บันทึกจากแดนซากุระ 24 : การแปลหนังสือ เส้นทางความรู้ข้ามขีดจำกัดทางภาษา


    เช้าวันเสาร์หนึ่งขณะที่ผมกำลังฟังสัมมนา ซึ่งนำเสนอโดยนักศึกษาปริญญาโทชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เป็นการนำเสนอรายงานวิจัยจากวารสาร Nature ผมจำหัวข้อที่นำเสนอได้ไม่ชัดเจน แต่จากการอ่านบทคัดย่อแล้ว อาจจะเป็นเพราะอยู่คนละ field หรือภาษาอังกฤษยังไม่แตกฉานพอ เลยอ่านไม่ค่อยจะเข้าใจ รู้แต่เป็นภาษาที่อ่านไม่ง่ายนัก ผมค่อนข้างแปลกใจทำไมสาวญี่ปุ่นคนนี้ถึงเข้าใจเนื้อหาบทความได้ค่อนข้างดี ก่อนที่จะมีคำเฉลยจากสาวไทยตัวน้อยที่นั่งอยู่ข้างๆว่า "พี่เขาอ่านจาก Nature ภาษาญี่ปุ่นเทียบ" ผมก็เลยถึงบางอ้อ พอเข้ามาดูในห้องแล็บ บนชั้นวางหนังสือของนักศึกษาญี่ปุ่นที่นี่แต่ละคนจะมีหนังสือกันคนละเยอะแยะ แล้วหนังสือพวกนี้เป็นหนังสือวิชาการชั้นสูงเกือบจะทั้งนั้น อย่างเช่น p53 gene, cytokine, interleukin, cancer และอีกอื่นๆ ที่หัวข้อเป็นภาษาญี่ปุ่น หนังสือพวกนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ย้อนกลับไปคิดถึงบ้านเรา หนังสือวิชาการชั้นสูง หรือจะชั้นกลางที่เราใช้เรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย จะมีกี่เล่มหนอที่เป็นภาษาไทย
     ความที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดภาษาญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาไทย ภาษาต่างชาติมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พูดได้ ในขณะที่ความรู้สากลถูกเริ่มต้นส่วนใหญ่จากคนต่างชาติ ทำไมเราจะต้องถูกจำกัดการรับรู้ความรู้ต่างๆ ด้วยขีดจำกัดทางภาษา การสร้างอาหารสมอง สอนให้คนรู้ สอนให้คนคิดเป็น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของสถาบันการศึกษา ที่มีอาจารย์เป็นผู้รู้ และพ้นขีดจำกัดนี้ไปแล้ว น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาขีดความรู้ ของคนในชาติได้ อย่างน้อยก็เด็กๆ ที่เรียนกันในมหาวิทยาลัย ด้วยข้อจำกัดทางภาษาของนักศึกษาหรือของคนไทยในภาพรวมอย่างนี้ ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำความเข้าใจกับความรู้ที่จารึกด้วยภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาไทยได้ ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนให้แปลหนังสือต่างชาติให้คนไทยอ่านแล้วจะทำให้คนไทยไม่สนใจเรียนรู้ภาษาต่างชาติ แต่ผมสนับสนุนให้มีการแปลหนังสือต่างชาติเป็นภาษาไทย เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายที่จะทำให้คนไทยเข้าใจความรู้ที่จารึกอยู่ในนั้นได้อย่างถ่องแท้  หรือเอาล่ะถ้าไม่อยากแปล อย่างน้อยก็น่าจะมีการรวบรวมความรู้ชั้นสูง หรือรวบรวมหมวดหมู่ของความรู้เฉพาะทาง เขียนเป็นหนังสือภาษาไทยเองก็ได้ เราคงไม่ปฏิเสธว่าหนังสือเป็นอาหารสมอง แล้วอาหารสมองดีๆเดี๋ยวนี้ หายากกว่าโทรศัพท์มือถือเสียอีก (ยืมคำอาจารย์ธวัชชัยมาใช้)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20570เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เห็นด้วยและอยากทำค่ะ กำลังลองพยายามหาอยู่เหมือนกันว่าทำอย่างไรถึงจะทำได้ถูกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว แทนที่จะต้องเขียนไปขออนุญาตเจ้าของเรื่องเองไปเรื่อยๆก่อนจะแปลแบบนี้ แล้วบางทีกว่าเจ้าของเรื่องจะอนุญาต เรื่องมันก็เก่าไปเสียแล้ว สำหรับพวกเรา แต่เคยมีคนบอกว่า อย่าแปลเลย ควรจะเขียนเองดีกว่า (คิดว่าคงเป็นเรื่องผลงานด้วยมังคะ) แต่ก็เห็นว่าถ้าเราสามารถแปลได้ น่าจะรับอาสาแปล แทนที่จะคิดเอาชื่อ เขียนเองอย่างเดียว เพราะงานที่สมควรได้รับการแปลเผยแพร่มีมากมาย และคนที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ก็น่าจะมีมากกว่าเรื่องที่เราเชี่ยวชาญจนเขียนได้เอง ใครรู้ลู่ทางช่วยบอกที

แปลก็ดี   เขียนเองยิ่งดีใหญ่   ขอเอาใจช่วยให้เกิดขึ้นเร็วๆ  ค่ะ

แต่อาจารย์ผู้เก่งภาษาอังกฤษเป็นล้นพ้น   ท่านไม่สบัสนุนให้เด็กๆ  อ่านหนังสือวิชาการที่แปลเป็นไทย   ท่านว่ามันมี error อะไรบางอย่าง    แต่ noi ว่า  อ่านให้เข้าใจลึกซึ้งก่อนแล้วค่อยไปอ่าน text  อย่างที่คุณ mito ว่าน่าจะดี

ขอแก้คำผิด  "สบัสนุน" = สนับสนุน

   การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ นอกจากได้ความรู้แล้วยังเป็นการพัฒนาภาษาอังกฤษของผู้อ่านด้วย แต่ถ้าผู้อ่านมีความรู้ภาษาอังกฤษค่อนข้างจำกัดแล้ว การทำความเข้าใจในเนื้อหาสำคัญก็จะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก และใช้เวลาค่อนข้างมาก ในเรื่องเดียวกัน หากมีผู้รู้ช่วยแปลเป็นภาษาไทย การทำความเข้าใจก็จะง่ายขึ้น และสามารถกระจายความรู้ไปได้แพร่หลายมากกว่า ทั้งนี้คงต้องยอมรับความจริงว่าภาษาอังกฤษโดยเฉลี่ยของคนไทย ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาภาษาอื่นได้มากนัก ดังนั้นการแปลหนังสือ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาความรู้ของคนในชาติได้ครับ การเขียนหนังสือย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการแปลแน่นอน เพราะเป็นความรู้ที่เขียนด้วยผู้รู้ชาวไทย แต่ใครจะมีประสบการณ์มากพอจะเขียนหนังสือที่เป็นความรู้เหล่านั้น การเขียนจึงถูกจำกัดวงลงมาค่อนข้างมาก ในขณะที่การแปล ทำได้ง่ายกว่า เพราะเพียงผู้แปลมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่แปล และมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่ดี บวกกับความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ดี ก็เพียงพอที่จะใช้แปลแล้วล่ะครับ เห็นหนังสือที่ญี่ปุ่นแล้ว พอเปรียบเทียบกับเมืองไทย มันเป็นคนละเรื่องกันแบบที่ใช้เปรียบเทียบกันไม่ได้ เห็นแล้วมันกระตุ้นต่อมอะไรอีกหลายต่อม ให้อยากให้มีหนังสือดีๆ อ่านกันเยอะๆ เหมือนเขาบ้าง

เท่าที่ดูจากแผงหนังสือ ตอนนี้หนังสือแปลเยอะมากๆ (แต่ไม่ใช่หนังสือวิชาการในกรณีที่คุณ mitoฯ พูดถึง) ในส่วนตัวก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไร รู้สึกลึกๆ ว่าทำไมเราไม่เน้นให้มีนักคิด นักเขียน เขียนหนังสือดีๆ ออกมามากๆ (มีหนังสือออกใหม่ออกมาเยอะมากๆ แต่เป็นแบบคิขุเสียเยอะ)

ทางแก้ที่ยั่งยืนของเรื่องนี้ น่าจะอยู่ที่ ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษบ้านเรา (ซึ่งเรียนตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย) มีคุณภาพ เรียนแล้ว สามารถ พูด อ่าน และเขียนได้ดีกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท