บันทึกการเมืองไทย : (๒๘) สถานการณ์เผชิญหน้า


         ผมเป็นคนไร้เดียงสาทางการเมือง    ไม่ได้เอาใจใส่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด    จึงตื่นตาตื่นใจมากเมื่อได้ร่วมวงอาหารเที่ยงกับคนระดับรองปลัดกระทรวง    ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ ๑๑   อธิบดี   ผู้ว่าราชการจังหวัด   อธิการบดี    เลขาธิการ    และอดีตทั้งหลาย    คุยกันเรื่องความคับขันของสถานการณ์ยั่วยุการเผชิญหน้าของทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายขับไล่ กับฝ่ายเชียร์    เมื่อวันที่ ๑๑ มีค. ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ในการประชุมของ สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี    ศ. ดร. ปรัชญา เวสารัชช ได้รับโทรศัพท์ประมาณ ๕ ครั้ง จากเลขา ที่ มสธ.    ว่าทางกลุ่มเชียร์จะนำรถอีแต๋นมาที่ มสธ. ๓๐ – ๔๐ คัน เพื่อขอให้ ทปอ. สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมย.    ศ. ดร. ปรัชญา เป็นประธาน ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดี)     ผู้ร่วมโต๊ะอาหารเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่โน่นที่นี่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด    ซึ่งเมื่อมีการไปชุมนุมเรียกร้องก็จะมีการกล่าวหาคนโน้นคนนี้ ลุกลามความขัดแย้งออกไปเรื่อยๆ    มีคนบอกว่าที่ถนนสีลม ม็อบที่ออกมาขับไล่เป็นกลุ่มพนักงาน ซึ่งอยู่ทางต้นถนน ถัดจากอาคารธนาคารกรุงเทพออกมา     แต่ทางปลายถนนไปต่อถนนเจริญกรุง เป็นร้านเพชรพลอย ตัวเจ้าของร้านไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลาม ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายขับไล่    เกิดการแตกแยกขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม    ทั่วประเทศ     มีคนกล่าวว่าใครมาเป็นรัฐบาลต่อจากนี้ ก็จะปกครองบ้านเมืองยากมาก เพราะเกิดความแตกแยกรุนแรงทั่วไปหมด    มีการพูดกันว่า กรรมการ กกต. ที่เหลืออยู่ ๔ คนน่าจะเป็นบุคคลที่ถุกบีบคั้นอย่างที่สุด    ดูฝ่ายพันธมิตรฯ ก็อ่อนล้า     ดูนายกก็หม่นหมอง

        เมื่อวาน ดร. โคทม อารียา ในฐานะ ผอ. สถาบันสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์มาชวนไปร่วมอภิปราย ในวันที่ ๒๘ มีค. ว่ามหาวิทยาลัยควรทำอะไรบ้าง ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้    บังเอิญผมติดนัดหมด จึงไปไม่ได้    ผมหวนกลับมาคิดว่าหากผมไปได้ ผมจะพูดอะไร    ก็รู้สึกว่าไม่มีความรู้ความชำนาญที่จะไปพูดอะไร    นอกจากไปบอกว่า มหาวิทยาลัยมีคุณค่าต่อสังคมอย่างยิ่งใน ๒ ประการ คือ (๑) เป็นองค์กรแห่งความจริง    ตรงไหนที่ไม่รู้จริงก็เข้าไปหาทางทำให้รู้มากขึ้น จนถึงรู้ทั้งหมด หรือรู้จริง    ในกรณีความขัดแย้งนี้  มหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปทำวิจัย ทำความจริงให้แจ้ง    ทำความมืดลับให้สว่างและเผยแพร่ให้รู้เห็นกันไปทั่วทั้งสังคม    ทำสิ่งที่ซับซ้อนเข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ง่าย และเข้าใจกันทั่วถึงทั้งแผ่นดิน   (๒) เป็นองค์กรที่สามารถดำรงความเป็นกลางทางการเมืองได้    สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ไม่เชียร์ใครหรือกล่าวร้ายใคร    แต่เป็นข้อความจริงที่ตรวจสอบและพิสูจน์แล้ว    เป็นความจริงที่นำเสนอในหลากหลายมุมมอง    มหาวิทยาลัยจึงน่าจะดำรงความน่าเชื่อถือได้ดีที่สุดองค์กรหนึ่งในสังคม    น่าจะเป็นหลักของสังคมได้ในภาวะที่คนเริ่มไม่ฟังกัน ไม่เชื่อใจกัน และแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย เช่นนี้

วิจารณ์ พานิช
๒๒ มีค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20398เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2006 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท