การเขียนแผนธุรกิจ


เริ่มทำความรู้จักสักนิดในวันนี้ แล้วคุณจะรู้ว่า โลกธุรกิจ เข้าใจง่าย

 

การเขียนแผนธุรกิจ

                แผนธุรกิจ นับเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ริเริ่มจะก่อตั้งกิจการ แผนนี้เป็นผลสรุปหรือผลรวมแห่งกระบวนการคิดพิจารณา และการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจแผนธุรกิจเปรียบเหมือนแผนที่ในการเดินทางที่จะช่วยชี้แนะขั้นตอนต่าง ๆ ทีละขั้นตอนในกระบวนการก่อตั้งกิจการ แผนจะให้รายละเอียดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการตลาด การแข่งขัน กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ การคาดคะเนทางการเงิน ที่จะชี้นำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ หรือชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อควรระวัง

คำถามที่มีมาประจำ?????

แผนธุรกิจควรมีอะไรบ้าง?
                แผนธุรกิจที่ดีย่อมช่วยในการวัดถึงความเป็นไปได้ของกิจการที่จะลงทุน ตัวแผนจึงควรประกอบด้วยการวิเคราะห์อย่างละเอียดในตัวแปรหรือปัจจัยดังต่อไปนี้

1. สินค้าหรือบริการที่จะขาย
2. กลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง
3. จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ
4. นโยบายการตลาด
5. วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ต้องใช้
6. ตัวเลขทางการเงิน นับตั้งแต่รายได้ที่คาดว่าจะได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน จำนวนเงินลงทุนที่ต้องการ และกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้มาหรือใช้ไป

 

แผนธุรกิจสำคัญอย่างไร/ แผนธุรกิจสำคัญในฐานะ?

1. ที่จะให้รายละเอียดของการเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดแนวทางของความคิดและช่วยให้ผู้ประกอบการแน่วแน่ต่อการใช้ทรัพยากรและกำลังพยายามและ ไปสู่เป้าหมาย
2. เป็นเครื่องมือที่จะแสวงหาเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุน จากกองทุนร่วมลงทุน และจากสถาบันการเงินต่างๆ
3. ที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่ให้รายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมในการจัดหาเงินทุนกิจกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการตลาด และอื่นๆ ในการบริหารกิจการใหม่ แผนธุรกิจยังใช้เพื่อกำหนดการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องในอนาคตของกิจการด้วย

ทำไมต้องพิถีพิถันกับการเขียนแผนธุรกิจ?

                ผู้ที่ริเริ่มจะก่อตั้งธุรกิจใหม่ จำเป็นต้องให้เวลากับการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้ได้แผนที่ดี ทั้งนี้เพราะ

                1. แผนที่ดีเป็นตัวชี้ว่าผู้เขียนมีความสมารถ ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดความฝันเท่านั้น แผนที่ดีจะทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้แน่ใจว่า ผู้ประกอบการใหม่สามารถทำให้ความคิด ความฝันกลายเป็นความจริงได้
                2. แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นมืออาชีพ ความสมบูรณ์ครบถ้วนของแผนจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถและความใส่ใจเพียงใด เพราะถ้าแผนขอกู้ยังไม่มีคุณภาพ ย่อมคาดหวังไม่ได้กับคุณภาพการประกอบการในอนาคต
                3. แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวอย่างดี แผนจะบอกถึงระดับความเตรียมพร้อมในธุรกิจที่จะลงทุน ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความรู้เท่าทันในธุรกิจนั้นๆ ขนาดไหน ยิ่งถ้ามีระดับการเตรียมพร้อมและทางหนีทีไล่มากเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้รู้สึกเสี่ยงน้อยลงเท่านั้น
                4. แผนที่ดีเผยให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ คือเป็นผู้เล็งการณ์ไกล และมีวิธีจะจัดการกับสิ่งท้าทายในอนาคต

 

แผนธุรกิจที่ดี เมื่ออ่านแล้วจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้?

                1. การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง
                2. ธุรกิจนี้น่าลงทุนหรือไม่
                3. ธุรกิจมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
                4. ธุรกิจนี้มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด
                5. สินค้าที่จะผลิตมีวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด้
                6. สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
                7. วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้น มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่
                8. หน้าที่ต่าง ๆ เช่น การผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดี
และเหมาะสม  เพียงใด
                9. จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่

แผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคตของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กร รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงินและนักลงทุนภายนอกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการในอนาคตได้ โดยปกติแผนธุรกิจจะบอกให้เราทราบว่าปัจจุบันเราเดินอยู่ ตรงไหน อนาคตจะไปอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร โดยทั่วไปองค์ประกอบของแผนธุรกิจจะประกอบไปด้วย 10 หัวข้อหลัก ดังนี้

1. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
                เป็นส่วนที่สรุปใจความสำคัญ ๆ ของแผนธุรกิจทั้งหมด และต้องเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ในตัวเอง (Standalone document) โดยจะชี้ให้เห็นประเด็นที่มีความสำคัญ คือ จะชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสจริงเกิดขึ้นได้ในตลาดสำหรับธุรกิจที่กำลังคิดจะทำ และชี้ให้เห็นว่า สินค้าและบริการที่จะทำนั้น สามารถใช้โอกาสในตลาดให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ดังนั้นบทสรุปจึงมีความจำเป็นต้องเขียนให้เกิดความน่าเชื่อ หนักแน่น มีความเป็นไปได้ เนื่องจากบทสรุปของผู้บริหารเป็นเพียง "บทสรุป" จึงต้องเขียนให้สั้น กระชับ และกะทัดรัด (ไม่ควรเกิน 2 - 3 หน้า) และเป็นส่วนสุดท้ายในการเขียนแผนทังหมด เนื้อหาในบทสรุปของผู้บริหารควรได้กล่าวถึง

- จะทำธุรกิจอะไร มีแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจนั้นอย่างไร โดยอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้าและบริการ
- โอกาสและกลยุทธ์ บอกถึงความน่าสนใจ ตลอดจนแนวโน้มของธุรกิจ ที่จะแสดงว่าโอกาสทางการตลาดนั้นเปิดทางให้
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อธิบายถึงลักษณะทางการตลาด กลุ่มลูกค้าหลัก การวางแผนการเข้าถึง ลูกค้า
- ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของธุรกิจ รวมถึงทางด้านตัวผลิตภัณฑ์ และความได้เปรียบต่อคู่แข่งขัน
- ทีมผู้บริหาร สรุปถึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะ ควรจำกัดไม่เกิน 3 - 5 คน และเป็น ผู้ที่มีผลกระทบต่ออนาคตและความสำเร็จของธุรกิจ
- แผนการเงิน/การลงทุนโดยระบุถึงเงินลงทุน จะทำอะไร ผลตอบแทนของการลงทุน จะเป็นเท่าไร
 

 

2. ประวัติกิจการ / ภาพรวมของกิจการ
                ในส่วนนี้เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อตั้ง / จดทะเบียน ตลอดจนแนวคิด และการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด การคิดค้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่จะนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการจะเป็นในอนาคต

3. การวิเคราะห์สถานการณ์
                การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เรียกกันว่า “SWOT ANALYSIS” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
3.1 การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน  เป็นการตรวจสอบความสามารถ ความพร้อมของกิจการในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นในส่วนที่เป็นจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses) ของกิจการ

3.2 การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก  เป็นการประเมินสภาพแวดล้อมที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ในลักษณะที่เป็นโอกาส (Opportunities) หรืออุปสรรค(Threats)ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการควรได้เริ่มวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกเนื่องจากเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมได้ โดยทั่วไปปัจจัยภายนอกที่มีความสำคัญที่ผู้ประกอบการควรจะต้องให้ความสนใจ มี 7 ประการ สามารถเรียกง่าย ๆ ว่า "MC-STEPS" โดยมีความหมายพอ

สรุป ได้ ดังนี้
M = Market คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
C = Competition คือ สถานการณ์การแข่งขัน
S = Social คือ ค่านิยมทางวัฒนธรรมของสังคม เช่น การใช้สินค้าที่มียี่ห้อ
T = Technology คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
E = Economic คือ สถานการณ์
P = Political & Legal คือ สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎ ระเบียบต่าง ๆ
S = Suppliers คือ กลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบ / กลุ่มผู้ผลิตและเครือข่าย

 

4. วัตถุประสงค์ และเป้าหมายทางธุรกิจ
                เป็นผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของการจัดทำแผน โดยทั่วไปเป้าหมายธุรกิจแบ่งออกเป็น เป้าหมายโดยรวมของกิจการ และเป้าหมายเฉพาะด้านในแต่ละแผนก/ลักษณะของงานนอกจากนี้เป้าหมายทางธุรกิจยังควรแบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น ในช่วงระยะเวลา 1 ปี เป้าหมายระยะปานกลาง ระยะเวลา 3 - 5 ปี และเป้าหมายระยะยาว ที่นานกว่า 5 ปีลักษณะเป้าหมายธุรกิจที่ดี ประกอบไปด้วย
                4.1 ความเป็นไปได้ หมายถึง กิจการมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมาย
                4.2 สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ ความชัดเจนที่สามารถประเมินได้ว่ากิจการบรรลุ

                ตาม เป้าหมายแล้วหรือไม่
                4.3 เป็นไปในทางเดียวกัน คือ เป้าหมายย่อย ๆ ในแต่ละฝ่าย ควรมีลักษณะที่สอดคล้องกัน

 
5. แผนการตลาดและการวิจัย

แผนการตลาด

                ในการทำธุรกิจนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมุมมองทางด้านการตลาด ผู้ประกอบการจะต้องหาให้ได้ หรือมองให้ออกว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสนองความต้องการนั้น กำไรที่เกิดขึ้นนั้นคือผลงานจากการทำให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจสูงสุดแผนการตลาดเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน โดยทั่วไปจะเป็นการวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนการตลาด ดังนี้


                5.1 กำหนดขอบเขตธุรกิจหรือขอบเขตการตลาด (Market Definition)
                5.2 การวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis) มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
                                - วิเคราะห์ลูกค้า
                                - วิเคราะห์คู่แข่ง
                                - วิเคราะห์ต้นทุน
                                - วิเคราะห์แนวโน้ม ส่วนใหญ่
                5.3 การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation)

 

โดยทั่วไปจะนิยมแบ่งส่วนตลาดใน 4 ลักษณะ ดังนี้
ภูมิศาสตร์
- ภาค
- ในเมืองหรือชนบท
ประชากรศาสตร์
- อายุ
- เพศ
- รายได้
จิตวิทยา
- รูปแบบการดำเนินชีวิต
- ชั้นวรรณะ สูง กลาง ต่ำ
พฤติกรรม
- โอกาสซื้อบ่อยแค่ไหน
- ความภักดีต่อสินค้า

กลยุทธ์ทางการตลาด
                กลยุทธ์ทางการตลาด โดยทั่วไปการวางแผนทางด้านการตลาด มักจะมีขั้นตอนง่าย ๆ เรียกว่า

STP & 4P’s ดังนี้

                1. S มาจาก Segmentation คือ การแบ่งส่วนตลาด
                2. T มาจาก Targeting คือ การกำหนดลูกค้าเป้าหมายว่ากลุ่มไหนที่เราจะเลือก
                3. P มาจาก Positioning คือ การสร้างภาพพจน์ในใจของลูกค้า
                4. 4 P’s มาจากส่วนผสมที่ลงตัวในโปรแกรมทางการตลาด 4 ตัว เปรียบเสมือนแผนปฏิบัติการ
                (Action Plan) ทางการตลาด ดังนี้

4.1 Product คือ สินค้า/บริการ
4.2 Price คือ ราคา
4.3 Place คือ ช่องทางการจำหน่าย
4.4 Promotion คือ การส่งเสริมทางการตลาด


นอกจาก    ส่วนประสมทางการตลาด 4 P’s   ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี 4 C’s ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนประสม
ทางการตลาดยุคใหม่ที่มองทางด้านความต้องการของผู้บริโภคและควรที่จะต้องนำมาใช้ร่วมในแผนปฏิบัติการทาง
การตลาดด้วย ดังนี้    5. 4 C’s
5.1 Consumer Need คือ ผลิต/ขายสินค้าตามความต้องการของลูกค้า
5.2 Customer Benefits คือ ผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ
5.3 Convenience คือ เป็นสินค้าที่สะดวก
5.4 Communication คือ การรับรู้ข่าวสารสินค้า

 

การวิจัย


                การวิจัยคือจุดเริ่มต้นสำหรับการตลาด หากไม่ทำวิจัยก่อนก็เหมือนกับบริษัทนั้น ๆ เข้าสู่ตลาดเหมือนคนตาบอด

                การวิจัยทำให้บริษัทตระหนักว่า โดยปกติแล้วผู้ซื้อในตลาดหนึ่ง ๆ จะมีความต้องการ ความเข้าใจ และความชอบต่างกันไป เช่น ผู้หญิงต้องการรองเท้าที่ต่างจากผู้ชาย คนอ้วนต้องการรองเท้าต่างจากคนผอม และเมื่อแฟชั่นเข้าสู่ตลาดรองเท้า ความชอบก็จะยิ่งขยายวงกว้างออกไป ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างด้านรายได้ การศึกษาและรสนิยม

6. แผนการบริหารจัดการและแผนการดำเนินงาน
                เป็นการกำหนดโครงสร้างองค์กร และผู้บริหารที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจด้านอื่น ๆ ของ กิจการ มีแผนด้านทรัพยากรบุคคลที่ดี ในส่วนนี้จะประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้

6.1 สถานที่ตั้ง
6.2 โครงสร้างองค์กร และทีมผู้บริหาร
6.3 แผนด้านบุคลากร จำนวน เวลาทำงาน ค่าตอบแทน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ
6.4 เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ซื้อ เช่า เช่าซื้อ



7. แผนการผลิต/ปฏิบัติการ
                แผนการผลิตและปฏิบัติการที่ดีต้องสะท้อนความสามารถขององค์กรใน "การจัดการกระบวนการผลิตและปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล" เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็น
                การจัดการไปยังกระบวนการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิตในการวางแผนปฏิบัติการ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตาม
ประเด็นที่สำคัญ คือ

7.1 คุณภาพ
7.2 การออกแบบสินค้าและบริการ
7.3 การออกแบบกระบวนการผลิต และการตัดสินใจเรื่องกำลังการผลิต
7.4 การออกแบบผังของสถานประกอบการ
7.5 การออกแบบระบบงาน และวางแผนอัตรากำลังคนในกระบวนการผลิต

โดยการพิจารณาถึงรายละเอียดของระบบงานเป็นการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในกระบวนการผลิต การใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และการใช้อัตรากำลังคนที่เหมาะสม สำหรับหน้าที่ต่าง ๆ คุณสมบัติของพนักงานทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ

8. แผนการเงิน
                เมื่อมีการกำหนดแผนการตลาด แผนการบริหารจัดการ และแผนการผลิตได้แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีแผนการเงินมารองรับ เนื่องจากในทุกกิจกรรมต้องใช้เงินทั้งนั้น ในท้ายที่สุดของแผนธุรกิจจะต้องมีแผนการเงินที่ดี โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
8.1 สมมุติฐานทางการเงิน เป็นการกำหนดปัจจัยหลัก ๆของการดำเนินงานเพื่อประมาณการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปมีดังนี้

1) ยอดขาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มาจากแผนการตลาดที่วางไว้
2) ต้นทุนขาย ควรจะมาจากแผนการผลิตที่วางไว้
3) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมาจากแผนบุคลากร และกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมการขาย
ต่าง ๆ
4) ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ประเมินจากอัตราดอกเบี้ย และวงเงินกู้เดิมกับวงเงินกู้ที่จะขอเพิ่มมาใหม่
5) สินทรัพย์และค่าเสื่อม มาจากประมาณการที่จะลงทุนในอนาคต เพื่อขยายกิจการและวิธีการคิดค่า
เสื่อม
6) สินค้าคงคลัง ประมาณการระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสม
7) ลูกหนี้การค้า ประมาณการระยะเวลาระหว่างการขายสินค้า และการเก็บเงินได้จากการขาย
8) เจ้าหนี้การค้า ประมาณการระยะเวลาสั่งซื้อของ และจ่ายเงินให้เจ้าหนี้

8.2 ประมาณการทางการเงิน เป็นการประมาณการงบการเงินและการวิเคราะห์อัตราส่วนตามสมมุติฐานที่วางไว้ ประกอบไปด้วย

งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดงวดระยะเวลาบัญชโดยทั่วไปจะ
กำหนดให้เป็นรอบ 1 ปี หรือราย 6 เดือน งบกำไรขาดทุน ประกอบด้วย รายการหลัก 3 รายการ คือ

1) ยอดขายหรือรายได้
2) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือต้นทุน
3) ผลต่างของตัวเลขดังกล่าว ซึ่งก็คือ กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ



งบดุล คือ งบที่แสดงถึงฐานะการเงิน ภาระผูกพันในการชำระหนี้ และจำนวนทุนของบริษัท ณ วันใดวันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ณ วันสิ้นงวดของรอบระยะเวลาบัญชี งบดุลประกอบด้วยรายการหลัก ๆ 3 รายการ คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน หรือส่วนของเจ้าของ

งบกระแสเงินสด (Cash Flow) คือ งบแสดงการเคลื่อนไหวของเงินสด โดยจะแสดงถึงรายการได้มาและ
ใช้ไปของเงินสดหรือสิ่งที่เทียบเท่าเงินสดใน 3 กิจกรรมหลัก ๆ คือ

- เงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน
- จากการจัดหาเงินทุน
- จากการลงทุน


                ดังนั้นความสามารถในการบริหารเงินสดของบริษัท และสภาพคล่องทางการเงิน จะดูได้จากงบกระแสเงินสด โดยงบกระแสเงินสดที่ดีควรเป็นเงินสดที่ไหลเข้ามาจากการลงทุนมากที่สุดรองลงมาจากการดำเนินงานและจากการจัดหาเงินทุนน้อยที่สุด งบกระแสเงินสดควรจะทำเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี และอาจจะทำล่วงหน้าไปหลายปี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมของกิจการเพื่อที่จะทำให้รู้ถึงสถานะปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของกิจการนั้น ๆ

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1. สภาพคล่อง

1.1 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
1.2 อัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน - สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน

2. ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์
2.1 อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ (Receivable Turnover) = ขายเชื่อสุทธิ / ลูกหนี้เฉลี่ย
2.2 อัตราหมุนเวียนของสินค้า (Inventory Turnover) = ต้นทุนสินค้าขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
2.3 ระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ (Receivable Turnover Period) = ( 365 x ลูกหนี้ ) / ยอดขาย
2.4 ระยะเวลาสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Period) = ( 365 x สินค้าคงเหลือ) / ต้นทุนขาย

3. ความสามารถในการบริหารงาน
3.1 อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมด (Return On Assets : ROA ) = ( กำไรสุทธิ x 100 ) / สินทรัพย์ทั้งหมด
3.2 อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity : ROE) = ( กำไรสุทธิ x 100 ) / ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
3.3 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income Margin) = ( กำไรจากการดำเนินงาน x 100 ) / ยอดขาย
3.4 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) = ( กำไรขั้นต้น x 100 ) / ยอดขาย

หมายเลขบันทึก: 203645เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาอ่านบันทึกครับ

น่าสนใจมาก

ผมกำลังจะทำที่พักเล็ก ๆ ที่ จ.ตาก

บันทึกเป็นประโยชน์มากครับ

ขอ copy เก็บไว้หน่อยนะครับ

ได้ความรู้มาก ๆ ค่ะ ขออนุญาตบันทึกไว้อ่านนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์

ขออนุญาตเก็บข้อมูลด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท