021 : มหาวีระ - ศาสดาแห่งศาสนาเชน ตอนที่ 2 (จบ)


 

 ต่อจากตอนที่แล้ว : มหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน ตอนที่ 1



มหาวีระ

ศาสดาแห่งศาสนาเชน

ตอนที่ 2 (จบ)


เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา เจ้าชายวรรธมานทรงได้รับพิธียัชโญปวีต (พิธีสวมมงคล) คือ แสดงองค์เป็นศาสนิกตามคติของศาสนาพราหมณ์ โดยพระบิดาได้ส่งไปเล่าเรียนกับพรหมณาจารย์อยู่หลายปี แต่ปรากฏว่า แม้เจ้าชายจะสนใจในการศึกษา แต่ก็ไม่แฮ้ปปี้ในทิฐิและลัทธิของพราหมณ์ที่ว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด (แม้วรรณะกษัตริย์ก็ยังต่ำกว่า) แต่บรรดาพราหมณ์กลับมีความประพฤติไม่น่าเลื่อมใสนัก

เมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา เจ้าชายได้ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิง ยโศธา โดยต่อมามีธิดาชื่อ อโนชา เจ้าชายวรรธมานได้เสวยสุขในฆราวาสวิสัยจนพระชนมายุได้ 28 พรรษา ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพระองค์ไปตลอดกาล กล่าวคือ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์ได้สิ้นพระชมน์ไปในเวลาไล่เลี่ยกัน อันเนื่องมาจากการความเชื่อในช่วงเวลานั้นว่า หากผู้ใดปฏิบัติตบะอย่างเคร่งครัด จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งทำให้มีผู้ปฏิบัติอย่างแรงกล้าจนถึงกับเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง และพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ก็อยู่ในจำนวนนั้น



ชีวิตในวังของเจ้าชายวรรธมาน (มีวงแสงรอบพระเศียร)

เจ้าชายวรรธมานทรงเสียพระทัยมาก และได้เข้าเฝ้าพระเชษฐาซึ่งจะได้เป็นกษัตริย์สืบแทนพระบิดา โดยทูลว่าจะขอออกผนวชบำเพ็ญตนเป็นคนพเนจรชั่วคราว เพื่อเป็นการไว้ทุกข์และรำลึกถึงพระบิดาและพระมารดา

แต่พระเชษฐาไม่ทรงเห็นด้วยและกล่าวทัดทานไว้ จนเวลาล่วงมาอีก 2 ปี เจ้าชายวรรธมานก็ทูลลาอีกครั้งหนึ่ง โดยสละพระชายาและพระธิดา เปลี่ยนผ้าคลุมพระกายเป็นแบบนักพรต ออกจากนครเวสาลีไป และได้ทรงประกาศปฏิญญาว่า “นับแต่นี้เป็นต้นไป 12 ปี เราจะไม่พูดกับใครๆ แม้แต่คำเดียว”

 



มหาวีระปลงผมและเปลื้องอาภรณ์ออกบวช


เมื่อออกผนวชแล้ว มหาวีระก็ทรงปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด โดยมีจุดเด่นคือ ทมะ ขันติ และสัจจะ ที่ทำให้พระองค์มีชื่อเสียงโด่งดัง และสามารถเผยแผ่คำสอนออกไปได้อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

ศาสดามหาวีระบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยวิธีนิ่ง พอครบ 12 ปี (บางตำนานว่า 12 ปีครึ่ง) ก็บรรลุธรรมขั้นสูงสุดเรียกว่า เกวัล (keval) ตำราเชนระบุว่าขณะนั้นมหาวีระอยู่ในท่านั่งยองๆ คล้ายท่ารีดนมวัว การบรรลุเกวัลตามคติของศาสนาเชนเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์ เป็นสัพพัญญู เรียกว่า พระชินะ คือ ผู้ชนะ (กิเลสในใจทั้งปวง) โดยสิ้นเชิง




มหาวีระขณะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด เรียกว่า เกวัล


เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ชาวพุทธและคุณผู้อ่านที่นับถือศาสนาอื่น แต่พอรู้พุทธประวัติ อาจจะรำพึงในใจว่า เอ๊ะ! ทำไมประวัติของเจ้าชายวรรธมานจึงฟังเผินๆ แล้วคล้ายกับประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะนัก ตั้งแต่เป็นเจ้าชาย เบื่อหน่ายชีวิตทางโลกจึงออกบวช และบรรลุธรรม (นี่ยังไม่นับศัพท์แสงต่างๆ ที่มีส่วนคล้าย เช่น อรหันต์ และสัพพัญญู เป็นต้น) แถมอยู่ในช่วงสมัยเดียวกันอีก


นี่เองที่ทำให้ปราชญ์ฝรั่งยุคแรกๆ สงสัยว่าศาสดาทั้งสององค์นี้อาจจะเป็นคนเดียวกัน แต่เมื่อเจาะลึกลงไป ก็ถึงบางอ้ออย่างมั่นใจว่าเป็นคนละองค์ เพราะวิถีชีวิต พฤติกรรม และคำสอนอื่นๆ ที่เหลือ มีจุดเน้นต่างกันอย่างชัดเจน เพราะแม้ทั้งเชนและพุทธต่างก็เป็นอเทวนิยม แต่เชนเน้นอดีตกรรม ส่วนพุทธให้ความสำคัญกับปัจจุบันกรรม เชนสอนว่ามีอัตตา ส่วนพุทธสอนเรื่องอนัตตา เป็นอาทิ

 

หากมีข้อสงสัยว่า ทำไมศาสดามหาวีระจึงนุ่งลมห่มฟ้า เรื่องนี้มีตำนานว่า ภรรยาของพราหมณ์ยากจนคนหนึ่งบอกให้ไปขอสิ่งของจากมหาวีระ ท่านจึงมอบผ้าห่มกายของท่านให้พราหมณ์ไปครึ่งหนึ่ง ครั้นเมื่อภรรยาของพราหมร์นำผ้าดังกล่าวไปให้ช่างทอผ้าดู ช่างทอผ้าก็ว่า หากได้ครึ่งที่เหลือมา เขาก็จะเย็บผ้าเข้าด้วยกันเป็นผืนเดียวซึ่งขายได้หลายเหรียญทอง




มหาวีระมอบผ้าห่มกายแก่พราหมณ์


พราหมณ์คนนั้นจึงได้กลับไปหามหาวีระในป่าอีกครั้ง แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอ เดินไปได้ระยะหนึ่งผ้าพาดไหล่ของมหาวีระเกิดเกี่ยวติดพงหนามหลุดออกโดยอุบัติเหตุ พราหมณ์จึงฉวยโอกาสเก็บผ้าและรีบจากไป ส่วนมหาวีระนั้นก็ไม่ว่ากระไร เพราะตั้งใจว่าจะไม่กล่าวอะไรถึง 12 ปี

นับแต่นั้นมา มหาวีระจึงไม่มีอาภรณ์ใดๆ ติดกายมานับแต่นั้น (น่ารู้ไว้ว่า ศาสนาเชนมี 2 นิกายหลัก คือ นิกายทิคัมพร ซึ่งนักบวชยึดถือการนุ่งลมห่มฟ้าแบบเคร่งครัด และนิกายเศวตามพร ซึ่งนักบวชนุ่งผ้าขาว)

กลับไปช่วงเวลาหลังจากที่มหาวีระบรรลุเกวัลใหม่ๆ  ท่านก็ได้ออกแสดงปฐมเทศนาใต้ต้นอโศก โดยตำนานกล่าวว่า องค์อินทร์และเหล่าเทพยดาทั้งปวงได้ลงมาจัดสร้างสถานที่แสดงธรรมให้


ปฐมเทศนา


ศาสดามหาวีระเสด็จท่องเที่ยวสั่งสอนศาสนาไปตามดินแดนต่างๆ เช่น แคว้นมคธ กาสี โกศล วัชชี และมัลละ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 72 พรรษา รวมเวลาสั่งสอนธรรมราว 30 ปีเศษ ในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ได้ทรงประทับอยู่ที่ปาวา นครหลวงของแคว้นมัลละ และแสดงปัจฉิมโอวาท ณ เมืองนี้




ปัจฉิมเทศนา


ในวันที่ศาสดามหาวีระปรินิพพาน คัมภีร์ของเชนระบุว่ามีนักบวชราว 14,000 รูป มาร่วมงาน และประกาศเกียรติคุณของพระองค์ท่านไว้ว่า “พระองค์ทรงวางเฉยเสมอกันต่อกลิ่นแห่งโลกโสโครกและกลิ่นแห่งดอกไม้จันทน์ ทรงวางเฉยเสมอกันต่อฟางข้าวและเพชรพลอย ต่อสิ่งโสโครกและทองคำ ต่อความสุขและความทุกข์ ไม่ติดทั้งโลกนี้และโลกหน้า ไม่ต้องการชีวิตหรือความตาย”


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

         ขอแนะนำหนังสือ ปรัชญาอินเดีย ประวัติและลัทธิ เขียนโดย สุนทร ณ รังสี สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         เรื่อง Mahavira ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Mahavira 

 

 



ประวัติของบทความ

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (เสาร์ 15 ธันวาคม 2550)

 

หมายเลขบันทึก: 198540เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2008 06:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เคยฟังเทปบรรยายของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เรื่องศาสนาเชนหรือปรัชญาเชนนี้แหละ (ไม่แน่ใจ ? แต่เทปม้วนนี้ ยังพอหาซื้อได้ตามร้านขายเทปธรรมะ) ท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้าและศาสดามหาวีระ ไม่เคยเจอกันเลย ทั้งที่อยู่ร่วมยุคสมัยและเผยแพร่ในท้องถิ่นเดียวกัน.... แต่พระพุทธเจ้าทรงธัมมสากัจฉากับศิษย์บางคนของศาสดามหาวีระ  ซึ่งเรื่องราวหาได้ไม่ยากจากพระไตรปิฏก...

ตอนเรียนปรัชญาอินเดีย เคยวิเคราะห์หลักพินิจจัยของปรัชญาเชน เพื่อเป็นรายงานส่งอาจารย์ และเคยเล่าเรื่องนี้ไว้สั้นๆ ผู้สนใจ คลิกที่นี้

เจริญพร

ศาสดามหาวีระบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยวิธีนิ่ง พอครบ 12 ปี (บางตำนานว่า 12 ปีครึ่ง) ก็บรรลุธรรมขั้นสูงสุดเรียกว่า เกวัล (keval) ตำราเชนระบุว่าขณะนั้นมหาวีระอยู่ในท่านั่งยองๆ คล้ายท่ารีดนมวัว การบรรลุเกวัลตามคติของศาสนาเชนเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์ เป็นสัพพัญญู เรียกว่า พระชินะ คือ ผู้ชนะ (กิเลสในใจทั้งปวง) โดยสิ้นเชิง

 

สวัสดีครับพี่  การนิ่งถือเป็นทุกรกิริยา เป็นทางเดินสายสุดโต่ง ตามที่พระพุทธองค์เคยบำเพ็ญเพียรมาแล้ว

กราบนมัสการ หลวงพี่พระมหาชัยวุธ

        ใช่แล้วครับ มหาวีระมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้าหลายสิบปีทีเดียว แต่ตามประวัติไม่เคยพบกัน

        กราบขอบพระคุณมากครับสำหรับ ข้อมูลใน link ที่ให้ไว้

สวัสดีครับ กวิน

       เป็นมุมมองจากทางพุทธศาสนาครับ น่าสนใจเหมือนกันว่า ทางศาสนาเชนมองกลับมายังพุทธอย่างไร?

สวัสดีครับพี่ชิว

เรื่องนี้เคยอ่านผ่านๆมาบ้าง ถ้าจำไม่ผิด พระพุทธเจ้าของเราเคยเป็นศิษย์ของอาจารย์ในศาสนาเชน (จำชื่อไม่ได้รับ จำได้ว่ามี 2 ท่าน) แต่เมื่อดำเนินตามแนวทางดังกล่าวแล้วทรงเห็นว่าไม่ใช้หนทางดับทุกข์ที่แท้จริง จึงกลับมาปฏิบัติตนตามปกติ (ตอนที่เบญจวัคคี เห็นอาการดังกล่าวก็จากไป เพราะคิดว่าพระองค์รงละความเพียรเสียแล้ว)

อีกทั้งยังมีเรื่องราวของการกระทบกระทั่งกันของศิษย์และสาวกในนิกายทั้งสอง กล่าวถึงในประวัติทางพระพุทธศาสนาด้วยครับ

น่าใจอย่างที่พี่ชิวบอกครับ ว่าในมุมศาสาเชน จะมองพุทธอย่างไร

แต่ศาสนาที่สอนให้คนไม่ยึดติด มีความรักให้กัน เกรงกลัวการทำผิด ให้ทุกคนเป็นคนดี ผมว่าเป็นศาสนาที่ดีหมดครับ

ว่าแต่พี่ชิว อยากไปเดินช๊อปปิ้งที่อังกฤษมั้ยครับ อย่าลืมไปเยี่ยมทีม man city ด้วยนะครับ

สวัสดีครับ เดอ

       อืมมม...ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ ว่าเจ้าชายสิทธัตถะเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ในศาสนาเชนคนไหน แต่เท่าที่จำได้คือ เคยมีสาวกของศาสนาเชนมาสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์ครับ

       ไปอังกฤษตอนนี้ อาจจะเจอ "นายใหญ่" กับ "นายหญิง" เดินตกงาน + คิดหาทางเอาคืนอยู่ครับ...อุ๊บส์ ;-)

ให้นายใหญ๋ กับ นายหญิง หาเงินไปใช้คืนเจ้าของทีม man ci เดิมก่อนดีกว่าครับ เป็นหนี้แล้วยังมาเดินเฉิดฉายอีก ระวังจะโดนดักตีหัว อิอิ

พี่ชิวครับ กลับไปอ่านหนังสือเล่มโปรดอีกครั้งมาแล้วครับ หนังสือ "พุทธสาวก พุทธสาวิกา" ของ อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก พบข้อมูลเกี่ยวกับศาสดามหาวีระ บางส่วนครับ แต่ก็เป็นมุมมองทางพุทธไปหาเชน ก็อาจมีการแทรกความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปด้วย ด้วยลักษณะเป็นการเล่าเรื่องของตัวผู้เขียน ไม่ใช่การคัดลอกจากพุทธประวัติ แต่อ่านแล้วสนุกดีครับ

แต่เกี่ยวกับศาสนาเชน พบว่าในหนังสือดังกล่าวมักพบเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างสองศาสนา ทางเชนก็ว่าเรายึดติด (ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ แสดงว่ายึดติด อิอิ)ทาง เชน นุ่งลมห่มฟ้าดีกว่า ไม่ยึดติด อะไรประมาณนี้ และมีการกล่าวถึงการแย่งนายทุนกัน อิอิ แบบว่าเศรษฐีสมัยพุทธกาล ก็จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ช่วยสนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาได้อย่างดี ก็เลยมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างศิษย์ของทั้งสองศาสนาเสมอๆ ว่าใครจะชักชวนเศรษฐีมานับถือศาสนาตนได้

ในหนังสือกล่าวไว้แบบคร่าวๆเท่านั้นครับ ว่าแต่เราจะหาเรื่องราวของพุทธในมุมมองของ เชน ได้จากที่ไหนหนอ น่าสังสัยจริงครับ

สวัสดีครับ เดอ

          หนังสือ "พุทธสาวก พุทธสาวิกา" เล่มใหญ่ๆ นี่พี่ก็ชอบมากเหมือนกัน แต่อ่านไปได้ไม่มากนัก อ.เสฐียรพงษ์ เขียนได้ "รื่นรมย์" ดีจริงๆ

          เรื่องของศาสนาเชนนี่มีจุดน่าสนใจอีกจุดหนึ่ง คือ มีคนเคยตั้งคำถามไว้ว่า ทั้งพุทธและเชนเกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน และเป็นศาสนาที่ไม่นับถือในพระผู้เป็นเจ้าเหมือนๆ กัน แต่พุทธเคยหายสาบสูญไปจากอินเดีย ส่วนเชนยังคงอยู่ได้ - ทำไม? (พี่มีคำตอบอย่างง่ายๆ แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานครับ)

งั้นรอคำตอบพี่ชิวดีกว่า อิอิ

สวัสดีครับ เดอ

       การที่พุทธศาสนาหายไปจากอินเดีย - แผ่นดินแม่ - นั้นมีผู้วิเคราะห์เอาไว้มากแล้ว ลองหาอ่านเอง...อิอิ

       แต่เหตุใดศาสนาเชนยังคงอยู่ในอินเดียจนถึงปัจจุบัน?

       พี่ขอเดานะครับ (ย้ำว่าเดา...แต่มีเหตุผลบางอย่างรองรับ)

       ด้วยความที่ว่าคำสอนของเชนนี่เน้นหลังอหิงสา (การไม่เบียดเบียน) อย่างมาก ผลก็คือ สาวกของศาสนานี้ไม่สามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม-กสิกรรมได้เลย เพราะเสี่ยงต่อการฆ่าอยู่ตลอดเวลา เข่น ฟันจอบลงไปแต่ละคร้ง อาจจะไปโดนไส้เดือนดินตาย เป็นต้น

       ผลก็คือ สาวกของเชนมักจะหันไปทำการค้า เป็นพ่อค้า หรือถ้าเป็นสมัยใหม่หน่อยก็เป็นนักการเงิน

       นั่นคือ กลุ่มผู้สนับสนุนเชนมักจะมีตั้งแต่คนฐานะปานกลางไปจนถึงคนฐานะดี (หรือดีมาก เช่น เป็นนายธนาคาร)

       นี่เองที่น่าจะเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ทำให้เชนอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน

       อีกอย่างก็คือ ดูเหมือนว่าเชนจะไม่คุกคามศาสนาพราหมณ์เท่าพุทธ จึงไม่โดนเล่นกลับเหมือนที่พุทธโดน

       กลยุทธ์ที่ศาสนาพราหมณ์ใช้ เช่น

             - สับเปลี่ยนบทบาทของพระผู้เป็นเจ้า เช่น ยกพระวิษณุขึ้นมาใหญ่กว่าเดิม

             - ไม่ทำพิธีบูชายัญ

             - สร้างวัด ซึ่งบางวัดอาจยึดมาจากวัดพุทธ (เดิมที่ศาสนาพราหมณ์ไม่มีวัด)

             - สอนว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ปางหนึ่ง (ปางที่ 9) เรียกว่า พุทธาวตาร แต่บอกว่า พระพุทธเจ้าสอนผิดๆ เพื่อดึงให้คนที่นอกใจจากศาสนาพราหมณ์มารวมกัน จากนั้นพระนารายณ์ก็จะอวตารลงมาจัดการพวก "นอกศาสนา" เหล่านี้ทีเดียว

             ศาสนาพราหมณ์หลังจากทำ Re-engineering (ยกเครื่อง) นี้เรียกว่า ศาสนาฮินดู ครับ

           เอ๊ะ! คุยเรื่องเชนอยู่ดีๆ ไหงกลายเป็นพราหมณ์-ฮินดูไปด้าย...อิอิ

น่าสนใจมากค่ะ ท่านมหาตมะ คานทีนับถือ ศาสนาเชนด้วยไหมคะ

สวัสดีครับ พี่แต๋ง

       ท่านมหาตมะคานธีนี่นับถือฮินดูครับ แต่เคยพูดไว้อย่างน่าคิดว่า

       "A man may not believe in God and still call himself a Hindu."

       (จากหน้งสือ Introducing Hinduism หน้า 3)

       นอกจากนี้ท่านยังมีทัศนะเชิงบวกต่อพระพุทธองค์ด้วยครับ แต่การตีความยังเป็นมุมมองจากฮินดู เคยอ่านจากหนังสือชื่อ

         พระพุทธเจ้า ในทัศนะสามรัตนะบุรุษของอินเดีย

        ซึ่งอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย แปลจากหนังสือ

       Buddha As Seen By Three Illustrious Sons of India

     สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2529

       ไม่รู้ว่า สำนักหอสมุดที่ มช. มีหรือเปล่านะครับ (สงสัยต้องใช้บริการของพี่ดาวซะแล้ว)

 

สวัสดีครับ พี่แต๋ง

        ลองคัดบางส่วนของทัศนะของคานธีมาให้อ่านครับ

     "It is my fixed opinion that Buddhism or rather the teaching of the Buddha found its full fruitition in India.  He was saturated with the best that was in Hinduism, and he gave life to some of the teachings that were buried in the Vedas and which were overgrown with weeds.  His great Hindu spirit cut its way through the forest of words, meaningless words, which had overlaid the golden truth that was in the Vedas...." (หน้า 50)

      ซึ่งท่านอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร ได้แปลไว้ว่า

     "ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างมั่นเหมาะว่า พระพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ได้บรรลุความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศอินเดีย พระพุทธองค์ทรงกอปรด้วยสิ่งที่ดีงามที่สุดในศาสนาฮินดู พระองค์ได้ทรงชุบคำสอนบางประการในคัมภีร์พระเวทซึ่งถูกทอดทิ้งและปกคลุมด้วยวัชพืช ให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีก เจตนารมณ์ฮินดูอันยิ่งใหญ่ในพระองค์ท่าน ได้ฟันฝ่าและขจัดวัชพืชแห่งถ้อยคำอันไร้ความหมาย ซึ่งเติบใหญ่ด้วยกาลเวลาแล้วขึ้นบดบังสัจธรรมอันเรืองรองในคัมภีร์พระเวท..." (หน้า 57)

    

ขอบคุณ เรื่องราวดีๆ น่าสนใจมากๆ เลยครับ ขอทำลิงค์มายังบล็อกนี้นะครับ เพื่อให้คนได้อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจนี้

สวัสดีครับ คุณไบร๊ท์

       ด้วยความยินดีครับ ยังไงรบกวนแจ้ง URL ของเว็บที่ลิงค์มาตรงนี้ให้ผมทราบนิดหนึ่งนะครับ ขอบคุณครับ

แวะมาเพื่อบอกว่า...กะปุ๋มเขียนไว้ที่อนุทิน ค่ะ

"ไม่มีฉัน...ไม่มีเธอ หากแต่เป็นดั่งกันและกัน"

ความที่ปรากฏใดใด ไม่มีความเป็น... หากแต่เป็นความปรากฏที่ปรากฏขึ้นเพื่อให้เราได้รู้...ว่าไม่มี ... ทุกอย่างเป็นดั่งความเกื้อหนุน หากไม่มีสิ่งนี้ เราจะไม่สามารถรู้สิ่งนี้และสิ่งนั้นได้เลย การมีจึงเป็นดั่งกันและกัน ... มีเพื่อให้เรารู้ ปราศจากการให้ความหมาย เพราะในความเป็นของสรรพสิ่งต่างๆ ไม่มีอะไรเลยในความหมายนั้น

แบ่งปัน...กับพี่ชิว ในความเห็นที่ 7 ในบันทึก http://gotoknow.org/blog/kapoommind/286428

 

โดย Ka-Poom   อนุทิน   ลิงก์ถาวร: 43923   [ แก้ไข : ลบ ]  
สร้าง: พฤ. 20 ส.ค. 2552 @
07:28   แก้ไข: พฤ. 20 ส.ค. 2552 @ 07:28   ขนาด: 1395 ไบต์

 

ขอบคุณมากครับ ได้แวะไปอ่านที่อนุทินแล้วเช่นกันครับ ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท