ยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบน


รวมพลังทรัพยากร การมีส่วนร่วม จัดขบวนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แบบtask force

เมื่อวันอังคารที่ 2 ส.ค. ผมได้รับเกียรติจากม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีให้ทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในการระดมความเห็นยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มภาคใต้ตอนบน (สุราษฎร์ฯ ชุมพรและระนอง)
งานนี้ อ.ก้าน ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ได้รับมอบหมายจากวช.ให้จัดทำยุทธศาตร์งานวิจัยทั้ง 14 จังหวัดแยกตามกลุ่มจังหวัด
อ.ก้านเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายงานวิจัยอุดมศึกษา(สกอ.)ภาคใต้ตอนบน จึงใช้เครือข่ายเป็น กลไกในการดำเนินงาน โดยประสานให้ให้ผศ.สมศักดิ์ ชอบตรง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาม. ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นผู้รับผิดชอบ
งานนี้ทำกันมา 3 เวทีแล้ว โดยแยกประชุมระดมความเห็นผู้เกี่ยวข้องในรายจังหวัด เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเพียงประเด็นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผศ.สมศักดิ์และทีมงานได้สรุปความเห็นจาก 3 เวทีเป็น 9 หัวข้อ การประชุมครั้งนี้เป็นการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาช่วยกันดูว่า มีความครอบคลุมและมีความ ชัดเจนเพียงพอหรือยัง เพื่อช่วยกันเติมให้คมชัดยิ่งขึ้น
หน้าที่ของผมก็คือคุณอำนวยในเวที ซึ่งได้รับทราบภารกิจว่าดูกลุ่มท่องเที่ยวและได้รับเอกสารการประชุมตอนไปถึงพร้อมกับผู้เข้าร่วมประชุม

ผมอ่านเอกสารอย่างรวดเร็ว และสรุปหัวข้อทั้ง 9 ให้เชื่อมโยงกันโดยใช้แผนที่ความคิด ดังนี้

1) รูปแบบการท่องเที่ยว มีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ การเกษตร สุขภาพ นิเวศ และวัฒนธรรม

2) ใน 4 รูปแบบของการท่องเที่ยวมีประเด็นสนใจคือ การพัฒนาคุณภาพของบุคลากรและการให้บริการ

3) จุดที่สนใจในการท่องเที่ยวคือ แหล่งท่องเที่ยว โดยมีประเด็นเรื่องระบบข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ความเป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น เส้นทางท่องเที่ยวใหม่และการเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน
4) ทั้งหมดนี้(1 ถึง 3) จะใช้แนวคิดclusterในการเชื่อมโยงเครือข่าย และพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน

ผมใช้ข้อสรุปดังกล่าวซึ่งเขียนเป็นแผนที่ความคิดเป็นตัวเปิดประเด็นพูดคุย

(ถ้าทีมผศ.สมศักดิ์สรุปความเห็นเป็น 9 ประเด็นไม่ครอบคลุม ผมก็สรุปไม่ครบด้วย หรือการสรุปของผมจาก 9 ประเด็น ดังกล่าวทำได้ไม่ครบถ้วน ก็เป็นทักษะที่อ่อนหัดของผม จึงต้องดูที่มาตั้งแต่การเก็บ/บันทึกความคิดเห็นในแต่ละเวทีว่าถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ ไล่มาตามลำดับ)

บทบาทของผมก็คือการชวนคุยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือ ประเด็นนี้มีความครอบคลุมและลงลึกชัดเจนเพียงพอหรือยัง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมที่ล้วนมีประสบการณ์เรื่องการท่องเที่ยวในแง่มุมต่าง ๆเป็นอย่างดี
เรามีเวลา 2 ชั่วโมงในการหารือกัน และได้พูดคุยกันค่อนข้างสบาย โดยได้เนื้อหาเพิ่มเติมที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและมีความชัดเจนในประเด็นคำถามจนเป็นที่พอใจ

ผมดำเนินการประชุมด้วยความสนใจยิ่ง และจากเรื่องราวที่พร่างพรูมาจากผู้เข้าร่วมประชุม ผมสามารถบันทึกได้เพียงหัวข้อสรุป(มีอ.ซึ่งอยู่ในทีมของผศ.สมศักดิ์เป็นคุณลิขิต)แต่มีเค้าโครงกรอบคิดรวบยอดในประเด็นการท่องเที่ยวที่ผุดบังเกิดขึ้นมา ซึ่งผมเห็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะแนวคิดของผู้เข้าร่วมประชุมที่เสนอให้มีการรวมทรัพยากรจากหลาย ๆที่ทั้งซีอีโอ อปท. สกอ. ททท. สกว.เป็นต้นมาบริหารจัดการร่วมกันโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคีต่าง ๆ
ผมเห็นว่าถ้าจัดรูปการประสานจัดการแบบ task force โดยแนวคิดของการจัดการความรู้ก็น่าจะเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างมีพลังและยั่งยืนทีเดียว

โดยส่วนตัวผมนึกถึงอ.ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์ที่จะมาประสานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นจริงขึ้นมา

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2047เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2005 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

ผมได้เข้ามาติดตามอ่านกิจกรรมการประชุมที่ อ.ภีมเป็นวิทยากรกระบวนการ เรื่องยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มภาคใต้ตอนบน (สุราษฎร์ฯ ชุมพร และระนอง) พอจะจับประเด็นได้ถึงข้อสรุปของกลุ่ม และสนใจเป็นพิเศษกับข้อเสนอที่ว่า "ให้มีการรวมทรัพยากรจากหลาย ๆ ที่ ทั้งซีอีโอ อปท. สกอ. ททท. สกว.เป็นต้น มาบริหารจัดการร่วมกันโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคีต่าง ๆ" โดย "จัดรูปการประสานจัดการแบบ task force โดยแนวคิดของการจัดการความรู้"

แต่การปฏิบัติจริงที่ผมเห็นในระดับจังหวัด แผนงานโครงการที่มีตัวงบประมาณรองรับ ยังเป็นเรื่องที่ระดับ Policy ลงมาชี้นำในระดับ Operating ท่านต้องการอะไร ก็จะเป็นความเห็นที่ชัดเจน เด็ดขาด ปราศจากข้อโต้แย้ง กิจกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่เน้นหนักไปในเรื่อง อิฐ หิน ดิน ปูน

ไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่กลุ่มเห็นความสำคัญ ได้แก่

  • การพัฒนาคุณภาพของบุคลากรและการให้บริการ
  • ระบบข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์
  • ความเป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น
  • เส้นทางท่องเที่ยวใหม่และการเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน
  • แนวคิด Clusterในการเชื่อมโยงเครือข่าย
  • การพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน

เราคงต้องเริ่มที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่มีคำถามที่ผมอยากจะหยิบยกขึ้นมาให้เห็นประเด็นชัด ๆ ตรงนี้ว่า "บุคลากรในระดับ Policy ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด มีวิธีการใดบ้างที่จะดึงท่านเหล่านั้นให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ได้ ?"

ผมเห็นโจทย์จัดการความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเบื้องต้นแล้วครับ  "มีวิธีการใดบ้างที่จะดึงบุคลากรในระดับ Policy ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเครือข่ายภาคีต่าง ๆได้ ?"
ผมเห็นว่าอ.อยู่ในสถานะที่จะทำได้เป็นอย่างดีเพราะเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมรู้จัก
ถ้าจัดระบบการทำงานเป็นชุดจัดการความรู้เรื่องการท่องเที่ยว  ที่มีทั้งระนาบpolicyข้างต้น ส่วนปฏิบัติที่เป็นฝ่ายสนับสนุน   (คุณอำนวย)และส่วนปฏิบัติการที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งเอกชนและภาคชุมชนหรือสถาบันการศึกษา(หลักสูตร)ที่เป็นคุณกิจผูกโยงการเรียนรู้หลายมิติทั้งในระนาบเดียวกันและไขว้กัน ก็จะเกิดการเสริมพลังอย่างยิ่ง
ความสามารถของผู้ประสานงานหรือหัวหน้าชุดที่เป็นคุณเอื้อเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนดังกล่าว คือบุคลิกลักษระที่โดยส่วนตัวแล้วผมนึกถึงอาจารย์ครับ
ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

อ.ภีม ตั้งประเด็นให้ผมแต่ละครั้ง "ของขึ้น" อยู่เรื่อย อดที่จะนำไปคิดสานต่อไม่ได้ พันธมิตรของผมคือ อ.เทียมพบ จากพระจอมเกล้าฯ ชุมพร ก็มีความตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศใน จ.ชุมพร พูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงขั้นเปิดเวทีสักที

ผมเองเห็นและมีโอกาสเข้าไปแตะปัญหาโดยเฉพาะในส่วนที่ อ.ภีม มองว่าเป็นส่วนปฏิบัติการที่เป็นเจ้าของกิจการภาคธุรกิจเอกชน คือ กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งกำลังเจอปัญหาจากการบังคับใช้ พรบ.โรงแรม 2547 พวกเรา (กรรมการในหอการค้า จ.ชุมพร 3-4 คน) เห็นเป็น "โอกาส" ที่จะจัดตั้งให้เกิดการรวมตัวกัน จึงเข้าไป "จัดเวที" เชิญตัวแทนภาครัฐมาพูดคุยร่วมกัน วัตถุประสงค์เฉพาะหน้า คือ การทำความเข้าใจกับ พรบ. วัตถุประสงค์ระยะต่อไป คือ อยากจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้การแข่งขันมุ่งไปที่ "การตัดราคา" กันเป็นหลัก แต่อยากจะให้ส่งเสริม ควบคุม ดูแลกันเอง โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพห้องพัก และการบริการ ภายใต้มาตรฐานราคาที่เป็นธรรมต่อลูกค้า และความอยู่รอดของกิจการ

ผมพยายามหา Story เพื่อจะเอามา Telling เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นจริง ไปได้สวยในระดับหนึ่งทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ถ้า อ.ภีม มีเรื่องเล่าแบบนี้ให้คำแนะนำกันบ้างนะครับ

ไอศูรย์  ภาษยะวรรณ์

ป.ล. วันนี้ (จันทร์ที่ 8 ส.ค.48) ผมโทรติดต่อไปที่ กศน.ชุมพรตามแนวคิดประสานงานผ่าน Blog ของอ.ภีมแล้วครับ อ.สุรีย์ ดีใจมาก ผมว่าจะแวะไปนั่งคุยกันที่ กศน. ปรากฎว่า จังหวะยังไม่ตรงกัน และดูท่าว่า อ.สุรีย์จะตื่นเต้นมาก ตั้งใจจะนำชาวคณะ กศน. 5-6 คน มานั่งคุยกันที่ Office ของผม คืบหน้าอย่างไร ผมจะส่งข่าวให้ อ.ภีมทราบในฐานะ "ผู้ก่อการ (ดี)"  

ฝากเรียนอ.สุรีย์ด้วยครับว่า เครือข่ายเรียนรู้ 3 ตำบลที่เราร่วมกันดำเนินการที่นครศรีธรรมราชนั้น ทีมกศน.อ.เมืองโดยอ.จำนง หนูนิล ครูแต้ว และครูสาว 3 คนนี้มีความกระตือรือร้นมาก แม้ว่าจะเพิ่งเข้าร่วมได้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น พวกเราคาดหวังว่าคุณอำนวยรุ่นแรกจำนวน 9 คนจะกลายเป็นจอมยุทธที่จะสร้างคุณอำนวยรุ่นต่อไป ซึ่งผมคิดไว้ในใจว่ารุ่นหน้าจะเพิ่มเป็น 27 คนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท