ไปดู KM โรงเรียนผัก ที่ปทุมธานี


การรวมกลุ่มกันทำแบบมีเพื่อน มีพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ "ความรู้จะมีประโยชน์อะไรหากอยู่แต่ในตำรา" และ "เราไม่ควรปล่อยให้ความรู้ตายไปกับกระบุงตะกร้า" จึงเป็นที่มาของโรงเรียนเกษตรที่หนองเสือ

ไปดู KM โรงเรียนผัก ที่ปทุมธานี

เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ไปดูกิจกรรมพบปะ สร้างสัมพันธ์และการเรียนรู้จากการทำจริงบนแปลงทดลองพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ของ โรงเรียนเกษตรกร  ที่หนองเสือ  คลอง 9 ปทุมธานี ซึ่งมีแกนนำคือ ผู้ใหญ่เทียม(หรือ “เทียน” ไม่แน่ใจ) อายุ 55 ปี   เมื่อไปถึงราว 9 โมงครึ่ง มีเกษตรกรเริ่มทยอยมารวมกลุ่มกันอยู่บนหัวแปลง มีทั้งหญิงและชายอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจนถึง 80 กว่าปีก็มี   ผู้ชายแรงดีก็ผลักดันใช้เครื่องไถพรวนดิน  ผู้หญิงและผู้สูงวัยหน่อยก็ใช้มีดถอน เก็บเศษต้นหญ้า/วัชพืชที่เหลือเหลือ ทำไปได้สักพักเพื่อนที่มาทีหลังก็เข้าไปช่วยสับเปลี่ยนพร้อมกับบอกให้เพื่อนกลุ่มแรกไปพัก ยิ่งแดดแรง เราก็ยังเห็นกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ทำงานกันอย่างแข็งขันและพูดคุย หยอกล้อกันสนุกสนาน  พร้อมกับเสียงเรียกให้มาพักกินน้ำกันก่อน  ซึ่งหากจะนับหัวคนที่มาร่วมกิจกรรมน่าจะอยู่ราว 40-50 คน รวมทั้งเด็ก ๆ ที่โรงเรียนปิดเทอมก็ติดตามพ่อแม่มาช่วยด้วย

                ภาพที่เห็นทำให้นึกไปถึงวิถีชนบท การทำเกษตรที่มีการช่วยเหลือ เอาแรงกัน  บรรยากาศของคนที่มีความรู้สึกเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน อยากจะคุย อยากจะทักทายกัน
                นอกจากผู้ใหญ่เทียม และเพื่อนเกษตรกรสมาชิกของโรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้ที่เมื่อคุยกันไปพักหนึ่งดิฉันถามว่าทำไมไม่ตั้งเป็นโรงเรียนผัก เพราะกิจกรรมที่ทำและอาชีพของสมาชิกกว่า 70 คน นั้นล้วนปลูกผัก ทั้งสิ้น แต่พวกเขาบอกว่า เป็นโรงเรียนเกษตรกรน่ะดีแล้ว และถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเรียกว่าโรงเรียนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ เพราะเกิดขึ้นจริงจังจากการเข้ามาส่งเสริมของสำนักงานพัฒนาที่ดินปทุมธานี สำนักงานเกษตรปทุม และอีกหลายหน่วยงานภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จังหวัด (ใช้งบยุทธศาสตร์สนับสนุน) ซึ่งมีรูปแบบการเข้ามาส่งเสริมอย่างชัดเจนในลักษณะของสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ในการทำเกษตร รวมทั้งวิชาการ การพาไปศึกษาดูงานที่โน่นที่นี่  โดยสรุปโรงเรียนนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้งบยุทธศาสตร์จังหวัด ที่เน้นให้ความรู้การฟื้นฟูสภาพดินเสื่อมจากวิกฤติสวนส้มในอดีตให้กลายเป็นดินดีและมีอาชีพเกษตรทางเลือกได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งความรู้ที่เกษตรได้ก็มีทั้งวิธีการฟื้นสภาพดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกพืช/ผัก/ผลไม้ ในฤดูกาลต่าง ๆ โดยเน้นชนิดพืชที่เหมาะสมกับดิน 
                ที่สำคัญแม้กลุ่มนี้จะได้ชื่อว่าได้รับความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตมาก แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขายังสามารถดำเนินกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ได้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากหน่วยงานใด ๆ  ก็ด้วยจุดแข็งสำคัญคือ แกนนำกลุ่ม ที่ใช้ “ใจ” และ “การทำจริง” พิสูจน์ให้เพื่อสมาชิกเห็นจนมาเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ทั้งสมาชิกเก่า-ใหม่ และสมาชิกสมทบจากที่อื่น (เครือข่าย)ที่มาขอเรียนรู้ดูงานด้วย  โดยกิจกรรมที่โรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้ทำก็คือการนัดเจอกันที่แปลงทดลองทุกวันศุกร์ เพื่อร่วมกันปลูกพืชผักตามแผนที่วางไว้ เป็นเวทีของการเรียนรู้ซึ่งสมาชิกกลุ่มอย่างเป็นทางการ 70 คนนั้นแบ่งโครงสร้างการบริหารออกเป็นกลุ่มย่อยอีก 7 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน แต่ละกลุ่มก็มีการแต่งตั้งประธานกลุ่มย่อยอีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนรู้จากแปลงทดลองแล้วก็นำกลับไปบอกต่อกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มย่อย ซึ่งจะนำไปปรับปรุงใช้กับสวนหรือแปลงของตนเองที่บ้าน ซึ่งกลุ่มย่อยมีการนัดพบกันอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะเป็นวันไหนก็ตกลงกันเอง
                ประเด็นจัดการความรู้ที่เกิดขึ้น
1.        จากบริบทชุมชน สภาพปัญหา และการรวมกลุ่ม
พื้นที่นี้ในอดีตเคยทำสวนส้มเป็นหลักมายาวนานจนเกิดสภาพดินเสื่อม ส้มวิกฤติ คนก็วิกฤติ
ซึ่งผู้ใหญ่เทียมบอกว่า “จะทนทำสวนส้มอยู่ได้อย่างไร ยิ่งทำหนี้ก็เพิ่ม บ้านก็หาย ที่ดินก็หาย ส้มกินหมด เพราะสวนส้มใช้ทุนเยอะ สารเคมีเยอะ โรคมากทั้งส้มทั้งคน”  ทางการก็อยากให้เปลี่ยน เกษตรกรเองก็อยากหาอาชีพใหม่ จึงบรรจบกันว่าจุดเริ่มต้นต้องทำให้ดินดีขึ้นมาก่อน ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อการฟื้นสภาพดิน ขณะที่สำนักงานเกษตรก็มาให้ทางเลือกด้านการปลูกพืชที่เหมาะสม กล่าวคือสอนตั้งแต่วิธีการเตรียมดิน การเลือกพืชที่จะนำมาปลูก (ต้องรู้จักธรรมชาติของพืช) รู้วิธีการผลิตและใช้ปุ๋ยชีวภาพที่เหมาะสม ใช้วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ เช่น รู้ว่าพืชที่รสขม รสเปรี้ยว รสฝาดสามารถนำมาทำน้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ่ยเคมี   ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรสมาชิกทั้งหมดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลผลิตของเขาดีขึ้น ต้นทุนลดลงกว่า 80% สุขภาพดี ครอบครัวและชุมชนมีความสามัคคีกัน
พัฒนาการกลุ่มของที่นี่เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ของเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันอาจเพียง 3-5 คน/ครอบครัว แต่สามารถขยายมาได้ถึงกว่า 70 คนในปัจจุบัน (ปัจจัยหนึ่งของการรวมกลุ่มที่จำนวน 70 คน ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ/งบประมาณที่ได้รับ ซึ่งความจริงกลุ่มนี้มีสมาชิกที่เข้ามาขอร่วมทำกิจกรรมด้วยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งพวกเขาให้เป็นสมาชิกสมทบ)

  สวนส้มหายไป กลายเป็นแปลงถั่วที่คนย่านนี้ทำกันมาก เพราะตลาดดีต่อเนื่อง 
 เด็กน้อยขอมาร่วมด้วยช่วยผู้ใหญ่
 ปุ๋ยเม็ดที่ได้มาฟรี ใช้กับแปลงทดลอง
   ผู้ใหญ่เทียม แกนนำที่สร้าง"ใจ"ดึงคนเข้าร่วม

อ่านต่อ ในบันทึกต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20008เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท