เวทีนวัตกรรมเด็กและเยาวชน


         ปี พ. ศ. ๒๕๔๙ นี้ เป็นปีที่ สสส. กำหนดวาระหลักว่า “๖๐ ปี ๖๐ ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน”   สคส. ในฐานะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงรับลูกมาดำเนินการตามความถนัด     โดยการร่วมมือกับภาคี หรือหุ้นส่วน ในการเข้าไปส่งเสริมให้มีการจัด เวทีนวัตกรรมเด็กและเยาวชน    หรือจะพ่วงครอบครัวเข้าไปด้วย เป็น เวทีนวัตกรรมเด็ก เยาวชน และครอบครัว ก็ได้     โดยมีหลักการดำเนินการดังนี้
1. อาจจัดโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรในพื้นที่ (เน้นระดับจังหวัด เช่น ผู้ว่าซีอีโอ,  อบจ.,  เทศบาลนคร/เมือง,   กลุ่มโรงเรียน,   มหาวิทยาลัย,  เอ็นจีโอ)  หน่วยงานหรือโครงการด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง   เช่น  สถาบันรามจิตติ   โครงการเด็กไทยไม่กินหวานกับ สคส.    หรือจะมีภาคีมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้    โดย สคส. เป็นฝ่ายให้ in kind  คือให้เครื่องมือสำหรับใช้ ลปรร. ในเวที    และทำให้การปฏิบัตินวัตกรรมเพื่อเด็ก โดยเด็ก  และนำมาจัดเวที  ลปรร. มีความต่อเนื่องยั่งยืน  ปรับตัวไปเป็น ชุมชนแนวปฏิบัติ (CoP)
2. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของความสำเร็จ    ไม่ใช่เวทีนำเสนอปัญหา    ความสำเร็จในที่นี้หมายถึงความสำเร็จในการพัฒนาเด็ก เยาวชน (และครอบครัว) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
3. ผู้ดำเนินการไปสู่ความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นตัวเด็กหรือเยาวชนเอง    ยิ่งความคิดริเริ่มมาจากตัวเด็กเองยิ่งดี    บทบาทของผู้ใหญ่ (ผู้ดำเนินการโครงการ    ครู   พ่อแม่  ฯลฯ) ควรเป็นบทบาทที่ปรึกษา  พี่เลี้ยง  หรือ “คุณอำนวย”  
4. ผู้ขึ้นเวที มา ลปรร. เรื่องราวของความสำเร็จ คือเด็กหรือเยาวชน
5. เรื่องราวของความสำเร็จ อาจเป็นเรื่องราวที่เกิดผลดีต่อตัวเด็ก/เยาวชน/ครอบครัว หรือเกิดผลดีต่อชุมชน/พื้นที่  
6. เรื่องราวของความสำเร็จที่เกิดผลดีต่อชุมชน/พื้นที่อาจเป็นเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นจัดการขยะ    รักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง    อาจเป็นเรื่องด้านศึกษา จารึก และเผยแพร่ ประวัติศาสตร์/โบราณคดี ท้องถิ่น    อาจเป็นเรื่องด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม    การทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษ   การศึกษาธรรมชาติในพื้นที่    การจัดการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ/วัฒนธรรม   การทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่   เป็นต้น 
7. เรื่องราวของความสำเร็จต้องไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเพราะมีทุน หรือมีโครงการจากภายนอก เมื่อปัจจัยภายนอกหายไป กิจกรรมก็ยุติ    เรื่องราวของความสำเร็จต้องมีความต่อเนื่อง ยิ่งเคยผ่านระยะซบเซา และมีการแก้ไขหรือฟื้นฟู จนปัจจุบันเห็นเค้ารางของความยั่งยืน จะยิ่งดี    ยิ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี และผ่านการส่งต่อระหว่างเด็กรุ่นต่อรุ่น จะยิ่งดี
8. ในกรณีที่เรื่องราวผ่านเด็กหลายรุ่น ในเวที ลปรร. ควรหาทางให้เด็กต่างรุ่นมา ลปรร. ร่วมกัน    เพื่อให้ได้ “ความรู้ฝังลึก” หรือ “ความรู้ปฏิบัติ” ที่ข้ามรุ่น ข้ามยุคสมัย
9. ในแต่ละเวที ควรมีกลุ่มกิจกรรม ๕ – ๑๐ กลุ่ม มา ลปรร. กัน    อาจพิจารณาเชิญกลุ่มเกียรติยศ มาจากนอกพื้นที่มาสร้างสีสัน   และนำเสนอ Best Practice ที่อยู่ในระดับ “ห้าดาว” 
10. ต้องมีการเตรียมการมาก และใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๒ เดือน    โดยทีมงานของ สคส. อาจเดินทางไป “จับภาพนวัตกรรม”  สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการร่วมกันออกแบบเวที    และวางแผนสร้าง CoP หลังกิจกรรมเวที     และทีมงานของ ผู้จัดเวทีในพื้นที่ต้องแข็ง ต้องมีทักษะหรือพร้อมจะเรียนรู้ทักษะในการจัดการแบบ empowerment ต่อเด็ก/เยาวชน

           สคส. กำลังปรึกษาหารือกับ ดร. อมรวิชช นาครทรรพ  ผอ. สถาบันรามจิตติ ในการร่วมกันส่งเสริมการจัดเวทีนี้    ผมเองอยากเห็นมีการจัดไม่น้อยกว่า ๒๐ จังหวัด    ท่านผู้ใด/หน่วยงานใด สนใจเป็นผู้จัด (หมายความว่าท่านมีทีมจัด และมีเงินงบประมาณ) โปรดติดต่อผู้ประสานงานของ สคส. คือคุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) [email protected] 
          หลักการเป็นไตรภาคีร่วมจัดเวทีนวัตกรรมเด็ก/เยาวชน ก็คือ ภาคีในพื้นที่ออกเงินและแรงจัดการ     สถาบันรามจิตติ (หรือสถาบันอื่น) ออกแรงความรู้เกี่ยวกับเด็ก/เยาวชน    และ สคส. ออกแรงทักษะด้านการจัดเวที ลปรร. และเชื่อมสู่กิจกรรมการจัดการความรู้ที่ยั่งยืน – CoP

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มีค. ๔๙
เซอร์ เจมส์ รีสอร์ท   สระบุรี 
แก้ไขปรับปรุง ๒๑ มีค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20060เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท