นวัตกรรมท้องถิ่นไทย


นวัตกรรมท้องถิ่นไทย


          วันนี้ (3 ส.ค.48)   สกว. นัดประชุมประเมินผลงานและหาแนวทางขยายผลโครงการวิถีใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย   ซึ่งดำเนินการเสร็จไปแล้ว   มีผลงานสำคัญคือ   นามานุกรมนวัตกรรมท้องถิ่นไทย   ประจำปี 2547


          ข้อค้นพบที่สำคัญของโครงการนี้คือ   ยืนยันว่ามีเรื่องราวและผลงานดี ๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ริเริ่มเองโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากมาย   รวมกว่า 500 เรื่อง


          เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก


          ผมเพิ่งเข้าใจว่าในวิชาการด้านการปกครองเขาถือเป็นวิถีใหม่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น   โดยมีนิยามดังนี้  “วิถีใหม่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นวิธีการหรืออุบายเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างหนึ่ง   หลักการของวิถีใหม่คือการค้นหาต้นแบบหรือกรณีตัวอย่างที่ดีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง   และใช้เป็นบทเรียนเบื้องต้นสำหรับท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อจุดประกายความคิด   สร้างแรงบันดาลใจให้มีการริเริ่ม   ค้นหา  และพัฒนาที่หลากหลาย   เป็นพลวัตในวงกว้างมากขึ้น”


          ทีมวิจัยมีข้อสรุปว่า   การกระจายอำนาจมีผลต่อการเกิดนวัตกรรม


          ตรงนี้ผมรู้สึกว่าเป็นข้อสรุปเชิงกำปั้นทุบดิน   คล้ายสรุปว่าการมีน้ำอุดมสมบูรณ์มีผลต่อการมีปลา  


          แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่า   นี่เป็นงานวิจัยในหมู่ของ “นักปกครอง” ซึ่งมีวัฒนธรรมเน้นการควบคุมสั่งการ   ทีมวิจัยพยายามบอกว่านักปกครองต้องปกครองให้น้อยลง   ต้องให้อิสระแก่ท้องถิ่นมากขึ้น    นวัตกรรมด้านต่าง ๆ ในท้องถิ่นจึงจะเกิดขึ้นได้


          ผมนั่งฟังการนำเสนอผลการวิจัย   และการวิพากษ์วิจารณ์ในที่ประชุม   มองเห็นพหุมิติของเรื่องนี้อย่างชัดเจน   นักปกครองมองเขม้นที่มิติของการกระจายอำนาจการปกครอง   ผมมองเขม้นที่ผลประโยชน์ของประชาชน   และมองที่การเรียนรู้ร่วมกันในบ้านเมือง   ทำให้มีการเรียนรู้จากทุกกิจกรรมในทุกหย่อมหญ้าของสังคม


          ผมได้เสนอยุทธศาสตร์ดำเนินการต่อ 5 ด้าน   ซึ่งต้องทำร่วมกันทั้ง 4 ด้านดังนี้
1.      การวิจัย   ควรวิจัยเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นไทย/วิถีใหม่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น/การกระจายอำนาจการปกครอง   อย่างน้อย 4 แนวทาง
1.1  การวิจัยเชิงระบบ   เชิงกฎระเบียบ   ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ อปท.
1.2  การวิจัยเชิงเทคนิค   หรือวิธีการที่จะทำให้ อปท. ดำเนินการได้ดี
1.3  การวิจัยย้อนทางจากเรื่องราวความสำเร็จของนวัตกรรม   หาความรู้เชิงทฤษฎีจากความสำเร็จนั้น
1.4  การวิจัยสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาทของ อปท. ในการทำหน้าที่แนวใหม่   คือหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน   ทำให้ท้องถิ่นของตนเป็นท้องถิ่นเรียนรู้   ในยุคสมัยของ knowledge – based society
2.      การสื่อสารสาธารณะ   เอาผลสำเร็จของนวัตกรรม   และผลวิจัยออกสู่สังคม   แต่ต้องมีการจัดการการสื่อสารในรูปแบบใหม่   ที่เน้นกระแสสังคมเป็นตัวตั้ง
3.      เครือข่ายการเรียนรู้   แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง อปท.   โดยมีกลไกการจัดการเครือข่าย   ให้มีฐานข้อมูลให้บริการอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ F2F  และ B2B
4.      มหกรรมนวัตกรรมท้องถิ่นไทย   จัดอย่างสม่ำเสมอทุก 1 – 2 ปี   เชื่อมโยงกับกิจกรรม      ข้อ 1 - 3
5.      การเชื่อมโยงกับนวัตกรรมที่ชุมชนในท้องถิ่นริเริ่มกันเอง   ภายใต้การสนับสนุนจากหลากหลายแหล่ง


         ยุทธศาสตร์ผมเสนอต่อที่ประชุมทั้ง 5   จะมี KM เป็นเครื่องมือ   คือต้องดำเนินการแบบ km inside   ผมคิดว่า อปท. น่าจะพัฒนา “คุณอำนวย” ขึ้นทำหน้าที่ตามข้อ 1.4

 

           

     รศ. จรัส  สุวรรณมาลา  หัวหน้าโครงการวิจัย            บรรยากาศการประชุม


                                                                                      
                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   3 ส.ค.48


         

หมายเลขบันทึก: 2046เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2005 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท