เด็กยุคใหม่เปราะบาง


"ครู" "พ่อ แม่" จะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

คำว่าเปราะบางในที่นี้หมายถึง ทางด้านอารมณ์ จิตใจ บุคลิกภาพ เด็กปัจจุบันมีแนวโน้มอ่อนแอทางด้านจิตใจ ไม่มีความอดทน เด็กยุคนี้จึงทุกข์ง่าย มาตรฐานความสุขสูง และความสุขได้มาด้วยราคาแพงเสมอ

คำว่าเปราะบางในที่นี้หมายถึง ทางด้านอารมณ์ จิตใจ บุคลิกภาพ
เด็กปัจจุบันมีแนวโน้มอ่อนแอทางด้านจิตใจ ไม่มีความอดทน

                      

แม่นั่งลงอย่างอ่อนล้า พยายามใคร่ครวญว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายคนเดียวที่พ่อแม่เฝ้าฟูมฟัก รักอย่างหมดหัวใจ
" คราม มาช่วยแม่ล้างจานหน่อยสิ"
" ครามกำลังเล่นเกมอยู่ แล้วก็ไม่ชอบล้างจานด้วย เหม็นจะตาย"
" นี่ เราน่ะโตแล้ว น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระแม่มั่ง พ่อกับแม่ทำงานเหนื่อยแทบตาย ให้ช่วยแค่นี้เองนะ วันๆ ไม่เห็นทำอะไร หนังสือหนังหาก็ไม่ดูเลย เทอมนี้ร่อแร่จะตกมิตกแหล่"
" โฮ้ย บ่นอยู่ได้ เบื่อๆๆ รู้งี้ไปเล่นเกมหน้าปากซอยดีกว่า"
นายครามกระแทกเสียงเดินเข้าห้องนอนตัวเองปิดประตูดังปัง เปิดเพลงดังลั่นกลบเสียงแม่ แม่เจ็บจี๊ดเข้าไปถึงหัวใจ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนปึงปัง ทำแม่เสียใจ...ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทั้งที่เราสองพ่อแม่ทุ่มเททำงานหนักอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อลูก แม้จะไม่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่ก็พยายามทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด เลี้ยงดูลูกให้สุขสบายไม่ต้องอนาทรร้อนใจแม้แต่น้อย

 เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ หากจะเกิดขึ้นกับครอบครัวเราหรือครอบครัวใครในสังคมยุคนี้ มันสะท้อนให้เห็นแนวโน้มบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กยุคใหม่ ซึ่ง ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ อาจารย์แพทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สังเกตพบและบอกเราว่า เด็กยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเปราะบาง

" คำว่า เปราะบาง ในทีนี้หมายถึงทางด้านอารมณ์จิตใจ บุคลิกภาพน่ะครับ ผมมองว่าเด็กปัจจุบันมีแนวโน้มอ่อนแอทางด้านจิตใจ ไม่มีความอดทน"

 ความอดทนในความหมายของคุณหมอมีหลายอย่างค่ะ ตั้งแต่ อดทนต่อการทำงานหนัก หนักเอาเบาสู้ สมบุกสมบัน อดทนมุ่งมั่นพยายาม เอาชนะอุปสรรค ไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ อดทนต่อความอยาก มีความยับยั่งชั่งใจต่อความอยากได้ อยากมี อยากเป็น (อย่างข่าววัยรุ่นขายตัวเพียงเพื่อจะได้ซื้อมือถือไงคะ) อดทนต่อการรอคอย และอดทนต่อบุคคลไม่หวั่นไหวง่ายต่อคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น (เป็นสิ่งจำเป็นต่อการที่คนเราจะอยู่ในสังคม ต้องปรับตัวกับคนหลากหลาย)

 " แนวโน้มของเด็กยุคใหม่จะมีความอดทนต่อเรื่องต่างๆ เหล่านี้น้อยลง จะเห็นได้ทั้งในเด็กเล็กและเด็กโต แต่จะเป็นปัญหามากจนพ่อแม่หนักใจก็เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น กลายเป็นปัญหาพฤติกรรม บางครั้งออกอาการก้าวร้าวเมื่อไม่พอใจ ยิ่งเด็กสมัยนี้กล้าที่จะแสดงความก้าวร้าวกับผู้ใหญ่มากขึ้นทั้งคำพูดและกิริยา"

 คุณหมอบอกว่า เด็กวัยรุ่นที่เปราะบางไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นปัญหาชัดๆ แต่พ่อแม่มักจะมาบ่นว่าลูกมีปัญหาเรื่องการเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่รับผิดชอบ ไม่เชื่อฟัง ก้าวร้าวกับพ่อแม่

 " ปัญหามักจะเกิดตอน 10-11-12 ปีนี่ละครับ เป็นวัยที่เด็กจะต้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น พ่อแม่จะเริ่มหันมาคาดหวังกับเด็ก คาดหวังว่าลูกโตแล้ว จะต้องรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบการเรียน ดูแลเรื่องส่วนตัวได้ดี ดูแลข้าวของไม่หาย ไม่เลอะเทอะ คาดหวังว่าลูกจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น พูดอะไรแล้วจะต้องทำตามนั้น มีบุคลิกของผู้ใหญ่มากขึ้น

 " ตอนนี้ล่ะ พ่อแม่ก็จะเริ่มเอะใจว่าทำไมลูกไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็จะเริ่มเคี่ยวเข็ญลูก กับเด็กที่ไม่ได้มีการฝึกกันมาก่อน พอโตแล้วเขาจะไม่ยอมง่ายๆ ก็จะต่อต้านโต้เถียงปึงปังไม่พูดด้วย ทำให้แม่ลูกมีเรื่องทะเลาะกันทุกวัน บางครอบครัวอาจใช้ความรุนแรงกับลูก ด่าว่า ตี โดยเฉพาะคุณพ่อ บางบ้านลูกไม่พูดกับพ่อ"

 ไม่เพียงพ่อแม่จะเจ็บปวดกับพฤติกรรมของลูกเท่านั้นนะคะ ตัวลูกเองก็จะขาดความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจในตัวเองหรือ self esteem ต่ำ เพราะไม่เคยพยายามทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเอง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ก็ต่ำด้วย ขาดความพยายาม จะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองต่ำ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่เข้มแข็ง พอที่จะทำได้หรือผ่านอุปสรรคไปได้ คุณหมอบอกว่าเด็กแบบนี้อาจจะไม่ถึงกับเสียคน แต่ไม่สามารถจะพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพได้

 มาถึงขั้นนี้แล้ว จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเล็กเลยใช่ไหมคะ แล้วหากจะย้อนไปดูจุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

 คุณหมอชาตรีตอบว่า เริ่มที่การเลี้ยงดูแต่เล็กแต่น้อยนั่นแหละ จากประสบการณ์การทำงานทางด้านจิตเวชของคุณหมอ พอสังเกตได้ว่า เด็กที่เปราะบางมักจะมาจากครอบครัวที่มีลูกน้อย มีลูกคนเดียว หรือมีลูกยาก มีลูกเมื่อพ่อแม่อายุมาก เรียกว่า golden child เป็นเด็กที่พ่อแม่ทุ่มเทความรักให้เต็มที่ หรือครอบครัวที่พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกน้อย มีธุรกิจการงานมาก ให้วัตถุ ความสะดวกสบายทดแทนความเอาใจใส่ แล้วก็ไม่จำเป็นว่าจะเกิดกับครอบครัวฐานะดี หรือปานกลางเท่านั้น ครอบครัวที่ฐานะไม่ดีก็มีไม่น้อย

 เด็กแบบนี้จะเติบโตมาอย่างสบาย อิสระ ไม่มีคนจ้ำจี้จ้ำไช อยากได้อะไรก็มักจะได้ ขาดการใส่ใจอบรมสั่งสอนในเรื่องของระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ ขอบเขต ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทั้งเรื่องตัวเองและส่วนรวม  คุณหมอเน้นว่าที่สำคัญพ่อแม่ยุคนี้มักมีทัศนคติว่า พ่อแม่ที่ดีต้องเลี้ยงลูกให้มีความสุข เป็นทัศนคติใหม่ที่มากับกระแสวัตถุนิยม ที่คนให้คุณค่ากับชีวิตที่สะดวกสบายและมีความสุข

 " สมัยก่อนเราจะมีทัศนคติ คนขยันคือคนดี เดี๋ยวนี้เราจะมองว่า ขยันให้โง่ คนฉลาดต้องทำงานน้อยๆ สบายๆ ได้เงินเยอะ พ่อแม่ยุคใหม่ถ้าจะเลี้ยงลูกให้ดี ลูกจะต้องได้ทุกอย่างที่ต้องการ ยิ่งถ้าฐานะดีก็ยิ่งปรนเปรอให้มาก พ่อแม่มักเข้าใจผิดว่า ลูกจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่อเมื่อมีอะไรเทียมหน้าเทียมตาเพื่อน ทันสมัย มีบ้านใหญ่ แต่งตัวดี จริงๆ แล้วความภาคภูมิใจในตัวเองมันเกิดจากรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีความดี ตัวเองสามารถควบคุมตัวเองได้ ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของเขา มันอยู่ภายในที่ทำให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่แคร์ว่าฉันจะไปปรากฏตัวด้วยรองเท้ารุ่นไหน เพราะฉันมีคุณค่าในตัวของฉัน ไม่ต้องไปวิ่งตามเพื่อน หรือตามแฟชั่นนัก และจะเกิดความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาพร้อมๆ กัน

 " พ่อแม่จึงมักมาบ่นว่า เนี่ย เลี้ยงมาก็ไม่เคยขัดใจ อยากได้อะไรก็หาให้ทุกอย่าง ทำไมยังเป็นแบบนี้อีก เขาไม่รู้ว่าเลี้ยงอย่างนั้นทำให้เด็กอ่อนแอ ไม่รู้จักอดทน อดกลั้น ไม่รู้ขอบเขต ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ต้องเรียนรู้ว่าการจะได้อะไรมามันได้มาด้วยความพยายามที่ลงไป และเมื่อทำสำเร็จจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นความสุขที่เกิดจากความสำเร็จด้วยตัวเอง"

 เด็กยุคนี้จึงทุกข์ง่าย มาตรฐานความสุขสูง และความสุขได้มาด้วยราคาแพงเสมอ

 นอกจากนี้คุณหมอเสริมอีกว่า "lifestyle การเล่นของเด็กยุคนี้ก็สำคัญครับ จะเป็นการดูทีวี เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นของเล่นไฮเทค เป็นการเล่นคนเดียว เล่นในบ้านในห้องแอร์ เป็นการเล่นที่สบายไม่มีเหงื่อ สมัยก่อนเด็กจะเล่นตามธรรมชาติ เล่นกีฬา เล่นกลางแจ้ง เล่นกันเป็นกลุ่ม ทำให้เด็กเด็กได้ใช้กำลังกาย รู้จักกฎกติกา ต้องปรับตัว มีความคิดสร้างสรรค์ มีการวางแผน แก้ปัญหา การเล่นของเด็กยุคนี้จึงไม่ได้พัฒนา ให้เด็กมีความแกร่งทั้งกายและใจ"

 ฟังแล้วน่าสงสารเด็กยุคนี้จัง แล้วหากล่วงเลยมาถึงวันนี้ พ่อแม่อย่างพ่อแม่ของนายคราม ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้นจะทำไงดีล่ะคะ

 คุณหมอให้ความหวังว่า ทุกวัยยังแก้ไขได้ แต่ความยากง่ายต่างกัน ผลที่ได้ก็ดีไม่เท่ากัน ถ้ายิ่ง 13 ปีขึ้นไปหรือเข้าวัยรุ่นจะแก้ยากแล้ว คงต้องลงแรงเหนื่อยกันหน่อย

 เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่ามันเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดคิด หันหน้ามาคุยกันเองก่อนว่าปัญหาคืออะไร มีอะไรเกี่ยวข้อง แล้วหาเวลาที่ปลอดโปร่งโล่งใจคุยกับลูก ส่วนใหญ่ควรตั้งเป้าหมายในเรื่องที่แก้ง่ายที่สุดที่เด็กเองก็อยากเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่อง ทำการบ้านไม่เสร็จ หรือทำเสร็จดึก คุยกับลูกว่า "แม่คิดว่าเป็นเพราะลูกเริ่มช้า มัวแต่เล่นเกม ตอนเช้าก็ตื่นไม่ไหว พอตื่นสายก็ต้องเร่งรีบ เกิดหงุดหงิดกัน นี่เป็นปัญหา เรามาช่วยกันคิดว่าจะยังไงดี เรามาตั้งกติกากันใหม่ดีกว่า"

 แต่การตั้งขอบเขตในตอนอายุเท่านี้จะไม่เหมือนกับตอนลูกเล็กๆ แล้วนะคะ ที่พ่อแม่เป็นคนสั่งให้ลูกทำ สำหรับลูกวัยนี้ คุณหมอแนะนำว่าต้องถามลูก พูดคุยให้เห็นประโยชน์ของการตั้งกติกา และร่วมกันหาทางออก เช่น ควรจะเริ่มทำการบ้านกี่โมง เล่นเกมได้เมื่อไหร่ อาจจะหาที่ทำงาน ตั้งโต๊ะในที่ที่เงียบสงบ เป็นต้น

 ท้ายสุด คุณหมอธาตรีฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ว่า " ตัวพ่อแม่เองก็ต้องคอยตรวจสอบตัวเอง ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม คอยสำรวจว่า เราให้ลูกมากเกินไปหรือเปล่า อย่าให้ความรักในรูปของวัตถุซึ่งมีแต่ผลเสีย แล้วถ้าเราคิดถึงครอบครัว และลูกเป็นหลักซึ่งต้องการเวลา ความใกล้ชิด ก็ต้องให้เวลาครอบครัวและลูกเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้น...

 " ทุกวันนี้เราเอางานเป็นหลักที่เหลือจึงให้ลูกกับครอบครัว ซึ่งมันมักไม่ค่อยเหลือ...

" ที่ยากคือพ่อแม่เปลี่ยนไม่ค่อยได้"
คุณหมอทิ้งท้ายที่ท้าทายให้เรากลับไปทบทวนตัวเองกันใหม่ค่ะ

 (update 4 กันยายน 2003)
[ ที่มา.. life & family   ปีที่ 8 ฉบับที่ 86 พฤษภาคม 2546 ]

http://www.elib-online.com/doctors46/child_mood002.html

หมายเลขบันทึก: 202297เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

+ สวัสดีค่ะ...

+ อ่านแล้วทำให้นึกถึงหนังสือที่เพิ่งได้อ่าน " เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มี สุข " ของ ศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ " ข่าวร้ายก็ คือ พ่อแม่สมัยนี้มักจะรู้วิธีการเลี้ยงและดูลูกเท่านั้น ซึ่งก็คือ พ่อแม่จะ "เลี้ยง" และ "ดู" ลูกโดยรู้วิธีการให้อาหารเสริม ซื้อของเล่น ซื้อเสื้อผ้า พาไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ดี รวมทั้งการให้ความรัก ความสนใจอย่างดียิ่ง.......แต่การจะ อบ - รม - สั่ง - สอน หรือพัฒนาลูกให้ไปสู่ความสำเร็จของชีวิต หรือเป็นคนมีคุณค่าแก่สังคมนั้นมักไม่ค่อยสนใจ หรือไม่รู้วิธีการ "

+ อ่านแล้วชอบมากเลยค่ะ....

+ ขอบคุณมากค่ะสำหรับสิ่งดี ๆ ที่นำมาให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

คงเป็นเพราะเราเป็นครู  และทุกวันนี้ได้เจอะเจอกับปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กมากมาย  เราโทษพ่อแม่นะ เพราะเขาทำให้ลูกเขาเปราะบาง แต่เราเป็นคนโชคดีเพราะลูก 2 คนเป็นคนดีมีคุณภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท