สมรรถนะครู


สมรรถนะครูและบุคคลากรทางการศึกษา
 สมรรถนะครูและบุคคลากรทางการศึกษา PDF พิมพ์ อีเมล์

 

 
สมรรถนะ หรือ competency  มีความหมายรวม ๆ ว่าความสามารถ ขีดความสามารถหรือสมรรถภาพ มักใช้กับคนและเครื่องจักร เครื่องยนต์ เช่น ครูคนนี้มีความสามารถสูงในเรื่องการเทคโนโลยีสารสนเทศ  หรือผู้บริหารยุคนี้วัดกันที่ขีดความสามารถ หรือ รถยนต์คันนี้มีสมรรถนะเยี่ยมเรื่องเกาะถนน หรือ ตาลุงคนนั้นหมดสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ดังนั้นสมรรถนะของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน จึงหมายถึงพฤติกรรมที่แสดงออกต่อการทำงานและเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของงานในองค์กรต่าง ๆ ได้ดีกว่าระดับการศึกษาหรือเชาวน์ปัญญาของบุคคล ทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันจึงเน้นการพัฒนาสมรรถนะเป็นฐาน ( Competency Based Human Resource Development ) ฉะนั้นความสำเร็จของการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาสมรรถนะของครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้บุคลากรเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งขณะนี้ทาง ก.คศ.ได้นำเอา สมรรถนะ มาเป็นตัวตั้งในการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอมีหรือขอเลื่อนตำแหน่งวิทยฐานะ ซึ่งสมรรถนะที่ใช้ในการประเมินการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น มี 3 ประเภทคือ
1. สมรรถนะหลัก
2. สมรรถนะประจำสายงาน
3. วินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ (มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา  10+ 9 ข้อ)

          สมรรถนะหลัก(Core Competency)  เป็นสมรรถนะร่วมที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องมีเพราะเป็นสมรรถนะพื้นฐานของบุคลากรที่จะส่งผลให้การปฏิบัติงานในทุกตำแหน่งหน้าที่ประสบผลสำเร็จประกอบด้วย  4  สมรรถนะย่อย คือ
                1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์  หมายถึงการปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้งานสำเร็จ ถูกต้องสมบูรณ์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
               2.  การบริการที่ดี  หมายถึงความตั้งใจที่จะปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้รับบริการ เช่น  นักเรียน  ครู   ผู้ปกครองพึงพอใจ
              3.  การพัฒนาตนเอง  หมายถึง การศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ พร้อมกับติดตามศึกษาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่  ๆ ในวงวิชาการและวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
              4.  การทำงานเป็นทีม  หมายถึงความร่วมมือร่วมใจ สนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงาน มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้และมีภาวะผู้นำ-ผู้ตามที่ดี
 
        สมรรถนะประจำสายงาน(Functional Competency)หมายถึงสมรรถนะเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละตำแหน่ง เช่น ผู้บริหาร ครูและ  ศึกษานิเทศก์ ทำให้สามารถปฏิบัติงานในสายงานนั้น ๆได้สำเร็จตามเป้าหมายซึ่งสมรรถนะประจำสายงานของครูนั้นประกอบด้วย  5  สมรรถนะ คือ
           1.  การจัดการเรียนรู้  หมายถึงความรู้ ความสามารถในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ความรู้ลึกเรื่องเนื้อหาสาระ เทคนิคกระบวนการจัดการเรียนรู้   การสร้าง    การเลือก  การใช้สื่อ แหล่งเรียนรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา  ตลอดจนการวัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้
         2. การพัฒนาผู้เรียน  หมายถึง ความสามารถในการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์แก่ผู้เรียน ทั้งคุณธรรม จริยธรรม  ทักษะชีวิต   สุขภาพพลานามัย  ความเป็นประชาธิปไตย   ความเป็นไทย รวมไปถึงการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
       3. การบริหารจัดการชั้นเรียน  หมายถึงความสามารถในการกำกับดูแลชั้นเรียน  สร้างบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้   จัดทำข้อมูลสารสนเทศประจำชั้นและประจำวิชา
      4. การวิเคราะห์  การสังเคราะห์  การวิจัย คือความสามารถในการคิดแยกแยะ ทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆแล้ว สรุปเป็นกฏเกณฑ์หลักการ  สามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน
     5. การสร้างความร่วมมือกับชุมชน  หมายถึง การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อดึงชุมชนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
         
       ทั้งสมรรถนะหลักและสมรรถนะประจำสายงาน  ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาและในอนาคตอีกไม่นานนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องได้รับการประเมินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสมรรถนะ        คือ สมรรถนะเฉพาะสาขาวิชา  เช่น  ครูวิทยาศาสตร์    ครูคณิตศาสตร์  ครูการงานอาชีพ ฯ     จะมีสมรรถนะเฉพาะที่แตกต่างกัน   การประเมินก็จะต่างกันด้วย  ซึ่งขณะนี้ ก.คศ.ได้จัดทำแล้วกำลังรอพิจารณาอนุมัติ  
      
       
สมรรถนะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องประเมินตนเองก่อนว่า  เรามีจุดเด่น จุดด้อยในสมรรถนะใด    ต้องการจะพัฒนาอย่างไร    โดยการจัดทำเป็นแผนพัฒนาตนเองหรือ
ID – PLAN (Individual  Plan) ทั้งระยะสั้น  (1 ปี)  ระยะยาว  (3 ปี)    เพื่อเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้รับทราบและขอรับการสนับสนุน   และเมื่อใดก็ตามถ้าครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในองค์กรมีสมรรถนะในด้านต่าง ๆ สมบูรณ์ ครบถ้วนแล้ว องค์กรนั้นจะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน

                                                                                          ครูน้อย
           
 เขียนโดย ครูน้อย             
แหล่งข้อมูล:ระวีวรรณ  โพธิ์วังและคณะ.รวมบทความการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา.นครปฐม:เพชรเกษมการพิมพ์, 2549.
 
หมายเลขบันทึก: 200808เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท