การสอนของพระพุทธเจ้า


พระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

การสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธกิจประการหนึ่ง ในพุทธกิจห้าประการของพระพุทธเจ้า  พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรมครู คือพระพุทธองค์ทรงสอนพุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือบุคคลทั่วไปทั้งมนุษย์และเทวดา ทั้งยังเป็นผู้ที่ทรงศิลาจาริวัตร ทรงเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันงดงาม จนทำให้สาวกเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้อย่างดี   เมื่อมองกว้างๆ การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอน 4 อย่างดังนี้

1. สันทัสนา  อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา

2. สมาทปนา ชักจูงให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ

3. สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำสำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
                4. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัติ

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า 5 แบบ

1. วิธีเอกังสลักษณะ คือ ทรงแสดงยืนยันไปข้างเดียว เช่น ความดีมีผลเป็นสุข ความชั่วมีผลเป็นทุกข์ หรือกุศลเป็นสิ่งควรบำเพ็ญ อกุศลเป็นสิ่งควรละ

2. วิธีวิภัชชลักษณะ คือ ทรงแยกประเด็นให้ชัดเจน เช่น มีผู้ถามว่า ผู้หญิงกับผู้ชายใครดีกว่ากันอย่างนี้ จะตอบยืนยันไปข้างเดียวแบบเอกังสะไม่ได้ ควรต้องตอบแยกว่า เป็นหญิงบางคนดีกว่าชายบางคน ชายบางคนดีกว่าหญิงบางคน ดังนี้เป็นต้น เป็นคำตอบหรือคำสอนที่มีเงื่อนไข

3. วิธีปฏิปุจฉาลักษณะ คือ ทรงถามย้อนเสียก่อนแล้วจึงตรัสสอน เช่นที่ทรงสนทนากับสัจจกนิครนถ์ เรื่องอัตตา และอนัตตา สัจจกนิครนถ์ยืนยันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตน เป็นของตน เพราะมีตัวตน คนทั้งหลายจึงได้มีบุญมีบาป เปรียบเหมือนพืชพันธุ์ธัญญาหารอาศัยแผ่นดินจึงงอกงามไพบูลย์ ไม่มีแผ่นดินเสียแล้ว พืชพันธุ์ต่างๆ ก็ไม่มีที่อาศัยเจริญเติบโตได้

4. วิธีฐปนลักษณะ คือ พักปัญหาไว้ไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ทรงตอบเรื่องนั้น เพราะทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ หรือยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้ ตัวอย่างเรื่องพระมาลุงกยะมาทูลถามเรื่อง โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่าง เป็นต้น

5. วิธีอุปมาลักษณะ คือ ทรงสอนแบบเปรียบเทียบ เช่น ทรงเปรียบเทียบภิกษุด้วยผ้าเปลือกไม้และผ้ากาสี ทรงเปรียบเทียบลัทธิของมักขลิโคศาลว่า เหมือนผ้าที่ทำด้วยผมคน เป็นต้น

พระพุทธเจ้ามีวิธีการสอน ให้ผู้เรียนได้รู้แจ้งเห็นจริง โดยอาศัยวิธีการต่าง ๆ หลากหลาย ให้เหมาะกับจริตนิสัยของแต่ละคน  พระองค์สามารถยกเอาธรรมชาติใกล้ตัวมาเป็นสื่อในการสอน สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นวัสดุสิ่งของ บุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์ในการสอน  พระพุทธองค์จะทรงหยิบยกเอาขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการสอนพระธรรมทันที แสดงว่าพระองค์ทรงเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า "โสตทัศนูปกรณ์ (Audio visual aids)" และแสดงให้เห็นว่าการสอนของพระองค์เป็นงานประจำที่ไม่เลือกเวลาและสถานที่ จะต้องสอดทุกโอกาสที่พอจะสอนได้  คราวหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งบนฝั่งแม่น้ำคงคา ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง ถูกกระแสน้ำพัดเข้ามาใกล้ฝั่ง พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้ภิกษุทังหลายดูท่อนไม้นั้นแล้วตรัสสอนว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาสู่ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น  จักไม่จมเสียในท่ามกลางจักไม่เกยบก  ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าภายใน...ท่อนไม้นั้นจะลอยไหลเลื่อนไปถึงสมุทรได้  ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด

                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจักไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง... จักไม่เป็นผู้เสียในภายใน... ท่านทั้งหลายจะโน้มน้อมเอียงไปสู่นิพพาน  ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะเหตุว่าสัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าฝั่งนี้เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน 6 คำว่าฝั่งโน้นเป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก  คำว่าจมในท่ามกลาง เป็นชื่อแห่งความเพลิดเพลินรักใคร่  คำว่า เกยบก  เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

ดูก่อนภิกษุ  มนุษย์ผู้จับคืออะไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมนำตนเข้าร่วมในกิจการที่เกิดขึ้นแล้วของเขา ดูก่อนภิกษุ  นี้เรียกว่า "มนุษย์" ผู้จับ

ดูก่อนภิกษุ  อมนุษย์ผู้จับคืออย่างไร ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า... นี้เรียกว่า  อมนุษย์ผู้จับ... คำว่าเกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ 5 ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามกไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารักเกียจ มีการงานปกปิดไว้ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย... นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าในภายใน..."

อ้างอิง

แสง  จันทร์งาม.  วิธีสอนของพระพุทธเจ้า.  กรุงเทพมหานคร  :  กมลการพิมพ์,  2526.

พุทธลีลาในการแสดงธรรม [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:  http://www.thaimisc.com/  freewebboard/php/vreply.php?

              user=dokgaew&topic=10423 

หมายเลขบันทึก: 197724เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการพระคุณเจ้า

มารับความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนจากบันทึกของท่าน

กราบลาครับ :)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท