โครงการรางวัลบัณณารสสมโภช ตอนที่ 6


ตอนที่หก  เรื่องเล่านวัตกรรมการเรียนรู้เด่น (ในใจของผู้เขียน) 
                อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่า  ในครั้งนี้มีเรื่องเล่าดีๆ  มากมาย  แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากๆ  คือ  เรื่องเล่าของ ผอ.ชาติ  ก๋าแก้ว  โรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์  จังหวัดน่าน  ผอ.ชาติ  เล่าว่า   
               โรงเรียนต้องการให้เกิดการบูรณาการเรียนการสอน  ก็มานั่งคิดกันว่า  จังหวัดน่าน ประสบปัญหาหรือเรื่องใดเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือเป็นเรื่องสำคัญของจังหวัด  สรุปได้ว่า  เรื่องข้าว  เป็นเรื่องสำคัญที่สุด  ต้องการรู้ว่า  ข้าวพันธุ์ใดจึงจะเหมาะกับพื้นที่ใดของจังหวัดน่านมากที่สุด  จึงได้ทำโครงการโรงเรียนชาวนาขึ้นมา  โดยรวบรวมพันธุ์ข้าวได้ประมาณ  21  สายพันธุ์  ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันไปทดลองทำนา กลุ่มละ 1 สายพันธุ์  ใช้เวลาประมาณ  18 สัปดาห์  ให้ทุกกลุ่มดำเนินการจนกว่าจะได้ข้าวมา  ซึ่งนักเรียนจะต้องบูรณาการทุกสาระวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อจะทำให้การทำนาข้าวของกลุ่มประสบผลให้ได้ตามเป้าหมาย  เช่น วิชาคณิตศาสตร์  นักเรียนต้องคำนวณว่า ปริมาณข้าว 1  ไร่  จะต้องใช้พันธุ์ข้าวเท่าใด จึงจะเหมาะสมกับพื้นที่  หรือหากต้องการรู้ว่าจะเพิ่มปริมาณข้าว 1 ไร่ให้ได้ผลิตผลสูงสุด  จะต้องแก้ปัญหาหรือทำอย่างไร  ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้จากวิชาชีววิทยาเข้ามาช่วย  เป็นต้น 
                ที่น่าทึ่ง คือ  โรงเรียนนี้มีครูเพียง 20  คน มีนักเรียนประมาณ  430  คน  ครูหนึ่งคนดูแลนักเรียนประมาณ  1 ต่อ 21  คน  ซึ่งครูทั้ง 20  คน ไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำนาทั้งหมด  โรงเรียนก็แก้ไขปัญหาโดยการให้ ครูชาวนา  ซึ่งคือ ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ตัวจริงเสียงจริงประมาณ  200  คน ให้เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเด็กนักเรียน  ส่วนผู้ปกครองเกิดความสงสัยว่า  โรงเรียนนี้ไม่เรียนหนังสือกันหรืออย่างไร  ให้เด็กนักเรียนไปทำนาตั้ง 18 สัปดาห์  โรงเรียนก็แก้ไขปัญหาโดยการให้ผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินโครงการหรือผลงานของนักเรียนไปเลย  ซึ่งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการอีกอย่างหนึ่ง คือ  ทำให้เกิดการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งในและนอกชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น  กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ  โดยสนับสนุนงบประมาณ, คน, การประชาสัมพันธ์, วิชาการ  เป็นต้น 
               เรียกได้ว่า  เป็นโครงการบูรณาการเรียนการสอน ที่เริ่มต้นด้วยการกำหนดปัญหาจากท้องถิ่น  เน้นที่ทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับปัญหาและท้องถิ่น,  เกิดการลงมือปฏิบัติจริง,  นักเรียนได้แก้ไขปัญหาภาคสนามเอง,  มีการออกแบบการทดลองเอง, นักเรียนได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ คือ ครูชาวนา โดยตรง, นักเรียนและครูเกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจ,  ครูชาวนาได้รับการยอมรับ 
ที่สำคัญก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู + นักเรียน + ผู้ปกครอง + ชุมชน + นอกชุมชน
               น่าทึ่งจริงๆ ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 20618เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2006 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท