Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๑)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๗)

การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนา “กุดขาคีม” อย่างยั่งยืน

        (โปรย)   เมื่อการใช้น้ำคือปัญหาที่ค้างคามานาน คนรอบกุดขาคีมจึงร่วมกับนักวิจัย ใช้การจัดการความรู้ “รวมหัว”หาวิธีสร้างความรู้อย่างเป็นระบบ  ทั้งการหาความรู้ภูมิปัญญาเดิม ทำแผนที่และวางแผนสำรวจพื้นที่จริง และอีกหลายวิถีของการให้ชุมชนร่วมตรวจสอบและเดินด้วยความเขาใจไปพร้อมกัน  ทำให้ชาวบ้านมีฐานข้อมูลที่จะนำไปต่อยอดกับการแก้ปัญหาการใช้น้ำได้อย่างสมดุลและยั่งยืนในอนาคต

กุดขาคีมคืออะไร
          กุดขาคีม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่เชื่อมต่อกับลำน้ำมูล ตั้งอยู่ทิศเหนือของตำบลกุดขาคีม ตำบลทับใหญ่ อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  มีลักษณะทางกายภาพเป็น “บากง่าม” คล้ายๆ ขาหนังสติ๊ก หรือ คีมเหล็ก เป็นกุดที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี ชาวบ้านรอบๆ กุดขาคีม จำนวน 10 หมู่บ้าน จาก 2 ตำบล คือ ต.กุดขาคีม และ ต.ทับใหญ่  ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำสาธารณะแห่งนี้ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต  ทั้งในการทำการเกษตร ( ทำนาทาม )  เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ทั้ง ผัก เห็ด มันแซง  ไม้ฟืน ปลา เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำน้ำประปาหมู่บ้าน และใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมแข่งเรือประจำปี 
         ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ส่งให้รูปแบบการใช้ประโยชน์ในบริเวณกุดขาคีมของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเปิดพื้นที่ทามเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ และ ยูคาลิปตัส มีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำนา รวมทั้งการพัฒนาภายใต้โครงการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น  การขุดคลอง การทำถนน การสร้างทำนบกั้นน้ำ ทำให้ต้นไม้ใหญ่รอบกุดถูกตัด ความสมบูรณ์ของป่ารอบกุดลดลง ตลิ่งถูกกัดเซาะพังทลาย การถมคู คลอง หนอง บึงธรรมชาติ ปิดกั้นกระแสทางเดินของแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับกุดขาคีมแต่เดิม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปริมาณปลา และสัตว์น้ำลดลง มีสนิมเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านสัญจรไปมาลำบาก
         ชาวบ้านรอบกุดขาคีม ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น เมื่อการสร้างเขื่อนราษีไศลแล้วเสร็จ เพราะการกักเก็บน้ำของเขื่อนทำให้ปริมาณน้ำในกุดขาคีมสูงขึ้นท่วมพื้นที่ทาม ชาวบ้านทางส่วนหนึ่งจึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาและได้ร่วมทำงานพัฒนากับนักพัฒนาจากองค์กรเอกชนในพื้นที่ซึ่งขณะนี้ได้มุ่งเน้นการทำงานตามกรอบแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรอย่างมาก

รวมกลุ่ม ค้นหาปัญหาและแนวทางแก้ไข
         กระบวนการจัดการความรู้ของชุมชนรอบกุดขาคีม  เกิดขึ้นจากการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ : GRID FOUNDATION ) ซึ่งทำงานพัฒนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เชิญแกนนำชาวบ้านที่อยู่ในเครือข่ายมาพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียน การต่อสู้เรื่องเขื่อนราษีไศล ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง ในเวทีได้ข้อสรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการสร้างเขื่อนของรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และขาดการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือ ทำให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น  ในขณะเดียวกัน  ข้อมูลจาก การทำ งานวิจัยของนักวิชาการ จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อชาวบ้าน เนื่องจากขาดการศึกษาถึงระบบการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งไม่ได้เสนอทางเลือก ทางออกที่หลากหลายให้กับรัฐ

ตั้งโจทย์ ตั้งเป้า เดินด้วยงานวิจัย
         ในเวทีพูดคุยมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะลองใช้ “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นเครื่องมือในการ  สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร โดยประเด็น การจัดการแหล่งน้ำโดยองค์กรชุมชน ได้มอบหมายให้ นายรุ่งวิชิต คำงาม นักพัฒนาองค์กรเอกชน เป็นผู้รับผิดชอบ และเลือก “กุดขาคีม” เป็นพื้นที่ทดลองวิจัยเชิงปฏิบัติการ ด้วยเหตุผลที่ว่า  กุดขาคีมแม้จะเสื่อมโทรมไปบ้างแต่ก็ยังมีศักยภาพที่ว่าหากงานวิจัยดำเนินไปจนสำเร็จ นั่นคือได้รูปแบบการจัดการแหล่งน้ำสาธารณะโดยองค์กรชุมชนได้จริง ก็จะเป็นตัวอย่างในการขยายผลต่อชุมชนอื่นๆ และหน่วยานภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรรม  อีกทั้งชาวบ้านรอบกุดขาคีมแม้จะไม่มีรูปแบบการจัดการน้ำร่วมกันที่ชัดเจน แต่ในบางหมู่บ้านก็มีการริเริ่มกิจกรรมในเชิงการจัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนบ้างแล้ว เช่น การจัดทำแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา เป็นต้น และที่สำคัญคือ ความสมัครสมานสามัคคีอยู่สูง ดังจะเห็นได้จาก กรณีที่ชาวบ้านช่วยกันกำจัดสนม (เศษวัชพืชใต้น้ำที่เกาะตัวกันเป็นแผ่นหนาๆ) ซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสน้ำที่ไม่ไหตกค้างเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางเรือ และการหาปลา ของชาวบ้านอย่างมาก ชาวบ้านระดมกำลังช่วยกันตัดสนมเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ไหลไปกับกระแสน้ำจนสำเร็จ โดยใช้เวลาถึง 17 วัน  นอกจากนี้ยังมีมีกระแสนโยบายจะพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแกนนำชุมชนหลายคน ร่วมทำงานพัฒนากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อยู่แล้ว ( รู้จักกัน และ มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน) 
         เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างกระบวนการให้สมาชิกในชุมชนรอบกุดขาคีมตระหนักถึงความสำคัญของ “กุดขาคีม” ที่มีต่อวิถีชีวิตของพวกเขา และเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการจัดการ “กุดขาคีม” เพื่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน 

รวมคนที่มี “ใจ” มาช่วยกันทำงาน...
         การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม  เริ่มต้นจาก รวบรวมคน มาเป็น ทีมวิจัยหลัก  คุณรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการวิจัยเลือกที่จะชักชวน “แกนนำ”  ของชุมชนรอบกุดขาคีมจากทั้ง 2 ฝั่ง (ตำบล) มาร่วมเป็นทีมงานหลัก เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่สมาชิกในชุมชนให้การยอมรับนับถืออยู่แล้ว การได้แกนนำชุมชนมาร่วมทำงาน จะทำให้มีโอกาสประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายสูง   โดย แกนนำฝั่งตำบลทับใหญ่ ได้แก่ พ่อหรรษ์ เพิ่มผล พ่อบุญจันทร์ บุญด้วง พ่อหัด สระสงคราม และพ่อประทีป มืดไทย แกนนำเหล่านี้ เป็นกลุ่มแกนนำที่ทำงานต่อสู้เรื่องเขื่อนราษีไศลกับคุณรุ่งวิชิตอยู่แล้วจึงชวนได้ไม่ยาก ส่วนแกนนำฝั่งตำบลกุดขาคีม ได้แก่ พ่อคาน พ่อนวล คำเภา พ่อสิน ธรรมษา พ่อบุญโฮม ปราบชมพู พ่อยืน จำปาเมือง และพ่อดำรงค์ แก้วสุจิตร  พ่อคาน บอกถึงเหตุผลที่แกนนำชุมชนเข้ามาร่วมทำงานวิจัยว่า  “คนที่ยินดีร่วมมือด้วย เพราะเราชี้แจงเหตุผลให้เขาฟังว่า เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของกุดขาคมว่าทำอย่างไรให้มันดีขึ้น สิ่งที่มันเสียไปแล้วทำอย่างไรจึงจะฟื้นคืน ทุกคนต่างหวังในใจว่างานวิจัยจะช่วยให้ชุมชนเกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น“ การทำงานจึงเริ่มต้นด้วย ทีมวิจัยหลัก 11 คน ประกอบด้วย นักพัฒนาองค์กรเอกชน 1 คน และแกนนำชุมชน 10 คน  ซึ่งทีมวิจัยหลักนี้ก็ได้ช่วยกันทำหน้าที่ สร้างความรู้ และนำความรู้ไปขยายผลสร้างการรับรู้กับชุมชนอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเกิดผลในเชิงรูปธรรมตามมามากมาย

กระบวนการ “สร้างความรู้”
         หัวหน้าโครงการวิจัย ใช้ กิจกรรมในโครงการวิจัย ในการสร้างความรู้ และสร้างการเรียนรู้ร่วมร่วมกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านซึ่งเป็นแกนนำชุมชน รวมทั้งกับแกนนำชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้ามาร่วมเป็นทีวิจัยหลักด้วย กิจกรรมเหล่านี้ เกิดจากการคิดร่วมกันของทีมวิจัย และการเสนอแนะจาก สกว.สำนักงานภาค
 
         ในเบื้องต้น กิจกรรมวิจัยมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับกุดขาคีม ทั้งทางด้านกายภาพ และ การใช้ประโยชน์ ของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็น “ฐานข้อมูล” ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนต่อไป โดยมีกิจกรรมการเก็บข้อมูลที่สำคัญคือการลงสำรวจสภาพพื้นที่จริงที่ทีมวิจัยและแกนนำชาวบ้าน กว่า 30คน ลงไปสำรวจจริงเพื่อให้ทราบภูมิศาสตร์และลักษณะการใช้ประโยชน์ จดบันทึกไว้  ได้ผลสรุปที่ทำให้ ทีมวิจัย และชาวบ้านได้รู้จักสภาพพื้นที่จริง เกิดความรู้แจ้งในศักยภาพของตนเองว่ามีความเชี่ยวชาญ หรือ ข้อจำกัดอย่างไร ชาวบ้านสรุปว่า ควรทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ “ทันกัน”  ทีมวิจัยนำข้อมูลจากการสำรวจมาจัดทำแผนที่กุดขาคีม   อาทิ ตำแหน่งของแหล่งน้ำ ทางน้ำเข้า-ออก พื้นที่ทำนา พื้นที่เลี้ยงสัตว์ คลอง พื้นที่ป่า หัวไร่ปลายนา พื้นทีที่สูง-ต่ำ โดย นำข้อมูลวาดลงบนกระดาษคลิปชาร์ทต่อกันเป็นผืนใหญ่ ทำให้เห็นภาพการใช้ประโยชน์จากกุดขาคีมทั้งหมดและเข้าใจความเชื่อมโยงของระบบนิเวศน์โดยรวมอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกและแผนที่แผ่นใหญ่นี้ ได้ใช้เป็น “สื่อ” ประกอบในการจัดประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับชาวบ้าน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาโดยตลอด 
         นอกจากนี้ยังได้แบ่งกลุ่มศึกษาข้อมูลเชิงลึก ด้วยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ จากกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้หาปลา กลุ่มใช้น้ำ กลุ่มทำนา กลุ่มปลูกผัก กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มหาของป่า  กลุ่มประปา เป็นต้น ( กลุ่มอาชีพเหล่านี้ ทีมวิจัยชาวบ้าน รวมทั้งแกนนำชุมชน จะรู้ข้อมูลอยู่แล้วว่า ใครพึ่งพากุดฯ เพื่อการยังชีพในด้านใดเป็นหลัก ) ทำให้ได้ข้อมูลการการพึ่งพาและการใช้ประโยชน์จากกุดในลักษณะต่าง ๆ

การจัดเวที “โสเหล่” กลุ่มย่อย เติมเต็มข้อมูล
         เนื่องจากทีมวิจัยเป็น “ชาวบ้าน” การเก็บข้อมูล แม้จะมีการวางแผน และกำหนดกรอบไว้แล้ว แต่เมื่อนำข้อมูลมาสรุปร่วมกัน หรือ นำเสนอข้อมูลในเวทีใหญ่ ก็จะพบว่า ยังขาดข้อมูลที่สำคัญ ในบางเรื่อง หรือ ขาดรายละเอียดที่จำเป็นบางอย่าง หรือ ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ทีมวิจัย จึงต้องกลับไปทำการเพิ่มเติมข้อมูลอีกหลายรอบ และวิธีการหนึ่งที่ใช้ ก็คือ การจัดเวทีโสเหล่ กลุ่มย่อย โดย เลือกชวนชาวบ้านที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมา ระดมข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับ พัฒนาการการจัดการน้ำกุดขาคีม จากคำบอกเล่าของคนแก่ (ความทรงจำ แต่เด็ก) ปรียบเทียบข้อมูลจากกับสภาพปัจจุบัน ช่วยกันวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี พ.ศซ.2500-ปัจจุบัน อย่างเป็นลำดับชัดเจน

ศึกษาหาความรู้ใหม่จากภายนอกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้
         หลังจากทีมวิจัย สามารถสร้างความเข้าใจกับแกนนำชุมชน ชาวบ้าน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถกำหนดรูปแบบการจัดการกุดขาคีมโดยองค์กรชุมชนที่ชัดเจน ทีมวิจัยและแกนนำชุมชน จำนวน 38 คน ได้จัดกิจกรรมศึกษาหาความรู้ใหม่จากภายนอกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ โดยได้เดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการน้ำโดยชุมชน 2 แห่ง ได้แก่  กว๊านพะเยา เป็นพื้นที่ชุมน้ำมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกุดขาคีม มีความโดดเด่นของการอนุรักษ์ป่าไม้ และแหล่งน้ำธรรมชาติ การแลกเปลี่ยน ทำให้ ได้แนวคิดเรื่องการบังคับใช้กฎระเบียบ และการใช้ประเพณีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  อีกแห่งคือ  การจัดการน้ำของชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาช้าง เป็นการจัดการน้ำโดยองค์กรชาวบ้าน ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการดึงการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามาพูดคุยหาสาเหตุ หาทางออกร่วมกัน  เห็นพลังของการร่วมคิดร่วมทำ

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 20400เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2006 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท