รวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็ง


ภาระที่เราจะต้องทำต่อคือกระบวนการเรียนรู้จากการ"ร่วมทำ"ของภาคีแกนนำ

   เมื่อวันที่ ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ผมและทีมงานศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองโรงพยาบาลสระบุรี ได้มีโอกาสเป็นวิทยากรกระบวนการในการประชุมเชิงปฏิบัติการรวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็ง รุ่นที่ ๑ ของคปสอ.เมืองสระบุรี ปี ๒๕๔๘ ที่หาดสองแควรีสอร์ท อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย อสม. และกรรมการชุมชนจาก ๔ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองได้แก่ ชุมชนเสือขบ ชุมชนเขาคูบา ๑ ชุมชนหลังบขส. และชุมชนแก่งขนุน ๑จำนวนทั้งสิ้น ๓๒ คน มีทีมงานจากคปสอ.เมืองเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมแล้วมี่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเกือบ ๖๐ ชีวิต

    วัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของแกนนำชุมชนเพื่อให้สามารถรวมพลังความคิดในการพัฒนาชุมชนของตนเองสู่เป้าหมายชุมชนเข้มแข็ง/ชุมชนน่าอยู่ สร้างแผนงาน/โครงการในการพัฒนาชุมชนของตนเองได้  โดยวิทยากรกระบวนการทำหน้าที่ในการตั้งประเด็น แนะวิธีการร่วมคิด  ร่วมทำงาน และช่วยสรุประเด็นให้กับผู้เข้าประชุม

     ในวันแรกหลังจากเปิดประชุมและกิจกรรมสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว กิจกรรมแรกเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าประชุมถึงความสามารถในการร่วมคิดด้วยวิธีการระดมสมองและการสรุปความคิดโดยใช้แผนที่ความคิด โดยใช้ประเด็น "องค์ประกอบของเมืองน่าอยู่/ชมชนน่าอยู่" ในการฝึกระดมสมอง

     กิจกรรมที่ ๒ เป็นการสำรวจควมเป็นจริงในอดีตของชุมชน โดยการระดมสมองหาสิ่งที่ภาคภูมิใจและเสียใจในอดีต เพื่อเก็บไว้เป็นบทเรียนในการพัฒนาต่อไป

   กิจกรรมที่ ๓ เป็นการสร้างภาพฝันของชุมชนร่วมกัน โดยการระดมสมองด้วยภาพฉีกปะ  และนำภาพฝันของทั้ง ๔ ชุมชนมารวมกันด้วยแผนที่ความคิด เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของภาคี ๔ ชุมชน

   กิจกรรมที่ ๔ เป็นการค้นหาความจริงในปัจจุบันของชุมชน ใช้ข้อมูลที่ได้ช่วยกันรวบรวมมาก่อนเข้าประชุมมาวิเคราะห์หาปัญหา สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนในปัจจุบัน ก่อนจบวันแรกได้ฝากการบ้านให้ทุกชุมชนเตรียมละครใบ้นำเสนอปัญหา สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ร่วมกันคิดไว้ชุมชนละ ๑ เรื่อง

   ในวันที่สองหลังจากแสดงละครเพื่อเสนอปัญหาแล้วเป็น กิจกรรมที่ ๕ คือการร่วมกันสำรวจ วิเคราะห์และทำแผนที่ข้อมูลทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นศักยภาพที่อาจจะนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชุมชนสู่เป้าหมายต่อไป

    กิจกรรมที่ ๖ เป็นการนำวิสัยทัศน์ร่วมมาทบทวนและแบ่งประเด็นออกเป็น ๔ ฐาน ให้ช่วยกันคิดว่าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในแต่ละประเด็นของวิสัยทัศน์นั้น หมุนเวียนสลับฐานกันเพื่อต่อยอดหาตัววัดให้มากที่สุด

    กิจกรรมที่ ๗ ใช้วิธีการหมุนฐานแบบเดียวกันเพื่อช่วยกันคิดว่าเพื่อจะให้ถึงวิสัยทัศน์ในแต่ละด้านจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นกิจกรรมที่ชุมชนทำได้เอง หรือต้องร่วมกับหน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ ดำเนินการ  ทั้งนี้ให้สมาชิกใช้ข้อมูลความจริงในอดีต ปัญหาในปัจจุบัน และข้อมูลทุนทางสังคมที่ได้รวบรวมไว้ในกิจกรรมก่อน ๆ เป็นพื้นฐานในการคิดกิจกรรมพัฒนา จัดกลุ่มกิจกรรมที่ใกล้เคียงกันรวมเป็นโครงการต่าง ๆ ได้ ๑๗ โครงการ

    กิจกรรมที่ ๘  เป็นการก่อตั้งสภาภาคีชุมชนโดยการเลือกตั้งประธาน และกรรมการต่าง ๆ ของภาคี แล้วให้ทุกคนสมัครเข้าร่วมเป็นทีมกรรมการของภาคีในด้านใดด้านหนึ่ง  ทำให้กรรมการทุกคนจะมีทีมทำงานที่กระจายอยู่ในทุกชุมชน ประธานภาคีได้นำทีมตั้งชื่อภาคีว่า "กลุ่ม ๔ ชุมชนรวมพลัง" และร่วมกับสมาชิกเลือกโครงการที่ร่วมกันคิดไว้ มอบหมายให้ไปดำเนินการต่อ ชุมชนละ ๒ โครงการ โดยเลือกโครงการที่ชุมชนได้เอง ๑ โครงการ และโครงการที่ทำโดยชุมชนร่วมกับสาธารณสุข ๑ โครงการ ตามคำแนะนำของวิทยากร(เพราะต้องการให้เลือกโครงการที่ดำเนินการได้โดยเร็ว)

   ก่อนปิดประชุมได้ทำพันธสัญญาร่วมกันว่า 

๑.สมาชิกทุกคนจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อวิสัยทัศน์ร่วมคือ "งามน้ำใจ ไร้มลพิษ เศรษฐกิจดี มีสธารณูปโภคครบ ไม่พบยาเสพติด ชีวิตแจ่มใส"

๒.สมาชิกจะกลับไปดำเนินกรทำแผนปฏิบัติการ(โดยการแนะนำของทีมพี่เลี้บง) และดำเนินการตามโครงการที่ได้รับมอบหมายทันที

๓.เมื่อกลับสู่ชุมชนสมาชิกจะพยายามเสาะหาแนวร่วมในการทำงานพัฒนาชุมชนต่อไปให้มากที่สุด

.จะมีการประชุมสมาชิกอีกครั้งใน ๑ เดือนข้างหน้า เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการที่รับมอบหมาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

๕.ในรอบต่อไปเราจะหาโอกาสจัดทำโครงการที่รับผิดชอบโดยสมาชิกจากทุกชุมชน และเสาะหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป

    ก่อนปิดประชุมผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่แสดงความพึงพอใจและประทับใจในการประชุมครั้งนี้ และดูจะมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของตนเอง  แม้ว่าก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุมสมาชิกส่วนใหญ่จะอ่อนล้าเนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับจากการศึกษาดูงานที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมการประชุมและมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมโดยตลอด  นับเป็นกำลังใจอย่างยิ่งสำหรับทีมวิทยากรกระบวนการมือใหม่
      ที่เรียกว่า"มือใหม่" เพราะทีมของเราไม่เคยดำเนินการเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับชุมชนแบบนี้มาก่อน แม้เราจะจัดหลักสูตรนี้ไปแล้ว ๑ รุ่นให้กับ ๔ ชุมชนนำร่องเมื่อเดือนที่ผ่านมาโดยอาศัยศึกษาและประยุกตุ์หลักสูตรจากหนังสือ"การสร้างพลังชุมชน" ของกรมอนามัย และหลังจกนั้นได้ส่งทีมงานไปอบรมวิทยกรกระบวนการที่จัดโดยศูนย์อนามัยที่ ๔ พอกลับมาก็ร่วมกันประยุกต์จัดเตรียมหลักสูตรในรุ่นนี้ทันที
    เมื่อจบวันแรกของการประชุมทีมวิทยากรได้ร่วมกันทบทวนประเมินพบว่ามีจุดที่จะต้องปรับปรุงบางประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนของการประเมินสภาพปัญหาของชุมชนนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากข้อมูลที่สมาชิกตระเตรียมมายังขาดความสมบูรณ์ ทำให้อาจค้นไม่ได้ปัญหาที่แท้จริง ทีมวิทยกรเห็นร่วมกันว่าด้วยเวลที่จำกัด ไม่สามารถหยุดพักการประชุมเพื่อให้ผู้เข้าประชุมกลับออกไปสำรวจข้อมูลมาใหม่ก่อนค่อยกลับมาดำเนินการขั้นต่อไปได้ จึงคงให้ใช้ข้อมูลเบื้องต้นที่สำรวจมาได้ และ "ความรู้สึก" ของสมาชิกในการกำหนดปัญหาได้ถ้าเขาอธิบายได้ว่า "รู้ได้อย่างไรว่าเป็นปัญหา" ในรุ่นต่อไป จะต้องเน้นย้ำการสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนไปประชุม
     เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นในว้นที่ ๒ ทีมวิทยกรยังไม่มีโอกาสทบทวนประเมินผลร่วมกันอีกครั้ง แต่มีกำหนดที่จะประชุม คปสอ.เมือง ในวันที่ ๔ สิงหาคมนี้ และบรรจุวาระการประเมินทบทวนหลักสูตรเพื่อเตรียมประชุมในรุ่นที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วยแกนนำชุมชนจาก ๓ ตำบลรอบนอก ได้แก่ ตำบลตะกุด ตลิ่งชัน และดาวเรือง รวมทั้งเตรียมทีมวิทยากรกระบวนการชุดใหม่ที่จะผสมผสานชุดเดิมกับผู้ที่เข้าสังเกตการณ์ในครั้งที่ผ่านมาเข้าด้วยกัน
      โดยส่วนต้วแล้วผมเห็นว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดในสองวันที่ผ่านมา คือขั้นตอนการคิดกิจกรรมสู่ภาพฝันของชุมขน เพราะยังไม่สามารถจะทำให้ผู้เข้าประชุมใข้ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงในอดีต สภาพปัญหาในปัจจุบัน และทุนทางสังคมที่มีอยู่มาสร้างกิจกรรมได้หลากหลายนัก  อีกขั้นตอนหนึ่งที่ลำบากพอกันคือการคิดหาตัวชี้วัดของภาพฝันในแต่ละด้าน เพราะยากที่จะอธิบายให้ผู้เข้าประชุมเข้าใจความหมายของตัวชี้วัด ทำให้เขามักจะกระโดดข้ามไปสู่การคิดกืจกรรมเสียก่อน ที่สำคัญครั้งนี้ได้บอกวิธีเลือกตัวชี้วัดกว้าง ๆ แต่กลับลืมให้สมาชิกคัดเลือกตัวชี้วัดเอาไปใช้งาน  ต้องขอขอบคุณทีมวิทยกรพี่เลี้ยงที่ช่วยกันจัดการต่อจนลุล่วงไปได้ ครั้งหน้าจะต้องปรับปรุงวิธีการตั้งประเด็นและเครื่องมือในขั้นตอนนี้ใหม่
     อีกประเด็นที่น่าจะเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งของเราคือ เรายังไม่สามารถประสานกับหน่วยงานข้างเคียง และองค์กรท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมด้วย  ทำให้โครงการที่ชุมชนคิดได้ยังขาดบูรณาการ และบางโครงการได้เพียงแต่คิดเก็บไว้ก่อนเพราะต้องอาศัยหน่วยงานอื่นร่วมดำเนินการ เราคิดว่าเมื่อภาคีแกนนำชุมชนได้ทำโครงการที่เลือกไว้จนประสบผลแล้วพวกเขาและทีมวืทยกรกระบวนการจะเสาะแสวงหาแนวร่วมจากหน่วยงานอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องต่อไป และหวังว่าในรุ่นต่อไปคปสอ.จะสามารถประสานตัวแทนองค์กรส่วนท้องถิ่นมาร่วมกับเราได้
     โดยภาพรวมแล้วการประชุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จที่ดี โดยเฉพาะฝึกกระบวนการเรียนรู้จากการ"ร่วมคิด"ให้กับแกนนำชุมชน  ภาระที่เราจะต้องทำต่อคือกระบวนการเรียนรู้จากการ"ร่วมทำ"ของภาคีแกนนำ เราจะสานต่อ"ความคิด"สู่ "การปฏิบัติ" และขยายผลการเรียนรู้จาการทำงานร่วมกันได้อย่างไร? เป็นงานหนักที่เราต้องคิดหาทางกันต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1891เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2005 03:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องเล่าที่ครบเครื่องดีมากครับ ทั้งด้านที่มาที่ไป กระบวนการขั้นตอนต่างๆ เครื่องมือและแนวคิดที่นำมาใช้ แผนงานที่จะทำต่อ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์ขั้นตอนที่ยากในการทำงาน

ที่สำคัญที่สุดคือเป็นการแสดงให้เห็นบทบาทที่เป็นไปได้ในการทำงานชุมชนที่เข้าจริงๆ โดยโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ

ขอเรียนเชิญสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมชน thaiha ด้วยครับ

ศิริพร สิทธิโชคธรรม

1. บางครั้งการได้ทำอะไร "เพื่อชาติ" ด้วยความทุ่มเท ตั้งใจจริงก็หายเหนื่อยนะคะ ขอให้มีความสุขในการทำงานต่อไปค่ะ

2. ได้เคยเสนอแนะไปบ้างแล้วว่า น่าจะนำแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนอย่างอ. ชนินทร์ เจริญกุล มาใช้นะคะ คือการพิจารณา "ภาพฝัน" หรือภาพที่พึงปราถนา มาท้าทายเพื่อไปให้ถึงจินตนาการ ไม่ถูกบล็อก ด้วยภาพปัจจุบัน และป้องกันReady made solution (การยึดติดกับแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ)

3. จากนั้นจึงค่อยพิจารณา"ภาพจริงในปัจจุบัน " ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ ครบถ้วน (ใครหา?) มิใช่เพียง"ความรู้สึก" ของชุมชน เท่านั้น ถ้าไม่มีควรให้การบ้านไปเก็บข้อมูลให้ครบแล้วนำเสนอร่วมกับข้อมูลของชุมชน

4. จากนั้นจึงจะพบ "ช่องว่าง" ระหว่าง "ภาพฝัน" และ "ภาพจริงในปัจจุบัน"  ช่องว่างนั้นจึง คือ "ตัวปัญหา" ซึ่งตัวปัญหามิใช่มีแต่เพียง "ยอดภูเขาน้ำแข็ง"( clinical illness  ) เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาปัญหาทีี่เสี่ยงจะเกิดด้วย (sub manifestation ) โดยคำนึงถึง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ตาย พิการ

5. ต้องให้เค้าคิดให้ได้ว่า คำว่า "ช่องว่าง" หรือ "ตัวปัญหา" ดังกล่าว เราเอาอะไรเป็นไม้บรรทัด จึงจะรู้ว่ามีความห่างจริงและห่างเท่าไร เช่น "ชุมชนนี้ปราศจากคนที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน" จะวัดอย่างไร  "ชุมชนนี้ปราศจากลูกน้ำยุงลาย" วัดอย่างไร?

6.แผนงาน/โครงการที่จะแก้ปัญหา ส่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ น่าจะรวมเป็นระดับอำเภอเมือง ก่อนเพราะเป็นไปได้ยากที่เค้าจะมาร่วมคิดกับเราได้ทุกครั้ง มิเช่นนั้นจะเป็นร่วมเป็นส่วนๆเท่านั้นไม่ได้ ครบทุกปัญหาที่เราร่วมคิด (เกือบตาย)

7. การขยายผล น่าจะให้จนท. ประจำสอ./พยาบาลประจำโซน นำไปทำ ร่วมกับชุมชนที่ตนรับผิดชอบนะคะ น่าจะมีประสิทธิผลกว่าให้แกนนำ/อสม. ทำเอง เพราะเค้าจะเอาข้อมูล เช่น การขาดนัด วันนอนโรงพยาบาลซ้ำ มาจากไหน ฯลฯ เค้าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด  และ ที่สำคัญที่สุด การ set piority ระหว่างพยาบาลประจำโซน/จนท.สอ. ร่วมกับแกนนำ อสม. และชาวบ้าน กับการให้อสม./แกนนำ ทำักันเอง  อะไร มีประสิทธิผลกว่ากัน (ฝากให้คิดนะคะ)

8. ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงานนะคะ ยังรักเหมือนเดิม เอาใจช่วยค่ะ

กัน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท