การคิดอย่างมีวิจารณญาณ


คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โดยใช้เหตุผลเป็นสำคัญ

              เหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง  และในชีวิตประจำวัน  ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อเน้นกระบวนการคิด  เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ  จะได้รู้เท่าทันความเป็นไปในสังคม  ลองอ่านดูก่อนนะคะ

                                                                การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

 

            การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  (Critical  Thinking )  หมายถึง  กระบวนการคิดที่ใช้เหตุใช้ผลพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  โดยการศึกษาข้อมูล  หลักฐาน  แยกแยะข้อมูลว่าข้อมูลใดคือ ข้อเท็จจริง  ข้อมูลใดคือความคิดเห็น  ตลอดจนพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล  แล้วตั้งสมมติฐานเพื่อหาสาเหตุของปัญหา   และสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้

                กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   จะนำไปสู่การคิดตัดสินใจอย่างรอบคอบ  เพื่อให้เห็นว่าเรื่องใดควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ  สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ  เพราะเหตุใด

                ผู้ที่มีความคิดอย่างมีวิจารณญาณจะเป็นคนใจกว้าง  ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมี              เหตุผล  ไม่ยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก  ก่อนตัดสินใจอย่างใดต้องมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอ  และสามารถเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองได้   หากเห็นว่าความคิดเห็นของผู้อื่นดีกว่า  มีเหตุผลมากกว่า  นอกจากนี้ผู้ที่มีความคิดอย่างมีวิจารณญาณจะต้องเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการแสวงหา               ข้อมูล  และความรู้อยู่เสมอ    ตลอดจนเป็นผู้ที่มีเหตุผล (สุคนธ์  สินธพานนท์  และคณะ, 2551  :  72)        ไม่ใช้อคติหรืออารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ  นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น  เข้าใจผู้อื่น  ทำให้รับรู้สถานการณ์ความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี (ประพันธ์ศิริ   สุเสารัจ,  2551  :  94)

                กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีแนวคิดหลายทฤษฎี  และขั้นตอนหลายรูปแบบ  ในที่นี้จะนำแนวคิดทฤษฎีหลายทฤษฎีมาสรุปเป็นขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  6  ขั้นตอนดังนี้  (มลิวัลย์  สมศักดิ์,  2540  :  34 – 36 )   ได้แก่

                1. การนิยามปัญหา  หมายถึงการกำหนดประเด็นปัญหา  โดยพิจารณาจากข้อมูล  ข้อโต้แย้งเพื่อกำหนดปัญหา   ซึ่งการนิยามปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   เพราะกระตุ้นให้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหา  ข้อโต้แย้งเพื่อหาคำตอบที่สมเหตุสมผล

                2. การรวบรวมข้อมูล   เกี่ยวกับประเด็นปัญหาข้อโต้แย้งที่คลุมเครือ  รวมทั้งการดึงข้อมูลหรือความรู้จากประสบการณ์เดิมมาใช้   เมื่อพบกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหา   การรวบรวมข้อมูลถือว่ามีความจำเป็นต่อการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

                3. การจัดระบบข้อมูล   หมายถึงการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล   ความเพียงพอของข้อมูล   และสามารถแยกแยะข้อมูลได้ว่าข้อมูลใดเป็นความคิดเห็น   ข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริง  รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล   เพื่อเป็นแนวทางในการตั้งสมมติฐาน

                4. การตั้งสมมติฐาน   หมายถึงการนำข้อมูลที่จัดระบบแล้วมาเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์   เพื่อกำหนดแนวทางการสรุปที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด  หรือตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล

                5. การสรุปอ้างอิงโดยใช้หลักตรรกศาสตร์   หมายถึงการพิจารณาทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดจากข้อมูลและหลักฐานที่มีอยู่   เพื่อนำไปสู่การสรุปที่สมเหตุสมผล

                6. การประเมินสรุปอ้างอิง   หมายถึงการประเมินความสมเหตุสมผลของการสรุปอ้างอิง  รวมทั้งพิจารณาว่าข้อสรุปนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่   ผลจะเป็นอย่างไรหากข้อสรุปนั้นมีการเปลี่ยนแปลง  หรือได้รับข้อมูลเพิ่มเติม   ซึ่งจะนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง   หรือตั้งสมมติฐานและการสรุปอ้างอิงใหม่

                การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณอยู่เสมอ  จะทำให้ผู้เรียนรู้จักใช้เหตุผลพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  ย่อมทำให้เป็นคนใจกว้าง  ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้   นอกจากนี้ยังรู้จักการหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยการค้นหาความรู้  ทำให้เป็นคนมีความรู้อย่างกว้างขวาง    ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้นักเรียนสามารถนำกระบวนการคิดอย่างมีวิจาณญาณไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

หมายเลขบันทึก: 206218เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท