ถามอาจารย์ประพนธ์


อันเนื่องมาจากการ ลปรร ในข้อเขียนของอาจารย์ประพนธ์ในเรื่อง ความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับ KM จึงทำให้มีคำถามครับ
    ตามที่อาจารย์ได้ไปเป็นวิทยากรหรือเป็นที่ปรึกษาในการทำ KM ในหลายๆองค์กร อาจารย์คงเห็นแล้วว่าองค์กรเหล่านั้น มีความกระตือรือร้นของผู้บริหารที่อยากให้ KM เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แล้วอาจารย์ก็ได้ไปแนะนำเครื่องมือต่างๆ ในการทำ KM ให้กับบุคลากรขององค์กรเหล่านั้น และท้ายสุดเมื่อมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ภายในองค์กร ก็มีการจัดเก็บความรู้เหล่านั้นในคลังความรู้ขององค์กร
     จะเห็นว่าในองค์กรเหล่านี้มีทั้ง
     หัวปลา ผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญต่อการจัดการความรู้
     ตัวปลา  จากการเริ่มต้นแนะนำของอาจารย์ องค์การเหล่านั้นก็น่าจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้เกิดขึ้น
     หางปลา เมื่อผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้กันแล้ว ตกผลึกของความรู้ก็น่าจะมีการจัดเก็บในคลังความรู้ขององค์กร
     องค์กรเหล่านี้ มีครบทั้ง หัวปลา ตัวปลา และหางปลา แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะประสบความสำเร็จในการจัดการความรู้ ผมทายว่าไม่น่าเกินร้อยละ 10 ขององค์กรเหล่านั้นด้วยซ้ำ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการความรู้ภายในองค์กร คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นในองค์กรเหล่านี้ อะไรคือความแตกต่างระหว่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการจัดการความรู้กับองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จ ความแตกต่างตรงนี้น่าจะหมายถึงชีวิตของปลา นอกเหนือจากการสร้างตัวปลาให้เกิดขึ้นแล้ว เราก็น่าจะส่งเสริมวิธีการให้ปลามีชีวิตควบคู่กันไปด้วย
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20776เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2006 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 03:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมขอแจมนะครับ    คำตอบอยู่ที่ มอ. ครับ ลองถาม อ. พิชิต รองอธิการบดีผู้บูรณาการ KM เข้าในกิจกรรมคุณภาพ หรือการประเมินหลากหลายแบบ   แวจะเห็นความงดงานในเบื้องต้น   และ  อ. หมอ ปารมี ก็น่าจะตอบได้ส่วนหนึ่ง    ผมว่าคำตอบมีได้หลายมุมนะครับ    คำตอบที่ดีควรมาจากผู้ปฏิบัติเอง ในบทบาท คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณลิขิต และคุณกิจ   คำตอบของผมก็เป็นเพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้น

วิจารณ์ พานิช

แต่อาจารย์ก็ยังไม่ได้ตอบนะครับ ว่าในมุมมองของอาจารย์ ชีวิตปลาที่ชื่อว่า KM มันอยู่ตรงไหน

ในเรื่องนี้มีได้หลายมุมมองหลายบทบาท ไม่ว่าจะมองจากมุมมองหรือบทบาทใด คำตอบเรื่องนี้ล้วนเป็นที่น่าสนใจ เพราะมันคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของการชุบชีวิตปลาที่ชื่อว่า KM การทำ KM ด้วย KM ในหลายองค์กร เราก็ได้ปลาลอยตามน้ำไปหลายรายแล้วครับ แน่นอนมันมีอะไรมากกว่าคำว่า ทำ KM แน่นอน การทำ KM มันไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ทำตามใจใครบางคนที่อยากให้ทำ แล้วจริงๆ มันจะต้องทำอย่างไร ถึงได้ปลาที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ ที่สามารถโลดแล่นไปได้ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกราก ทำอย่างไรหนอ.......

คำตอบของผมอยู่ในหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ" ครับ    ยืมอ่านได้จาก อ. หมอ ปารมีครับ

วิจารณ์ พานิช

เห็นด้วยครับที่ว่า KM ส่วนใหญ่เป็นปลาที่ "ลอยตามน้ำ" ทำไปตามใจ "ใครบางคน" อย่างที่คุณ mitochondria พูด

KM ที่ "มีชีวิต" คือปลาที่ว่าย "ทวนน้ำ" ผมหมายความว่าต้องกล้าที่จะฝืน "วัฒนธรรมเดิมๆ ขององค์กร" ถ้าหน่วยงานใดมีผู้นำที่เข้าใจ ก็สบายไปเปลาะหนึ่ง เพราะว่าภาวะผู้นำนั้นมีผลโดยตรงต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

แต่นั่นก็อาจจะเป็นการมองแบบ Top-Down มากไปหน่อย จริงๆ แล้วการเริ่มแบบ Bottom-Up ก็ใช้ได้เหมือนกันครับ เป็นการเริ่มในลักษณะของการสร้างเครือข่าย ไม่ต้องรอให้ข้างบนเป็นฝ่ายเริ่ม แต่การเริ่มแบบนี้ต้องระวังให้ดีนะครับต้องให้แน่ใจว่าในที่สุดแล้วไป "ทิศทางเดียวกัน" คือจะต้องมี "Shared Vision" นั่นเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงมักจะต้องเริ่มจาก "หัวปลา" เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่ "หลงทิศ ผิดทาง" แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ ถ้าผู้นำไม่เข้าใจ เอาแต่สั่ง เอาแต่ชี้ว่าให้เดินไปทางนั้นทางนี้ จนสับสนไปหมด "หัวปลา" ที่ว่านี้อาจเป็นแบบรูปนี้ก็ได้ [คลิกดูรูป]

ป.ล. ช่วยลบสองครั้งแรกด้วยครับ เพราะผิดพลาดทางเทคนิค

รูปของอาจารย์ สยดสยองจังเลยครับ
 ผมมั่นใจว่า KM เป็นวิถีทางแบบพลวัต การที่มีโครงสร้างเพียง หัวปลา ตัวปลา และหางปลา ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำ KM ได้ ตราบใดที่ยังขาดชีวิตปลา ผมอาจจะยังไม่มีความรู้ทางด้าน KM นัก รอให้กลับเมืองไทยก่อนครับ ผมจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับ KM จากหนังสือของอาจารย์วิจารณ์ ตามมุมมองที่อาจารย์วิจารณ์ได้กล่าวไว้ว่าคำตอบอยู่ในหนังสือเล่มนั้น แล้วผมจะพิสูจน์ให้ได้ว่า ชีวิตปลาที่ชื่อว่า KM มันอยู่ตรงไหนกันแน่ 
   ชีวิตปลา  จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อ   หัวปลา ตัวปลา และหางปลา  มารวมกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว   และอีกอย่างปลาจะมี  ชีวิตชีวา  มันต้องมี  น้ำ   ซึ่งน่าจะเป็นบรรยากาศ  ที่เอื้อต่อการทำ KM   บรรยากาศที่ว่าเป็นอย่างไรน่ะหรือ   คงต้องกลับไปถามอาจารย์ประพนธ์  อีกที

            ชอบบันทึกนี้มากเลยครับ เพราะเหมือนช่วยชี้อะไรบางอย่างที่ตัวเองกำลังค้นหาอยู่ ผมขออนุญาตคัดลอกบันทึกนี้ทั้งหมดไปเผยแพร่ต่อในเว็บบอร์ดโรงพยาบาลบ้านตาก ครับ

            ผมคิดแบบนี้ แต่ไม่รู้จะสื่ออย่างไร พอได้อ่านปุ๊บก็ชอบปั๊บเลย หลายหน่วยงานที่ทำKMก็จะมีปลาเหมือนกัน แต่ปลาเป็นหรือปลาตาย ก็ไม่รู้ ปลาเป็นเท่านั้นที่จะใช้ตามองไปข้างหน้าได้ จะใช้ลำตัวที่แข็งแรงเคลื่อนไหวได้ จะใช้หางอันทรงพลังขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่ต้องการได้ เหมือนคนทำงาน ที่ไม่ได้ต้องการแค่มีชีวิตไปทำงานเท่านั้น แต่ต้องการความมีชีวาในการทำงานด้วย  ปลาเป็นบางตัวแม้มีชีวิตแต่ก็อาจไม่สามารถว่ายไปสู่สิ่งที่ฝันไว้ได้ หากถูกขังอยู่ในตู้ปลาเล็กๆ คงทำได้แค่ว่ายไปว่ายมาเพื่อไว้โชว์ตัวให้คนนอกตู้แวะเวียนมาดูเท่านั้น เพื่อยืนยันว่าฉันยังคงเป็นปลาที่มีชีวิตอยู่นะ ขนาดปลาเป็นยังมีโอกาสเป็นแบบนี้ แล้วปลาตายที่แม้จะยังมีครบทั้ง 3 ส่วนอยู่ แต่ก็ไร้ซึ่งชีวิตและชีวา คงไม่สามารถว่ายไปได้อย่างที่ใจต้องการได้อีก แม้เจ้าของปลาจะไม่ยอมให้เน่าเปือ่ยเพราะใส่สารบางอย่างไว้ มันก็คงเป็นได้แค่ซากปลาตัวหนึ่งเท่านั้น

              ด้วยเหตุที่ ผมไม่อยากได้ปลาตาย หรือปลาเป็นที่ถูกกักขัง ผมจึงได้พยายามที่จะทำให้มันเป็นปลาที่มีชีวิตชีวาขึ้นมา โดยการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา โดยเรียกมันว่าการจัดการความรู้แบบบูรณาการ ใช้ชื่อว่า LKASA EGG MODEL เป็นการจัดการความรู้ 5 ขั้นตอน ที่แต่ละขั้นตอนไม่ได้เรียงลำดับแบบขั้นบันได แต่ๆละขั้นตอนร้อยเรียงส่งผลซึ่งกันและกัน เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ(Sysytem) เปรียบได้กับไข่ 1 ฟอง ที่มีทั้งเปลือกไข่ ไข่ขาว ไข่แดง หากแยกส่วนของไข่ออกไป มันจะไม่คงสภาพเป็นไข่ทั้งฟองไว้ได้ โดยในแต่ละขั้นหรือแต่ละเรื่องนั้น จะประกอบด้วย

1.  การจัดการให้เกิดการเรียนรู้(Learning Management) เพื่อมุ่งหวังว่าจะสามารถสร้างภาพฝันร่วมกัน(System)ได้อย่างง่ายๆ(Simplify)ไปกับงานประจำเดิมที่ทำอยู่ พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อม(Surrounding)ต่างๆขององค์การให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนรู้เป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา โดยต้องมีการเตรียมคน เตรียมทีม เตรียมกิจกรรม เตรียมเครื่องมือเทคโนโลยีและเตรียมบรรยากาศองค์การที่ดีที่จะทำให้คนเกิดการเรียนรู้ได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ขั้นนี้คุณเอื้อ(CKO)จะมีบทบาทหลัก

2.  การจัดการให้เกิดองค์ความรู้(Knowledge Organizing)เพื่อให้คนในองค์การรู้ว่าองค์การเราต้องมีความรู้อะไรจึงจะทำให้งานได้ผลดี เมื่อรู้แล้วจะไปหามาจากไหนได้บ้าง จะสร้าง จะคว้าหรือจะควักมาไว้เพื่อนำเอามาจัดรวมให้เป็นวิธีการทำงานหรือนวัตกรรมของเรา ขั้นนี้คุณประกอบ(Knowledge engineer)มีบทบาทหลัก

3.  การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้(Knowledge Acting) เพื่อทำให้องค์ความรู้ที่มีอยู่นั้นได้มีโอกาสนำมาใช้หรือทดลองปฏิบัติจริงในองค์การเรา โดยคนของเราเพื่อเขาจะได้เรียนรู้ว่าที่เขาคิด เขาทำจะให้ความสำเร็จหรือความล้มเหลว เราจะได้เรียนรู้จากความสำเร็จหรือความล้มเหลวนั้น ขั้นนี้คุณกิจ(Practitioner)มีบทบาทหลัก

4.  การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Knowledge Sharing)เพื่อให้คนทำงานที่ทำงานได้ผลดีได้นำเอาวิธีที่ปฏิบัติจนได้ผลดีนั้นมาเล่าแลกเปลี่ยนให้คนอื่นๆได้รับทราบและนำเอาไปประยุกต์ใช้ได้ โดยการสร้างปลาขึ้นจนครบทั้งหัว ตัวและหางปลา ทำให้เราได้วิธีการปฏิบัติที่ดีขึ้น ขั้นนี้คุณอำนวย(Facilitator)มีบทบาทหลัก

5.  การจัดการให้เกิดคลังความรู้(Knowledge Asset)เพื่อให้มีการจัดเก็บ เผยแพร่ ทบทวน(ปรับเปลี่ยน) เข้าถึงความรู้ที่ดีที่ผ่านการนำไปปฏิบัติอย่างเห็นผลมาแล้ว ไว้ให้คนอื่นๆได้เอาไปดู ไปใช้ เอาไปต่อยอดได้ง่ายจนเกิดพลังความรู้มากขึ้นหรือยกระดับความรู้มากขึ้น(Spiral knowledge) ขั้นนี้คุณเก็บ(Knowledge Librarian)มีบทบาทหลัก

           ซึ่งเมื่อทำทั้ง 5 เรื่องนี้ อย่างบูรณาการกัน จนเสริมพลังให้กันและกันได้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ปลาที่ถูกสร้างขึ้น สามารถว่ายไปได้อย่างมีความสุข มีทั้งชีวิตและชีวาได้ โดยที่เจ้าของปลาและคนเลี้ยงปลาเองก็มีความสุข สมหวังได้ด้วย

           ในรายละเอียดผมได้เขียนไว้ในwww.practicallykm.gotoknow.org ครับ

            ไม่รู้ว่าความเห็นนี้จะได้ประโยชน์หรือจะเปลืองเนื้อที่ไปเปล่าๆครับ

     ขอบคุณคุณหมอพิเชษมากครับ ที่ทำให้ผมมีความเข้าใจเรื่อง KM มากขึ้น อีกทั้งข้อคิดเห็นและบันทึกต่างๆของคุณหมอ เป็นประโยชน์มากครับ
     หากส่วนหนึ่งส่วนใดของบันทึกนี้เป็นประโยชน์ ขอเชิญคุณหมอเผยแพร่ได้เลยครับ เพราะนี่ก็คือประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้เหมือนกัน

สวัสดีค่ะคุณไมโต

ครูอ้อยอ่านและเข้าใจ KM คิดว่าจะนำไปใช้ในองค์กรอย่างไร  ไม่ต้องรอหัวปลา  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท