Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๒)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๘)

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น
ต่อยอดความรู้ภารกิจนักจัดการท้องถิ่น สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 
         ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์และปัญหาของชุมชนท้องถิ่น โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) จึงก่อเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคนหนุ่ม-สาวที่เป็นลูกหลานของชุมชนท้องถิ่น ให้กลับคืนมาทำงานในบ้านเกิดของตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จะนำพาคนในชุมชนเรียนรู้ หรือ “จัดการความรู้” โดยร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเองและสร้างสรรค์ชุมชนของตนให้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเป็นสุข”และคาดหวังว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญร่วมกับผู้นำชุมชน ในการผลักดันให้เกิด “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน” ที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนและส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องในที่สุด

จุดเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่ในชุมชน 
         ปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานทั้งหลายจะชูประเด็น “ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก สังคมแห่งการเรียนรู้ ประชาธิปไตยจากฐานราก การเมืองภาคประชาชน การมีส่วนร่วม การบริหารแบบธรรมาภิบาล การตรวจสอบจากภาคประชาชน ฯลฯ” พร้อมทั้งกำหนดโครงการและเงินจำนวนมหาศาลหลั่งไหลลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ตาม แต่โครงการดังกล่าวมักดำเนินการโดยคนภายนอก และเน้นการสร้างกิจกรรมในพื้นที่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ มากกว่าการสร้างคนและสร้างกลไกที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
         นอกจากนั้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ของประเทศเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบัน มีบัณฑิตที่จบการศึกษา หรือที่ได้มาทำงานในภาคเมืองกลับสู่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก คนหนุ่มสาวเหล่านี้ นับเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ หากแต่ต้องมาอยู่ในสภาวะที่ “ไปไม่ถึง กลับไม่ได้” เป็นจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลจะสร้างโครงการ “บัณฑิตอาสากองทุนหมู่บ้าน” ขึ้นมารองรับการว่างงานของบัณฑิตจำนวนถึง 70,000 กว่าคนก็ตาม แต่ก็เป็นโครงการระยะสั้นเพียง 10 เดือนเท่านั้น และมีผลกระทบต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนน้อยมาก โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาคนและการเรียนรู้ของชุมชน
         ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์และปัญหาของชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงก่อเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคนหนุ่ม-สาวที่เป็นลูกหลานของชุมชนท้องถิ่น ให้กลับคืนมาทำงานในบ้านเกิดของตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จะนำพาคนในชุมชนเรียนรู้ หรือ “จัดการความรู้” โดยร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเองและสร้างสรรค์ชุมชนของตนให้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเป็นสุข” ตามนิยามความหมายที่ชุมชนเป็นผู้กำหนด และคาดหวังว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญร่วมกับผู้นำชุมชน ในการผลักดันให้เกิด “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน” ที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนและส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในอนาคต


18 เดือนกับการฟูมฟักนักจัดการความรู้ท้องถิ่น 
         ทั้งนี้หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้เกือบ 2 ปี สรส. ได้วางรากฐานแห่งการก่อเกิด “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน” โดยคัดสรรบัณฑิตคืนถิ่นจำนวน 23 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคกลางได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี มาพัฒนาทักษะเป็น “นักจัดการความรู้ท้องถิ่น” ในฐานะ “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย” โดยจัดหลักสูตรการเรียนรู้บนฐานชีวิตจริงให้กับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทั้ง 23 คนอย่างต่อเนื่อง และเน้นในเรื่อง “ความรู้และการจัดการความรู้” ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนศักยภาพของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นแต่ละคน
         การดำเนินงานที่ผ่านมา สรส.ได้พัฒนานักจัดการความรู้ท้องถิ่น ให้เข้าใจหลักการของ “การจัดการความรู้” และการสร้างสรรค์ความรู้ จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาจริงในแต่ละพื้นที่ กระทั่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันในแต่ละชุมชน ซึ่งคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ได้เจริญเติบโตทั้งด้านความคิด ประสบการณ์ ความเข้าใจและความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมชน กระทั่งปัจจุบันต่างได้รับความไว้วางใจและความศรัทธาจากชุมชน จนบางคนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้าง สมาชิกอบต.บ้าง และบางคนก็เป็นกำลังสำคัญในการทำงานกับกลุ่มอาชีพในชุมชนบ้าง ทำงานเชื่อมประสานระหว่าง

ชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง
         ภายหลังการเสร็จสิ้นโครงการระยะที่ 1 นายทรงพล เจตนาวณิชย์ หัวหน้าโครงการสรส.จึงได้วางแผนโครงการฯในระยะที่ 2 ต่อโดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
         ทั้งนี้ประสบการณ์และภาระหน้าที่จากการดำเนินงานระยะที่ 1ได้คัดกรองนักจัดการความรู้ท้องถิ่นให้สามารถทำงานต่อไปข้างหน้าในระยะที่ 2 จำนวน 8 คน เพื่อสานต่อภาระกิจร่วมกับโครงการฯ ในฐานะผู้เชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผลักดันให้ก่อเกิดและพัฒนา “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน” หรือ “วิทยาลัยชาวบ้าน” ต่อไป ภายใต้ชื่อ “โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น”

ก้าวต่อไปพุ่งเป้าจัดการความรู้ในอปท. 
       
         การได้ลงไปคลุกคลีทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิดโดยมีโจทย์ว่าทำโครงการอะไรก็ได้ เพื่อให้ชุมชนลุกขึ้นมาเห็นศักยภาพของตนเองของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นตลอดระยะเวลา 18 เดือน ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือของชาวบ้านอย่างแท้จริง อีกทั้งทักษะความรู้ในการเป็นผู้นำที่บรรดานักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้เรียนรู้และลองปฏิบัติจริงนั้นนับว่าเป็นต้นทุนชั้นเยี่ยมในการต่อยอดผลการดำเนินงาน สู่การก่อเกิดสถาบันการจัดการความรู้ที่เข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
         สถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่นนี้ จะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนของตนเอง มีขีดความสามารถในการจัดการความรู้เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและสามารถเชื่อมโยงกับกลไกปกติของท้องถิ่นที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น (อบจ. อบต.เทศบาล เป็นต้น) หรือกลไกภาคประชาชนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เช่น ขบวนการสหกรณ์ เป็นต้น โดยมีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่โครงการมีอยู่ เป็น “จุดเชื่อม”สำคัญที่นำไปสู่ก้าวย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ของชุมชน เช่นวัด บ้าน โรงเรียน สหกรณ์ ฯลฯ
         โดยระยะที่ 2 นี้ โครงการฯ ได้เข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้สอดประสานกับเครื่องมือทางสังคมอื่นๆ หลายต่อหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายอยู่ในพื้นที่เดิมของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น 5 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี เป็นจังหวัดนำร่องที่มีการทำงานเชิงลึก ต่อยอด และยกระดับการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขยายผลจังหวัดอื่นๆ โดยหวังผลให้เกิดสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนของ อบต. เทศบาล และองค์กรอื่นๆในชุมชน ค่อนข้างสูง โดยอาศัยนักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนามาแล้วระดับหนึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับโครงการฯ
         นอกจากพื้นที่เป้าหมายเดิมแล้ว ยังมีพื้นที่ขยายผลอีก 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคกลาง-จังหวัดกาญจนบุรี เพรชบุรี ราชบุรี ลพบุรี ภาคเหนือ-จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน ภาคตะวันออก-จังหวัดตราด ภาคใต้-จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการชุมชนเป็นสุข และโครงการเครือข่ายสุขภาพระดับจังหวัดภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน และโครงการต่อสู้ความยากจนภายใต้การสนับสนุนของ สกว. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) หรืออาจเป็นพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความประสงค์จะนำหลักการจัดการความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัด โดยโครงการฯ จะเข้าไปหนุนเสริมเพื่อให้มีการนำเครื่องมือการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโครงการ รวมทั้งเป็นกลไกกลางในการจัดให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับการทำงานระหว่างโครงการเหล่านั้น


กระบวนการและขั้นตอนในการในระยะที่ 2
           สำหรับในพื้นที่เดิมนั้น จะใช้กระบวนการถอดบทเรียน วิเคราะห์สถานการณ์ และทุนทางสังคมในพื้นที่ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จากนั้นก็จะจัดประชุมฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะคัดสรรคุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจจากการจัดประชุม จากนั้นจึงพัฒนาหลักสูตรและจัดทำแผนการดำเนินงานในแต่ละองค์กรเพื่อพัฒนา “คุณอำนวย” ไปทำหน้าที่ระดับพื้นที่ ดังเช่นในพื้นที่ขยายผลได้จัดปฐมนิเทศให้กับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นรุ่นใหม่ในภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน เมื่อเดือนมิถุนายนและกันยายนที่ผ่านมา
         นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดการเรียนรู้ระดับพื้นที่ ซึ่งจะเน้นการจัด “ห้องเรียนชุมชน” ตามประเด็นเนื้อหาของพื้นที่ และการจัดการเรียนรู้ระดับเครือข่ายซึ่งจะเน้นการเปิด “ตลาดนัดความรู้” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ เช่น การจัดตลาดนัดความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคกลาง โดยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับตำแหน่งเดียวกันแบบข้ามองค์กร เพื่อค้นหาความความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น, การจัดตลาดนัดความรู้สหกรณ์ที่ จ.ลำพูน ซึ่งมีสหกรณ์จำนวน 50 แห่งมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ เช่นปัญหา และแนวทางการใช้ความรู้ในการแก้ไขปัญหา เครื่องมือในการจัดการความรู้ ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในครั้งนี้คือการแบ่งกลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน “พลังจากเรื่องเล่า” ผลของการจัดตลาดนัดความรู้ ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันและเห็นแนวทางที่จะไปจัดการงานของตัวเองต่อไป เห็นได้ชัดจากการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งแรกของสหกรณ์นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการจัดตลาดนัดความรู้ร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเดือนกันยายนที่ผ่าน เป็นต้น 
         สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่มีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นเป็นจุดเชื่อมนั้น โครงการฯ จะเข้าไปประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย โครงการฯ กับผู้ประสานงานในแต่ละพื้นที่ แล้วประเมินทุนทางสังคม โอกาส และการใช้เครื่องมือจัดการความรู้ในระดับต่างๆ เช่นระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือกลุ่มระดับอื่นๆ ร่วมกันแล้วคัดสรรผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นคุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจ

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 20590เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท