การจัดการความรู้เมื่อ พ.ศ.2453


การจัดการความรู้เมื่อ พ.ศ.2453


          เช้าวันนี้ (3 ส.ค.48)  ผมได้รับเอกสาร 1 แผ่น   มีข้อความดังนี้


          (ลายมือ)
เรียน อ.ปิยะวัติ/คุณหมอวิจารณ์
ผมไปเจอหนังสือ “จตุศันสนียาจารย์”   น่าสนใจดีครับ   เลยเอาไปขยายความเป็นบทสุดท้ายของบทความที่ลงประจำในประชาคมวิจัย   และที่กำลังรวมเล่มขณะนี้แล้ว   เป็นเรื่องการผสมผสานคนต่างรุ่นด้วยหลัก KM ในการทำงาน 

         
                                                                                                                                สุธีระ

 

 


          พระราชหัตถเลขา
          พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีถึงพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน  สนิทวงศ์)  รองเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ  เมื่อ 1 ธันวาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2453) กรณีจัดตั้งข้าหลวงเกษตรสำหรับมณฑลกรุงเทพฯ


          ได้รับหนังสือ   ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ศกนี้   เรื่องจะจัดตั้งข้าหลวงเกษตรสำหรับมณฑลกรุงเทพฯ ว่าการที่จะหาข้าราชการมารับหน้าที่ให้เหมาะแก่เวลานี้เป็นการยาก   ความลำบากของเราในเรื่องที่จะใช้คนใหม่หรือคนเก่า   มีไปคนละทางยังไม่ให้ผลดีดังประสงค์   ไม่เฉพาะแต่การเพาะปลูกทั่วไปทุกอย่าง   ชั้นใหม่ไม่รู้การเก่า   แต่มีความรู้เคยเห็นการงานที่ดีสมบูรณ์   แต่เพราะความสามารถที่จะวางแบบอย่างสอนกันไม่ได้   เกี่ยวแก่สันดานคน   จึงมักใช้ความรู้ดัดแปลงการเก่าไม่ใคร่ไหว   เลยหมกมุ่นขุ่นใจไป   ไม่ได้การสำเร็จ
          ข้างฝ่ายคนชั้นเก่าตั้งใจทำให้ดี   แต่พื้นความรู้ไม่มี   จะดูแลดูอะไรก็เป็นทดลอง   แลดูจะทำอะไรก็เป็นการทดลองไปหมด   การทดลองคงมีพลาดมากเป็นครู   เมื่ออาศัยการที่เขาทดลองมาแล้วเป็นทางความรู้ไม่ได้   ต้องงมไปใหม่  งมไปพลาดหนักเข้าก็เลยท้อใจ   ลงงุ่นง่านต่อไปอีก
          ความต้องการของเราต้องการให้รู้ทั้งนอกทั้งในทั้งใหม่ทั้งเก่าประกอบกันได้   ซึ่งเป็นข้อที่ขัดสนอย่างเอกอยู่ในเวลานี้   ถึงจะบ่นไปก็หาไม่ได้
          แต่ทางที่จะล่วงข้ามความลำบากมีอยู่อย่างเดียว   แต่ด้วยความสอดส่อง  แลหมั่นคิดหมั่นตรวจของเสนาบดีเจ้ากระทรวง   อย่าปล่อยให้ความรื่นรมย์ว่าดีพอใจแล้วเกิดขึ้นในใจ   พยายามที่จะจัดให้ดีที่สุดยิ่งขึ้นอยู่เสมอ   นี่เป็นทุนสำคัญของเสนาบดี   แต่ยังต้องมีวิธีที่จะนำคนใหม่แลคนเก่าเจือกันเข้าให้ได้    ให้คนเก่าได้เรียนอย่างใหม่จากพวกที่อ่อนกว่าตัวโดยไม่ต้องนึกอายใจว่าเป็นลูกศิษย์เด็ก   ข้างฝ่ายนักเรียนที่มีความรู้กว้างขวางก็เหมือนกัน   ต้องชักโยงให้เรียนความรู้จากผู้ใหญ่ซึ่งมีความชำนาญพื้นเมือง   โดยอย่าให้รู้สึกว่าต้องเป็นลูกศิษย์ตาครูป่าครูเถื่อน   ความรู้เบื้องต้นซึ่งไม่รู้จักอะไร   แม้แต่  อิลิเมนตารีของการเพาะปลูก  ข้อขัดข้องซึ่งคนชั้นนี้เข้ากันไม่ได้   ด้วยทิฐิเช่นที่กล่าวมานี้   ทางที่จะทำให้เป็นผลดีขึ้นได้เป็นสำคัญอยู่ที่ตัวเสนาบดี   ต้องเลือกช่องใช้คนทั้ง ๒ พวก   โดยแยบคายอุบายให้ดี   ให้ต่างคนต่างเห็นความรู้ของตัวบกพร่อง   แลให้แลเห็นประโยชน์ที่ได้รับความรู้อันยังไม่เคยรู้   ความที่เป็นทิฐิมานะก็ค่อยเสื่อมคลายลงไปทั้ง ๒ ฝ่าย   แต่วางมือไม่ได้   ถ้าวางให้ข้างไหนก็คงลงตามความรู้แลความคิดเดิม   เสนาบดีที่ตั้งใจอยู่เป็นกลางแลเอาความสำเร็จของกระทรวงเป็นที่ตั้ง   ต้องแลดูอยู่เป็นนิจ   แลพยายามที่จะประสานกันให้เข้ากันให้ได้    อย่าวางธุระเลย   ถ้าเช่นนี้ในชั้นแรกจะได้คนที่ค่อยแยบคายขึ้นกว่า ๒ จำพวก   เป็นจำพวกที่ ๓ คือคนชั้นเก่า   แลเมื่อช้าไปหน่อยจะได้คนที่ดีบริบูรณ์พร้อมดังต้องการเป็นชั้นที่ ๔ ก็คือคนใหม่จำพวกที่ ๒ นั้นเอง   เมื่อถึงเวลานั้นการจึงจะดำเนินได้สะดวกดังปรารถนา
          ความสำเร็จในราชการที่เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับสำเร็จได้ด้วยวิธีเช่นนี้   จึงนำมาชี้แจงให้เจ้าฟัง   ขอให้ถือว่าเป็นปอลิซีที่จะจัดการในกระทรวงให้เจริญดียิ่งขึ้นสืบไป

 

 


          
          เห็นพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราชไหมครับ   ถ้าราชการของเราทำตามในพระราชหัตถเลขาเมื่อ 105 ปีมาแล้วอย่างต่อเนื่อง   ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไรทุกคนคงพอจินตนาการออก


          ขอขอบคุณ รศ. ดร. สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์  ผอ. ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.   ที่กรุณาส่งเรื่องดี ๆ มาดลใจให้ผมเอาเผยแพร่ในบล็อก


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   3 ส.ค.48
 

หมายเลขบันทึก: 2070เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2005 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท