สรุปกิจกรรม โครงการประสานงานวิจัยการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549


สรุปผลการจัดกิจกรรม
โครงการประสานงานวิจัยการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  จังหวัดมหาสารคาม
วันที่  4   กุมภาพันธ์   2549
ณ  โรงเรียนบ้านเม็กดำ


ความเป็นมา
            การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้ภารกิจหลักของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยภาพรวมจะมองเห็นภาพของสถานศึกษาในชนบทเห็นภาพของการอยู่ร่วมกันระหว่าง “สถานศึกษาและชุมชนที่ค่อนข้างใกล้ชิด เอื้ออาทรต่อกัน แต่ภาวะปัจจุบันได้เกิดกระแสความคิด กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณภาพของผู้เรียนที่ปรากฏสู่สาธารณะด้วยภาพที่ไม่พึงประสงค์อย่างหลากหลาย ซึ่งสาเหตุสำคัญที่สังคมมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งภาพที่ไม่พึงประสงค์ เช่นนั้น คือ “การจัดการศึกษา” ที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ถ่ายทอดกระแสความคิดสู่สังคมว่า “การศึกษาไทยตายแล้ว, การจัดการศึกษาแปลกแยกจากความเป็นจริงของชีวิต การจัดการศึกษามุ่งเน้นความรู้ในเชิงวิชาการมากเกินไปจนลืมความรู้ที่เป็นรากเหง้าแห่งวิถีชีวิต ฯลฯ”
             ด้วยเหตุและกระแสสังคมดังกล่าวโรงเรียนบ้านเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิสัย จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของหลักการ จัดการศึกษาที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นผสมผสานด้วยแนวคิดหลักที่ว่า “ความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในรั้วโรงเรียน” ดังนั้นได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การปรับฐานคิดและทิศทางของการบริหารและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  :  ฐานคิด ทิศทาง สู่การปรับกระบวนการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดไป


วัตถุประสงค์
                1.  เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การปรับฐานคิด ทิศทางของการบริหารและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
                2.  เพื่อสร้างโอกาสให้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้นำชุมชน ประชาชนได้เรียนรู้หลักการและแนวคิดของการจัดการความรู้
                3.  เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ภายใต้หลักการ “จัดการศึกษาที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น”
กิจกรรมสำคัญ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น : ฐานคิดทิศทางสู่การปรับกระบวนการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ได้กำหนดกิจกรรมสำคัญ ไว้ 3 ส่วน คือ
                1.  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผู้ทรงคุณวุฒิ
                2.  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ จำนวน  5  ฐานการเรียนรู้ ได้แก่
                     2.1   การจัดการเรียนรู้โดยครูและชุมชน
                     2.2   การดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ
                     2.3   ICT   กับการจัดการเรียนรู้
                     2.4   KM กับการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                     2.5   วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น
                3.  ทรรศการ “องค์ความรู้ในท้องถิ่น” จาก 10 ชุมชน  และจากหน่วยงานอื่น  ได้แก่ 
                     3.1   โครงการจัดการขยะมูลฝอย   ตำบลเมืองบัว   อำเภอเกษตรวิสัย   จังหวัดร้อยเอ็ด (โครงการวิจัยเด่น  ของ  สกว.  ปี  2548)
                     3.2   โรงเรียนบ้านหนองสนมดอนติ้ว
                     3.3   โรงเรียนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา
                     3.4   ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดมหาสารคาม
                     3.5   โรงเรียนบ้านเม็กดำ
                     3.6   โรงเรียนบ้านดง
                     3.7   โรงเรียนบ้านเก่าน้อย
                     3.8   โรงเรียนบ้านเตาบ่า
                     3.9   โรงเรียนบ้านหัวช้างโคกม่วง
                     3.10   โรงเรียนบ้านโพนทอง
                     3.11   โรงเรียนบ้านหัวช้าง
                     3.12   โรงเรียนบ้านแดง
                     3.13   โรงเรียนจตุคามประชาสรรค์
                     3.14   โรงเรียนบ้านโคกก่อง
                               
สรุปประเด็นสำคัญ
ฐานที่  1  การจัดการเรียนรู้โดยครูและชุมชน
           ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการจัดการเรียนการสอนโดยครูและชุมชนนั้น  ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ  ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน  ผู้นำชุมชนและตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นโดยสรุปว่า  ในปัจจุบันการจัดการศึกษาของไทยพบทางตัน  พบกับความล้มเหลว ทั้งในระดับประถม  มัธยมและระดับอุดมศึกษา  ซึ่งเกี่ยวข้องร้อยรัดกันมาเป็นลูกโซ่   เช่นในระดับประถมศึกษานักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก  ไม่มีกระบวนการคิดที่มีคุณภาพ  ไม่รู้จักการแสวงหาความรู้รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกมาก  ในระดับมัธยมศึกษาก็มีปัญหาที่ต่อเนื่องจากประถมศึกษาและที่สำคัญปัญหาเรื่องที่นักเรียนไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ควรทำ  ไม่ควรทำ  ปัญหาเรื่อง     สารเสพติด   เรื่องเพศ  สื่อลามก  รวมถึงการไม่รู้จักช่วยงานผู้ปกครอง  ไม่รักชุมชนของตน  เป็นต้น        ในระดับอุดมศึกษา  การอยู่ร่วมกันเป็นคู่ระหว่างหญิงและชาย  ก็เป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น   รวมถึงการที่นักศึกษาเรียนไม่จบหลักสูตรต้องออกกลางคัน  หรือการที่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสาขาวิชาที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาได้ทำให้ตกงาน  รวมถึงการศึกษาส่งเสริมให้คนเป็นคนเห็นแก่ตัว  ไม่รักษ์ท้องถิ่นตน  ซึ่งถือว่าเป็นปัญหากับสังคมในอนาคตได้
             สำหรับสาเหตุแห่งการเกิดปัญหานั้น ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นโดยสรุปว่า มีสาเหตุมาจากหลายประการเช่นการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสมกับสภาพบริบทของตนเอง  การจัดการศึกษาตามแบบอย่างของต่างประเทศ  การไม่จัดแนวคิดหรือปลูกฝังความรักษ์ท้องถิ่นให้กับผู้เรียนที่เป็นระบบอย่างมีคุณภาพ  นโยบายของรัฐ  รวมทั้งการที่ครูหรือนักการศึกษาไม่ประสานงานกับฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในการจัดการศึกษาหรือไม่สร้างพันธมิตรในการจัดการศึกษา ครูไม่กล้าออกนอกกรอบหรือไม่กล้าเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเดิม รวมถึงไม่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการศึกษา
           ในการแก้ปัญหานั้นผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นโดยสรุปว่า 
               1. โรงเรียนต้องใช้กระบวนการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานอย่างมีคุณภาพ
               2. โรงเรียนต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
               3. รัฐ / โรงเรียนควรจัดสรรสวัสดิการให้กับครูภูมิปัญญา / ชุมชน  ที่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม
               4. โรงเรียนควรสร้างหลักสูตร  ให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น และเสริมสร้างความเป็นไทยเพื่อที่จะให้สามารถนำไปสู่ความเป็นสากลได้ในอนาคต
               5. โรงเรียนและชุมชน  ต้องมีกระบวนการปลูกฝังความรักษ์ท้องถิ่นให้กับนักเรียนอย่างเป็นระบบ


ฐานที่  2  การดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ
กรณีตัวอย่างเด็กพิเศษ
                ศาสตราจารย์วิริยะ  นามศิริพงศ์พันธ์  พิการด้านการมองเห็น  เกิดจากเหตุการณ์ระเบิด   เมื่อ  26  พ.ย.  2510  ผลงานคือ  ได้รับทุนภูมิพล  บัณฑิตเกียรตินิยม   อาจารย์สอนนิติศาสตร์ตาบอดตนแรก   ข้าราชการตาบอดคนแรก  พ่อดีเด่นแห่งชาติ  บุคคลดีเด่นแห่งชาติ  ครูดีเด่นแห่งชาติ  ต่อสู้  เป็นแกนนำผู้ศึกษาคนพิการ  แก้ไข  ผลักดันกฎหมาย  งบประมาณ  แก้ไขความเชื่อของสังคมที่มีต่อคนพิการ  เป็นที่ปรึกษา  และให้กำลังใจคนพิการ  เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งในการต่อสู้อุปสรรค  สร้างอุปสรรคให้เป็นโอกาส  หน้าที่  อาจารย์นิติศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์  ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย  ที่ปรึกษา  มรว.กระทรวงศึกษาธิการ  คนพิการคนแรกที่ได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นศาสตราจารย์  ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีด้านคนพิการ

ดร.พัชรีวรรณ  :  เด็กอ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้   ขณะที่อยู่ในห้องเรียน   แต่นอกห้องเรียนกลับมีพฤติกรรมเหมือนเด็กปกติ   เด็กที่มีความต้องการพิเศษ  (specialist)  มีความต้องการพิเศษมากกว่าคนปกติทั่วไป  แบ่งเป็น 

           1.  ระบบการรับรู้  เช่น  หูตึง  (  4  ระดับ)  อาการต่อไป  คือ  หูหนวก  ลักษณะหน้าตาเหมือนคนปกติ  แต่มีความบกพร่องทางการได้ยิน  ไม่สามารถพูดได้    บางกรณีเริ่มหนวกตอน  2-3  ปี   การจัดการเรียนการสอน  โดยใช้โรงเรียนสอนภาษามือ  ฝึกการออกเสียง 

           2.  ระบบการมองเห็น  (ตา)  ไม่รวมตาบอดสี ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์  ได้แก่   ตาบอดเลือนราง  จะมีอุปกรณ์ใช้ในการมอง  ใช้การสัมผัสช่วยในการมองเห็น  ตาบอดสนิท

           3.  ด้านร่างกาย  เช่น  เดินผิดปกติ  พิการ  โปลิโอ   จัดการเรียนให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับสังคม

ประเภทความพิการ
          1. พิการทางการมองเห็น  นำเด็กไปที่ศูนย์คนพิการทางตา  เพื่อสอนการใช้ชีวิต  เช่น  การเดิน  การใช้ไม้เท้า  ต่อไปคือการเรียนอักษรเบล  แผนการสอนไม่ต้องปรับ  แต่ต้องจัดอำนวยความสะดวกด้านสื่อการเรียน
          2.  พิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมาย  คือ  หูหนวก  หูตึง  ส่งไปให้แพทย์วัดความได้ยิน  ถ้าพอได้ยิน  ใช้เครื่องช่วยฟัง   เร่งการฟัง  เพราะหูจะเริ่มเสื่อมไปเรื่อยๆ  พร้อมการเรียนภาษามือไปด้วย  บางคนพูดเก่ง  เพราะสามารถเลียนแบบได้เก่ง หูหนวก  เรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต   แล้วเรียนภาษามือ

          3.  พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว   มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เช่น  การเดิน  การยืน ต้องพบแพทย์ด้านการเคลื่อนไหววินิจฉัย  เพื่อหาทางแก้ไข  ผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมเด็กก่อน  คือ  ฝึกพูดก่อนที่จะเข้าโรงเรียน  เพราะถ้าพูดไม่ได้  ไปรงเรียนยิ่งจะเพิ่มปัญหาด้านการเรียนรู้มากขึ้น

           4.  พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม  มีความยากในการดูและสังเกต 

           5.  พิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้

                เด็กทั้ง  5  ประเภท  ต้องจดทะเบียนผู้พิการ  ก่อนจดทะเบียนต้องได้รับการตรวจรับรองจากแพทย์   และจดทะเบียนได้  ต้องพิการระดับ  3  ขึ้นไป  ครูสำรวจเด็กที่มีความพิการ  แล้วทำหนังสือราชการไปหาผู้ปกครอง  เพื่อนำเด็กไปจดทะเบียน  นำรูปถ่ายและเอกสารไปจดทะเบียน  แล้วจะได้สมุดคนพิการสีน้ำเงิน  จะได้รับการช่วยเหลือด้านอาชีพ  สุขภาพ  ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนและผู้ปกครองร่วมกัน
กระทรวงศึกษาธิการ  แบ่งเด็กพิการเป็น  9  ประเภท

                1.  บกพร่องทางการเห็น  ได้แก่  ตาบอด   เห็นเลือนราง 

                2.  ความบกพร่องทางการได้ยิน  ได้แก่  หูหนวก  หูตึง 

                3.  บกพร่องทางสติปัญญา  IQ  ไม่เกิน  70  ลักษณะ  คิ้วชี้  จมูกแบน  บางคนมีนิ้วก้อยสองข้อ  ลายมือตัดฝ่า

                4.  บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ

                5.  มีปัญหาทางการเรียนรู้  ได้แก่  การพูด  การเขียน   การฟัง  การคิด  การอ่าน  การสะกด  ละการคำนวณ

                6.  บกพร่องทางการพูดและภาษา  เช่น  เสียง  ความเร็ว  จังหวะ

                7.  ปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์

                8.  บุคคลออทิสติก  ลักษณะ  คือ  บกพร่องปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์  ด้านการสื่อสาร  พฤติกรรมและอารมณ์  การรับรู้และประสาท  การใช้อวัยวะประสานสัมพันธ์  ด้านจินตนาการ  สมาธิ

                9.  พิการซ้อน

สิ่งที่คาดหวัง
                1.   เรียนรู้วิธีการแยกประเภทเด็กพิเศษ
                2.   ผู้ปกครองสังเกตเด็ก
                3.   ครูและผู้ปกครองร่วมกันดำเนินการวัด  และคัดกรองเด็ก
                4.   เมื่อพบเด็กพิการ  ครูและผู้ปกครองมีหน้าที่ส่งต่อไปยังศูนย์เด็กพิการ
                5.   ครูมีความจริงใจในการช่วยเหลือ
           
ฐานที่ 4  การจัดการความรู้กับการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                จากประเด็นเสวนาการวิชาการ  ทุกฝ่ายได้มีความเห็นร่วมกันว่า “การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น”  ในระยะต่อไป  การบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ต้องมีฐานคิดและทิศทางที่สำคัญคือ
                1.  ผู้บริหาร  ครู  ผู้ปกครอง  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน    ต้องมีฐานคิดร่วมกัน  องค์ความรู้ที่จะใช้เป็นสื่อกลางเพื่อพัฒนาผู้เรียน  มี  2  ชุดที่สำคัญคือ
                     1.1   ชุดองค์ความรู้ในระบบโรงเรียน  ซึ่งมีความสำเร็จรูปผ่านกระบวนการจัดการความรู้มาแล้ว
                     1.2 ชุดองค์ความรู้ในชุมชน ซึ่งมีความหลากหลายต้องอาศัยกระบวนการจัดการความรู้ที่ชัดเจน  ด้วยรูปแบบและกระบวนการ
                2.  ในกรณีของชุดองค์ความรู้ในชุมชน   ต้องเข้าใจและมีฐานคิด   รวมทั้งทิศทางการใช้ร่วมกันว่า   เป็นปฏิบัติการใช้องค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างหรือต่อยอดความรู้ในระบบโรงเรียน  อันจะนำไปสู่การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “องค์ความรู้ในชุมชน นักเรียนไม่ได้ใช้สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือใช้สำหรับการศึกษาต่อให้สูงขึ้น” 
                3. ข้อสังเกตที่น่าสนใจและควรค้นหาคำตอบโดยเร็วที่สุดคือ “โดยภาพรวมผู้บริหารและครูที่รับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนและท้องถิ่น แต่ทำไมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนจึงแปลกแยกหรือแยกส่วนออกจากความเป็นชุมชนและท้องถิ่น  จนเห็นได้ชัดมากขึ้นทุกขณะ”
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19265เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดิฉันได้เข้ามาอ่านในเว็บของอาจารย์เรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษามือนะค่ะ

มีข้อสงสัยอยากจะเรียนถามอาจารย์ ว่าการใช้ภาษามือนั้นเขาใช้เหมือนกัน

ทั่วโลกหรือเปล่าค่ะ เพราะว่าแต่ล่ะประเทศก็มีภาษาพูดที่แตกต่างกัน มีข้อสงสัย

นิดนึงขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบด้วยนะค่ะ

นี่คืออีเมล์ดิฉันค่ะ เพราะว่าอยากจะเรียนการใช้ภาษามือ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท