เรียนนอกห้องเรียน : นิทรรศการที่เรียบง่าย และมีพลัง


ปริญญาชีวิต คือ ทรานสคริปกิจกรรม

เช้าของเมื่อวาน  (๒๘  กรกฎาคม  ๒๕๕๑)   ภายหลังการนั่งเคลียร์งานบนโต๊ะได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง   ผมก็ถือโอกาสหอบหิ้วทีมงานไปเยี่ยมชมนิทรรศการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ 

  

การแสดงนิทรรศการดังกล่าวนี้  จัดขึ้นเนื่องในโอกาสอันสำคัญ  นั่นก็คือการเปิดอาคารหลังใหม่ของคณะสถาปัตยกรรม ฯ  ซึ่งได้ฤกษ์ทำพิธีเปิดอย่างเป็นการทางการเมื่อวันที่  ๒๑  กรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

 

 

 

 

การไปเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งนี้   ไม่เพียงต้องการไปศึกษารูปแบบและแนวคิดของการแสดงงานเท่านั้น หากแต่ไปเพื่อเยี่ยมเยียน อ.มงคล  คาร์น  ด้วยเหมือนกัน  เพราะเดิมท่านก็เป็นผู้บริหารในกองกิจการนิสิตมาหลายยุคสมัย  และถือได้ว่าเป็นผู้บริหารที่ ได้ใจ  บุคลากรไปอย่างมากโข  ซึ่งนั่นก็รวมถึงการได้ใจนิสิตไปด้วยเช่นกัน

  

อาจารย์มงคล  คาร์น  เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า  เดิมคณะจะมีแต่เฉพาะนิทรรศการที่เกี่ยวกับด้านหลักสูตรเท่านั้น   แต่เพื่อความสมบูรณ์ของความเป็น คณะ  ที่ประกอบด้วยวิถีการเรียนและกิจกรรมของนิสิต  ฟากฝ่ายการพัฒนานิสิตและคุณภาพบัณฑิตจึงเข็นงานนิทรรศการในขั้วตรงข้ามกับ การเรียน  ออกมาประกบข้างอย่างไม่สะทกสะท้าน  ภายใต้ชื่อสั้น ๆ  แต่มีพลังว่า เรียนนอกห้องเรียน

 


(มุมนิทรรศการที่เกี่ยวกับหลักสูตร และผลงานของนิสิตในสาขาวิชาต่าง ๆ )

 

  

 

ตอนแรกที่ผมได้ฟังชื่อนี้  ถึงกลับออกมาการสะดุ้ง  เพราะชื่อนิทรรศการนั้น  ดูคล้ายกับชื่อหนังสือของผมมาก   ซึ่งผมตั้งชื่อหนังสือเล่มใหม่ของตนเองว่า นอกห้องเรียนมหาลัย    

 

อันที่จริง  ผมเองก็ลั่นความคิดปรึกษา อ.มงคล  คาร์น  ไปบ้างแล้วว่า  ปรารถนาที่จะแสดงนิทรรศการภาพกิจกรรมของนิสิตอย่างเต็มรูปแบบเสียที   เสียดายก็แต่ตอนนี้   ทั้งผมและทีมงานยังแบกรับภาระอื่น ๆ อยู่มาก   กอปรกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ไม่เป็นใจนัก  ทุกอย่างเลยต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย  เมื่อมีโอกาสเช่นนี้  จึงไม่คิดลังเลที่จะมาเยี่ยมชม  เก็บเกี่ยวต้นทุนทางปัญญา  เพื่อต่อยอดงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น 

 

 

 

 

 

(นิทรรศการผลผลิตในห้องเรียนกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน) 

 

 

 

 

ผมชอบนิทรรศการชุดนี้มาก ...
ชอบทั้งชื่อ (เรียนนอกห้องเรียน)   และชอบทั้งรูปแบบที่นำเสนอ   ดูแล้วเรียบง่าย  เข้าใจง่าย  และมีเสน่ห์ชวนมองเป็นที่สุด   และนั่นก็เป็นธรรมดากระมัง  เพราะโดยสาขาวิชาชีพ หรือทักษะส่วนบุคคลแล้ว  การนำเสนองานในแนวนี้  ย่อมไม่เหลือบ่ากว่าแรงชาวสถาปัตย์อยู่แล้ว
 

 

นิทรรศการชุดนี้  สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยการเดินทางของนิสิตในถนนสายกิจกรรมของชาวสถาปัตย์ มมส.   ถึงไม่หยั่งรากลึกลงสู่อดีตนัก  แต่ก็มีความชัดเจนในการนำเสนอภายใต้กรอบระยะเวลาอันเป็นปัจจุบันของกิจกรรม   โดยแยกกิจกรรมออกเป็นเดือน ๆ   แต่ละกิจกรรมก็จะมีภาพที่หลากรสชาติ  มีคำบรรยายสั้น ๆ กระชับ ๆ  เพื่อให้ภาพแต่ละภาพได้ทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของมันเองอย่างเต็มที่

 

 

 

 

 

 

 

ภาพกิจกรรมต่างๆ ถูกอธิบายด้วยความเป็นวัฒนธรรมของชาวสถาปัตย์ มมส. ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสถาปัตย์สัญจร   ประชุมเชียร์และรับน้อง  ไหว้ครู ครอบครู  ฯลฯ  และที่สำคัญก็คือ  ภาพแต่ละภาพในห้วงเดือนต่าง ๆ นั้น  คือภาพสะท้อนที่เชื่อมให้เห็นวีถีวัฒนธรรมของนิสิตในคณะ  ภายใต้กรอบแนวคิด ฮีตสิบสองคองสิบสี่ - สถาปัตย์ฯ มมส  เมื่อเยี่ยมชมก็จะเห็นความเชื่อมโยงในกิจกรรมแต่ละเดือน ๆ  ว่าก่อเกิดและดำเนินไปอย่างไรบ้าง ? 

 

ผมดีใจที่เห็นคณะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้   ดีใจที่คณะไม่พุ่งเป้าไปแต่เฉพาะภาพชีวิตในห้องเรียนตามหลักสูตรเท่านั้น   หากแต่ยังตระหนักถึงพลานุภาพของกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในการ สร้างคน ของคณะ

และเกี่ยวกับประเด็นนี้  ผมเองก็เคยได้เขียนถึงมาบ้างแล้วว่า  เพราะสิ่งที่พบแทบทุกครั้งในวาระสำคัญ ๆ ของมหาวิทยาลัย  เราก็มักพบแต่เฉพาะนิทรรศการที่เกี่ยวกับการเติบโตในทางหลักสูตร  ตึกเรียนของมหาวิทยาลัย ฯลฯ.... แต่ภาพชีวิตที่เกิดจากการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนิสิตนั้น  แทบจะเรียกได้ว่า
มีน้อยมาก .. หรือจะเรียกว่า ไม่มี  เลยก็ไม่ผิดนัก

  

ถ้อยคำดังกล่าวนั้น  ผมไม่เพียงพูดบนเวทีต่าง ๆ เท่านั้น  หากแต่เขียนลงในบล็อก  หรือแม้แต่เขียนลงในคำนำของหนังสือทำมือบางเล่มของตนเอง  และล่าสุดก็เป็นส่วนหนึ่งที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มใหม่ (นอกห้องเรียนมหาลัย)  ที่อยู่ระหว่างการผลิต  -

 

 

 

 

สำหรับผมแล้ว
ผมมองว่านิทรรศการชุดนี้  ไม่เพียงสร้างสีสันให้งานการเปิดอาคารหลังใหม่ของคณะสถาปัตย์ดูไม่แห้งผากนัก   ตรงกันข้ามกลับเป็นเสมือนกระบอกเสียงอันทรงพลังที่ป่าวประกาศให้ใคร ๆ  ได้รับรู้ว่า 
กิจกรรมนิสิต คือ รสชาติชีวิตของปัญญาชน 

 

และกิจกรรมนิสิต ก็ยังเป็นบทเรียนอันท้าทายที่คนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยควรมีเวลาที่จะแวะเวียนลงไปสัมผัส (นอกห้องเรียน) บ้าง -  มิใช่ทำตัวกรีดกรายอย่างไร้สาระอยู่ตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า  หรือแม้แต่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนแต่เฉพาะในห้องเรียนอย่างบ้าระห่ำ  จนลืมไปเสียสนิทว่า  ...  ในความเป็นจริงของชีวิตนิสิตนักศึกษานั้น  การ  เรียนนอกห้องเรียน  ในมิติของกิจกรรม  ก็เป็นคัมภีร์ชีวิตที่ทรงพลัง  และมีคุณค่า  ไม่แพ้ตำรา  หรือห้องเรียนตามหลักสูตรเลย แม้แต่น้อยนิด 

 

เฉกเช่นกับถ้อยคำที่คุณสุริยะ  สอนสุระ ได้พูดไว้เมื่อเร็ว ๆ  มานี้ ว่า ปริญญาชีวิต  คือ
ทรานสคริปกิจกรรม
 นั่นเอง

 

 

..........

 

 

ภาพเก็บตกการรณรงค์ภายในคณะ ฯ..

หมายเลขบันทึก: 197269เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ว้าวๆ ชอบไอเดียการจัดวางค่ะ
  • แถมโปสเตอร์ยังบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างลงตัวสวยงาม
  • อย่างนี้สิค่ะเป็นสนามให้นักศึกษาได้แสดงพลัง และฝีมืออย่างสร้างสรรค์นะคะ
  • ชอบจังเลยค่ะ คำว่านอกห้องเรียนมหาลัย
  • มาเรียนในมหาลัย คุณได้อะไรกลับไปบ้าง หรือแค่มาเช้าเย็นกลับ วันและคืนผ่านไปแบบเดิมๆจน 4 ปี ได้แค่กระดาษแปะข้างฝา ใบเดียว

ชอบ concept งานแบบนี้ครับ

ศิลปะ และการจัดวาง สำคัญมากกับการจัดกระบวนการเรียนรู้

ยินดีกับตึก สถาปัตถ์ มมส. ครับ

สวัสดีค่ะ

  • ชอบลักษณะการจัดรูปแบบของแต่ละเพจค่ะ แต่ถ้ารูปภาพมีขนาดใหญ่กว่านี้คงสวยเท่ห์มีเสน่ห์ ดึงดูด น่าสนใจมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

ชอบมากค่ะ ขอไปใช้ที่ รพ นะคะ คงทำให้คนทิ้งขยะถูกทีแน่ๆค่ะ

  • ขยะกำลังล้นโลกขณะนี้คุณคิดอะไรอยู่
  • คิดก่อนทิ้งทันสมัยจริงๆ
  • ปัญหาขยะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ใหญ่มากๆในบรรดาปัญหาทั้งหลายหากมีการจัดการที่ดีและต่อเนื่องขยะจะกลายเป็นทุนเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล
  • ให้กำลังใจครูแผ่นดิน..สาธุ

สวัสดีครับ พี่อ็อด naree suwan

  • การนำเสนอแนวคิดของชาวสถาปัตย์น่าสนใจเสมอ
  • การสร้างสื่อเพื่อสะท้อนภาพความคิดนั้น ผมยากพอ ๆ กับการลงมือปฏิบัติในกิจกรรมโดยตรง  เพราะไหนต้องสังเคราะห์เนื้อหา คัดภาพ และรูปแบบการนำเสนอ
  • และสิ่งเหล่านี้  ผมไม่สันทัดเอาเสียเลย
  • ดังนั้น  ผมจึงชอบที่จะไปดูการจัดนิทรรศการของกลุ่มที่เรียนด้านศิลปกรรม - สถาปัตย์ ฯลฯ
  • ครั้งนี้ก็เช่นกัน...  เป็นการไปดูแนวทาง  เพราะตั้งใจไว้แล้วว่า  สักวันหนึ่ง  เราจะมีงานออกมาเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน
  • .....
  • เรียนนอกห้องเรียน ..เป็นอีกมิติหนึ่งที่นิสิตควรแตะต้องและสัมผัสบ้าง
  • ผมยังเชื่อเช่นนั้น ครับ.

สวัสดีครับ คุณเอก.จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

การนำเสนอ. เป็นเรื่องที่สำคัญมาก  ผมและทีมงานยังด้อยประสบการณ์เรื่องเหล่านี้  ทุกวันนี้จึงพยายามศึกษาและพัฒนาตัวเอง

การมีโอกาสได้ดูงานของชาวสถาปัตย์ฯ  จึงทำให้เรามองเห็นรูปร่างที่เราควรจะเป็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  และเมื่อถึงวันนั้น  เราก็คิดว่า  งานที่เราผลิตออกมานั้น ก็คงไม่ขี้เหร่กระมัง

ขอบคุณครับ

ชอบไอเดียเรื่อง รีไซเคิลค่ะ

... วันนี้เพิ่งลงไปคุยกับชาวบ้านเช่นกันค่ะ

* คือเด็กๆ แยกขยะที่รร. แล้วมาบอกพ่อแม่ที่บ้านด้วยค่ะ

... สิ่งที่น่าท้าทายอีกอย่างคือ ทำอย่างไรให้

ความคิดเรื่องการแยกขยะ นำไปใช้ต่อ ส่งผลต่อองค์รวม

มิใช่แค่เพียง ... นำไปขายแล้วได้ตังค์เท่านั้นค่ะ ...

....

งานศิลป์ การจัดวาง รูปแบบ ภาพต่างๆ เยี่ยมยุทธ์ค่ะ

ดูโดดเด่น ชอบมากๆ  ขอบคุณค่ะ  ....

 

นุ้ยcsmsu ครับ...

เท่าที่พี่ทราบ  งานชิ้นนี้ก็เร่งรีบไม่แพ้เรา.  แต่ข้อสังเกตของนุ้ยก็น่าสนใจ

ไว้ถึงเวลาของเรา.  ขอให้ใช้ต้นทุนจากการเยี่ยมชมคราวนี้มาปรับแต่งงานของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้, นะครับ

เพราะพี่ยังไม่ละเลิกความคิดของตนเองที่ว่า  สักวันหนึ่งเราก็จะแสดงนิทรรศการในทำนองนี้เหมือนกัน

มีทั้งภาพถ่าย..ประกอบคำบอกเล่าสั้น ๆ ...
ภาพประกอบบทกวี ..
จากนั้น ก็ชวนน้องนิสิต มาเล่นดนตรี.  อ่านบทกวี ฯลฯ..

พี่ว่า..
น่าสนใจมากเลยนะ

 

สวัสดีครับ พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ผมไปคณะสถาปัตย์ จะทิ้งอะไรก็ลังเลเสมอ  เพราะต้องเตือนสติตัวเองเสียก่อนว่า ขยะในมือเป็นชนิดไหน. ประเภทอะไร

คณะสถาปัตย์รณรงค์เรื่องนี้ได้เยี่ยมมาก. เอาจริงเอาจัง  และดูเหมือนกำลังประสบความสำเร็จไม่ใช่ย่อยเลยทีเดียว

นี่เป็นอีกโปเจคที่ผมคิดว่า "ดีงามต่อสังคม"  และควรค่าต่อการเอาเป็นแบบอย่างมาก ๆ

...

ขอบคุณครับ.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ฯ . tukkatummo

ขณะนี้ก็กำลังติดตามผลการดำเนินงานของคณะสถาปัตย์อยู่เหมือนกัน  แต่เท่าที่รับรู้ข้อมูลมาก็คือ.. ผู้บริหารคณะเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้มาก ...

ผมเองก็ได้แต่ยกธงเชียร์อยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว..

...

 

สวัสดีครับ คุณปู poo

การเชื่อมต่อจากโรงเรียนไปสู่ครัวเรือนในเรื่องขยะ  โดยมีนักเรียนนำแนวคิดไปสานต่อที่บ้านนั้น  ถือว่าเป็นกลวิธีที่น่าสนใจมาก เด็ก ๆ จะเป็นตัวอย่าง  หรือเป็นภาพสะท้อนในเรื่องนี้ต่อผู้ปกครองได้อย่างน่ารัก.

ซ้ำยัง  สร้างนิสัยให้สม่ำเสมอ  ทั้งที่บ้านและโรงเรียน.  - 

การต่อยอดทางความคิดที่มองว่า  ขายขยะแล้ว  ไม่ใช่แค่นำเงินไปใช้สอยเฉย ๆ นั้น  ผมเองก็เห็นด้วย  บางโรงเรียนเห็นทำเป็นธนาคารขยะ  ฝากออมเป็นชิ้นเป็นอัน  รวมถึงขยายผลโดยการนำไปให้เด็ก ๆ  กู้ยืมไปประกอบอาชีพที่บ้านร่วมกับผู้ปกครองเล็ก ๆ น้อย ๆ  ก็มี  หรือแม้แต่การนำไปเป็นต้นทุนในการแปรรูปอื่น ๆ  ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องเหล่านี้มากนัก  แต่ก็เห็นด้วยกับแนวคิดที่คุณปูได้นำเสนอ -

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท