บางส่วนของแผนยุทธศาสตร์ NUKM (2549)


(ร่าง) แผนพัฒนาและวางระบบการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

                                                       (ร่าง)

                              แผนพัฒนาและวางระบบการจัดการความรู้

                                               มหาวิทยาลัยนเรศวร

                                          ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

ที่มา

         ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

         มาตรา 11 “ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอโดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมต่อสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัด ให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามพระราชกฤษฎีกานี้”

         และในคู่มือการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) ในหมวดที่ 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ข้อ “3. การพัฒนาส่วนราชการให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้”

         ในการบริหารราชการแนวใหม่ ส่วนราชการจะต้องพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญให้เพียงพอแก่การปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์ของต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ซึ่งในการบริหารราชการตามพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องมีการวางแผนการปฏิบัติราชการทุกระยะ ต้องมีการปรับแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานที่เป็นความจริง ฉะนั้น แนวความคิดของผู้ปฏิบัติงานภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมเสียใหม่ จากการที่ยึดแนวคิดว่าต้องปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ตั้งแต่อดีตจนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นเน้นการสร้างความคิดใหม่ ๆ ตามวิชาการสมัยใหม่และนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติราชการตลอดเวลา ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงกำหนดเป็นหลักการว่า ส่วนราชการต้องมีการพัฒนาความรู้เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

         เพื่อให้มีการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management Network, UKM Network) ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 และได้มอบหมายให้หน่วยประกันคุณภาพการศึกษารับผิดชอบในการพัฒนาและวางระบบการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

         ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้บุคลากร และมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลต่างๆ ได้แก่ รางวัลสุดคะนึง รางวัลสุดยอดคุณอำนวย (Knowledge Facilitator, KF) และรางวัลสุดยอดคุณลิขิต (Note Taker, NT) และในระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับรางวัล KM BIO Award 2005 (เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท) ซึ่งทุกรางวัลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้รับจาก สคส. จึงทำให้การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้นหน่วยประกันคุณภาพการศึกษา จึงเห็นควรดำเนินงานด้านการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จึงได้จัดทำแผนการพัฒนาและวางระบบการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีงบประมาณ 2549 นี้ขึ้น

นโยบาย

         เพื่อนำการจัดการความรู้ (Knowledge Management, KM) มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาฐานความรู้ขององค์กร ให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ (Complex adaptive university)

วิสัยทัศน์

         ด้วยระบบการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ ” ที่สามารถพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาฐานความรู้ ขององค์กรได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ยุทธศาสตร์

         1. สร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และศรัทธาในกระบวนการของการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีลักษณะของบุคคลเรียนรู้

         2. สร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสามารถนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานของตนเองได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

         3. ติดตาม / ประเมินผลการดำเนินการจัดการความรู้เพื่อมอบรางวัล และสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น และนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement, CQI)

กลยุทธ์

         1. สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และจัดกิจกรรมให้บุคลากรได้เห็นถึงพลังของการจัดการความรู้ กำหนดเป้าหมาย และแผนดำเนินงานของการจัดการความรู้ และเผยแพร่ให้ประชาคมในมหาวิทยาลัยรับทราบทั่วกัน

         2. สร้างผู้จัดการระบบการจัดการความรู้ (Chief Knowledge Officer, CKO) และผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ (Knowledge Facilitator, KF) ด้วยการคัดสรรบุคลากรที่เป็นผู้บริหาร และตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่ดูแลงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษา และงานวิจัย ให้ได้รับการอบรมความรู้เรื่องการจัดการความรู้ เพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานของตนเอง เพื่อเพิ่มจำนวน CKO และ KF ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานย่อย

         3. ส่งเสริมให้ CKO , KF ของทุกหน่วยงานได้ ใช้เครื่องมือต่างๆ ของการจัดการความรู้ (เช่น River Diagram, Stair Diagram, Dialogue, Deep Listening, Storytelling, Community of Practice, After Action Review ) ดำเนินการให้ผู้ดำเนินกิจกรรม (Knowledge Practitioner, KP) สามารถระบุ คัดเลือก รวบรวมความรู้ ภายในหน่วยงานของตน ในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตของหน่วยงานตามภารกิจหลัก

         4. ส่งเสริมให้เกิดชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practice, CoP) โดยมีชุมชน NUKM blog เป็นชุมชนแกนกลางเพื่อขยายเครือข่ายให้เกิดชุมชนย่อยต่างๆ (CoPs) ต่อไป

         5. พัฒนาสินทรัพย์ความรู้ของมหาวิทยาลัย (Knowledge Asset, KA) ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความรู้จากคลังความรู้ของแต่ละหน่วยงาน เป็น คลังความรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร (http://gotoknow.org/nuqakm) ที่บุคลากรทุกคน ทุกระดับ สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

         6. สร้างเวทีแบ่งปันความรู้ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยสถาบันในการประชุมวิชาการ การประกวดนวัตกรรมจากโครงงานของนิสิต การประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เพื่อการเรียนรู้ของนิสิตให้เป็นการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

         7. แสวงหา Best Practice ทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานย่อยภายในมหาวิทยาลัย

         8. สร้างเครือข่ายของการจัดการความรู้ ระหว่างมหาวิทยาลัย และองค์กรวิชาการด้านการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาการจัดการความรู้โดยรวมของมหาวิทยาลัยให้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

         9. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) เช่น การมอบเสื้อสามารถ NUKM และหนังสือคู่มือ KM สำหรับ NUKM Staff ดีเด่น, ชุมชน (CoP) ดีเด่น, คณะวิชาและหน่วยงานสายสนับสนุนที่นำ KM ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี

         10. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้าน KM ตลอดเวลา เพื่อนำผลมาปรับแผน และแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งๆ ขึ้น

         วิบูลย์ วัฒนาธร

คำสำคัญ (Tags): #nukm#plan
หมายเลขบันทึก: 19301เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีความรู้สึกยินดี และภูมิใจ ที่ได้เคยมีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ในช่วงหนึ่ง ซึ่งได้เกิดความเคารพอาจารย์อย่างสูงจนถึงทุกวันนี้ค่ะ  และพยายามหาโอกาสที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วม ของกิจกรรมที่อาจารย์ทำ แต่ก็น้อยเหลือกำลัง เพราะภาระหน้าที่ประจำก็แทบจะเอาตัวไม่รอดมาหลายหน

แต่ครั้งนี้ เมื่อได้อ่านร่างแผนฯนี้แล้วจึงเกิด "ศรัทธา" ในแนวความคิด จึงมีแรงบันดาลใจที่จะคิด และจะตกลงกับตัวเองว่า "เอาละนะ เราต้องเริ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างจริงจัง (อย่างมีอิสระ) ซะที"

โอกาสนี้ จึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพื่อ ลปรร. ใน ร่าง พรบ. ครั้งนี้ ด้วยประโยคที่สะดุดสมอง คือ

"ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมเสียใหม่ จากการที่ยึดแนวคิดว่าต้องปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ตั้งแต่อดีตจนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นเน้นการสร้างความคิดใหม่ ๆ ตามวิชาการสมัยใหม่และนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติราชการตลอดเวลา ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงกำหนดเป็นหลักการว่า ส่วนราชการต้องมีการพัฒนาความรู้เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ"

       อ.วิบูลย์ ต้องเหนื่อยไม่น้อยอีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนทัศนคติของคน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมุ่งมั่น และทุ่มเทมาก  

แต่ก็คาดหวังว่าจะเป็น พรบ.ที่ช่วยกระตุ้นให้บุคลากร "ในมหาวิทยาลัย" ตื่นตัวในการเพิ่มขีดความสามารถของตนเองเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานโดยนำวิชาการสมัยใหม่มาสร้าง ความคิด 

แต่บางกรณี หลักการ ก็อาจจะสวนทางกับ วิธีการ และไม่สามารถร่วมทางกับ  สภาพความเป็นจริง  และ งานบางอย่าง หากมีการปรับเปลี่ยนเสมอ ก็อาจเกิดปัญหา  เมื่อกระบวนการไม่นิ่ง ความเข้าใจก็สับสน ไขว้เขว ขัดแย้ง สูญเสียงบประมาณ ทำงานซ้ำซ้อน เกิดความเบื่อหน่าย และมีผลต่อผลสำเร็จของงานได้  คงต้องขอความกรุณาอาจารย์ให้คำนิยามของคำว่า 

1. วิชาการสมัยใหม่  ความ ใหม่ นั้น ดีจริงหรือ และ ใหม่ นี้มีใครทำการทดลอง พิสูจน์ และกำหนดมาตรฐานจากที่ไหน  หรือ หน่วยงานใด เราต้องคิดใหม่ เอง หรือ นำตุ๊กตา ที่มีทั่วไปมาปรับ หรือ เป็นการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็น แกน/แก่น ของระบบ  (ประเด็นนี้ ก็เพื่อจัดการความคิดเพื่อเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดให้สามารถนำไปต่อยอดให้ไปในแนวเดียวกัน)

2. ปรับใช้ตลอดเวลา  มีกรอบ ขอบเขตของ "ตลอดเวลา" คือ ปรับทุก 1 เดือน,3 เดือน หรือ 1 ปี (ประเด็นนี้ ก็เพื่อจัดการด้านความคุ้มค่าในการทำแผนลงทุน ให้เหมาะกับเวลา เช่น ลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศของงานธุรการให้เป็นแบบเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย ใช้เงิน 1 ล้านบาท เวลาดำเนินงานตั้งแต่เริ่มคิด จนใช้ระบบได้ เป็นเวลา 1 ปี แต่พอใช้จริงแค่ 3 เดือนก็พบว่า มีระบบใหม่ที่ดีกว่า เราจะเปลี่ยนหรือไม่)

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่ "ควร" จะได้รับประโยชน์จากการจัดการความรู้ครั้งนี้ คือ ใครบ้าง????

เรากำลังใช้ภาษีของประชาชนในการพัฒนาตัวเอง องค์กร มีขั้นตอนใดที่เราสามารถบอกสังคมได้ว่า นี่เป็นการตอบแทนคืนสู่สังคม   สังคมสามารถมีส่วนร่วมเรียนรู้ รับรู้ และแลกเปลี่ยนได้ มากน้อยเพียงใด 

ด้วยความเคารพค่ะ

แก้มแหม่ม

 

1. ความรู้ วิชาการ ต้องรู้จักเลือกและประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดด้วยครับ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อนำมาใช้ให้บรรลุซึ่งภารกิจหลักอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. กรอบเวลาไม่สามารถกำหนดแน่นอนตายตัวได้ครับ ขึ้นกับเรื่องและบริบทนั้น ๆ

3. ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์หลักก็คือบุคคลที่เป็นเป้าหมายของแต่ละภารกิจ ยิ่งคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าไร ผลประโยชน์ก็จะยิ่งตกกับเป้าหมายนั้นมากเท่านั้น รวมทั้งกับส่วนรวมโดยรวมและผู้ปฏิบัติงานนั้น ๆ ด้วย

สุดท้าย อย่าไปคิดว่าที่ต้องทำก็เพราะกฎหมายบังคับให้ทำ ต้องเข้าใจด้วยว่า ที่ทำเพราะศรัทธาและรักที่จะทำ ไม่มีใครมาบังคับกันได้ครับในเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องของความสมัครใจและจิตสำนึก

ส่วนที่ขาดไปของแผนนี้คือส่วนที่เป็นตาราง Action plan ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 17 โครงการ/กิจกรรม มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละโครงการ/กิจกรรมด้วย เนื่องจากยังไม่ได้เอาลง เลยอาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าไกลตัว ไกลความเป็นจริง ถ้าได้เห็น Action plan แล้ว จะเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นครับ ว่าสามารถแปลงมาเป็นปฏิบัติได้จริง

อยากขอรบกวนเรียนถามท่านอาจารย์ว่า แผนการดำเนินการจัดการความรู้ประจำปี ควรต้องครอบคลุมเรื่องอะไรบ้างค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

ผู้เข้าร่วมประชุม "รวมพลังพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทยครั้งที่ 2"

 

หมายเหตุ

  1. พอดีเข้ามาอ่านพบ  บางส่วนของแผนยุทธศาสตร์ NUKM (2549)
  2. ตามที่ท่านอาจารย์ได้ถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ในหน้านี้    น่าจะพอสรุปได้เอง (จะขอนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ของที่ทำงานค่ะ) ...แต่ก็คาดว่าตนเองอาจจะสรุปผิดได้เพราะเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องนี้    ถ้าท่านอาจารย์พอจะมีเวลาสรุปสั้นๆว่าแผนการดำเนินการจัดการความรู้ประจำปีนั้นควรจะ/น่าจะต้องครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง?  เป็นวิทยาทานก็จะเป็นความกรุณาอย่างสูงค่ะ

       กราบขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท