี้ การประเมินติดตามความก้าวหน้า การจัดให้เข้ารับบริการ หรือเข้าเรียนทางการศึกษา
     5). หากพ่อแม่ไม่พอใจกับผลการประเมินโดยหน่วยงานของรัฐ หรือโรงเรียน และต้องการให้มีการประเมินใหม่ ก็อาจร้องขอให้มีการประเมินจากองค์การหรือหน่วยงานอิสระได้ รัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย นอกจากสิทธิของพ่อแม่ตามกระบวนการตามกฎหมายแล้ว IFSP ยังให้ความสำคัญต่อการรักษาข้อมูลของเด็กและครอบครัวเป็นความลับ (Confidentiality) และหากจะมีการให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานใด จะต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เสียก่อน รวมทั้งต้องมีการระบุใน IFSP เกี่ยวกับการจัดให้เด็กเข้ารับบริการในหน่วยงานใด และสิ่งแวดล้อมของสถานที่นั้น ๆ จะต้องมีลักษณะมีขีดจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อเด็กน้อยที่สุด (The least restrictive environment: LRE)
สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี นั้น อาจมีการจัดทำ IEP ให้ (ในบางกรณีอาจใช้ IFSP ได้) โดยคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กที่จะต้องมีกระบวนการพัฒนา รวมทั้งมีการติดตามผลความก้าวหน้าซึ่งจำเป็นต้องระบุไว้ใน IEP (Lerner, J.W. 1993 : หน้า 250,251,253,264)

 

แหล่งอ้างอิง     http://  www.nrru.ac.th

 

หมายเลขบันทึก: 207815เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2008 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท