เทคนิคการฝึกอบรม


เทคนิคการฝึกอบรมขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มผู้อบรม

หลักการเลือกใช้เทคนิคในการฝึกอบรม

                  หลักการเลือกใช้เทคนิคการฝึกอบรมมีแนวทางดังนี้

                  1. ถ้าผู้เข้าอบรมมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่อบรมมาบ้างแล้ว ควรจะใช้เทคนิคแบบ กลุ่ม ผู้เข้าอบรม เป็นศูนย์กลาง แต่ถ้าหากผู้เข้าอบรมยังไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในเรื่องที่อบรมมาก่อนเลยควรจะใช้เทคนิคแบบวิทยากรเป็นจุดศูนย์กลาง

                  2. หากวัตถุประสงค์ของหัวข้อวิชาต้องการให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรม แบบ วิทยากรเป็นศูนย์กลาง แต่หากวัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และความสามารถหรือทักษะ ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรมแบบกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ เพราะเทคนิคฝึกอบรมแบบยึดกลุ่ม ผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง จะเอื้ออำนวยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ผลงานวิจัยชี้ชัดว่า กากรเปลี่ยนแปลงทัศนคติมัก จะเกิดจากการ เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตนเองมากกว่าเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น การสร้างทักษะก็เช่นเดียวกัน จะเกิดขึ้นได้จากการ ทดลอง ปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงจากการฟังหรือมองเห็นแต่เพียงอย่างเดียว

                  3. หากระยะเวลาในการฝึกอบรมมีน้อย ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรมแบบมีวิทยากรเป็นศูนย์กลาง หากมีระยะเวลามาก ควรจะใช้เทคนิคแบบกลุ่มเป็นศูนย์กลาง

                  4. หากสถานที่ในการฝึกอบรมมีจำกัด จนไม่อาจจะจัดให้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากแบบห้องเรียน ควรใช้เทคนิคฝึกอบรม แบบวิทยากรเป็นศูนย์กลาง แต่ถ้าหากสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ หรือจัดให้ทุกคนมองเห็นหน้ากันได้ ย่อมจะเป็นการ สะดวกที่จะใช้ เทคนิคฝึกอบรมแบบกลุ่มเป็นศูนย์กลาง

                  เมื่อพิจารณาจากหลักในการเลือกเทคนิคการฝึกอบรมดังระบุข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น ปัจจัยหรือองค์ประกอบ ในการเลือกใช้เทคนิคฝึกอบรม 5 ประการด้วยกัน คือ

                  1) วัตถุประสงค์ของหัวข้อวิชา ว่าต้องการจะให้เกิดการเรียนรู้ด้านใดเป็นหลัก ความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ
หรือทัศนคติ
                  2) เนื้อหาวิชา ว่ามีแนวการอบรมอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับประเด็นใดบ้าง และแต่ละประเด็นจะเหมาะสมกับเทคนิค
ฝึกอบรมใด
                  3) วิทยากรผู้ดำเนินการฝึกอบรม ว่ามีความถนัดในการใช้เทคนิคฝึกอบรมใด
                  4) ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ว่ามีความรู้พื้นฐานอะไร มีคุณสมบัติอย่างใด

                  5) ความพร้อมด้านทรัพยากร ได้แก่
                       - ระยะเวลา : ต้องคำนึงถึงทั้งระยะเวลาฝึกอบรม และระยะเวลาในการจัดเตรียม
                       - วัสดุอุปกรณ์ซึ่งจะใช้ในเทคนิคฝึกอบรมแต่ละเทคนิค
                       - ค่าใช้จ่าย : ทั้งค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นขณะที่ใช้เทคนิคการฝึกอบรมนั้น ๆ
                       - ความพร้อมของสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก

                       นอกจากองค์ประกอบทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้จัดโครงการฝึกอบรมต้องคำนึง ไว้เสมอว่าองค์ประกอบ ที่สำคัญ อีกประการหนึ่งในการเลือกใช้เทคนิคการฝึกอบรมก็คือ หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะเทคนิคการฝึกอบรมที่เลือกใช้นั้น ควรจะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ให้มากที่สุด คือ ควรเป็นเทคนิค ซึ่ง

                       - ช่วยกระตุ้นความสนใจ และก่อให้เกิดความต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
                       - เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมในการคิด อภิปราย หรือกระทำกิจกรรม
                       - คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในด้านความถนัด แนวคิด ประสบการณ์ และความสนใจ และเป็นหน้าที่ เหมาะสมกับลักษณะของกลุ่มผู้เข้าอบรม
                       - เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทดลองปรับใช้หลักการ/ทฤษฎี และมีการให้ผลย้อนกลับ (Feedback) ก็จะทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และมั่นใจในสิ่งที่เรียนรู้มากขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #hrd#training
หมายเลขบันทึก: 205110เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2008 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท