แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้Hospital os ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


โครงการดีๆที่มีประโยชน์ กลับไม่ค่อยมีใครสนับสนุนงบประมาณให้

             วันนี้ ผมได้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมHospital os ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศม์ เป็นผู้นำในการประชุม โดยเป็นโครงการติดตามผลของสกว.ที่ให้ทุนแก่ทีมงานของนพ.ก้องเกียรติ์ เกษเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ในการคิดค้นและพัฒนาโปรแกรมปฏิบัติการสำหรับใช้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก

             เนื่องจากผมไปประชุมสายไปถึง 1 ชั่วโมง จากการคำนวณเวลาในการเดินทางผิดพลาดทำให้ติดอยู่บนทางด่วนนานเกือบ 1 ชั่วโมง มีผู้รู้หลายๆท่านได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แต่การำปสายทำให้ผมไม่ได้รับฟังการนำเสนอจากคุณหมอก้องเกียรติ์ จึงได้แค่อ่านเอกสารประกอบซึ่งพอมีพื้นความเข้าใจเดิมอยู่บ้าง จึงพอตามการประชุมได้ทัน

             วันนี้มีการนำเสนอในเรื่องการใช้โปรแกรHospital os ในโรงพยาบาลและในPCUเครือข่าย โดยจะมีการนำข้อมูลเข้ามาทำเป็นData wherehouse ในหลายๆโรงพยาบาลเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่เข้าร่วมโครงการและนำมาเปรียบเทียบผลงานกันด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจในการทำงานได้

              แต่เนื่องจากโปรแกรมที่นำมาใช้วิเคราะห์นี้ ต้องซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้เพราะถ้ารอทีมงานพัฒนาเองก็คงไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ แต่ปัญหาก็คือเมื่อเป็นโครงการที่ต้องใช้การซื้อโปรแกรมสำเร้จรูปมาใช้ร่วมด้วยจึงไม่สามารถจัดทำโครงการของบสนับสนุนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทั้งนี้หากสามารถทำได้ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอรวมไปถึง สปสช.จะสามารถนำข้อมุลที่ประมวลผลแล้วหรือสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้ ดังนั้นหากจะเข้าร่วมโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมจึงต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยเพราะไม่มีใครมาสนับสนุนให้

                ในช่วงหลังๆดำเนินการประชุมได้ให้ผมพูดบ้างเพราะผมเงียบฟังมานานเนื่องจากมาทีหลัง กว่าจะต่อเรื่องราวติดต้องใช้เวลาหน่อย ซึ่งผมในฐานะผู้ใช้โปรแกรมHospital os ก็ได้ยืนยันกับที่ประชุมว่าโปรแกรมนี้มีประโยชน์จริง ทีมงานของคุณหมอก้องเกียรติ ก็ไม่ทอดทิ้งคอยดูแลติดตามให้และก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อด้วย และสามารถตอบสนองการทำงานของโรงพยาบาลได้ทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาลและงานของPCU จึงออกรายงาน 12 แฟ้มและ 18 แฟ้มได้ และหากสามารถเขียนคำสั่งได้เอง สามารถคิวรี่เอาจากฐานข้อมูลได้ และผมได้เล่าถึงการนำเอาลงไปใช้ในช่วงแรกเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น มีการเตรียมตัวถึง 6 เดือนเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดปัญหาและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี จะทำให้ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อดีของบ้านตากอันหนึ่งก็คือยังไม่เคยใช้ของโปรแกรมไหนมาก่อน จึงทำให้ผู้ใช้ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ไม่ฝังใจกับของเก่า แต่ข้อเสียคือต้องให้เกิดความเคยชินกับเทคโนโลยีสารสนเทศก่อน

                  อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือต้องมีคนตัดสินใจเมื่อมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างแผนกต่างๆ ซึ่งจะมีแผนกที่ต้องทำมากขึ้น และแผนกที่ทำน้อยลง โดยต้องพยายามหาทางแก้ไขให้เกิดความราบรื่นให้ได้ เพราะหลายที่เวลาขึ้นระบบมักจะต้องดูกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่มในโรงพยาบาลเพราะเป็นผู้ใช้หลักคือแพทย์กับพยาบาล แต่บางโรงพยาบาลบางทีเภสัชก็ไม่ยอมก็มี  ในช่วง 1 เดือนแรกของวการขึ้นระบบใหม่ผมจะอยู่โรงพยาบาลตลอดเพื่อคอยช่วยไกล่เกลี่ยและตัดสินใจ แต่เมื่อ 4 เดือนก่อนมีการเปลี่ยนเวอร์ชั่นใหม่ ปรากฎว่ารอบนี้ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ทีมงานเขาแก้ไขปัญหาได้เองทั้งหมด ผมจึงมีความเห็นว่าในการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้หรือเปลี่ยนโปรแกรมใหม่ปัจจัยแห่งความสำเร็จจึงอยู่ที่คนกับการจัดการ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็คือการบริหารการเปลี่ยนแปลงหรือChange managementนั่นเอง

                ก่อนเลิกประชุม ผมยังได้รบกวนขอทีมงานคุณหมอก้องเกียรติ ได้ช่วยดูเรื่องระบบGISกับHospital osให้ด้วย ว่าจะนำมาเชื่อมกันได้อย่างไร รวมทั้งขอเขียนเพิ่มเติมหน้าจอพิเศษสำหรับงานระบาดวิทยา ที่พอเปิดหน้าจอปุ๊บ หากมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยามารักษาให้ขึ้นเตือนที่หน้าจอได้เลย ซึ่งทีมงานรับปากแล้ว

หมายเลขบันทึก: 19774เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2006 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท