ทฤษฎีการศึกษาแบบนิรันตรนิยม


ทฤษฎีการศึกษาแบบนิรันตรนิยม

ลัทธินิรันตรนิยม

        ทฤษฎีการศึกษาแบบนิรันตรนิยม  (Perennialism)  หรือนิรันตรวาท หรือสัจจวิทยนิยม  มีพื้นฐานความเชื่อมาจากปรัชญากลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล(Rational Realism) หรือพวกโทมัสนิยมใหม่ (Neo - Thomism) ซึ่งมีต้นคิดมาจากอริสโตเติล(Aristotle) และ St. Thomas  Aquinas  ซึ่งเป็นปรัชญาสาขาที่สนใจเรื่องเหตุผลจนได้ชื่อว่า A World of Reason  กลุ่มนักปรัชญาการศึกษาที่สนับสนุนทฤษฎีการศึกษาแบบนิรันตรนิยม ได้แก่ Sir Richard Living Stone  และ Robert Maynard Hutchins เป็นต้น

1. ความหมาย
        คำว่า Perennialism หรือนิรันตรนิยม หมายความว่า เชื่อในแบบอย่างที่ดีงามอันเป็นนิรันดร์ คำว่า Perennial  แปลตามศัพท์ว่า “คงอยู่ชั่วนิรันดร์”  ปรัชญานี้จึงเชื่อว่า การศึกษาควรจะได้สอนสิ่งที่เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง  มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด  สิ่งที่มีคุณค่าไม่เปลี่ยนแปลงตามแนวคิดของปรัชญานี้คือสิ่งที่มีคุณค่าในสมัยกลางของยุโรป  อันได้แก่คุณค่าของเหตุผลและคุณค่าของศาสนา  นักปรัชญากลุ่มนี้จึงเห็นว่า  ควรจะได้มีการฟื้นฟูสิ่งที่ดีงามอันเนอมตะทั้งหลายของสมัยกลางมาใช้ในยุคนี้

2. ความเชื่อพื้นฐาน
        ความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎีการศึกษาแบบนิรันตรนิยมที่สำคัญมีดังนี้
        2.1  มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและจิตใจบริสุทธิ์  มนุษย์มีความดีอยู่ในตน  และเป็นผู้ที่สนใจต่อศาสนามาแต่กำเนิดแล้ว
        2.2 พื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์จะยังคงเหมือนกันอยู่ทุกกาละเทศะ  แม้สภาพแวดล้อม จะแตกต่างกันหรือเปลี่ยนแปรไป  ความจริงย่อมเหมือนกันทุกหนแห่ง
        2.3 สิ่งที่ถือว่าสำคัญที่สุดของมนุษย์คือ สติปัญญาและความมีอิสระ
        2.4 มนุษย์มีความจำเป็นในการสืบทอดวัฒนธรรม

3. แนวคิดสำคัญทางการศึกษา
       โดยทั่วไปปรัชญาลัทธินี้จะแบ่งแนวการศึกษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของเหตุผล  สติปัญญา  ไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง  แต่อีกลักษณะหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง เป็นแนวคิดของกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิคที่สัมพันธ์เรื่องศาสนาเข้ากับเหตุผล  เป้าหมายของการศึกษากลุ่มนี้เน้นที่จะให้เด็กสัมผัสกับศาสนา  มีเป้าหมายในชีวิตเพื่อพระเจ้า  เป็นสุภาพบุรุษในแนวทางของศาสนา
       3.1 จุดมุ่งหมายของการศึกษา
       ลัทธินิรันตรนิยมมีจุดมุ่งหมายที่การสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่แท้จริง  การที่จะสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ได้นั้น  ผู้เรียนจะต้องรู้จักและเข้าใจตนเอง  เห็นว่าตนเองมีพลังธรรมชาติอันได้แก่สติปัญญาอยู่ภายในแล้ว  การศึกษาก็คือการส่งเสริมให้พลังธรรมชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่  เป้าหมายของการศึกษาจึงควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณสมบัติในเชิงของสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์เองเป็นหลักสำคัญ  ได้แก่
            3.1.1 มุ่งให้ผู้เรียนได้รู้จักและทำความเข้าใจกับตนเองให้มากที่สุด  โดยเฉพาะในเรื่องของเหตุผลและสติปัญญา
            3.1.2 มุ่งพัฒนาสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์ให้ดีขึ้น สูงขึ้น สมบูรณ์ขึ้น  เพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์
            3.1.3 เมื่อมนุษย์มีเหตุผลกันทุกคน การศึกษาในทุกแห่งทุกสถานที่จึงเหมือนกันเป็นสากล
        กล่าวโดยสรุป การจัดการศึกษาตามทฤษฎีนี้มุ่งจัดเพื่อให้นักเรียนได้รักษาความดีที่มีอยู่ มุ่งพัฒนานักเรียนรายบุคคล มุ่งไปที่คุณงามความดีอันสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม  การจัดการศึกษาจะต้องจัดให้เป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญาอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์  และการเรียนจากโรงเรียนเป็นการทำให้เด็กรู้คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเท่าที่จะเป็นไปได้
       3.2 องค์ประกอบของการศึกษา
            3.2.1 หลักสูตรและเนื้อหาวิชา  หลักสูตรควรกำหนดขึ้นโดยผู้รู้  การจัดลำดับเนื้อหาวิชาเน้นวิธีจัดลำดับก่อนหลังของความถูกต้องทางวิชาการของความรู้ในสาขานั้นๆ  หลักสูตรจะมีเนื้อหาวิชาที่ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาความรู้ความสามารถทางสังคมและคุณงามความดีด้านจิตใจเป็นหลัก  หลักสูตรตามแนวคิดของลัทธินี้ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์(Liberal Arts Curriculum)  เาหมายของหลักสูตรแนวนี้คือ การฝึกฝนให้ผู้เรียนเป็นผู้รู้จักใช้สติปัญญา เหตุผล และความรู้อย่างเป็นอิสระ มีความคิดอ่านกว้างขวาง  ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจใฝ่ต่ำหรืออวิชชา หรือความไม่มีเหตุผลใดๆ 
       ศิลปศาสตร์โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศิลปทางภาษา อันได้แก่การเขียน การพูด การใช้เหตุผล  และกลุ่มศิลปคำนวณ (Mathematical Arts) ซึ่งประกอบด้วยเลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และดนตรี
ทางด้านเนื้อหาและตำราเรียน เน้นเนื้อหาที่เรียกว่า The Great Books หรือ Class Books อันเป็นงานอมตะที่มีค่าทุกยุคทุกสมัย
       จากนี้วิชาหลักอื่นๆ ที่ควรจะได้ศึกษาอีกด้วย ได้แก่ วรรณกรรมดีๆ ปรัชญาประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
               3.2.2 ครู  ครูเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลและรักษาความเป็นระเบียบวินัย  ควบคุมความประพฤติของนักเรียนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง  และเป็นผู้สอนนักเรียนให้ใช้ธรรมชาติของตนคือสติปัญญาไปในทางที่ถูก  แม้ครูตามลัทธิปรัชญานี้จะเป็นผู้รู้แต่ไม่ได้เป็นผู้รู้ชนิดที่จะป้อนความรู้ให้กับผู้เรียนฝ่ายเดียวตามแบบของลัทธิสารัตถนิยม  ครูเป็นผู้มีบทบาทในการจัดกิจกรรม เป็นผู้สร้างบรรยากาศ และเป็นผู้เสนอความรู้ ข้อคิด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาความคิดและสติปัญญาของตน   แต่จะอย่างไรก็ตาม  ในการจัดการเรียนการสอนครูยังคงมีบทบาทสำคัญและมีอำนาจอยู่ 
              3.2.3 นักเรียน  ลัทธินี้เชื่อว่านักเรียนเป็นผู้มีสติปัญญาและศักยภาพในตัวเองแล้ว  แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และเพียงพอ  เด็กจึงมีบทบาทในการเรียนมากเท่าๆ ครู และเป็นลักษณะของการถกเถียงแลกเปลี่ยน อภิปรายกับครู  แต่ก็อยู่ภายใต้การแนะนำของครู 
       3.3 กระบวนการของการศึกษา
              3.3.1 กระบวนการเรียนการสอน  ลัทธินี้ถือว่าการศึกษาไม่ใช่การเลียนแบบอย่างของชีวิต  แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต  การศึกษาจึงควรหาทางให้เด็กแต่ละคนปรับตัวให้เข้ากับความจริง  วิธีการในการจัดการเรียนการสอนจึงเน้นหนักที่การกระตุ้นและหนุนให้ศํกยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนได้พัฒนาเติบโต มีความสมบูรณ์เต็มที่  โดยใช้วิธีการถกเถียง อภิปราย การใช้เหตุผลและสัติปัญญาโต้แย้งกัน  ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการนำอภิปราย  ตั้งประเด็นสำหรับถกเถียง  และตั้งปัญหาให้ผู้เรียนตอบหรืออภิปราย  คอยยั่วยุ แย้ง หรือสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด และสติปัญญาของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
             จะอย่างไรก็ตาม  ตามแนวคิดนี้ครูยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอน  ถือว่าครูเป็นศูนย์กลาง  การจัดห้องเรียนเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย
             3.3.2 กระบวนการการบริหาร  บริหารโดยยึดหลักของเหตุผล  กฏระเบียบมีอยู่แต่ควรจะใช้อย่างมีเหตุผล  ไม่ใช้ตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียว  ระเบียบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม ไม่มีเหตุผล ไม่ถูกต้อง ควรจะได้รับการแก้ไขให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น  หลักสำคัญในการบริหารโรงเรียนคือการสร้างบรรยากาศอิสระขึ้นในสถาบันการศึกษา คือ การมีเสรีภาพทางวิชาการ  บรรยากาศของการบริหาจะต้องเอื้อต่อการถกเถียง อภิปราย  การตัดสินใจในทางการบริหารควรถือหลักของเหตุผลเป็นสำคัญ  ผู้บริหารควรอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจให้กับผู้ร่วมงานได้เสมอ  ในขณะเดียวกันผู้ร่วมงานก็ควรจะต้องมีโอกาสที่จะเสนอความคิดเห็นร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานของสถาบันด้วย
             3.3.3 บทบาทต่อสังคม  บทบาทต่อสังคมของสถาบันการศึกษาตามแนวลัทธินี้เป็นไปในทำนองเดียวกับลัทธิสารัตถนิยม คือ เน้นทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และค่านิยมของสังคมโดยอ้อม  เน้นที่การพัฒนาสติปัญญาและเหตุผลของบุคคล(ผู้เรียน)เป็นหลัก  มีบทบาทต่อสังคมในทางอ้อม คือ สร้างบรรยาการและสภาพแวดล้อมทางสังคมให้นิยมเรื่องของเหตุผลและสติปัญญาเป็นสำคัญ
      3.4 ข้อจำกัด
      แม้ว่าปรัชญาลัทธินี้จะมุ่งเน้นส่งเสริมสติปัญญาและเหตุผล แต่มนุษย์ก็ยังอยู่ได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึก  การไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกจึงไม่เหมาะสมนัก  ในขณะเดียวกัน การสอนที่เน้นทฤษฎีมากเกินไปจนนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตไม่ได้มากเท่าที่ควร  ก็จะเป็นผู้ให้ผู้ได้รับการศึกษาขั้นสูงจะมุ่งแต่ศึกษาเรื่องเก่าๆ ที่เป็นทฤษฎีและหลักการ  โดยไม่ให้ความสำคัญกับสภาพจริงในสังคมปัจจุบัน 
นอกจากนี้  การศึกษาตามแนวของปรัชญานี้ต้องการเวลามาก ใช้ครูมาก และจะต้องมีตำหรับตำราเพียงพอ  ครูจะต้องทำงานหนัก เป็นนักคิดและนักใช้เหตุผลด้วย  ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก

สรุป
         ทั้งลัทธิสารัตถนิยมและนิรันตรนิยม จัดเป็นปรัชญาการศึกษาในกลุ่มอนุรักษ์นิยม  แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น สารัตถนิยมจะเน้นการถ่ายทอดวัฒนธรรมและค่านิยม เน้นระเบียบวินัย  เน้นแบบแผนประเพณีมากกว่า  ในขณะที่นิรันตรนิยมจะเน้นเรื่องของเหตุผลและสติปัญญามากเป็นพิเศษ  แต่ทั้งสองลัทธินี้ก็ยังมีลักษณะพื้นฐานโดยทั่วไปเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือมุ่งเน้นการสอนเนื้อหา เน้นมรดกทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าจะเน้นกิจกรรมและความรู้สมัยใหม่  การจัดการเรียนการสอนก็จะเน้นครูเป็นศูนย์กลาง  นักเรียนเป็นผู้รับฟังความรู้หรือกระทำกิจกรรมภายใต้การกำหนดของครูเป็นสำคัญ

หมายเลขบันทึก: 206507เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท