คุ้มครองแรงงานชุมพร
สสค.ชุมพร สสค.ชุมพร สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร สสค.ชุมพร

ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบการ


เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และกระตุ้นจิตสำนึกของพนักงาน สถานประกอบการ อาจพิจารณาเลือกกิจกรรมใด ๆ ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์และความพร้อมของ สถานประกอบการ

1.    การจัดนิทรรศการ  

         1.1    รูปแบบของการจัดนิทรรศการที่ประกอบด้วยเรื่องราวและแผ่นภาพต่าง ๆ รูปแบบลักษณะนี้ควรใช้ ข้อความที่กระทัดรัด และประกอบด้วยสีสันที่ดึงดูดใจ รูปภาพมีส่วนสำคัญที่จะชักจูง ให้พนักงานแวะเข้าไปดู หากเป็นรูปภาพ ที่ใช้เทคนิคบางประการให้สามารถเคลื่อนไหว มีแสงไฟ และ/หรือเสียงประกอบ หรือเป็น การฉายภาพยนตร์   วิดีโอ หรือประกอบด้วยวัสดุสิ่งของที่ลอยตัว แสดงของจริงทำให้บรรยากาศของ การแสดง นิทรรศการคึกคักน่าสนใจ

        1.2    การนำชมนิทรรศการโดยมีวิทยากรนำกลุ่มเพื่อชี้แจงลำดับเรื่องราวพร้อมกับชี้ภาพประกอบของ นิทรรศการด้วย    จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเดินอ่านข้อความต่างๆ มีความเหมาะสม มากสำหรับพนักงานในระดับล่างที่ไม่สันทัดในการอ่านหรือทำความเข้าใจเรื่องราวด้วยตนเอง

        1.3    การแสดงเรื่องราวต่างๆ ด้วยการฉายภาพสไลด์ธรรมดา หรือสไลด์มัลติวิชั่นโดยเฉพาะรูปแบบสไลด์มัลติวิชั่น ต้องลงทุนค่อนข้างสูงแต่สามารถจูงใจให้ผู้นั่งชมได้นาน โดยไม่รู้สึกเบื่อทั้งนี้เพราะเป็นการแสดงเนื้อหาด้วย ภาพที่สลับไปมา เสียงประกอบที่เร้าใจ การลำดับเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรจัดให้สัมพันธ์กัน และดำเนินเรื่อง ที่ตรงไปตรงมา ไม่ย้อนไปย้อนมา อาจทำให้ผู้ชมงง

        1.4    นิทรรศการที่นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาเสนอ เช่น ภาพเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต    พร้อมระบุสาเหตุ  ผลเสียหาย และวิธีการป้องกันแก้ไข โดยเฉพาะหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานประกอบการเอง เป็นสิ่งที่ดึงดูความสนใจแก่พนักงานมาก เพราะผู้เคราะห์ร้ายอาจเป็นเพื่อนพนักงาน หรือผู้ชมที่ร่วมมีส่วนรับรู้ขณะเกิดเหตุ แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสมในการเสนอ เพราะหากเป็นภาพถ่ายที่ บันทึกภาพผู้เคราะห์ร้ายที่มีลักษณะการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตที่ดูน่ากลัวสยดสยอง อาจเป็นผลลบแก่ผู้ชม ซึ่งเป็นพนักงานอาจใจเสีย ขวัญหายรู้สึกกลัว และหวาดระแวงไม่กล้าปฏิบัติงานในจุดนั้น จึงควรเสนอเป็น ภาพการ์ตูนที่พอเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น

การเสนอนิทรรศการ สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะสร้างสรรค์ คือ กล่าวถึงการทำงานในลักษณะที่ปลอดภัย
ลักษณะที่เป็นผลลบ  คือ กล่าวถึงการทำงานที่ก่อให้เกิดอันตราย

          ซึ่งรูปแบบหลังนี้ อาจเป็นผลดี และผลเสียได้ คือ เห็นภาพที่เกิดอันตราย ทำให้กลัวและ เพิ่มความระมัดระวังทุกครั้งที่ทำงาน ผลเสีย คือ เกิดความกลัวมาก จนไม่กล้าทำงาน และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานที่ทำ และอาจไม่พอใจที่จะทำงานประเภทนี้ต่อไป

   2.   การบรรยายพิเศษ

          การบรรยายพิเศษ คือ การเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยในการทำงานมาบรรยายหัวข้อเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่สถานประกอบการเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน หรือมีจุดประสงค์ จะให้วิทยากรช่วยแนะนำตักเตือนพนักงานให้ระมัดระวัง ทำงานด้วยความมีสติ ไม่ประมาท และปฏิบัติตามกฎของความปลอดภัย ซึ่งปกติหัวหน้างานอาจจะได้แนะนำตักเตือนอยู่แล้ว แต่พนักงานชินชาและไม่ค่อยให้ความสนใจการเชิญวิทยากรจากภายนอกมาบรรยายจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ระยะเวลาของการบรรยาย ควรใช้เวลาพอสมควร ระหว่าง 1 - 3 ชั่วโมง หากใช้เวลานาน 3 ชั่วโมงควรมีการพักเพื่อให้วิทยากรได้พัก และพนักงานได้ดื่มเครื่องดื่ม และเปลี่ยนอิริยาบถ

เรื่องที่บรรยายอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

        2.1    เรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ปัญหาและสาเหตุของการประสบอันตรายในการทำงาน เป็นต้นซึ่งเป็นหัวข้อที่เป็นพื้นฐานของความปลอดภัยไม่เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ

        2.2    เรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักร การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เป็นต้น หัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้จะเสนอรายละเอียดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับ พนักงานจะได้สอดคล้องกับความต้องการ

หัวเรื่องการบรรยายพิเศษที่สถานประกอบการอาจจะเลือกใช้ อาทิเช่น

1.    "ปัญหาและสาเหตุของการประสบอันตราย"
        - สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
        - การทำงานที่ไม่ปลอดภัย
         - หลักการบริหารความปลอดภัย

2.    "อันตรายจากสิ่งแวดล้อมและการปัองกัน"
        - อันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สารเคมี
        - วิธีการป้องกัน

3.    "อันตรายจากเครื่องจักรและการปัองกัน"
        - สาเหตุ การป้องกันอันตรายในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
        - การใช้อุปกรณ์ป้องกัน

4.    "การเคลื่อนย้ายวัสดุ และการเก็บรักษา"
        - อิริยาบถการทำงาน
        - การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก
        - วิธียกเคลื่อนย้ายวัสดุอย่างถูกต้อง
      
5.    "การสำรวจสถานที่ทำงาน"
        - เพื่อให้แนวทางแก่คณะกรรมการความปลอดภัยในการสำรวจสภาพที่
           ไม่ปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

6.    "การตรวจความปลอดภัย ผลการสำรวจ"
        - การสัมมนาผลการสำรวจ

7.    "การสอบสวนอุบัติเหตุ การบันทึก การรายงาน"
        - วิธีการสอบสวนอุบัติเหตุ - การบันทึกและรายงานการเกิดอุบัติเหตุ

8.    "การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย"
        - วิธีเลือกงานเพื่อความปลอดภัย
        - วิธีการวิเคราะห์
        - การปรับปรุงสภาพการทำงาน

9.    "หลักการปรับปรุงสภาพการทำงานอย่างประหยัด"
        - แนวการปรับปรุงสภาพการทำงาน
        - ตัวอย่างการปรับปรุงสภาพการทำงานที่สัมฤทธิ์ผล

10.    "KYT" - กิจกรรม KYT
        - ขั้นตอนการปฏิบัติ
        - การนำ KYT ไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ

11.    "5 ส เชิงปฏิบัติการ"
        - กิจกรรม 5 ส
        - ปัญหาการดำเนินกิจกรรม 5 ส และการแก้ไข
        - การสำรวจเพื่อวางแผนการดำเนินการ 

        การบรรยายพิเศษ สถานประกอบการควรจะได้ติดต่อกับวิทยากรล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน หรือ 2 สัปดาห์ เพื่อให้วิทยากรได้ขออนุมัติต้นสังกัด และเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมประกอบเนื้อหาการบรรยายสิ่งที่ควรแจ้งให้ วิทยากรทราบ คือ

         - หัวเรื่องการบรรยาย
         - ระยะเวลาการบรรยาย
         - นัดหมายวันบรรยาย
         -  วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการบรรยายหากสถานประกอบการไม่มีจะได้ให้วิทยากรทราบเพื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาขลุกขลักในวันบรรยาย
         - จำนวนพนักงานผู้เข้าฟัง 
         - ระดับการศึกษา หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้เข้าฟัง
         - ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานประกอบการ เช่น เป็นโรงงานผลิตสินค้าอะไร มีพนักงานกี่คน เคยได้มีการฝึกอบรมหรือฟังการบรรยายเรื่องอะไรมาก่อน
         - แจ้งวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น อยากให้วิทยากรช่วยย้ำเตือน หรือแนะนำอะไรบ้างเป็นพิเศษ
         - หากมีปัญหาที่ต้องการให้ช่วยแนะนำแก้ไข หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่ต้องการหาทางแก้ไข ก็ควรแจ้งวิทยากร ซึ่งจะได้นำหัวข้อนั้นๆเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย
         - ควรให้ความสะดวกแก่วิทยากร เช่น หากสามารถรับส่งวิทยากรได้ก็ควรกระทำ 

        หมายเหตุ :   สำหรับหัวข้อบรรยายเรื่อง กิจกรรม 5 ส แม้การบรรยายสามารถจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงได้ แต่หากสามารถเพิ่มเวลาเป็น 6 ชั่วโมงและจัดกลุ่มพนักงานที่ร่วมทำงานในแผนกเดียวกันได้การบรรยายจะช่วย เสริมเชิงปฏิบัติการเข้าไปด้วย ซึ่งทำให้พนักงานได้เรียนรู้การปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมทำกิจกรรม 5 ส ในโรงงาน ของเขาเองต่อไป จึงเหมาะสำหรับสถานประกอบการที่มีนโยบายจะใช้กิจกรรม 5 ส ในการบริหารโรงงาน ซึ่งติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานภูมิภาค ทุกแห่ง

  3.    การสนทนาความปลอดภัย

           การสนทนาความปลอดภัยหรือการเปิดอภิปรายปัญหาความปลอดภัย คือ การเชิญวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านความปลอดภัยในการทำงานหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมสนทนา เพื่อแสดงความคิดเห็นแง่มุมต่าง ๆของอันตรายจากความประมาทในการทำงาน พร้อม แนะแนวความคิดในการสร้างสรรค์ความปลอดภัย เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่พนักงาน และสามารถนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปใช้งานของตนได้ ตอนท้ายของรายการ สนทนา ควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้ซักถามปัญหากับวิทยากรเพื่อหาคำตอบที่สงสัย สำหรับก่อนการอภิปรายนั้นตัวแทนของสถานประกอบการที่ติดต่อกับวิทยากร ควรให้รายละเอียดบางประการแก่วิทยากร เพื่อให้วิทยากรได้แนวในการอภิปรายและสามารถหยิบยกปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวของพนักงานขึ้นมาเป็นตัวตุ๊กตาในการเสนอความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้พนักงานให้ความสนใจมากกว่าการที่วิทยากรนำตัวอย่างที่ห่างไกล และไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของพนักงานมาเป็นเรื่องสนทนา 

 4.    การประกวดคำขวัญความปลอดภัย

           การดำเนินงานจัดประกวดคำขวัญความปลอดภัยในสถานประกอบการปกติคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน หรือฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายจัดการโรงงาน ในการที่จะจัดสรรงบประมาณให้และเข้ามีส่วนร่วม ผู้ดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อยกร่างกติกาการประกวด การประชาสัมพันธ์ การคัดเลือก และการตัดสิน

กติกาการประกวดคำขวัญ อาจมีสาระสำคัญดังนี้

          ( 1 )     ต้องเป็นพนักงานของบริษัท
          ( 2 )     ต้องเป็นคำขวัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
          ( 3 )     เป็นคำขวัญสั้น ๆ โดยระบุความยาวของคำขวัญ (ไม่เกิน ..... คำ)
          ( 4 )     เป็นคำขวัญที่มีความหมายให้ตระหนักถึงอันตรายและการป้องกัน
          ( 5 )    จำนวนคำขวัญที่แต่ละคนมีสิทธิส่งเข้าประกวด
          ( 6 )     สิทธิในการรับรางวัล ( เช่น ผู้ส่งคำขวัญเข้าประกวดหลายคำขวัญ มีสิทธิได้รับรางวัลเพียงรางวัลเดียว หรือมากกว่าหนึ่งรางวัล )
          ( 7 )     การส่งคำขวัญเข้าประกวด ส่งได้ที่ใด
          ( 8 )     จำนวนรางวัล
          ( 9 )    กำหนดการรับคำขวัญ และหมดเขตรับคำขวัญ
          (10)     การประกาศผล และการมอบรางวัล 

          สำหรับเกณฑ์การตัดสิน พิจารณาจากความหมายของคำขวัญ และการใช้ภาษาไทย ซึ่งควรจะถูก ต้อง สละสลวย กระชับ คล้องจอง และได้ใจความ

   5.    การประกวดภาพโปสเตอร์

    สำหรับกติกาการส่งภาพเข้าประกวด

          5.1    จะต้องเป็นพนักงานของสถานประกอบการนั้น หรืออาจจะเป็นพนักงานของสถานประกอบการในเครือ
          5.2    ขนาดของภาพ 55 x 75 ซม. (เฉพาะภาพ) เพื่อความเหมาะสมในการพิมพ์ และเป็นขนาดที่ใช้ในการประกวดระดับชาติ
          5.3    เป็นภาพสี มีคติเตือนใจ รูปแบบและเทคนิคการทำภาพ อาจกำหนดตามความเหมาะสม ไม่ควรให้ความสำคัญของความสวยงามมากกว่าความหมาย   ทั้งนี้เพราะระดับพนักงานมีขีดจำกัดความสามารถทางศิลปะ
          5.4    ความหมายจะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจง่าย อาจจัดแบ่งเป็นประเภทของเครื่องจักร ประเภทของสภาพแวดล้อมการทำงาน เป็นต้น
          5.5    ควรระบุว่าภาพที่ส่งเข้าประกวด หรือชนะการประกวดเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานประกอบการ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เผยแพร่ต่อไป
          5.6    รายละเอียดอื่น ๆ ตามแต่ความเหมาะสม

        การพิจารณาตัดสิน จะใช้คณะกรรมการซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการทั้งหมด หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ร่วมด้วยโดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

        เกณฑ์การตัดสิน ควรเน้นที่ความหมาย การสื่อความหมายที่ชัดเจน คำขวัญ คติเตือนใจ และความสวยงามของภาพเป็นอันดับท้าย

        สำหรับรางวัล อาจเป็นเงินสด ของขวัญ ใบประกาศเกียรติคุณ ตามแต่ความเหมาะสม

  6.     การตรวจสุขภาพอนามัย และการทดสอบสมรรถภาพ

         การตรวจสุขภาพอนามัยเป็นกิจกรรมหนึ่งของการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อที่จะได้ทราบสภาพร่างกาย และสมรรถภาพทางกายของพนักงานว่ายังคงเหมือนเดิม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะการทำงานในสภาวะแวดล้อม ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และสมรรถภาพทางกาย อาทิเช่น การทำงานในที่ที่มีเสียงดังมาก การทำงาน ในที่ซึ่งมีฝุ่นละอองมาก การทำงานเกี่ยวกับสารเคมี การทำงานอยู่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น การตรวจสุขภาพอนามัย และการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อนำผลการตรวจและทดสอบมาทำการวิเคราะห์ หรือการเฝ้าระวังโรคเป็นระยะ ๆ จะทำให ้ทราบว่าสมควรที่พนักงานดังกล่าวคงทำงาน ณ ที่นั้นอยู่ต่อไป หรือสมควรจะสับเปลี่ยนให้ไปทำงานอย่างอื่น เป็นการวินิจฉัยว่า โรงงานนั้นสมควรจะได้มีการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ให้มีมลภาวะน้อยลงกว่าเดิมเพื่อไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยของพนักงาน

การตรวจและการทดสอบ ทำได้หลายลักษณะดังนี้

          6.1    ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป
                   - ตรวจอัตราการเต้นชีพจร, ความดันโลหิต
                   - การตรวจเม็ดโลหิตอย่างสมบูรณ์ (CBC)
                   - ตรวจปัสสาวะทั่วไป
                   - ตรวจอุจจาระทั่วไป
                   - ถ่ายภาพรังสีทรวงอก ฯลฯ
ถ้าอายุ 35 ปีขึ้นไป
                   - ตรวจโลหิตหาตัวบ่งชี้เฉพาะโรค เช่น หาน้ำตาล ไขมัน กรดยูริค ระบบการ ทำงานของตับ และไต

          6.2    วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสภาพการทำงานต่อสรีระการทำงาน เช่น
                   - ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบเสียงดังในโรงงาน          
                   - ทดสอบสมรรถภาพสายตา เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการทำงานใช้สายตามาก เช่น งานตรวจสอบคุณภาพงานประกอบชิ้นส่วนขนาดเล็ก งานส่องกล้องจุลทัศน์ 

         6.3    การวิเคราะห์สมรรถภาพทางกาย เพื่อประเมินความสมบูรณ์ แข็งแกร่ง คล่องแคล่ว ว่องไว และความสามารถในการปฏิบัติงาน

         6.4    ตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินผลกระทบจากสารเคมี
                   - วิเคราะห์สารเคมีในร่างกาย เช่น ตะกั่วในเลือด แมงกานีสในปัสสาวะ ฯลฯ
                   - วิเคราะห์สารแปรรูป ตรวจปัสสาวะเพื่อดูตัวบ่งชี้ การสัมผัสสูดดม โทลูอีน, เบนซีน ฯลฯ
                   - วิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา และเคมีคลินิค เช่น ปริมาณเม็ดเลือดแดง สารที่แสดง การทำหน้าที่ของตับและไต

* งานบริการข้างต้น ติดต่อขอความร่วมมือไปยัง
         - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 884-1727, 4486607-8
         - โรงพยาบาล หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ สังกัดกรุงเทพมหานคร
         - มหาวิทยาลัยมหิดล
         - หรือหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ให้บริการ

 7.     การรณรงค์การใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคล

          เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้มีการแก้ไข สถานประกอบการอาจจะ ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานได้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย โดยอาจดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้

          7.1    โหมการประชาสัมพันธ์ภายในบริเวณโรงงาน เช่น การติดโปสเตอร์เชิญชวนโปสเตอร์ที่แสดงผลเสียหายของการไม่ใช้อุปกรณ์ การติดผืนผ้าขนาดใหญ่เพื่อแสดงให้ทราบว่าในช่วงสัปดาห์หรือเดือนของความปลอดภัยในการทำงานนั้น จะเป็นช่วงการรณรงค์ใช้อุปกรณ์คุ้มครองฯ การติดตั้งคัทเอาท์ขนาดใหญ่ เขียน ข้อความชักชวนจูงใจให้เกิดความร่วมมือจากพนักงาน

          7.2    การแสดงนิทรรศการ โดยมีแผ่นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์คุ้มครอง ความปลอดภัยในสภาพการทำงานต่าง ๆ จัดแสดงวัสดุอุปกรณ์คุ้มครอง แนะนำการใช้และการบำรุงรักษา ตลอดจนการบรรยายพิเศษในเรื่องดังกล่าว การชักชวนจูงใจให้พนักงานได้ใช้อุปกรณ์อย่างเคร่งครัดในช่วงการรณรงค์ เพื่อให้พนักงานเกิดความเคยชิน จะไม่รู้สึกอึดอัดรำคาญ และจะได้ใช้ตลอดไป

          7.3    แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำการตรวจตรา ให้คำแนะนำ และประเมินผลของการรณรงค์ หาก มีการจูงใจด้วยการให้รางวัลของขวัญ คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ให้คะแนน

        หลังจากช่วงรณรงค์ สถานประกอบการควรแสดงจุดยืนในนโยบายนี้อย่างชัดเจน ที่จะให้พนักงานให้ความร่วมมือในการใช้อุปกรณ์ตลอดไป และอาจถือการฝ่าฝืนละเลยเป็นการผิดระเบียบวินัย ซึ่งมีผลในการพิจารณาโทษ

  8.    การรณรงค์ความปลอดภัยด้วยโปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัย

          โปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัยเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการเตือนจิตสำนึกของพนักงาน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน    บางครั้งพนักงานอาจจะหลงลืมไปว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่หรือแม้จะรู้อยู่แก่ใจแต่ไม่สนใจและคิดว่าคงไม่มีอันตรายเกิดขึ้น ดังนั้น การติดแผ่นภาพโปสเตอร์พร้อมคำขวัญ เพื่อเตือนสติ และรูปภาพสัญลักษณ์  ที่กำหนดให้กระทำ เตือน หรือละเว้นการกระทำใด ๆ ก็ตาม จะช่วยกระตุ้นเตือนให้สมองสั่งการได้ถูกต้อง และไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นสาเหตุของการประสบอันตราย สถานประกอบการอาจเลือกแผ่นภาพโปสเตอร์รณรงค์ความปลอดภัย หรือรูปภาพสัญลักษณ์ความปลอดภัยที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานนั้น ๆ ไปติดให้พนักงานได้เห็นอย่างชัดเจน และย้ำเตือนให้ปฏิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยของตัวพนักงานเอง 
  9.    การประกวดรายงานสภาพงานที่ไม่ปลอดภัย

  วัตถุประสงค์
         - เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการค้นหาอันตราย หรือสภาพงานที่ไม่ปลอดภัย
         - เพื่อให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
         - ให้พนักงานสามารถเรียงลำดับขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การดำเนินงาน
         - แบ่งพนักงานในแต่ละฝ่ายออกเป็นกลุ่มย่อยและตั้งชื่อกลุ่มต่าง ๆ เช่น A, B, C
         - แต่ละกลุ่มจะเขียนลำดับขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด
         - ทำการสังเกตการปฏิบัติงาน เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง
         - จดจุดอันตราย อันอาจจะเกิดขึ้น จากสภาพการทำงาน
         - เขียนสรุป และรายงานผล
         - จัดทำผลงานกลุ่ม เพื่อเสนอให้หัวหน้างาน
         - ติดประกาศ หรือโปสเตอร์ ผลงานเพื่อเผยแพร่
         - จัดมอบรางวัลให้แก่ผู้เสนอผลงานดีเด่น

เกณฑ์การตัดสิน
         - โดยคณะกรรมการความปลอดภัยของบริษัท
         - หัวหน้าแผนกทุกแผนก

  10.   การกระจายเสียงบทความ

  11.    การเผยแพร่บทความในวารสาร

  12.    การประกวดความสะอาด

  13.     การรณรงค์กิจกรรม 5 ส

  14.    การรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ด้วย KYT

  15.    การตอบปัญหาชิงรางวัล

          15.2    ให้พนักงานแสดงความสามารถเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มบุคคลในการตอบคำถามโดยอาจจัดในลักษณะรายการเกมโชว์ใน รายการโทรทัศน์ ซึ่งสามารถทำในช่วงพักเที่ยงหลังจากพนักงานรับประทานอาหารแล้ว และสามารถเข้ามานั่งชมช่วยกันเชียร์เพื่อน ๆ ที่ขึ้นไปบนเวทีตอบคำถาม หากได้พิธีกรที่มีความสามารถ รายการเช่นนี้จะดำเนินการได้อย่างสนุกสนาน พนักงานได้รับความเพลิดเพลิน คลายความเครียดจากการทำงาน และยังได้รับความรู้จากการถามตอบปัญหาความปลอดภัยอีกด้วย

 16.    การทำแผ่นป้ายแสดงสถิติอุบัติเหตุ หรือป้ายประกาศ

  17.    การแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย

  18.     การจัดฉายวิดีโอความปลอดภัย

  19.    การทัศนศึกษาในสถานประกอบการอื่น

  20.     กิจกรรมอื่น ๆ

 20.1    แรลลี่ความปลอดภัย   เป็นการแข่งขัน เพื่อหาคำตอบจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งต่อ ๆ กันไป โดยการทำเวลาให้น้อยที่สุด ลักษณะการแข่งขันอาศัยการดัดแปลงกติกาการแข่งขันรถแรลลี่ โดยผู้แข่งขันจะเป็นกลุ่ม และสนามแข่งขันอาศัยโรงงาน และบริเวณรอบ ๆ เมื่อทุกทีมหาคำตอบ ซึ่งจะเกี่ยวกับความปลอดภัยได้ครบแล้ว คณะกรรมการจะพิจารณาความถูกต้องของคำถาม และระยะเวลาที่น้อยที่สุด เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

        20.2     การโต้วาที หรือการแซววาทีเป็นการแข่งขันโต้วาทีในหัวข้อเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยพนักงานแบ่งเป็น 2 ทีม    แต่ละทีมจะต้อง คัดเลือกลูกทีมจากพนักงานที่มีฝีปากกล้า และมีไหวพริบปฏิภาณดี การแข่งขันอาจจะใช้รูปแบบของความคิดเห็นที่แตกต่างตรงกันข้าม หรือความคิดเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างทีมในลักษณะยอวาที หรือแซววาทีก็ได้

        20.3     กายบริหาร การฝึกกายบริหารในช่วงเช้าก่อนเข้าปฏิบัติงานของพนักงานเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของร่างกาย และจิตใจให้มีความตื่นตัว และกระฉับกระเฉง นิยมปฏิบัติกันในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงงาน หรือพนักงานของห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องฝึกกายบริหารบนลานกว้างของโรงงาน อาจใช้พื้นที่บริเวณที่ปฏิบัติงาน อย่างเช่น บริเวณทางเดินภายในห้างสรรพสินค้า สำหรับในประเทศไทยได้มีสถานประกอบการหลายแห่ง โดยเฉพาะ ที่มีการร่วมทุนจากบริษัทญี่ปุ่นได้นำเข้ามาปฏิบัติ

 

 


        การทัศนศึกษา เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้พนักงานได้มีความคิดกว้างไกล และสามารถนำสิ่งที่รู้สิ่งที่ เห็นมาปรับใช้ในงานประจำวันได้ การทัศนศึกษาเรื่องความปลอดภัยก็เช่นกัน แม้พนักงานจะรู้จักงานที่ตนเองทำเป็นอย่างดี แต่บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาในงาน กลับไม่รู้ทางออก ของปัญหา เพราะความที่คุ้นเคยกับงานเกินไป ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนโรงงานเพียงไม่กี่นาทีกลับเป็นผู้ที่มองเห็นจุดบกพร่องของโรงงานและเข้าใจถึงปัญหาได้ดีกว่า ดังนั้นการนำพนักงานไปทัศนศึกษาโรงงานอื่น จะเป็นประโยชน์แก่ตัวพนักงานได้รู้ได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ และสามารถ นำสิ่งที่เห็นมาพัฒนาหน่วยงานตนเองได้ แต่ก่อนที่จะนำไปควรจะประชุมทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการทัศนศึกษาเสียก่อน พร้อม ทั้งแนะนำวิธีการทัศนศึกษาที่จะได้รับประโยชน์ เช่น อย่าสักแต่เดินผ่านไป ควรจะสังเกตสิ่งต่าง ๆ และหากมีโอกาสได้สอบถามปัญหาควรตั้ง คำถามอย่างไร และรู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องไม่รุ่มร่าม หรือไปรบกวนการทำงานของพนักงาน จะทำให้เสียชื่อเสียงของหน่วยงานของเรา และอาจไม่ได้รับความร่วมมือให้เข้าชมโรงงานนั้นอีกต่อไป การทัศนศึกษาโรงงานนั้น ปกติจะเป็นเรื่องที่ยากเพราะโรงงานหลายแห่งไม่ ประสงค์ให้สถานประกอบการอื่น โดยเฉพาะที่เป็นคู่แข่งขันในตลาดสินค้าประเภทเดียวกัน ได้เข้าไปรับรู้วิธีการผลิตเทคนิคต่าง ๆ ดังนี้นการ เข้าชมโรงงานประเภทเดียวกันหรือผลิตสินค้าชนิดเดียวกันนั้น สรุปว่าคงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมักจะเป็นโรงงานคู่แข่ง ดังนั้นการชมโรงงาน จึงมักจะได้ชมแต่โรงงานประเภทที่ต่างออกไปจากโรงงานของเราเอง เช่น พนักงานโรงงานผลิตยางรถยนต์ อาจได้เข้าชมโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเสียเวลาเปล่าในการไปดูงาน แม้ลักษณะของการผลิตจะแตกต่างกันมาก แต่การบริหารโรงงาน การดูแลค วามเรียบร้อย ความสะอาด การบำรุงรักษา และอื่น ๆ นั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สามารถจดจำนำกลับมาพิจารณาปรับใช้กับโรงงานของเราได้ ข้อสำคัญ คือ พนักงานของเราจะมีขีดความสามารถในการจดจำ ศึกษาหาความรู้ได้จากการดูงานมากน้อยเพียงใด สถานประกอบการที่มี โรงงานในเครือ และอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากโรงงานของตนเองมากนัก สามารถจะนำพนักงานไปทัศนศึกษาโรงงานอื่นที่อยู่ในเครือได้  การทัศนศึกษา อาจจะติดต่อกับสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลดีเด่น และรางวัลชมเชยด้านความปลอดภัยในการทำงาน ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ


 


          สถานประกอบการ อาจจะจัดฉายวิดีโอเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้พนักงานได้ชมในช่วงพักเที่ยงของทุกวัน โดยการยืมวิดีโอจากหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา สถานทูต หรือสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่พนักงาน  วิดีโอที่ยืมมานั้นส่วนใหญ่จะบร

 

 

ขอขอบคุณ  กองตรวจความปลอดภัย  กรมสวัดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

 


       

หมายเลขบันทึก: 189809เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากได้ความหมายของ"ความปลอดภัยภายในโรงงาน"

จุดมุ่งหมายของการทำงานเพื่อให้ปลอดภัย

การป้องกันความปลอดภัยลักาณะต่างๆในโรงงาน

ผลเสียของความไม่ปลอดภัย

การรักษากรณีบาดเจ็บ เนื่องจากภาวะไม่ปลอดภัย

กรุณาด้วยน่ะค่ะขอขอบพระคุณไว้ล่วงหน้า

คำขวัญอยู่ไหนครับผมงง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท