ประชุมทีมศูนย์พัฒนาคุณภาพ


มีหลายเรื่องที่โรงพยาบาลบ้านตากโดยผู้ปฏิบัติทำอยู่แล้ว ทำมาจนเป็นRoutine พอต้องแกะเอาออกมานำเสนอจะรู้สึกว่าแกะออกมายาก ที่ทำดีๆอยู่ก็คิดไปว่าเป็นปกติ ไม่มีอะไรโดดเด่น

            เมื่อวานนี้(15มีนาคม) ผมได้เชิญทีมFacilitatorหรือทีมคุณอำนวย มาปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เนื่องจากในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ก็จะครบรอบการประเมินเพื่อขอReaccredit HA จาก พรพ. มีประเด็นสำคัญๆ ที่ได้พูดคุยกันในหลายเรื่อง

            เรื่องแรกก็คือการบอกทิศทางของทีมนำ ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนทีมนำ โดยทีมนำจะมีการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพที่เด่นชัดมากขึ้นโดยมีการขับเคลื่อนในแนวดิ่งผ่านทางกลุ่มงาน/งานต่างๆโดยกิจกรรม Quality Round ของผู้บริหารและมีการขับเคลื่อนในแนวราบผ่านทางการประชุมทีมคร่อมหน่วยงานต่างๆ เป็นการบอกธงของผู้นำว่าจะไปทางไหน อย่างไร เพื่อที่จะให้ทางศูนย์คุณภาพสามารถจัดวางแนวทางการทำงานที่สอดคล้องและเสริมกันกับทีมนำได้

              ในการประเมินเราจะต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฉบับใหม่ ที่มีการบูรณาการทั้งHAและHPHเข้าด้วยกัน โดยทราบว่าล่าสุดที่ได้รับการประเมินและผ่านมีแค่ 8 โรงพยาบาลเท่านั้น(ข้อมูลถึง 10 มีนาคม 2549) ดังนั้น แค่การประเมินซ้ำก็ยากอยู่แล้ว แต่ประเมินซ้ำโดยใช้มาตรฐานใหม่ยิ่งยากกว่า ดังนั้นทีมศูนย์คุณภาพจะต้องเป็นผู้ไปศึกษาในรายละเอียดของเกณฑ์ให้เข้าใจเพื่อชี้แจงให้ผู้บริหารระดับต่างๆได้ทราบ แต่จะไม่เน้นให้ผู้ปฏิบัติรู้เกณฑ์เพียงแต่ให้ทีมศูนย์คุณภาพเป็นผู้ที่หยิบ สกัดเอาสิ่งที่ผู้ปฏิบัติทำอยู่แล้ว มีอยู่แล้วมาจับใส่ในเกณฑ์ให้ได้

               มีหลายเรื่องที่โรงพยาบาลบ้านตากโดยผู้ปฏิบัติทำอยู่แล้ว ทำมาจนเป็นRoutine พอต้องแกะเอาออกมานำเสนอจะรู้สึกว่าแกะออกมายาก ที่ทำดีๆอยู่ก็คิดไปว่าเป็นปกติ ไม่มีอะไรโดดเด่น พอนำมาเขียนในแบบประเมินตนเองก็เหมือนไม่มีอะไร ไม่สามารถทำให้เด่นชัดออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ได้คุบกับอาจารย์ ดร.วัลลา เล่าให้ฟังว่าที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่าคนไข้เบาหวานมีภาวะแทรกซ้อนมาก ต้องตัดนิ้ว ตัดขา เขาก็เลยทำระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานขึ้นมา ผมก็มาสะกิดใจว่า เอ๊ะ ของเราก็มีคนไข้เบาหวานเยอะ แต่ตลอด 2-3 ปีมานี้ ไม่เจอกคนที่ถูกตัดนิ้ว ตัดขาหรือคนที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก แสดงว่ามันน่าจะมีระบบที่ดี คงไม่ใช่แค่ฟลุ๊คไม่มีเอง แต่ถ้าย้อนไปดูก็จะพบว่าเรามีการปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานมาตลอดทุกปี แต่ไม่ค่อยได้บันทึกการปรับปรุงและผลลัพธ์ที่เกิดไว้

                 สิ่งที่เราจะต้องทำเพิ่มก็คือแกะเอาผลลัพธ์ออกมาให้มากขึ้น แล้วย้อนไปดูระบบงานที่วางไว้และดูว่ามีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยไม่เน้นให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องไปเริ่มทำอะไรใหม่ๆมาอีกเพื่อเตรียมรับการประเมิน แต่เน้นเอาสิ่งที่ดีที่ทำอยู่แล้ว มานำเสนอให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม่ใช่พอจะประเมินทีก็ทำกันที อย่างนั้น จะเป็นภาระ เหนื่อยและเบื่อได้ สิ่งที่เราได้คุยกันก็จะพบว่าเรามีระบบอะไรดีๆอยู่หลายอย่างในทุกๆจุดของงาน

                 พี่เกศ ได้เสนอให้มีการจัดทำบัญชีผลงานส่วนบุคคล ซึ่งเราได้ให้จัดทำเป็นบัญชีหน่วยงานไว้ แต่ทีมมีความเห็นว่าถ้าเป็นส่วนบุคคลเลยน่าจะดีกว่า เอ้เสนอให้ทำแบบบัญชีสะสมความสุขเหมือนสมุดธนาคารเลย แล้วพอ 1-3 เดือน หัวหน้าหรือคุณอำนวยก็ไปเอามาดูเพื่อจะได้เติมไฟใส่ฟืนต่อ ให้เกิดความภาคภูมิใจ และเวลาประเมินความดีความชอบก็ให้หัวหน้างานเอาสมุดเล่มนี้มาดู ในช่วงแรกคุณอำนวยอาจจะต้องนำเอามาพิมพ์เผยแพร่ให้ในเว็บก่อน ต่อมาถ้าเจ้าตัวทำได้เองก็ให้เผยแพร่เองได้ และในที่สุดก็จะขยายลงไปทำเป็นชุมชนชาวบ้านตากในเว็บบล็อคต่อไป

                   มีการนำเสนอเรื่องของการทำBenchmarking ในระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งพี่เกศก็บอกว่าเวลาขอข้อมุลจากโรงพยาบาลต่างๆจะไม่ค่อยให้ จะหวงกันมาก ทำให้ไม่รู้จะเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ผมก็เลยเสนอให้เจ้าของงานเขาติดต่อกันเองกับเพื่อนๆที่ทำงานแบบเดียวกันในโรงพยาบาลอื่นๆเพื่อมาเปรียบเทียบ หากของเราดีกว่า เราก็พยายามจะปรับให้ดีขึ้น ถ้าของเขาดีกว่าเราก็จะได้ไปเรียนรู้จากเขา

                    เรื่องClinical tracer ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องนำมาใช้ โดยไม่ต้องบอกให้ผู้ปฏิบัติรู้ เพียงแต่ผู้บริหารและคุณอำนวยต้องเป็นผู้ชี้ให้เขาเห็นว่าที่ทำอยู่นั้น มีอะไรบ้างที่ใช้แนวทางของClinical tracer ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้นั้นต้องเข้าใจมันจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปฟังวิทยากรบรรยายมาแล้วเอามาบรรยายต่อเท่านั้น

                    การสร้างบรรยากาศการพัฒนาคุณภาพให้คึกคักมากขึ้น ก็เป็นอีเรื่องหนึ่งที่เราได้พูดคุยกัน ซึ่งเราเคยทำในช่วงก่อนประเมินในครั้งแรก ปรากฎว่าได้ผลในการปลุกใจดีมาก มีหลายรูปแบบทั้งบอร์ด เพลง เสียงตามสาย วีดีโอ เป็นต้น

                    เรื่องTQA ซึ่งได้ส่งการประเมินตนเองไปเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ก็รอรายงานย้อนกลับว่าจะต้องมีการปรับปรุงอะไรบ้าง ซึ่งทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติยังไม่ได้ส่งรายงานย้อนกลับมาให้

                    เรื่องปิดท้ายก็คือเรื่องการทำให้งานประจำเป็นงานวิจัย เป็นวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานประจำของตนเอง ที่เรียกกันว่าเป็น R2Rหรือ Routine to Research แต่ผมว่าน่าจะเป็น R2R2R คือ Routine to Research to Routine มากกว่าเพราะมันจะกลายเป็นการจัดการความรู้ไปได้เนื่องจากมีการนำเอาผลการวิจัยลงมาเป็นการปฏิบัติจริง เป็นการทำให้เนียนไปกับเนื้องานประจำได้เลย จะเป็นการทำวิจัยเพื่อการปฏิบัติและการปฏิบัติเพื่อการวิจัยด้วย

                     เราเลิกประชุมกันประมาณ 4 โมงครึ่ง

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 19275เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท