เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้


         การปฏิรูปการศึกษาต้องการการดำเนินการหลากหลายด้าน    ต้องการยุทธศาสตร์หลายยุทธศาสตร์    สคส. ในฐานะที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน KM (ซึ่งเป็นเครื่องมือเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ทรงพลัง) ให้แก่สังคมไทยร่วมกับภาคีที่หลากหลาย    จะใช้เทคนิค KM เข้าไปร่วมกับภาคีในวงการศึกษา เดิน ยุทธศาสตร์ความสำเร็จ    คือนำเอาเรื่องราวของนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ได้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นในวงการศึกษาไทย    เอามาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน    เรียกว่า เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้  

         สคส. จะไม่จัดเวทีนี้เอง    แต่จะจัดร่วมกับภาคี ๒ – ๓ ฝ่าย  คล้ายๆ กับเวทีเด็กและเยาวชน (และครอบครัว) ที่ได้ลงบันทึกไว้แล้วเมื่อวานนี้ (คลิก)   คือ (๑) ฝ่ายพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าควรเป็นระดับเขตพื้นที่การศึกษาหรือระดับจังหวัด   หรือเอ็นจีโอในพื้นที่  เป็นผู้จัดเวที และออกเงิน   (๒) ฝ่ายหน่วยงานที่มีความรู้ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้  ซึ่งในขณะนี้ สคส. กำลังติดต่อ สถาบัน วพร. ของหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์   แต่จริงๆ แล้วน่าจะมีหน่วยงานอื่นที่เข้ามาร่วมได้    ทักษะและความรู้สำคัญของภาคีนี้ คือรู้ว่าอย่างไรจึงจะเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้    และมีความรู้ว่านวัตกรรมนั้นอยู่ที่ไหน สำหรับไปเชื้อเชิญมาร่วมเวที  และรู้ว่านวัตกรรมแบบนั้นจะขยายผล หรือส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆ  ให้ดำเนินต่อเนื่องยั่งยืน จริงจัง ได้อย่างไร   (๓) สคส. ผู้มีทักษะในการจัดเวที ลปรร. โดยใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling)   การจดบันทึกเรื่องเล่า และขุมความรู้    และการขับเคลื่อนสู่ CoP 

         เวทีนี้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ    วัดความสำเร็จที่การเกิด CoP ดำเนินกิจกรรม และ ลปรร. ต่อเนื่อง    ไม่ใช่วัดที่จำนวนคนที่มาร่วมเวที     คนมากเกินไปอาจไม่ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้ดำเนินการเชิงคุณภาพได้ยาก   

         จำนวนคนที่มาร่วมเวที ตั้งเป้าไว้ที่ ๓๐ – ๖๐   โดยมีผู้มาร่วม ๒ ประเภท    คือประเภทได้รับการเชื้อเชิญ    กับประเภทลงทะเบียนมาร่วม

         เวทีนี้ไม่ใช่เวทีบรรยาย   ไม่ใช่เวทีถ่ายทอดความรู้    แต่เป็นเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้    คือถือว่าทุกคนมีความรู้มาแลกเปลี่ยน   มาด้วยจิตใจที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

         กิจกรรมนี้ไม่ได้มีเป้าหมายจัดทีเดียวแล้วจบ    แต่มีวัตถุประสงค์ให้เป็นจุดเริ่มต้น หรือจุดก่อตัวของชุมชนหรือเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนรู้ในจังหวัดนั้นหรือในเขตพื้นที่การศึกษานั้น    ชุมชน/เครือข่ายนี้ก็คือ CoP -  Community of Practice นั่นเอง     เราหวังว่าหลังจากการจัดเวทีแล้ว จะมีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องในพื้นที่

         “ตัวละครหลัก” ในเวทีน่าจะมีได้ ๒ แบบ    แบบแรกมีกลุ่มผู้เรียนเป็นผู้นำเสนอหลัก    ว่าตนได้เรียนรู้ในรูปแบบที่เป็นนวัตกรรมอย่างไร และได้ผลการเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างไร    แบบที่ ๒ มีครู หรือวิทยากร (พี่เลี้ยง) เป็นผู้นำเสนอหลัก ว่าตนได้จัดรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมอย่างไร ได้ผลที่น่าชื่นชมอย่างไร    แต่ละเวทีต้องมีการกำหนดว่าจะเป็นแบบแรก หรือแบบที่ ๒ ไว้อย่างชัดเจน 


         สคส. มีคุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) เป็นผู้ประสานงาน    คงต้องย้ำว่าเวทีนี้ สคส. ไม่ใช่ผู้จัด และไม่ใช่ผู้สปอนเซ่อร์     สคส. เป็นเพียงภาคีร่วมจัด    สิ่งที่ สคส. ให้คือวิธีการจัด/วิธีส่งเสริมให้เกิด CoP ต่อเนื่องเพื่อผลักดันการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ โดยเน้นการขยายผลจากสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่    และการเอาสิ่งดีๆ เหล่านั้นไปบอกเล่า ยกย่องชื่นชม และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนรู้โยงใยกันทั่วสังคมไทย    สคส. เชื่อว่าเรามีเรื่องราวดีๆ ด้านการจัดการเรียนรู้มากมาย แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว เพราะวงการสื่อมวลชนตกอยู่ในสภาพ “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”

         กิจกรรมดีๆ ที่ทำอย่างต่อเนื่องและเห็นผลดีต่อนักเรียนชัดเจนจำนวนหนึ่งจะได้รับเชิญเข้าร่วมมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๓  ในวันที่ ๑ – ๒ ธค. ๔๙ ที่ไบเทค บางนา

วิจารณ์ พานิช
๒๑ มีค. ๔๙
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20214เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท