Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๙)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๕)

จากเครือข่ายปลอดสาร สู่ เครือข่ายสุขภาพ
การจัดการความรู้เพื่อพิจิตรแข็งแรง

         (โปรย) หลังจากพยายามมานาน ในที่สุดจังหวัดพิจิตรก็กำลังก้าวสู่การเป็นเมืองเกษตรปลอดสารและผู้คนสุขภาพดี ด้วยการนำกระบวนการจัดการความรู้ไปใช้กับเครือข่ายเกษตรปลอดสาร และเกิดกลุ่มเครือข่ายของคนพิจิตรกว่า 7 กลุ่มที่มาร่วมกันสร้างองค์ความรู้บนฐานทุนเดิมของแต่ละกลุ่ม/ชุมชน/หน่วยงาน ที่นำไปสู่การปฎิบัติจริงเพื่อการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี  และทำทุกเรื่องที่ให้คนพิจิตรสุขภาพดี มีการทบทวนและยกระดับความรู้อยู่ตลอดเวลา

พิจิตรป่วย : ปัญหาร่วมและจุดเริ่ม 
        จากข้อมูลยืนยันของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าพิจิตรเป็นจังหวัดที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ในเรื่องของเกษตรกรมีสารเคมีตกค้างในเลือดมาโดยตลอด อีกทั้งสถิติการขายสารเคมีของเกษตรกรจังหวัดพิจิตรก็อยู่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เพราะพิจิตรเป็นเมืองน้ำ มีชลประทานอยู่ใกล้ที่นา เกษตรกรทำนา 2 ปีต่อ 7 ครั้ง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่เกษตรกรจะให้ทำผลผลิตได้เยอะๆ รวมทั้งกลุ่มเกษตรผู้ปลูกผักด้วย ทำให้พฤติกรรมของเกษตรกรต้องมาเร่งผลิตและใช้สารเคมีกันมากขึ้น และเมื่อทำมาเป็นเวลานานสภาพดินก็เสื่อม น้ำก็เสีย คนก็สุขภาพเสียและเสื่อมไปด้วย  บางคนป่วยถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากสารเคมีสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน 
         คนพิจิตร จึงมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ ปํญหาด้านสุขภาพ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ  เกษตรกรประสบปัญหาดินเสื่อม ทำการเกษตรไม่ได้ผล มีหนี้สินและที่ยากจนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลงไปอีก   ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกษตรกรและชาวพิจิตรมีคุณภาพชีวิตไม่ดี   คุณสุรเดช ซึ่งทำงานด้านสาธารณสุขในจังหวัดพิจิตรมองเห็นว่า การดูแลรักษาให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขกับชาวบ้านเพียงด้านเดียว จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวพิจิตรได้ จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่พัวพันรอบตัวเกษตรกรหรือชาวบ้านให้ได้ด้วย

เครือข่ายพิจิตรปลอดสาร : การขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร และมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรจึงร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้าน และค้นพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเจ็บป่วย คือสารเคมีที่มาจากการทำการเกษตร จึงได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรปลอดสาร สร้างความตระหนักให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรบนพื้นฐานชุมชนและองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า “เกษตรกร่จังหวัดพิจิตรต้องมีสุขภาพดีเลิกการใช้สารเคมีให้ได้”
         “การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ความรู้ที่มีอยู่เดิมของเกษตรกรไม่เพียงพอแล้ว จำเป็นต้องหาความรู้ชุดใหม่ หาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบใหม่เพิ่มเติม ทีมงานต้องมาวิเคราะห์ว่า ในจังหวัดพิจิตร มีคนที่มีความรู้ มีภูมิปัญญา หรือคนที่ทำเกษตรปลอดสารหรือไม่ คำตอบคือมี และคนมีคนที่ทำเกษตรปลอดสารที่ประสบความสำเร็จด้วย ทางทีมงานจึงนำบุคคลเหล่านั้นมาร่วมกันคิด นำความรู้ฝังลึกของกลุ่มคนเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน หาวิธีการหรือทางแก้ปัญหาร่วมกัน”คุณ สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร กล่าว
การดำเนินงานของเครือข่ายเกษตรปลอดสารนั้น จึงมีผู้ที่คอยผลักดันและเติมเต็มแรงบันดาลใจให้เกิดการขับเคลื่อนมาจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.พิจิตร) สาธารณสุขอำเภอ , สถานีอนามัย  เช่น คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ,คุณชัยณรงค์ สังข์จ่าง , คุณลำไย บัวดี และอีกหลายต่อหลายท่าน ทั้งชาวนา ชาวไร่ และปราชญ์ชาวบ้าน เช่น  ลุงจวน ผลเกิด ที่มีที่ดินทำกินเพียง 6 งาน แต่สามารถหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัวได้  
         ลุงสุนทร มัจฉิม จากโรงสีเนินปอ ที่ชักชวนภรรยามาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับ สคส. ลุงณรงค์ แฉล้มวงศ์ ที่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยจากสารเคมีตกค้างในเลือดจนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ปัจจุบัน เปลี่ยนวิถีการทำมาหากินมีเป็นไร่นาสวนผสมปลอดสาร  เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นครูให้แก่โรงเรียนในอำเภอบางมูลนาก
         ส่วนคุณสินชัย บุญอาจ ที่ไปได้ความรู้เรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวจากมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ก็นำกลับไปพัฒนาพันธุ์ข้าวและการทำนาของตนเอง จนได้ผลผลิตท่วมท้นที่ใครเห็นก็อิจฉา สินชัยก็ได้ขยายความรู้นี้ให้กับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจ
         แต่ที่ผ่านมาการดำเนินงานของเครือข่ายเกษตรปลอดสารเกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องหลายประการ เช่น การไม่สามารถขยายเครือข่ายได้ในบางเครือข่าย เช่น ที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง เพราะแกนนำกลุ่มขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ และขาดการวางแผนที่ดี และการติดตามผลงาน  ทำให้นอกจากสมาชิกจะไม่เพิ่มแล้วยังกลับลดลงไปอีก   รวมทั้งปัญหาส่วนตัวของผู้นำเอง  ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้เครือข่ายและที่ปรึกษาที่มีงานประจำ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือในเชิงลึกได้ และไม่สามารถใช้เครื่องมืออะไรมาจัดการให้เกิดการทำงานที่มีความสุขได้

สคส.คุณครูผู้แนะนำ 
         จนเมื่อปลายปี 2547  คุณสุรเดช ได้พบกับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งได้เสนอแนะแนวทางการจัดการความรู้ การทำงานกับชุมชนให้  คุณสุรเดชจึงลองนำไปใช้กับเครือข่ายฯโดยจัดเวทีให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนแนวทางการทำงาน  จนได้ “ตารางอิสรภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ช่วยใช้เครือข่ายสามารถประเมินตนเอง วางแผนพัฒนาโดยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ ยกระดับความรู้และเพื่อมุ่งไปสู่การมีสุขภาพดี การลดหนี้สิน และสิ่งแวดล้อมปลอดสารพิษทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาของเครือข่าย
         นายสุรเดช กล่าวว่า หลังจากได้แนวคิดและข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการความรู้การทำงานกับชุมชน จึงเกิดการจัดเวทีให้ “คุณอำนวย” ได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ชุด “ธารปัญญา” ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เมื่อเดือนตุลาคม 2547 และให้ผลที่กลุ่มผู้นำรู้สึกว่าเครื่องมือต่างๆที่ได้เรียนรู้มีความน่าสนใจ และน่าจะนำไปใช้กับองค์กรหรือกลุ่มประชากรที่ทำงานด้วย จึงได้ติดตามและร่วมเรียนรู้กับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อีกครั้ง ณ วัดวังจิก โดยจัดแกนนำเกษตรกรซึ่งเป็นทีมงานของ สสจ. ให้ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” และ Note taker ถือว่าเป็นการสร้างคนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง คือ ระดับผู้นำเกษตรกร ที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน จึงมีความสำเร็จมาเล่าให้กลุ่มฟังอย่างเข้มข้นและสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนกลุ่มได้อย่างมากมาย และทำได้ “แก่นความรู้” เรื่องเกษตรกรสุขภาพดี ปลอดหนี้
         “ไม่น่าเชื่อว่าการเรียนรู้เพียงสองหน และความตั้งใจที่จะพัฒนากลุ่มของเครือข่ายพิจิตรฯ สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่อ โดยพบว่ากลุ่มพยายามพัฒนาและเรียนรู้เพิ่มเติม และมีการนำเครื่องมือชุดธารปัญญานำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของสาธารณสุขและเครือข่ายเกษตรปลอดสาร โดยมีลำดับขั้นตอนไม่เหมือนกัน เช่น หน่วยสาธารณสุขจังหวัด ก็จะเป็นการนำเครื่องมือใช้กับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และใช้ให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกับงานปกติ (งานประจำ) คือสวมเข้ากับงานของทีมพัฒนาคุณภาพ อีกขั้นหนึ่งคือการทำความเข้าใจกับผู้บริหารเพื่อให้เข้าใจ เห็นความสำคัญ และสุดท้ายคือให้ความร่วมมือสนับสนุนทีมงานพัฒนาคุณภาพทำให้ข้าราชการที่เป็น “คุณอำนวย” สามารถทำงานด้วยความสบายใจ ไม่มีอุปสรรค์ ปลดปล่อยพลังดีงามออกมาอย่างสร้างสรรค์

จัดการความรู้แบบพิจิตร
         ผู้อำนวยการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร กล่าวว่า จากเป้าหมายของเครือข่ายที่ต้องการทำให้พิจิตรแข็งแรงขึ้น แต่ปัญหาก็คือ  จะต้องลดหนี้สินให้ได้ ต้องให้สุขภาพฟื้นขึ้นมา ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งดินและน้ำ ซึ่งเราจะต้องเน้นการเกื้อกูลแบ่งปันความรู้สู่เกษตรกรท่านอื่นๆ ให้สามารถเพิ่งตนเองได้ และสิ่งที่ต้องทำต่อไป ประเด็นการสร้างปัญญา สร้างความรู้ให้กับชาวบ้าน ทำอย่างไร ชาวบ้านคิดเอง และทำเอง ซึ่งสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จของเครือข่ายจังหวัดพิจิตรมากกว่า 
         เมื่อลองนำการจัดการความรู้มาใช้เสริมในกระบวนการที่ทำอยู่  และเกิดผลที่เป็นทั้งการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างพลังของกลุ่มเครือข่ายให้ก้าวไปอย่างมีแนวทางและมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น   โดยเน้นการจัดเวทีให้เครือข่ายได้มาแลกเปลี่ยนกันให้มากที่สุด  ทั้งเวทีในระดับพื้นที่ ตำบล อำเภอ และเวทีสัญจร  เมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว ก็นำมาวางแผนต่อไปว่าจะทำงานอะไรต่อไป
         จากนั้นก็ดำเนินงานตามแผน พร้อมกับการประเมินว่าสิ่งที่แต่ละกลุ่มทำเป็นอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหน ทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ละกลุ่มจะพยายามถอดรหัสความรู้ออกมา โดยมี “คุณลิขิต” ที่ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการดำเนินงาน ซึ่งเดิมไม่เคยมีการจดบันทึกในสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนกันแต่ละครั้งทำให้การทำงานนั้นไม่คืบหน้า แต่หลังจากที่มีเครื่องมือการจัดการความรู้เข้ามาให้กลุ่มได้เรียนรู้ ทำให้ความสำคัญของการจดบันทึกถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น    “คุณลิขิต” จึงมีความสำคัญมากในกระบวนการจัดการความรู้ในแบบของเครือข่ายพิจิตรฯ

หมายเลขบันทึก: 20051เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท