มุมมองเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน


สภาพการณ์แบบนี้เปรียบเสมือน หลุมดำ ที่มีพลังมหาศาล สามารถดูดตัวตน ความคิด จิตใจของผู้ที่เข้าไปอยู่ท่ามกลางการชุมนุม หรือเปิดรับข่าวสารจากทางสื่อโทรทัศน์วันละหลาย ๆ ชั่วโมง

ในการเรียนการสอนวิชา สังคมศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมเดินทางไปสอนให้นักศึกษา ม.แม่โจ้-ชุมพร ทุกสัปดาห์ เราได้แบ่งกลุ่มเพื่อเลือกติดตามสถานการณ์เรื่องใหญ่ ๆ ของประเทศ 6 เรื่อง มานำเสนอข่าวความเคลื่อนไหว เหตุการณ์ ความคิดเห็น ฯลฯ และช่วยกันตั้งคำถาม - ให้คำตอบ โดยใช้กระบวนการฟัง คิด พูด แบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นการฝึกหัดให้เกิดความชำนาญ

นักศึกษากลุ่มหนึ่งสนใจติดตาม เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เราได้ช่วยกันสะท้อนออกมาดังแสดงในภาพ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนโดยมีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อปลดล็อคทางการเมืองของพรรคพลังประชาชน ติดตามมาด้วยการขับไล่ รมต.สำนักนายกฯ นายจักรภพ เพ็ญแข และยกระดับการต่อสู้ไปสู่การขับไล่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช โดยใช้เหตุการณ์กรณีปราสาทพระวิหารและความผิดพลาดในการบริหารประเทศภายใต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเนื้อหาหลักในการอภิปราย นอกจากนั้น เรายังได้เห็นความพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า การเมืองใหม่ มานำเสนอเป็นทางออกให้กับสังคม

แกนนำพันธมิตรฯ 5 คน + ม็อบที่ระดมมาได้ถึง 100,000 คน + ผู้ชม ASTV ทางบ้านประมาณ 3 ล้านคน เปรียบเสมือนนักสู้ที่อยู่ มุมแดง

อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถือเป็นฝ่ายตรงข้ามโดยตรงของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มแกนนำ ส.ส. ในพรรคพลังประชาชนประมาณ 20 คน โดยมีโจทย์หลักเพื่อผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มนี้มีความพยายามจัดตั้งม็อบออกมาปะทะทางความคิดผ่านการชุมนุมประท้วงโดยระดมผู้คนมาได้ประมาณ 50,000 คน เป็นม็อบจัดตั้งที่ถูกเย้ยหยันว่า...กลัวฝน เพราะต้องใช้เงินในการจ้างวานและไม่อดทนกับความยากลำบากถ้าประเมินว่า...ทำแล้วไม่คุ้ม แต่ฐานใหญ่ของฝ่ายนี้ คือ เครือข่ายผู้นิยมทักษิณ

กลุ่มนี้เปรียบเสมือนนักสู้ที่อยู่ มุมน้ำเงิน

เป็นเรื่องปกติของการแสดงออกบนเวทีที่เป็นการชุมนุมทางการเมือง คือ จะต้องอภิปรายโจมตีความผิดพลาดของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาด้วยการตั้งข้อกล่าวหาโดยเน้นหนักจุดอ่อน (Weakness) และปัญหาอุปสรรค (Threat) ผูกโยงเรื่องราวให้สอดคล้องกัน เป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่การสร้างความรู้สึกร่วม ก่อให้เกิดพลังมวลชนเพื่อการขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ยากนักที่จะหามุมมองในด้านที่เป็น จุดแข็ง (Strength) และโอกาส (Opportunities) ของคู้ต่อสู้บนเวทีการเมือง เป็นเรื่องของผู้ฟัง ผู้ชม ที่จะต้องมีวิจารณญาณในการคิด / วิเคราะห์ด้วยตนเอง

สภาพการณ์แบบนี้เปรียบเสมือน หลุมดำ ที่มีพลังมหาศาล สามารถดูดตัวตน ความคิด จิตใจของผู้ที่เข้าไปอยู่ท่ามกลางการชุมนุม หรือเปิดรับข่าวสารจากทางสื่อโทรทัศน์วันละหลาย ๆ ชั่วโมง

การต่อสู้ ปะทะ หักล้างกันทางการเมือง ไปไกลถึงจุดที่เรียกว่า สายน้ำไม่มีวันหวนกลับ : The river of no return คือเลยจุดของการสมานฉันท์ แม้จะมีข้อเสนอให้ผู้ใหญ่ / ผู้อาวุโส มาเป็นคนกลางในการเจรจาพูดคุย ก็ได้รับการปฏิเสธด้วยความไม่เชื่อถือ ไม่มีใครยอมใคร เป็นความเสื่อมประการหนึ่งของสังคมไทย

แต่ในสังคมไทยซึ่งมีประชากรมากถึง 60 กว่าล้านคน ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวออกมาหักล้างกันทางความคิด 2 กลุ่มนี้เท่านั้น เรายังมีคนตัวเล็กตัวน้อยสถานะต่าง ๆ กันที่ไม่ได้ตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน เกษตรกร ข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ ฯลฯ

กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทย สับสน เบื่อ รู้สึกหนักหนาสาหัสกับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ สินค้าแพง-ค่าแรงถูก และต้องการเห็นทางออกของประเทศ

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของคำถามที่ขอฝากทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ คือ เราจะช่วยกันอย่างไรที่จะยกระดับความสามารถของสังคมไทยให้หลุดพ้นไปจากสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #political#การเมือง
หมายเลขบันทึก: 195547เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ระยะยาว...พรรคการเมืองทุกพรรคต้องชูธงนโยบายทางการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ

ระยะสั้น...สั่งสมบ่มเพาะเด็กไทยในวันนี้ให้ซึมลึกในบริบทของคำว่า "สามัคคี" และเดินตามรอยพระยุคลบาทในทุกพระราชดำรัส...

ระยะกลาง...ไม่น่าจะมี เพราะปัญหามันไปไกลเกินกว่าจะมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ

อีกกรณีหนึ่งก็คือการ ตัดสินคดีความต่างๆให้ชัดเจนโดยเร็ว...ซึ่งมันก็น่าจะสุ่มเสี่ยงกับสภาพการณ์ยุ่งเหยิงหนักเข้าไปอีก....

เหตุการณ์ ๑๐ เม.ย.๕๓

เหตุการณ์ ๑๐เม.ย.๕๓ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งและได้ถูกบันทึกไว้เป็นบทเรียนแห่งความเจ็บปวด และเศร้าโคกสลดของประวัติศาสตร์ชาติไทย

กลุ่ม นปช. ได้เริ่มตั้งเวทีบริเวณสะพานผ่านฟ้า ตั้งแต่ ๑๔ มี.ค.๕๓ เป็นต้นมา โดยมีการปราศรัยโจมตีรัฐบาล และบุคคลที่กลุ่ม นปช. ถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเกิดความเบื่อหน่ายและรักษาฐานมวลชนไว้ โดยแกนนำได้ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของการชุมนุมว่า สงบ สันติ อหิงสา มาโดยตลอด

แต่พฤติกรรมที่ปรากฏต่อสาธารณชนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เช่น พฤติกรรมการเทเลือดที่บ้าน นรม. มีการขว้างถุงเลือดเข้าไปในบ้าน, การเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปตามท้องถนนใน กทม. จนมีการกระทบกระทั่งกับประชาชน, การนำมวลชนบุกรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ตลอดจนยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้ง โดยต่อเนื่องด้วยวัตถุระเบิด อาวุธปืน และการยิง เอ็ม ๗๙ ทำให้เกิดความเสียหาย และความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและประชาชนทั่วไป โดยที่ไม่มีการกระทำต่อผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ใน ๓ เม.ย.๕๓ กลุ่ม นปช. ยังได้เคลื่อนขบวนยึดพื้นที่ราชประสงค์ และเปิดเวทีปราศรัยอีกแห่งหนึ่งด้วย

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง ๙ เม.ย.๕๓ ได้กระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยการปิดกั้นการจราจร ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินสมควร เพราะจำนวนของประชาชนเข้าร่วมชุมนุมไม่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมครอบครองปิดกั้นพื้นที่จราจรเป็นอาณาเขตของการชุมนุมอยู่ในขณะนั้น โดยการชุมนุมมีประชาชนอยู่เพียงบริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศเท่านั้น

ศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยตามคดีหมายเลขดำ ร.๒/๒๕๕๓ ลง ๕ เม.ย.๕๓ สรุปได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการผิดกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๖๓ ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มี

ความร้ายแรงตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ดังนั้น

ใน ๑๐ เม.ย.๕๓ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยการขอคืนพื้นที่ชุมนุมและขอเปิดการจราจรบริเวณ ถ.พิษณุโลก จากสะพานชมัยมรุเชษฐ์ – สี่แยกวังแดง และ ถ.ราชดำเนินนอกจากสี่แยกสวนมิสกวัน – สี่แยก จปร. เพื่อเปิดการใช้สะพานพระราม ๘ รวมทั้งพื้นที่

ถ.ราชดำเนินกลาง จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - สี่แยกคอกวัว เพื่อเปิดการใช้สะพานพระปิ่นเกล้าฯ

ผู้บงการ ชักใย การชุมนุมรู้ว่าการขอพื้นที่คืนโดยฝ่ายรัฐเป็นโอกาสที่จะสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง ให้มีการกระทบกระทั่ง การปะทะ ซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บ ล้มตาย เพื่อจะสามารถปลุกระดมขยายแนวร่วม ให้กว้างขวางออกไปได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ฝ่ายรัฐเพลี่ยงพล้ำ จะต้องดำเนินการด้วยความโหดเหี้ยม ไม่ให้พ่ายแพ้แบบ เม.ย.๕๒ ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดศพได้ จึงมีการจัดกองกำลังติดอาวุธ และเลือกที่จะเข้าปฏิบัติการเวลากลางคืน เพื่อให้เกิดความสับสนง่าย วางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ไฟฟ้าในกทม. ดับ

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้เริ่มขึ้น และก็ถูกกลุ่ม นปช. กระทำการต่อต้านและขัดขวาง

การปฏิบัติงาน ตั้งแต่เวลา ๑๓๐๐ แกนนำได้นำกลุ่ม นปช. ประมาณ ๒๐๐ คน ทำการปิดล้อม บก.ทภ.๑ บริเวณประตูทางเข้าด้าน ถ.ศรีอยุธยา และมีการปาระเบิดเพลิงเข้าไปใน บก.ทภ.๑

ทำให้ จนท. ได้รับบาดเจ็บ ๔ นาย เวลา ๑๕๐๐ ได้มีการระดมมวลชนโดยใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมากเข้าปิดล้อมขบวนยานพาหนะของเจ้าหน้าที่บนสะพานพระปิ่นเกล้า และแย่งยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ไปจำนวนหนึ่ง การใช้ ลข. แก๊สน้ำตาขว้างเข้าใส่กำลังเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานและสะพานเฉลิมวันชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง มีการใช้ก้อนหิน ไม้แหลม และสิ่งของสำหรับขว้างปา อย่างอื่นปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ตลอดจนมีการขับรถแท็กซี่พุ่งเข้าชนเจ้าหน้าที่

ที่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์จนได้รับบาดเจ็บ ๒ นาย

ในเวลาประมาณ ๑๘๑๕ ซึ่งจะเริ่มสิ้นแสงตะวันและเข้าสู่เวลามืดค่ำ เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้หยุดหน่วย และปรับแนววางกำลังเพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยให้พยายามนำกำลังกลับเข้าที่รวมพล แต่เจ้าหน้าที่กลับถูกกลุ่ม นปช. ใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ โดยมีการขว้างระเบิด เอ็ม ๖๗, การขว้างปาสิ่งของ, แก๊สน้ำตา, การยิงปืน และยิงเอ็ม ๗๙ จำนวนหลายลูก เข้าใส่เจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวลาประมาณ ๑๙๓๐ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีการยิง เอ็ม ๗๙ เข้าใส่บริเวณที่ประชุมของผู้บังคับบัญชา ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บหลายนาย และเสียชีวิต ๒ คน คือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และ ส.ท.ภูริวัฒน์ ประพันธ์

เหตุการณ์ในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ประสานเพื่อยุติการปะทะกันในเวลาประมาณ ๒๑๐๐ สรุปการสูญเสีย คือ

เจ้าหน้าที่ เสียชีวิต ๕ นาย และบาดเจ็บ ๓๕๖ นาย

ประชาชน เสียชีวิต ๒๑ คน และบาดเจ็บ ๔๖๙ คน

สำหรับยุทโธปกรณ์ของรัฐที่ชำรุด สูญหาย ประกอบด้วย ยานพาหนะทุกประเภท รวม ๓๕ คัน อาวุธปืนทุกประเภท รวม ๖๘ กระบอก และเครื่องมือสื่อสารทุกประเภท รวม

๑๕ รายการ

เหตุการณ์ในวันนี้ได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน โดยองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นต้น ซึ่งได้มีการสอบถามและรวบรวมข้อมูลทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้เห็นเหตุการณ์ และพยานหลักฐานอื่น

ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ใน ๑๐ เม.ย.๕๓ ตัวเขาได้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว ตั้งแต่เวลา ๑๔๓๐ ขณะนั้นเขาเห็นทหารบริเวณปากซอยถนนข้าวสาร

โดยในห้วงแรกทหารและผู้ชุมนุมต่างพูดคุยกันดี ไม่มีการปะทะหรือใช้ความรุนแรง ต่อมาเวลา ๑๘๓๐ เริ่มมีการผลักดันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม โดยทหารได้ใช้กระบองตีผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเวลา ๑๙๓๐ เขาเห็นกลุ่มบุคคลไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด อยู่บนอาคารบริเวณนั้นได้ยิงปืนใส่ทหารและผู้ชุมนุม เห็นทหารบางนายและผู้ชุมนุมหลายคนล้มลงเนื่องจากถูกยิง

มีผู้เห็นเหตุการณ์ การที่การ์ดของกลุ่ม นปช. รับทราบถึงการให้กลุ่มคนติดอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมทั้งที่มีการตรวจตราหนาแน่น โดยมีผู้เห็นรถตู้โดยสารวิ่งเข้าไปในกลุ่ม นปช. และมีชายชุดดำพร้อมอาวุธหลายคนลงจากรถ ตลอดจนในคลิปวีดีโอที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแกนนำและผู้ชุมนุมบางคนมีส่วนรู้เห็น เช่นการประกาศว่า“ต่อไปใครเห็นอะไรให้บอกไม่รู้ไม่เห็น” รวมทั้ง กรณีพวงหรีดของแกนนำ นปช. ในงานศพมารดาของคนขับรถตู้คันก่อเหตุเป็นต้น

เหตุการณ์ ๑๐ เม.ย.๕๓ ถือเป็นหน้าบทเรียนแห่งประวัติศาสตร์บทหนึ่งของประเทศ กรณีชายชุดดำซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธได้ปรากฎขึ้น เพื่อทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ให้กลายเป็นสงครามกลางเมือง ถือเป็นการดำเนินการที่มีการจัดตั้งและวางแผนไว้ล่วงหน้า การสูญเสียชีวิต ทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน รวม ๒๖ ชีวิต ซึ่งทุกชีวิตมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เท่า - เทียมกัน รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนอีกจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ทหารบางคนต้องพิการทุพพลภาพ เป็นความเศร้าโครกที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศของเรา ซึ่งบิดา มารดา และญาติของผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ยังคงไม่สามารถลืมเลือนเหตุการณ์นั้นได้ เช่น

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุรธรรม ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ได้ยื่นหนังสือ เรียน ผบ.ทบ. เมื่อ ๓๑ พ.ค.๕๔ เพื่อขอให้ช่วยติดตามความคืบหน้าของคดี ความรู้สึกของญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ย่อมไม่อาจเลือนลางไปได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเราคนไทยทุกคน ย่อมปรารถนาไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราอีกในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท