กว่าจะมาเป็นหมอปาโถ (หัวดื้อ): เริ่มตั้งไข่


เตรียมตัวให้พร้อมกับความ “ไม่พร้อม”

          แพทย์ประจำบ้านปาโถมีหน้าที่หลักๆ ก็คือ ตัดชิ้นเนื้อกับ อ่านสไลด์ ซึ่งความรับผิดชอบก็แตกต่างกันไปแต่ละชั้นปี ตอนเป็นปีหนึ่ง ตัดเนื้อไม่เป็น อ่านสไลด์ไม่ออกก็คงไม่เป็นไร แต่ต้องมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นตาม อายุ พอปีสุดท้าย ก็ควรทำงานในหน้าที่ของตนเองได้เกือบจะทุกอย่าง เหลือเฉพาะ เคส ยากๆ ทั้งหลาย เอาไว้ปรึกษาอาจารย์ (จบมาแล้ว บางทีก็ต้องขอปรึกษาอาจารย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า) ใครที่ไม่มี พัฒนาการ ก็ลำบากหน่อย เพราะจะจบไปเป็นหมอปาโถอยู่แล้ว จะไปชี้เป็น เนื้อดี ชี้เป็นเนื้อร้าย ให้คนไข้อยู่แล้ว 
          การเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมทุกอย่าง มีอาจารย์ปาโถเฉพาะทุกสาขา แล้วก็มีการตรวจเพิ่มเติมอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ “definite” ที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ฉันเห็นด้วยว่าควรทำ (ถ้าทำได้) แต่ระบบการเรียนการสอนแบบที่มี ทุกอย่าง ทำให้เรา เคยตัว เกินไปหรือเปล่า เราเคยตัวกับการ ใช้การตรวจพิเศษเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจอิมมูโนฮีสโตเคมี ซึ่งต่างจากอาจารย์รุ่นก่อนๆ ที่ อ่านเนื้อ ได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งการตรวจพิเศษอื่นๆ เลย การตรวจพิเศษต่างๆ นี้ บางทีมันก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไรมากไปกว่าสไลด์เอชแอนด์อีที่เราดูกันทุกวี่ทุกวัน แถมบางทียังพาให้สับสนเสียอีก เมื่อเราใช้การตรวจพิเศษต่างๆ จนชิน เราก็จะรู้สึกว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย หรือเกิดอาการ ดูสไลด์ไม่ออก นั่นแหละค่ะ
         
หมอปาโถที่จบออกไปนั้น ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด มีแพทย์ประจำบ้านที่รับทุนรพ.ต่างๆ ไปเรียนกี่คน ย้อนคิดว่า สถานที่ที่เราจะไปอยู่เวลาที่เราจบแล้วนั้นมันเป็นอย่างไร แตกต่างจากโรงเรียนแพทย์ที่เราไปเรียนตรงไหนบ้าง แพทย์ประจำบ้านบางคนยังไม่เคยเข้าไปในห้องแลปที่ตนเองจะต้องกลับไปอยู่เลยด้วยซ้ำ ประจวบเหมาะพอดีกับ ระบบเทรนนิ่งของเราก็ลืมสอนเราไปด้วยค่ะว่า กรณีที่มี ความจำกัด เกิดขึ้นนั้น เราควรทำอย่างไร บางคนต้องไปเริ่มตั้งห้องแลปใหม่ ที่มีแต่สไลด์สีม่วงๆ แดงๆ ที่ดูๆ กันจะทำอย่างไร หรือว่าต้องส่งไปย้อมอิมมูโนฯที่อื่นทั้งหมด?  ถ้าเจอรายที่ยาก ต้องส่งไปปรึกษาอาจารย์ทุกรายหรือเปล่า?  ถ้าเราทำอย่างนั้น คนไข้จะรอเราได้หรือ? เพราะบางครั้งเวลาแค่เพียงนาทีก็สำคัญกับชีวิตคนไข้คนหนึ่งมาก
         เวลาที่ฉันอยู่ในระบบเทรนนิ่ง ฉันจึงนึกอยู่เสมอว่า ตัวเองต้องกลับไปอยู่รพ.พิษณุโลกที่มีหมอปาโถแค่ 3 คน ไม่มีหมอปาโถเฉพาะสาขาให้ปรึกษาจะทำอย่างไร อันดับแรกฉันจึงวิเคราะห์ดูว่า ห้องแลปของฉันมีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง เบื้องต้นที่สุด ทุกห้องแลปปาโถต้องมี สไลด์เอชแอนด์อี ซึ่งเป็นเบสิคของการวินิจฉัยชิ้นเนื้ออยู่แล้ว มีหมอปาโถที่ไหนก็ต้องมีสไลด์ย้อมสีนี้ที่นั่น ดังนั้น ทำอย่างไรที่ฉันจะสามารถให้รายละเอียดกับหมอเจ้าของไข้ในการดูแลรักษาคนไข้คนนั้น โดยที่ใช้ทรัพยากรเท่าที่ฉันมีอยู่ได้ 
        มันต้องเริ่มฝึกฝนวิทยายุทธตั้งแต่เทรนนิ่งเป็นแพทย์ประจำบ้านค่ะ เวลาที่ฉันดูสไลด์กับอาจารย์ เพื่อเช็คความถูกต้องของฉัน ฉันจะถามอาจารย์เสมอว่า อาจารย์คะ ถ้าเราไม่ย้อมอิมมูโนเลยนี่ มันจะเป็นอะไรได้บ้างคะ หรือเวลาที่อาจารย์ให้ฉันไปสั่งย้อมอิมมูโนฯ ฉันก็จะถามอาจารย์ก่อนว่า อาจารย์คิดถึงอะไรคะ เราถึงต้องไปย้อมอิมมูโนฯ  ซึ่งมันฟังดูแปลกไปจากคำถามของแพทย์ประจำบ้านคนอื่นๆ ที่อาจสนใจการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายหลังจากที่ “work up” มาเยอะแยะแล้ว แต่ฉันต้องการรู้สิ่งที่อยู่ ระหว่างทาง นั้นด้วย หลายครั้งที่ฉันถาม อาจารย์บางท่านจึงรู้สึกว่า ฉันไม่เชื่ออาจารย์ หรือไม่ก็ ลองภูมิ อาจารย์หรือเปล่า แถมยังว่า ดื้อ อีก เปล่าเลยค่ะ ฉันอยากบอกอาจารย์ว่า อาจารย์คะ ที่หนูถามนั้น หนูแค่ต้องการเตรียมตัวให้พร้อมกับความ ไม่พร้อม เท่านั้นค่ะ
       มันก็เปรียบเสมือนกับ คนสองคนที่ทำงานได้ประสิทธิภาพที่เทียบเท่ากัน คนหนึ่งมีพร้อมทุกอย่าง ใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปสุดไฮเทค อีกคนหนึ่งใช้เทคโนโลยีประยุกต์ง่ายๆ คุณคิดว่าใครควรจะน่าชื่นชมมากกว่ากัน ประเทศของฉันไม่ร่ำรวยเหมือนต่างชาติ หน่วยงานของฉันก็ไม่ได้มีสตางค์ที่จะซื้อเทคโนโลยีได้ทุกอย่าง การประยุกต์สิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้สามารถทำงานได้ประสิทธิภาพเท่าหรือเกือบเท่ากับ ของนอก จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญกับมันค่ะ ไม่อยากให้ทุกคนคิดแต่ว่า ไม่มีเทคโนโลยีอย่างนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถพัฒนางานของเราได้ มันอยู่ที่ว่า เราเริ่มหาแนวทางประยุกต์หรือยังต่างหาก 
           คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องเทคโนโลยีประยุกต์ที่เพิ่งไปฟังมาค่ะ เผื่อจะ จุดประกาย ให้คนอื่นๆ ได้บ้าง
            

หมายเลขบันทึก: 19673เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2006 01:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นแนวคิดที่น่านับถือและน่าจะเผยแพร่ให้รู่นน้องๆและลูกศิษย์ที่คิดจะเป็นหมอปาโถคนอื่นได้รับรู้ด้วยนะคะ น่าจะมีการสร้างชุมชนของคุณ dogaholic ที่เป็นที่ให้หมอและว่าที่หมอปาโถได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดที่ดีๆเช่นนี้ เพราะจำนวนหมอปาโถก็น่าจะมีไม่มาก เพราะจะว่าไปแล้วเป็นสาขาที่เรียกได้ว่าปิดทองหลังพระเมื่อเทียบกับหมอสาขาอื่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท