การแต่งกาย


ติดปีกให้ความรักโบยบิน...เหนือจินตนาการ

ความเชื่อของชาวเลย

            บางพวกมักจะเชื่อเรื่องภูตผีบรรพบุรุษ  และมีความเชื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับผีฟ้า   นางเทียมซึ่งมีอยู่แทบทุกหมู่บ้านส่วนชาวอำเภอด่านซ้านมีความเชื่อเรื่องวิญญาณโดยจะมีพ่อกวนและนางเทียมเป็นสื่อติดต่อกับวิญญาณและเข้าทรง   มีการบูชาพระธาตุศรีสองรักและศาลเจ้าหรือหอเจ้าเป็นประจำทุก ๆ ปี   นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพิธีกรรมแห่นางแมว  การเล่นแม่นางด้วง   การเล่นนางกวัก   พิธีบายศรีสู่ขวัญและพิธีช้อนขวัญ ฯลฯ  ส่วนความเชื่อพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่โดยเห็นได้จากจำนวนวัดที่มีมากมายทุกหมู่บ้าน

 

ภาษาของคนจังหวัดเลย

            มีสำเนียงภาษาแตกต่างจากภาษาพูดของคนในจังหวัดภาคอีสานอื่น ๆ  เพราะกลุ่มคนที่อาศัยปัจจุบันนี้มีประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง   ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 23  ชาวหลวงพระบางและชาวเมืองบริเวณใกล้เคียงที่อพยพมาเมืองเลยได้นำวัฒนธรรมด้านภาษาอีสานถิ่นอื่น   โดยภาษาเลยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มหลวงพระบางอันประกอบด้วยภาษาอำเภอแก่นท้าว  เมืองชัยบุรี   ภาษาอำเภอด่านซ้าย  และภาษาอำเภอเมืองเลย  จังหวัดเลย   ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวไทเลยจึงมีลักษณะการพูดเหมือนชาวหลวงพระบางแต่บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงคล้ายสำเนียงพูดของชาวปักษ์ใต้   ฟังดูไพเราะนุ่มนวลจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนเมืองเลย

 

ขนบธรรมเนียมประเพณี

            ชาวจังหวัดเลยนั้น    นับได้ว่าเป็นผู้ที่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้ค่อนข้างเหนียวแน่นถึงแม้ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเมืองเลยบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากได้รับวัฒนธรรมจากภายนอกก็ตาม   คนเมืองเลยส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเช่น  ในวันพระก็มักจะเข้าวัดฟังเทศน์ ถือศีล ฟังธรรมละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต   บุญประเพณีที่สำคัญคือ ประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี  คือ  เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม  เดือนยี่บุญคูณลาน  เดือนสามบุญข้าวจี่  เดือนสี่บุญเผวส  เดือนห้าบุญสงกรานต์   เดือนหกบุญบั้งไฟ   เดือนเจ็ดบุญซำฮะ   เดือนแปดบุญเข้าพรรษา   เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน  เดือนสิบบุญข้าวสาก   เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา  เดือนสิบสองบุญกฐิน  และยังมีบุญอื่น ๆ อีก  ได้แก่   บุญก่อเจดีย์ทราย   บุญข้าวแจกคือการทำบุญอุทิศแก่ผู้ตาย  แต่บางหมู่บ้านของจังหวัดเลย  มีประเพณีของตนเป็นพิเศษ  เช่น  การทำพิธีบวงสรวงผีปู่ตาหรือเจ้าบ้าน   การเซ่นเทวดา และการลงผีฟ้า ฯลฯ  ในบางพื้นที่อาทิอำเภอนาแห้วในวันพระ   คนส่วนมากจะหยุดงานและถือศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต   ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา

บุญประเพณีประจำปีที่สำคัญของเมืองเลย ได้แก่  ประเพณีบุญหลวง   บุญเทศกาลออกพรรษาที่เชียงคาน   งานงานนมัสการพระธาตุดินแทน  เป็นต้น

 

 

 

การแต่งกายของชาวไทเลย

            ชาวไทเลยจะใช้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมพื้นสีในการตัดเย็บ   โดยจะนำเส้นด้ายมาทอเป็นผืนและนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ  กางเกง  ผ้าซิ่น ฯลฯ   ลักษณะการแต่งกายสำหรับผู้ชายจะมีอยู่ด้วยกัน   4   แบบ  แล้วแต่ในโอกาสต่าง ๆ ที่จะสวมใส่   ซึ่งประกอบด้วยชุดต่อไปนี้

            1.  ชุดแต่งกายสำหรับไปวัด   ไปงานบุญ  งานสงกรานต์   งานบวช  งานลอยกระทง  จะนิยมแต่งกายด้วยชุดไทเลยแบบคอกลมแขนสั้นนุ่งกางเกงขายาวธรรมดา

            2.  ชุดแต่งกายสำหรับไปทำงาน  ไปวัด  งานบวช   งานแต่งงาน   งานขึ้นบ้านใหม่  จะนิยมแต่งกายด้วยชุดไทเลยแบบคอตั้งแขนสั้นนุ่งกางเกงขายาวธรรมดา

            3.  ชุดแต่งกายสำหรับงานพิธีการต่าง ๆ  หรืองานบุญประเพณี  เช่น   งานดอกฝ้ายบานฯ    งานปีใหม่  จะนิยมแต่งกายด้วยชุดไทเลยแบบคอตั้งแขนสั้นหรือแขนยาว  นุ่งกางเกงขายาวธรรมดา

            4.  ชุดแต่งกายสำหรับไปปฏิบัติงานทางการเกษตรจะนิยมแต่งกายด้วยเสือ้คอกลมผ่าอกตลอด สีหม้อนิล (สีย้อมคราม)  กางเกงชาวนาขาสั้นสีหม้อนิล  มีผ้าขาวม้าคาดเอวและใช้พร้าขัดหลัง  สวมกุบ  สะพายย่าม  สวมรองเท้าแตะหนังสัตว์แห้ง

            ส่วนผู้หญิงเสื้อจะเป็นคอกลมผ่าอกตลอด เอวจั๊ม  แขนยาวสามส่วน   ชายเสื้อคลุมสะโพก กระดุมจะมีลักษณะสีเดียวกับผ้า  ส่วนซิ่น(ผ้าถุง)เป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่ทอจะมีลายเส้นสีต่าง ๆ รวมไปถึงลวดลายพื้นเมืองโบราณของจังหวัดเลย เมื่อนุ่งจะเป็นทรงยาวลงตามลำตัวหัวต่อชายด้วยผ้าขิด   ซึ่งชุดการแต่งกายของผู้หญิงไทเลยจะมีอยู่ด้วยกัน   2   แบบ

            1. ชุดไทเลยที่ประยุกต์มาจากชุดไทยล้านช้าง    จะมีลักษณะเสื้อคอกลมผ่าอกตลอดติดกระดุมเอว   เอวจั๊มขอบเอวกว้างหนึ่งนิ้วครึ่ง   เอวเสื้ออยู่นอกผ้าซิ่น   ใช้ผ้าฝ้ายสีล้วนในการตัดเย็บส่วนผ้าซิ่นใช้ผ้าฝ้ายที่ทอในจังหวัดเลยจะนุ่งเป็นผ้าซิ่นหรือตัดเย็บสำเร็จรูปก็ได้   โอกาสที่ใช้ถ้าเป็นแบบแขนสามส่วน   เอวจั๊มใช้สำหรับงานพิธีต่าง ๆ  เข้าเฝ้าหรือรับเสด็จฯ   งานราตรีสโมสร  งานบุญประเพณี  เช่น  ปีใหม่  ลอยกระทง  งานดอกฝ้ายฯ  แต่ถ้ามีผ้าแถบคาดอกใช้สำหรับงานราตรีสโมสร  การประกวดเทพี

            2. ชุดไทเลยที่ประยุกต์จากชุดไทเลย   จะมีลักษณะของเสื้อแขนสั้นสามส่วน   สำหรับโอกาสที่ใช้เสื้อแขนสั้นใช้ไปทำงาน   ไปวัด  ส่วนแขนสามส่วนใช้สำหรับเป็นชุดทำงานไปวัด  งานบวช  งานทำบุญ  งานแต่งงาน   แต่ถ้าใส่ผ้าเบี่ยงจะใช้สำหรับไปงานประเพณีต่าง ๆ  ใช้ใส่เป็นพิธีกรในงานต่าง ๆ

            แต่ในอดีตผู้ชายจะนุ่งโสร่งไหมหรือโสร่งฝ้ายแทนกางเกงขายาว   หรือนุ่งผ้า     ก่อม (กระโจงเบน)  และจะมีมีดด้ามงาซึ่งถือเป็นเครื่องประดับเสียบไว้ที่พุงเวลาไปวัด    ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมะกะแหร่ง   นุ่งผ้าซิ่นฝ้ายที่ย้อมด้วยสีหม้อนิลมีร่องสีขาวและใช้ผ้าเบี่ยงตก (สไบเฉียง)

                ส่วนทรงผมผู้ชายจะเป็นรองทรงธรรมดา ผู้หญิงจะเกล้ามวยทรงสูงเปิดหน้าผากให้เรียบร้อยสำหรับเครื่องประดับของผู้ชายจะประกอบด้วยกำไลข้อเท้าซ้าย  (กล้องข้อเท้าซ้าย)   สำหรับผู้หญิงจะประกอบด้วยตุ้มหูเงิน-ทอง  กำไลเงินข้อมือ (กล้องข้อมือ)   กำไลข้อเท้าเงิน  (กล้องข้อเท้า)  สร้อยคอเงิน ทอง  และเข็มขัดเงิน

 

ชาวไทเลย

            1.  ไทเลย   เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย   ในประวัติศาตร์บันทึกไว้ว่าคนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล (บ้านทรายขาว  อำเภอวังสะพุงปัจจุบัน)  ในปีพุทธศักราช  2396  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่  4     ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่   (บ้าแฮ่ปัจจุบัน)  ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่  โดยการรวมตัวของอำเภอกุดป่อง (อำเภอเมือง)  อำเภอท่าลี่ขึ้นกับมณฑลอุดร  อำเภอด่านซ้ายขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก  เมืองเชียงคานขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่างๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่พุทธศักราช  2450  เป็นต้นมา

 

            ชาวไทเลย  จะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณ   ซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล   พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง   กิริยามารยาทดีงามอารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม   มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น   ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา  ได้แก่  ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่   คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ ละปี

                บ้านชาวไทเลย    เป็นเรือนหลังใหญ่  ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือนและมีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน  สำหรับ หลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด   ฝาเรือน  พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่าไม้แป้น  ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้น ๆ  หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่   มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง   ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา   ฝาและพื้นจะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่นและเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน  

            2.  ชาวไทดำ   อพยพมาจากแคว้นพวน  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ในปัจจุบัน   ในปีพุทธศักราช  2417   พวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง    ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญของแคว้นพวน   จึงได้ขอความช่วยเหลือมายังไทยโดยมีพระยาภูธราภัยเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปปราบฮ่อ   ผลการปราบฮ่อครั้งนี้ไทยชนะและไทยได้ใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวนเข้ามายังประเทศไทย   ชาวไทดำถูกกวาดต้อนมาถึงกรุงเทพฯ  ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านหมี่คลองสนามแจง จังหวัดลพบุรี จนกระทั่ง 8 9 ปีเจ้าเมืองบริขันธ์มาทูลขอราษฎรกลับไปยังเมืองเชียงขวางตามเดิม  โดยเริ่มอพยพตามเส้นทางขึ้นมาเรื่อย ๆ  จนได้มาพักที่บ้านน้ำก้อใหญ่   อำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์   ต่อมาไทดำกลุ่มหนึ่งได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปยังบ้านน้ำกุ่ม   แขวงเวียงจันทร์   แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทร์    มีปัญหาเจรจากับฝรั่งเศสไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขง   ย้อนกลับมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านตาดซ้อ   ตำบลเขาแก้ว   อำเภอเชียงคาน   อยู่ได้ระยะหนึ่งจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเบนและได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่บ้านนาป่าหนาด   ตำบลเขาแก้ว    อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย    เมื่อปีพุทธศักราช   2448   โดยมีจำนวนครัวเรือน   15   หลัง  ปัจจุบันชาวไทดำมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  828   หลัง

            วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทดำจะมีระเบียบแบบแผนเป็นของตนเอง   ซึ่งอยู่บนบรรทัดฐานของความเชื่อและพิธีกรรมกต่าง ๆ  เช่นความเชื่อเรื่องผีเรือนและพิธีเซ่นผีเรือน   ความเชื่อเกี่ยวกับหมอรักษาหรือเจ้าบ้าน  พิธีเลี้ยงเจ้าบ้าน  เป็นต้น

 

            3.  ชาวไทพวน   อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบุฮม  และบ้านกลาง   อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย   ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเตาไห   หลวงพระบางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว    เมื่อครั้งที่พวกจีนฮ่อ   กุลา   เงี้ยว   รุกรานเมืองเตาไห   4  พ่อเฒ่า  คือ  พ่อเฒ่าก่อม   พ่อเฒ่าห่าน   พ่อเฒ่าเพียไซ   พ่อเฒ่าปู่ตาหลวง   เป็นผู้นำชาวพวนกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากหลวงพระบาง   ล่องตามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮม   ต่อมาผู้คนส่วนหนึ่งได้มาอยู่ที่บ้านกลางอีกแห่งหนึ่งแล้วเรียกตัวเองว่า  ไทพวน 

            ชาวไทพวนนั้นมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบททั่วไป   มีอาชีพเกษตรกรรม  การทอผ้า   การตีเหล็ก   ทำเครื่องเงิน   เครื่องทอง  บ้านเรือนของชาวไทพวนจะยกพื้นสูงมีใต้ถุนเรือนใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง  เช่น   ทำคอกวัว  คอกควาย  ฯลฯ 

            4.  ชาวไทใต้   ได้อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย  ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์  อุบลราชธานี   ยโสธร  โดยได้อพยพเข้ามาเมื่อปีพุทธศักราช  2505  และมีจำนวนเพิ่มขึ้น  ในปีพุทธศักราช  2508  จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่กิ่งอำเภอเอราวัณ

            ชาวไทใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำไร่ทำสวน  ปลูกข้าว   เลี้ยงสัตว์  สภาพบ้านเรือนจะเป็นกระต๊อบและนิยมสร้างบนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง   หลังคามุงด้วยหญ้าคา  โดยอกไก่  จั่ว  ดั้ง   และระแนง  จะทำจากไม้ทำหน้าที่ยึดและรับน้ำหนัก   ฝาบ้านจะนำไม้ไผ่สับหรือที่เรียกว่า ฟาก  มาสานเข้าด้วยกันเป็นลวดลายแล้วติดเข้ากับตัวบ้านโดยใช้ไม้ไผ่ขัดเอาไว้   ส่วนพื้นบ้านจะปูด้วยฟากเช่นเดียวกัน   นอกจากนี้ยังมีชานบ้านและเรือนครัวที่สร้างยื่นออกมาจากส่วนหน้าโดยมีระดับลดต่ำกับตัวบ้าน   เสาบ้านจะทำจากไม้เนื้อแข็งและบันไดก็จะทำจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง   โดยทั่วไปบ้านของชาวไทใต้ในอดีตจะทำห้องเพียงห้องเดียวคือห้องนอน  และใต้ถุนจะยกสูงเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ

              วิถีชีวิตของชาวไทใต้  จะมีน้ำใจเอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและมีภาษาพูดที่แตกางจากชาวไทเลย   ทั้งนี้เพราะได้สืบทอดวัฒนธรรมทางด้านภาษามาจากถิ่นเดิมของตน   เช่น   ภาษาไทอีสานหรือภาษาลาวจากอุบลราชธานี   ภาษาไทโคราช  จากจังหวัดนครราชสีมา   ในส่วนของขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทใต้ไม่ค่อยแตกต่างจากคนอีสานทั่วไปคือฮีตสิบสอง   ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมานาน

อ้างอิงมาจาก www.nukul.ac.th

หมายเลขบันทึก: 205261เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นร่องรอยบันทึกที่ดีครับ…ขอชื่นชม

เป็นร่องรอยบันทึกที่ดีครับ…ขอชื่นชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท