ดินกับเกษตรที่ยั่งยืน


ดินกับเกษตรที่ยั่งยืน

ดินกับเกษตรที่ยั่งยืน

 

            มนุษย์เรารู้จักใช้ทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์ เพื่อความอยู่รอดมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ถือเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหากมีการใช้ประโยชน์จากดินไปนาน ๆ โดยขาดการบำรุงรักษา ย่อมเกิดความไม่ยั่งยืนในการทำการเกษตร และส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรานั้น มีใช้อย่างไม่รู้จักหมด มีการทดแทนกันอย่างสมดุลระหว่างสิ่งของกับตัวตน

 

                จากสภาพที่กดดันทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่พื้นที่ทำกินยังมีเท่าเดิม ส่งผลให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ในการทำการเกษตรกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก และเกิดผลเสียต่อทรัพยากรดินเอง และที่สำคัญยังมีการทำการเกษตรที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอันเป็นผลเสียที่ตามมาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรดิน ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาการกร่อนของดิน ที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลงอย่างรวดเร็ว ตะกอนดินจะถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำจนตื้นเขิน สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างมาก เป็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันสูง และที่หนักไปกว่านั้น ปัญหาการเกิดแผ่นดินถล่มที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทางเศรษฐกิจในการที่จะดูแลและฟื้นฟูปัญหาดังกล่าว อันนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากดินนั้น ควรมีวิธีการและหลักการใช้ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความสูญเสียที่จะตามมา แทนที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรดินอย่างที่เป็นมาในอดีต

 

                ทรัพยากรดินก็เหมือนกับทรัพยากรอื่น ๆ แม้ว่าจะใช้แล้วไม่ได้หมดไป แต่เมื่อมีการใช้ประโชน์ในการเพาะปลูกเป็นเวลานาน ย่อมเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะในด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดังนั้น เพื่อความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากดินที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ได้นานที่สุดนั้น ต้องมีหลักการ และวิธีการทำการเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสม มีการอนุรักษ์และการจัดการดินควบคู่ไปกับการใช้ดิน การใช้ดินให้ถูกต้องเหมาะสมตามศักยภาพของดินเอง ล้วนแต่เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สามารถใช้ประโยชน์จากดินได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรดินมากมายจนเกินไปนัก ซึ่งย่อมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อประชากรในประเทศ ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ไปจนถึงเศรษฐกิจของคนในระดับประเทศที่จะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

 

                การรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นของตนเอง มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินนั้น เป็นทั้งการปรับใช้แนวความคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง และทำให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การใช้เศษเหลือทิ้งพืชผลทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามปกตินั้น เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่ายและปฏิบัติได้จริง ที่เกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเองเป็นการลดต้นทุนทางการเกษตรได้อย่างมาก ซึ่งย่อมส่งผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกรเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเมื่อปฏิบัติกันได้ในวงกว้าง ย่อมส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

                การทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของดินหรือศักยภาพของดินในการผลิตพืชนั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ถ้าหากมีการเลือกพืชพรรณที่มีความเหมาะสมกับชนิดของดินในแต่ละท้องถิ่นแล้ว จะช่วยให้ประสบความในการทำการเกษตรได้ง่ายและได้ผลผลิตสูงโดยไม่ต้องลงทุนดูแลและการจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงดินให้มีความเหมาะสมกับชนิดของพืชมากนัก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการลงทุนจำนวนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนที่ดี ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากดินอย่างยั่งยืน และสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและประเทศชาติได้

หมายเลขบันทึก: 188952เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นบทความที่เยี่ยมมากเลยครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับ

หวัดดีครับ

  • ยินดีต้อนรับ สู่ ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมส่งเสริมการเกษตร ครับ

อ่านแล้วได้ประโยชน์ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท